นโยบายไหน ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่

เลือกตั้ง 66 #เลือกอนาคตประเทศไทย

สิ่งที่ทำให้การเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 แตกต่างจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 คือ การแย่งชิงคะแนนเสียงจากคนรุ่นใหม่ ที่เคยเป็น First Time Voter เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ซึ่งอาจไม่ดุเดือดเท่า หากเทียบกับความพยายามกวาดคะแนนเสียงจากคนรุ่นอื่น ๆ ผ่านนโยบายหาเสียง

นอกจากตัวแปรเรื่องโครงสร้างประชากร ที่วันนี้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยสมบูรณ์อย่างเต็มตัว หากนับรวมประชากรรุ่น Gen X และ Gen Y คนกลุ่มนี้จะกลายเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ที่สุดของประเทศ อีกตัวแปรที่น่าสนใจไม่แพ้กัน อาจเพราะความนิยมของพรรคการเมืองบางพรรคที่มีฐานเสียงเป็นคนรุ่นใหม่อย่างชัดเจน หากวิเคราะห์ในทางการเมืองแล้ว การหันไปแย่งกันซื้อใจฐานเสียงกลุ่มอื่นอาจจะเป็นไปได้ง่ายกว่า

แต่ในฤดูกาลเลือกตั้งที่กำลังจะผ่านไป ไม่ได้มีเพียงการขายนโยบายจากพรรคการเมือง ที่รอให้คนรุ่นใหม่เป็นคนซื้อเท่านั้น แต่ตลอดสองสามเดือนที่ผ่านมา คนรุ่นใหม่หลายกลุ่มพยายามส่งเสียงว่าหากการเลือกของพวกเขา จะมีผลต่อการเลือกอนาคตของประเทศได้จริง นโยบายแบบไหนคือสิ่งที่พวกเขาต้องการ

The Active สำรวจนโยบายที่เสนอโดยคนรุ่นใหม่จากหลายกิจกรรม ที่ทำให้เห็นว่าความฝันและความหวังที่พวกเขามีต่อประเทศนี้ ยังมีโอกาสที่จะพัฒนาไปสู่นโยบายเพื่อทุกคนได้เช่นกัน

คนรุ่นใหม่

6 ล้านเสียงของคนรุ่นใหม่ มีผลอย่างไรในอนาคต?

Rocket Media Lab แบ่งจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งปี 2566 ออกเป็นเจเนอเรชันต่าง ๆ ทำให้เห็นว่า การเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก คือผู้มีอายุระหว่าง 18-22 ปี อยู่ราว 4 ล้านคน ขณะที่ผู้สูงอายุ ที่มีอายุ 58 ปีขึ้นไป มีมากถึง 14.3 ล้านคน

เมื่อแบ่งตามเจเนอเรชัน จะเห็นว่าคนรุ่นใหม่ที่มีสิทธิเลือกตั้ง อายุระหว่าง 18-25 ปี ซึ่งเป็นคน Gen Z จะมีอยู่ราว 6.6 ล้านคน ขณะที่ Gen Y มีอยู่ 15.1 ล้านคน Gen X 16.1 ล้านคน ส่วนคนรุ่น Baby Boomers มีอยู่ 11.8 ล้านคน

หากพรรคการเมือง ออกนโยบายหาเสียงเพื่อหวังให้ชนะการเลือกตั้ง คงไม่แปลกนัก หากจะให้ความสำคัญกลุ่มคน Gen Z น้อยกว่ากลุ่มคนวัยอื่น ๆ ในเมื่อตัวแปรของชัยชนะอาจขึ้นอยู่กับคน Gen X หรือ Gen Y ที่รวมกันแล้วมีมากกว่า 30 ล้านคน แต่หากมองโอกาสที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จะเห็นได้ว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะ Gen Z จะกลายเป็นวัยแรงงานกลุ่มใหญ่ ดูแลสังคมสูงวัยในอนาคต

เช่น Gen Z วัยทำงานที่มีสิทธิเลือกตั้ง อายุตั้งแต่ 18 – 25 ปี จำนวน 6.6 ล้านคนในวันนี้ แต่อีก 8 ปีข้างหน้า หรืออย่างน้อยในอีก 2 สมัยรัฐบาล หากรวมกับคน Gen Y และ Gen X ที่ยังอยู่ในวัยทำงาน จะกลายเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ คือ ราว 37.6 ล้านคน นั่นหมายความว่า แม้ Gen Z จะไม่ใช่ตัวชี้ขาดในการเลือกตั้งรอบนี้ แต่หากฟังความต้องการที่พวกเขาพยายามส่งเสียงอยู่นั้น จะมีผลอย่างมากกับกำลังสำคัญของประเทศไทยในอนาคต

