Policy Monthly Report : 5 นโยบายเด่นบนโลกโซเชียล เดือน มี.ค. 67

ผ่านมาแล้ว 1 ไตรมาส ของปี 2567

โดยเดือนมีนาคม เป็นอีกหนึ่งเดือนที่มีเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองเกิดขึ้น ทั้งเหตุการณ์ในและนอกสภาฯ รวมไปถึงมีการพูดคุยถึงประเด็นต่าง ๆ บนโลกโซเชียลมีเดีย

The Active ทำการเก็บรวบรวมนโยบายที่ถูกพูดถึงบนโซเชียลมีเดีย ผ่านเครื่องมือ Zocial Eye (หรือ Social Listening เพื่อช่วยฟังเสียงของผู้คนที่อยู่ในโลกโซเชียลมีเดีย) ระหว่างวันที่ 1-31 มี.ค. 2567 เพื่อหาว่านโยบายใดที่คนบนโลกออนไลน์ให้ความสนใจมากที่สุดในช่วงเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา

ภาพรวมมีหลายนโยบายที่ไม่ได้ติด 5 อันดับแรกในเดือนก่อน แต่ถูกหยิบยกมาพูดในโลกโซเชียลมีเดียในเดือนนี้มากขึ้นจนติดอันดับ ได้แก่ พ.ร.บ.อากาศสะอาด นโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ในขณะที่หลายนโยบายเป็นนโยบายที่ติดอันดับอยู่แล้ว แต่มีการขยับขึ้น-ลงของอันดับ ได้แก่ สมรสเท่าเทียม ซอฟต์พาวเวอร์ ดิจิทัลวอลเล็ต

ที่น่าสนใจก็คือ โลกโซเชียลมีการพูดถึง “สมรสเท่าเทียม” เป็นจำนวนมาก โดยจากรูปยอดจำนวนข้อความรายวัน (ด้านล่าง) จะเห็นได้ว่า ยอดข้อความในวันที่ 27 มี.ค. 2567 พุ่งโดดกว่าวันอื่น ๆ ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่สภาฯ ผ่านร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม นำมาสู่การแสดงความยินดีของผู้คนบนโลกออนไลน์เป็นอย่างมาก

ยอดจำนวนข้อความรวมรายวัน

ข้อความที่รวบรวมมาได้ ส่วนใหญ่ปรากฏเป็นหลักบน Facebook ที่ 51.3% ตามมาด้วย X (Twitter) ที่ 24.48% YouTube ที่ 15.86% และอื่น ๆ ที่ 8.36% 

ในส่วนของยอดเอ็นเกจเมนต์รายวัน พบว่ามีทิศทางเดียวกับยอดข้อความรายวัน โดยวันที่ได้รับยอดเอ็นเกจเมนต์พุ่งโดดคือวันที่ 27 มี.ค. 2567 เช่นเดียวกัน

ยอดเอ็นเกจเมนต์รวมรายวัน

ภาพรวมมียอดเอ็นเกจเมนต์ (ยอดกดดู ไลก์ แชร์ และคอมเมนต์รวมกัน) ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดรวม 8,743,745 เอ็นเกจเมนต์ และสามารถจัดอันดับนโยบายที่มียอดเอ็นเกจเมนต์สูงที่สุด 5 อันดับได้ดังนี้

อันดับที่ 1 สมรสเท่าเทียม (3.99 ล้านเอ็นเกจเมนต์)

ยอดเอ็นเกจเมนต์รายวันของการพูดถึงนโยบายสมรสเท่าเทียม

เป็นครั้งแรกที่นโยบายสมรสเท่าเทียมขึ้นมาเป็นอันดับที่ 1 หลังจากที่นโยบายซอฟต์พาวเวอร์ครองตำแหน่งมา 2 เดือนซ้อน (เดือน ม.ค. – ก.พ.) ภาพรวมเป็นการแสดงความยินที่ร่างกฎหมายผ่านสภาฯ วาระ 3 หลังจากผ่านการต่อสู้เพื่อให้ได้ซึ่งสิทธิมาอย่างยาวนาน