นโยบายไหน โดนใจคน Gen Z

The Active สำรวจนโยบายที่เสนอโดยคนรุ่นใหม่ใน 4 เวทีเสวนาทางการเมือง ได้แก่ สภาคนรุ่นใหม่ กรุงเทพฯ, เวทีเครือข่ายเยาวชน Youth In Charge (YIC), SINGHADANG Policy Maker Camp และ รัฐสภาจำลอง จุฬาฯ โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมรวมทั้งสิ้นกว่า 200 คน ซึ่งผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีระดับการศึกษาอยู่ในระดับมัธยมปลาย – ระดับปริญญาตรี

ผลการสำรวจนโยบาย โดยจำแนกประเภทนโยบายออกเป็น 5 ด้าน ได้แก่ การศึกษา เศรษฐกิจ สิทธิมนุษยชน สวัสดิการ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็น 5 ประเด็นหลักที่คนรุ่นใหม่มักพูดถึงในแต่ละเวที โดย ‘สิทธิมนุษยชน’ และ ‘สวัสดิการ’ เป็นนโยบายที่ถูกพูดถึงทั้ง 4 เวที โดยเฉพาะประเด็นสิทธิมนุษยชนที่สอดคล้องกับรายละเอียดของนโยบายที่เน้นเรื่องการปกป้องสิทธิและคุ้มครองเยาวชนภายในสถานศึกษา ซึ่งเป็นสถาบันที่เยาวชนมีความใกล้ชิดมากที่สุด นโยบายนี้จึงถูกยกเป็นประเด็นถกเถียงถึง 3 ใน 4 เวที

ขณะที่นโยบายด้านเศรษฐกิจ เยาวชนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และการส่งเสริม Soft Power ด้วยเหตุผลที่ว่าประเทศไทยมีต้นทุนทางวัฒนธรรม และมีแรงงานสายสร้างสรรค์ที่มีคุณภาพ แต่ยังขาดการส่งเสริมจากภาครัฐ ทั้งนี้ เยาวชนยังเสนอถึงการแก้ไขกฎหมายที่ปิดกั้นเสรีภาพและความแตกต่างหลากหลายของสังคม เช่น การแก้ไขกฎหมายเซ็นเซอร์สื่อภาพยนตร์ การผลักดัน พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม เป็นต้น เพื่อสร้างบรรยากาศของสังคมที่เปิดกว้างต่อการสรรค์สร้างศิลปะ

ด้านนโยบายเกี่ยวกับสวัสดิการ คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการยกระดับสุขภาวะทางเพศ ให้การตรวจโรคติดต่อทางเพศสามารถเข้าถึงได้ง่ายและมีราคาถูก ตลอดจนส่งเสริมการผลิตเวชภัณฑ์ทางเพศในประเทศ เพื่อลดต้นทุนและส่งเสริมการจ้างงาน รวมถึงขยับขยายตลาดสินค้าเกษตร เช่น การแปรรูปยางพาราเป็นถุงยางอนามัย การผลิตยา PrEP เป็นต้น รวมถึงการกระจายอำนาจการจัดการสาธารณูปการไปสู่ท้องถิ่น เพื่อดูแลกลุ่มคนเปราะบางอย่างทั่วถึง

จุดที่น่าสังเกตของนโยบายเหล่านี้ คือการมีสัดส่วนนโยบายสำหรับคนชายขอบค่อนข้างมาก ซึ่งไม่ใช่ทั้งหมดของฐานประชากรคนรุ่นใหม่ เช่น พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม สวัสดิการคนพิการ สวัสดิการผู้สูงอายุ การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นต้น ข้อเสนอเหล่านี้สะท้อนว่าคนรุ่นใหม่ เล็งเห็นถึงการออกแบบนโยบายที่ครอบคลุมคนทุกกลุ่ม เพื่อสิทธิและโอกาสในการอาศัยอยู่ร่วมสังคมเดียวกันอย่างเสมอภาค

“บางคนชอบพูดว่าคนรุ่นใหม่ เห็นแก่ตัว มองเห็นแต่ตัวเอง แต่จริง ๆ แล้วคนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับคนรอบข้างและสังคมมากเลย…ปฏิเสธไม่ได้ว่านโยบายเหล่านี้เป็นหลักประกันในชีวิตอนาคตของเขาเช่นกัน ถ้าเกิดว่ามันไม่มีสวัสดิการที่ดีพอ เขาก็จะต้องเป็นผู้ที่
รับภาระในการดูแล (ผู้ป่วย ผู้สูงวัย ลูกหลาน) อยู่คนเดียว”

วรดร เลิศรัตน์ นักวิจัยนโยบายสาธารณะ 101PUB

อ่านเพิ่ม

คนรุ่นใหม่

มีพรรคการเมืองไหน รู้ใจคนรุ่นใหม่บ้าง?

หากนำนโยบายที่คนรุ่นใหม่เสนอมาเทียบกับนโยบายของพรรคการเมืองก่อนการเลือกตั้ง 2566 พบว่า มีเพียงพรรคการเมืองเดียวที่ออกแบบนโยบายได้ตรงใจคนรุ่นใหม่มากที่สุด คือ พรรคก้าวไกล ซึ่งมีครบทั้ง 5 ด้าน ขณะที่พรรคเพื่อไทยเสียคะแนนด้านนโยบายการศึกษา ส่วนพรรคอื่น ๆ เกาะกลุ่มคะแนนอยู่ที่ 2 – 3 ด้าน

ในทางกลับกัน นโยบายด้านการศึกษาก็เป็นนโยบายเดียวที่พรรคการเมืองออกแบบมาได้ตรงใจคนรุ่นใหม่น้อยที่สุด วรดร เลิศรัตน์ นักวิจัยนโยบายสาธารณะ 101PUB ให้ความเห็นว่า นโยบายการศึกษามักจะไม่ใช่นโยบายที่พรรคการเมืองให้ความสำคัญเป็นลำดับต้น ๆ เพราะนโยบายของพรรคการเมืองถูกคิดขึ้นภายใต้แนวคิด ‘ชราธิปไตย’ หรือการออกแบบนโยบาย ‘โดยคนสูงวัยเพื่อคนสูงวัย’ มากกว่าจะคิดจากศูนย์กลางการศึกษาอย่างเยาวชน ทำให้มีน้อยพรรคการเมืองที่จะตอบโจทย์ด้านการศึกษาได้ตรงใจคนรุ่นใหม่

“ในขณะที่คนรุ่นใหม่อาจจะมองเห็นปัญหาหลายอย่าง เช่น การละเมิดสิทธิในโรงเรียน วิชาเรียนต่าง ๆ มันไม่ตอบโจทย์เขาเพราะว่ามันถูกกำหนดมาจากส่วนกลางโดยที่ไม่ได้มองถึงความต้องการเฉพาะของท้องถิ่นมากเท่าที่ควร ขณะที่ตัวพรรคการเมืองอาจจะมองว่าทำยังไงให้การศึกษามันเหมือนเป็นโรงงานปั๊มคนเพื่อหมุนเศรษฐกิจให้ดีขึ้น”

วรดร เลิศรัตน์

นอกจากเรื่องการศึกษา นโยบายด้านสิทธิมนุษยชนก็ยังไม่ตรงใจคนรุ่นใหม่นัก มีเพียงก้าวไกล เพื่อไทย และชาติพัฒนากล้า ที่ออกแบบนโยบายมาคล้ายกับสิ่งที่คนรุ่นใหม่ต้องการ ซึ่งเนื้อหาที่ถูกพูดถึงบ่อยที่สุดคือ “นโยบายความเท่าเทียมและเสมอภาคทางเพศ” (พรรคไทยสร้างไทยมีจุดยืนผลักดัน พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม แต่ไม่ปรากฏเป็นนโยบายอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร) ข้อสังเกตหนึ่งที่พบ คือนโยบายสิทธิมนุษยชนที่ตรงใจเหล่านี้ มักมาจากพรรคฝั่ง ‘เสรีนิยมประชาธิปไตย’ ในขณะที่ฝั่ง ‘อนุรักษ์นิยม’ ไม่ได้คะแนนไปเลย

วรดร ให้ความเห็นว่าหากพรรคการเมืองอยากได้คะแนนเสียงจากคนรุ่นใหม่ จำเป็นต้องมีนโยบายด้านสิทธิมนุษยชน แต่ก็ไม่ได้รับประกันว่าถึงมีนโยบายแล้วคนรุ่นใหม่จะเลือก เพราะคนรุ่นใหม่ไม่ได้พิจารณาเพียงแค่นโยบาย แต่ยังรวมไปถึงอุดมการณ์ ผลงานที่ปรากฏ ตลอดจนตัวบุคคลที่อยู่ในพรรคการเมืองนั้น ๆ ด้วย ดังนั้น พรรคฝั่งอนุรักษ์นิยมอาจไม่ใช่ตัวแปรสำคัญในการเลือกลงคะแนนของคนรุ่นใหม่ตั้งแต่แรก

“จากผลสำรวจของ 101PUB กับเยาวชน 20,000 คนในประเทศไทย พบว่าคนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับเสรีภาพความเสมอภาค
อย่างมาก เพราะฉะนั้น ถ้าพรรคการเมืองอยากจะได้รับการสนับสนุนจากคนรุ่นใหม่ ก็จำเป็นที่จะต้องมีนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนให้มากขึ้น”

วรดร เลิศรัตน์

ส่วนนโยบายที่คนรุ่นใหม่และพรรคการเมืองคิดตรงกันมากที่สุด คือนโยบายทางเศรษฐกิจ ซึ่งคนรุ่นใหม่และพรรคการเมืองเห็นพ้องกันว่า “การส่งเสริมปากท้องเกษตรกร” เป็นนโยบายที่มีความสำคัญสูง เพราะเป็นภาคอุตสาหกรรมหลักของประเทศไทย แต่ในขณะเดียวกันก็สะท้อนว่า รัฐบาลชุดหน้ายังคงต้องแก้ไขปัญหาปากท้องภาคการเกษตรที่เรื้อรังมาหลายสิบปี ไปพร้อมกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 และปัญหาค่าครองชีพแพงค่าแรงถูก

วรดร เสริมว่า โจทย์สำคัญด้านเศรษฐกิจของคนรุ่นใหม่คือการปลดโซ่ตรวนหนี้สินที่ถูกส่งต่อมารุ่นสู่รุ่น ซึ่งพวกเขาอยากให้มันสิ้นสุดที่รุ่นของตน ในขณะที่คนรุ่นใหม่ต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายใหม่ ๆ ของโลกอนาคต คาดการณ์ว่าความก้าวหน้าของเทคโนโลยีจะแทนที่ตำแหน่งงานถึง 1 ใน 3 รัฐบาลจึงจำเป็นต้องมีตาข่ายที่เรียกว่า ‘รัฐสวัสดิการ’ โอบอุ้มสังคมให้ทุกคนสามารถมีโอกาสในการใช้ชีวิตขั้นพื้นฐานอย่างเสมอภาค

“สวัสดิการมันสามารถเป็นหลักประกันความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตตามสิทธิที่เขาพึงมี สมศักดิ์ศรีในฐานะมนุษย์ แต่มันกลับไม่ได้รับการพัฒนาเพียงพอที่จะตอบสนองต่อความเสี่ยงของโลกที่เปราะบางและผันผวนมากขึ้น”

วรดร เลิศรัตน์
คนรุ่นใหม่

เศรษฐกิจใหม่ซีรีส์วาย : เมื่อความสนใจของ Gen Z เปลี่ยนเป็นนโยบายทางการเมือง

หนึ่งในนโยบายคนรุ่นใหม่จากกลุ่ม “พรรคเศรษฐกิจสร้างไทย” ที่เข้าร่วมค่าย Singhadang Policy Maker Camp คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ คือ นโยบายเศรษฐกิจใหม่ซีรีส์วาย พวกเขาหยิบเรื่องนี้เป็นนโยบายขาย เพื่อซื้อใจคณะกรรมการ และได้รับรางวัลชนะเลิศ เพราะเป็นนโยบายที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศมาแล้ว ทั้งเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร จึงมีแนวโน้มว่านโยบายนี้ทำได้จริง ทำได้เร็ว เพราะมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องและแก้ไขในนโยบายน้อยเมื่อเทียบกับนโยบายอื่น ๆ

พวกเขามองว่าประเทศไทยถือเป็นผู้นำในการส่งออกเนื้อหาด้านวัฒนธรรมมากขึ้นทุกปี สามารถตีตลาดทั้งในและต่างประเทศได้ และบางเนื้อหาถือว่าเป็นอันดับ 1 ของเอเชีย โดยเฉพาะเนื้อหาแนวซีรีส์วาย สร้างมูลค่าจาก Y ECONOMY ไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านบาท และมีแนวโน้มว่าอุตสาหกรรมนี้จะเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ จึงมองว่าเป็นโอกาสที่จะทำให้ไทยสามารถสร้างรายได้มากขึ้นหากได้รับการสนับสนุน

นอกจากนี้ เศรษฐกิจซีรีส์วายยังไม่ได้ส่งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเท่ากับอุตสาหกรรมประเภทอื่น ๆ แต่กลับสร้างมูลค่าต่อยอดให้กับกิจการประเภทอื่น ๆ ได้ เช่น การท่องเที่ยว สินค้า ฯลฯ ที่ทำให้เกิดการสร้างงานมากขึ้น และคาดหวังว่านโยบายเศรษฐกิจใหม่ซีรีส์วาย จะทำให้มูลค่าตลาดซีรีส์วายในไทยจากปัจจุบัน 1 พันล้านบาท เป็น 3 พันล้านบาทในอีก 4 ปีข้างหน้า หากรัฐหรือพรรคการเมืองให้ความสำคัญและสนับสนุน โดยพวกเขานำเสนอผ่าน 3 แนวทาง หากประเทศไทยจะผลักดันอุตสหกรรมนี้อย่างจริงจังในทางนโยบาย

1) ส่งเสริม สิทธิเสรีภาพของผู้ผลิตสื่อในไทย โดย เสนอแก้ พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ มาตรา 29 ที่มีเนื้อหาการปิดกั้นเนื้อหาสื่อหากมีการพูดถึงรัฐและสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะเชื่อว่าหากแก้ไขมาตรานี้ จะทำให้สื่อและเนื้อหามีความหลากหลายขึ้น นอกจากนี้ ควรมีองค์กรมาดูแลผู้ผลิตเนื้อหา เช่น กระทรวงวัฒนธรรม โดยเสนอว่าให้เปลี่ยนชื่อกระทรวงวัฒนธรรม เป็นกระทรวงวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์

2) สนับสนุน เสนอให้มีการสนับสนุนเงินทุน เพื่อส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานอุตสาหกรรมซีรีส์ในไทย โดยจัดเก็บภาษีเอกชน บริษัทรายใหญ่ ในอัตราภาษีก้าวหน้า และจัดเก็บภาษีรายได้นิติบุคคลในอัตราก้าวหน้า พร้อมกับมีการสนับสนุนเงินทุนงบประมาณ เพราะที่ผ่านมาในอุตสาหกรรม Y Economy ปัญหาหลักคือขาดการสนับสนุนจากภาครัฐ โดยเสนอว่าในปีแรกของการทำนโยบาย ต้องสนับสนุนงบฯ 1 พันล้านบาทให้กับผู้ผลิต และ SME ขนาดเล็กในอุตสาหกรรมนี้

และ 3) สร้างสรรค์ เมื่อมีการส่งเสริมและสนับสนุนแล้ว คาดว่าจะนำมาสู่ความสร้างสรรค์ในเทคโนโลยีและเนื้อหาที่มีคุณภาพมากขึ้นในอนาคต

นโยบาย มีโอกาสเติบโตอย่างไรได้บ้าง?

ปี 2563 มีการรวบรวมสถิติเรื่อง “Y Economy” โดยทีม Line Insights พบว่า ฐานคนดูซีรีส์วายบน Line TV เพิ่มขึ้น 328% หรือกว่า 3 เท่าตัว และมีการคาดการณ์ว่าซีรีส์วายทำรายได้เฉพาะในประเทศน่าจะเกิน 1 พันล้านบาท ส่วนมากมาในรูปแบบงานพรีเซนเตอร์ของคู่จิ้นในเรื่อง

เมื่อเดือนมิถุนายน 2564 กระทรวงพาณิชย์จัดโครงการส่งเสริมผู้ผลิตคอนเทนต์ซีรีส์วาย มีผู้ประกอบการคอนเทนต์วายของไทยเข้าร่วม 10 ราย และสามารถทำรายได้สูงถึง 360 ล้านบาท สำหรับการส่งออกซีรีส์วายของไทยอย่าง WeTV และ Viu ที่ช่วยทำให้ซีรีส์ไทยเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมไปทั่วโลกแล้ว ในส่วนกิจกรรมอื่น ๆ ส่วนมากแล้วจะเป็นการจัดการโดยกลุ่มแฟนคลับในแต่ละประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการขายสินค้าที่ระลึกที่พ่วงมากับซีรีส์เรื่องนั้น ๆ หรือการจัดแฟนมีตติ้ง เช่นในกรณีที่เกิดขึ้นในประเทศจีน

เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ มองว่าการขับเคลื่อน Soft Power ให้สำเร็จได้มี 3 ปัจจัย

ปัจจัยแรก ทำได้ ควรจะเป็นต้นทุนที่ประเทศมีอยู่แล้ว โดยไม่ต้องกลับไปนับหนึ่งใหม่ทั้งหมด โดยแบ่งออกเป็นทุนเดิมและทุนที่สร้างขึ้นมาใหม่ เช่น เกาหลีใต้ใช้ทุนเดิมเรื่องอาหารและเอกลักษณ์การแต่งตัวที่มาคู่กัน หากยกตัวอย่างกรณีประเทศไทย มองว่า มวยไทย สามารถทำได้ เป็น Soft Power ที่แข็งแกร่งอยู่ 

ปัจจัยที่สอง ทำดี โดยต้องมองย้อนกลับไปว่าอะไรที่ทำดีแล้วเกิดผล คนแต่ละรุ่นทำได้ดี คนแต่ละพื้นที่ทำแล้วดี ยกตัวอย่างภาพยนตร์ไทยทั่ว ๆ ไปทำแล้วไม่รุ่ง แต่ซีรีส์วาย กลับเอาไปขายในต่างประเทศได้

และปัจจัยที่สาม ทำเด่น พบว่าหลายประเทศจะเลือก Soft Power ที่แตกต่างจากคนอื่น แต่สำหรับประเทศไทย กลับไม่ได้เลือกสิ่งที่มีศักยภาพทำได้ ส่งผลให้ทำได้ไม่ดี เมื่อไปถึงระดับการผลักดันเชิงนโยบายจึงไปไม่ถึงเป้าหมายที่วางไว้ ทำให้เรื่อง Soft Power เป็นแค่วาทกรรมหนึ่งเท่านั้น แต่กรณีซีรีส์วาย เป็นตัวอย่างความสำเร็จของการทำได้ ทำดี ทำเด่น

คนรุ่นใหม่

แรงงานสร้างศิลป์ อยู่ตรงไหนของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์

ข้อมูลจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ประมวลผลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2564 เปิดเผยจำนวนแรงงานในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ปี 2563 ระบุว่า อุตสาหกรรมสร้างสรรค์จ้างแรงงานกว่า 1 ล้านคนหรือคิดเป็นร้อยละ 2.7 ของแรงงานทั่วประเทศ โดยแรงงานที่ถูกจ้างกว่าล้านคนแบ่งออกเป็นแรงงานสร้างสรรค์ 4.9 แสนคน และแรงงานอื่น ๆ ที่อยู่ภายใต้อุตสาหกรรมสร้างสรรค์อีก 5.5 แสนคน

แม้จะมีสัดส่วนแรงงานไม่มากนัก แต่แรงงานกลุ่มนี้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้จำนวนมาก รายงานจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่า มูลค่าอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยในปี 2563 มีมูลค่าอยู่ที่ 1,190,467 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 7.5 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์รวม ณ ราคาปัจจุบันทั้งหมด นอกจากนี้ ธุรกิจสร้างสรรค์กว่าร้อยละ 95 เป็นกิจการขนาดเล็ก (SME) อีกด้วย

TDRI ยังรายงานอีกว่า แรงงานสร้างสรรค์ของไทยส่วนใหญ่อายุ 40 ปีขึ้นไป ขณะที่แรงงานหนุ่มสาวที่อายุต่ำกว่า 30 ปี คิดเป็นสัดส่วนเพียงประมาณ 22% เท่านั้น สะท้อนถึงความท้าทายด้านแรงงานสร้างสรรค์ของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทย

นอกจากนี้ บัณฑิตใหม่ที่จบสาขาสร้างสรรค์มีมากกว่า 4 หมื่นคนต่อปี แต่คิดเป็นเพียงแค่ 14% ของบัณฑิตใหม่ทั้งหมด และจากแนวโน้มตัวเลข 3 ปีล่าสุด ไม่ได้มีจำนวนเพิ่มขึ้น และไม่ได้สะท้อนว่ามีการผลักดันให้ผลิตแรงงานสร้างสรรค์ป้อนสู่ตลาดอย่างมีนัยสำคัญ โดยบัณฑิตที่จบใหม่ในสาขาวิชาเกี่ยวกับงานสร้างสรรค์ 71% ได้รับเงินเดือนมากกว่าขั้นต่ำ 15,000 บาท และอีก 29% ต่ำกว่า 15,000 บาท

ในปี 2565 งบประมาณแผ่นดิน 3.1 ล้านล้านบาท ถูกจัดสรรเป็นงบประมาณด้านสร้างสรรค์เกือบ 3.6 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 1.15 ของงบประมาณทั้งหมด โดย 1 ใน 5 ของงบประมาณสร้างสรรค์ถูกนำไปลงที่กระทรวงวัฒนธรรม รองลงมาคือกระทรวงการท่องเที่ยวฯ และ กรมการพัฒนาชุมชนของกระทรวงมหาดไทยตามลำดับ เบื้องต้น การอัดฉีดงบประมาณลงไปในแต่ละกระทรวงอาจสร้างผลลัพธ์ที่เห็นผลได้บางประการ เช่น อัตราการจ้างงานของแรงงานสร้างสรรค์หรือสายงานที่เกี่ยวข้องจะเพิ่มมากขึ้น เป็นต้น

คนรุ่นใหม่

นโยบายชัด อุตสาหกรรมสร้างสรรค์เติบโต

เวลานี้คงไม่มีใครปฏิเสธว่าในโลกอนาคต การใช้ Creativity มาสร้างรายได้ สร้างงาน สร้างอาชีพ มีโอกาสมากกว่าการใช้ทักษะแบบเดิม เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว มองว่าสิ่งสำคัญคือการที่คนรุ่นใหม่ รวมถึงแรงงานที่เตรียมเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ รู้ว่านี่คือเส้นทางอาชีพแบบที่เขาอยากเดิน ดังนั้น การหาความรู้ การพัฒนาตนเองเพื่อเตรียมความพร้อมจึงเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐควรให้การสนับสนุน เช่น การสร้างหลักสูตรระยะสั้น หรือการสนับสนุนเงินทุนเพื่อใช้ในการ Upskill – Reskill

เขามองอีกว่า แม้เวลานี้ แรงงานในภาคอุตสาหกรรมนี้จะยังเป็นคนกลุ่มน้อยเมื่อเทียบกับแรงงานภาคอื่น ๆ แต่กลับมีนัยทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างสูง จึงควรได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ เพราะรายได้ทางเศรษฐกิจทั้งหมดจะนำไปสู่องคาพยพอื่น ๆ ได้เช่นกัน นอกจากนี้ ยังเป็นกลุ่มคนที่สร้างการรับรู้ให้ประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกรู้จักประเทศไทยในมิติที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการท่องเที่ยวและการค้าขายในอนาคต

หากมองในเชิงปัจเจก นอกจากต้องแข่งขันกับเทคโนโลยีที่ไล่ตามทักษะของพวกเขาอยู่ตลอดเวลาแล้ว การแข่งขันกับอายุงานที่สั้นลงก็เป็นความท้าทายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย รวมถึงการที่คน Gen Z ต้องแข่งขันกับคนเจเนอเรชันอื่น ๆ ที่มีแนวโน้มขยายอายุการทำงานให้ยาวนานขึ้น เพราะคน Gen X หรือ Gen Y ยังมีต้นทุนเดิมของเขาอยู่ เกียรติอนันต์ จึงมองว่าการวางแผนล่วงหน้า อย่างการพัฒนาเพียง Hard Skills ของตนเองนั้นอาจไม่พอ แต่ต้องมี Soft Skills เพื่อเตรียมพร้อมรับความกดดัน ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นด้วย

แต่หากมองในเชิงโครงสร้าง ระบบการศึกษา เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเตรียมทักษะแรงงานเพื่ออนาคต สิ่งที่เขาเรียนจะต้องเป็นภาพจำลองในอีก 10 ปีข้างหน้า ไม่ใช่หลักสูตรที่มาจากอดีตอย่างที่เป็นในปัจจุบัน ไม่เช่นนั้นจะเกิดช่องว่างทักษะ หรือ Skill Gap

3 สูตร อุตสาหกรรมสร้างสรรค์

เมื่อดูความสำเร็จของประเทศอื่น ๆ ในการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ จะเห็นได้ว่าการดำเนินนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์อย่างยาวนานและต่อเนื่องของรัฐบาล กลายเป็นปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญ ดังที่ TDRI ได้ถอดบทเรียนของ สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เอาไว้ เพื่อให้ไทยสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ ตั้งแต่ระดับการแข่งขันกันด้วยนโยบายทางการเมือง

เช่นในสหราชอาณาจักร ที่รัฐบาลของโทนี่ แบลร์ ได้เริ่มต้นนิยามและขนาดของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เป็นครั้งแรก รวมถึงการสร้าง Creative Partnership Initiative เพื่อสนับสนุนการศึกษาสร้างสรรค์ในโรงเรียน และจัดทำหนังสือแนะแนวด้านอาชีพในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เมื่อมาถึงยุคของ กอร์ดอน บราวน์ มีนโยบายสนับสนุนห่วงโซ่มูลค่า พัฒนาแรงงานสร้างสรรค์ ธุรกิจสร้างสรรค์ และส่งเสริมการส่งออกผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ โดยนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ได้ถูกดำเนินมาอย่างต่อเนื่องในหลายรัฐบาลจนถึงปัจจุบัน

ส่วน ญี่ปุ่น ในยุทธศาสตร์ Cool Japan มีการแต่งตั้งรัฐมนตรีเพื่อดูแลโดยเฉพาะ เพื่อประสานนโยบายของกระทรวงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าด้วยกัน เพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจ, มีการจัดตั้งกองทุน Cool Japan Fund ซึ่งเป็นกองทุนร่วมระหว่างรัฐและเอกชน เพื่อส่งเสริมการขายและบริการภายใต้ยุทธศาสตร์นี้ นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งทุนให้เปล่า เพื่อสนับสนุนการแปลภาษาและส่งเสริมเนื้อหาของญี่ปุ่น ที่เริ่มต้นจากอุตสาหกรรมแอนิเมชัน วีดิทัศน์ และขยายไปสู่การเผยแพร่เนื้อหาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

สำหรับแนวทางการพัฒนาบุคลากร ตามยุทธศาสตร์ Cool Japan มี 6 กลุ่ม คือ ผู้มีความสามารถด้านการผลิตในท้องถิ่น, ด้านการผลิต, ด้านการจัดการธุรกิจระดับสูง, ด้านการออกแบบระดับสูง, ผู้มีความสามารถเฉพาะทาง และผู้เชี่ยวชาญต่างชาติ

ขณะที่ความสำเร็จของ เกาหลีใต้ เริ่มต้นหลังวิกฤตเศรษฐกิจ ช่วงทศวรรษ 1990 โดยการประกาศยุทธศาสตร์ Creative Korea เพื่อบรรลุเป้าหมายการเป็น “มหาอำนาจทางวัฒนธรรมที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 5 ของโลก” และในสมัยของประธานาธิบดีพัค กึน-ฮเย ได้ประกาศแผนปฏิบัติการเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เป็นกลไกขับเคลื่อนหลักทางเศรษฐกิจ โดยวางเป้าหมายเพื่อสร้างสังคมที่เคารพและแสดงออกซึ่งความคิดสร้างสรรค์, เสริมสร้างความเป็นผู้นำโลกด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และสร้างงานตลาดใหม่ด้วยความสร้างสรรค์และนวัตกรรม โดยมีหน่วยงานอย่าง KOCCA ทำหน้าที่ดูแล ประสานการทำงาน และส่งเสริมอุตสาหกรรมอย่างครบวงจร

นอกจากนี้เกาหลีใต้ ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนากำลังคนด้านสร้างสรรค์เป็นอย่างมาก ตั้งแต่ระดับโรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้น รวมถึงมีการจัดกิจกรรมพิเศษเพื่อท้าทายความสามารถของผู้ประกอบการ หรือสตาร์ตอัป 

  

 

บทส่งท้าย

ในบรรยากาศการแข่งขันนโยบายของพรรคการเมือง หวังคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้ คนหลายกลุ่มส่งเสียงและบอกสิ่งที่พวกเขาอยากเห็น และอยากให้ฝ่ายการเมืองให้ความสำคัญ นำไปบรรจุเป็นนโยบายหากได้รับเลือกเป็นรัฐบาล ซึ่งรวมไปถึงความสนใจของคนรุ่นใหม่อย่าง “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” ที่พวกเขามองเห็นถึงโอกาสในการผลักดันเป็นนโยบายหากภาครัฐให้ความสำคัญ โดยหยิบยกโมเดลความสำเร็จในต่างประเทศมานำเสนอ เพื่อทำให้เห็นความหวังว่าสักวันหนึ่ง หากภาครัฐเอาจริงเอาจังอย่างต่อเนื่อง ความสนใจของพวกเขา ก็จะกลายเป็นโอกาสด้านต่าง ๆ ให้กับประเทศได้อีกด้วย

ที่สำคัญจากการรับฟังความเห็นของกลุ่มเยาวชนจากกิจกรรมต่าง ๆ ในช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมายังทำให้เห็นว่า นโยบายที่พวกเขาอยากเห็นนั้นให้ความสำคัญกับคนรอบข้างและสังคมด้วย เพราะสุดท้าย ทุกนโยบายจะเชื่อมโยงกลับมาที่หลักประกันในชีวิตของพวกเขาในอนาคตเช่นกัน


อ้างอิง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active