  • 27 มี.ค. 67 จากเหตุการณ์ที่สภาฯ ผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม ในวาระ 3 มีการแสดงความยินดีกับเหตุการณ์ดังกล่าว พูดถึงว่าประเทศไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) และประเทศที่ 3 ของเอเชียที่ผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม พูดถึงเส้นทางการผลักดันสมรสเท่าเทียมตั้งแต่อดีตมาจนถึงวันนี้ อย่างไรก็ตาม เนื้อหาในร่างกฎหมายดังกล่าวก็ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ายังไม่ได้ให้สิทธิในการเลี้ยงดูบุตร และพูดถึงความเชื่ออื่น ๆ ที่ค้านสมรสเท่าเทียม โดยมองว่าศาสนาทุกศาสนาควรเป็นความสมัครใจ ไม่ใช่ในรูปแบบการบีบบังคับ

อันดับที่ 2 ซอฟต์พาวเวอร์ (1.97 ล้านเอ็นเกจเมนต์)

ยอดเอ็นเกจเมนต์รายวันของการพูดถึงนโยบายซอฟต์พาวเวอร์

ตกมาจากอันดับที่ 1 การพูดถึงนโยบายดังกล่าวในภาพรวมมีความคล้ายกับการพูดถึงในเดือนที่ผ่านมา ซึ่งคือตัวอย่างซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทยในมิติต่าง ๆ เช่น งานแต่งแบบไทย กางเกงช้าง ถุงกาแฟโบราณ และอื่น ๆ

  • 5 มี.ค. 67 จากเหตุการณ์ #สุขุมวิท11 มีการพูดถึงเหตุการณ์ในเชิงขำขัน เช่น มองว่ามวยไทยคือซอฟต์พาวเวอร์ และกรณีคริส หอวัง ยกให้พี่กะเทยเป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์ของไทย
  • 20 มี.ค. 67 พูดถึงเหตุการณ์การพูดคุยระหว่างรัฐบาลและผู้บริหารและนักแสดงจากซีรีส์วาย (ความสัมพันธ์ชายรักชาย) และยูริ (ความสัมพันธ์หญิงรักหญิง) เพื่อผลักดันและจุดประกายอุตสาหกรรมดังกล่าวให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์สู่สากลและกระตุ้นเศรษฐกิจของไทย และความพยายามผลักดันควายไทยเป็นซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ
  • 26 มี.ค. 67 พูดถึงเพลงลูกทุ่งว่าเป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์ของไทย
  • 31 มี.ค. 67 ซอฟต์พาวเวอร์ของตลาดอาหารไทยในประเทศสหรัฐอเมริกา

อันดับที่ 3 ดิจิทัลวอลเล็ต (0.38 ล้านเอ็นเกจเมนต์)

ยอดเอ็นเกจเมนต์รายวันของการพูดถึงนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต

ตกมาจากอันดับที่ 2 ในเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ภาพรวมในเดือนนี้ นโยบายค่อนข้างมีความคืบหน้าและชัดเจนมากขึ้นจากเดือนก่อน ๆ โดยมีการแถลงว่าจะแจกเงินได้เมื่อไหร่

  • 8 มี.ค. 67 พูดถึงข้อสอบโรงเรียนมัธยมวัดธาตุทอง ในรูปแบบการสอบพูดปากเปล่าตามหัวข้อที่กำหนด โดยมีคีย์เวิร์ดหลายคำที่น่าสนใจและเกี่ยวข้องกับนโยบายของรัฐบาล หนึ่งในนั้นคือนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต
  • 13 มี.ค. 67 เล่าถึงความคืบหน้าของนโยบาย โดยคาดว่าการเติมเงินหมื่นไม่น่าทันในเดือน เม.ย. – พ.ค.
  • 24 – 27 มี.ค. 67 พูดถึงการแถลงความคืบหน้าและกำหนดการนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตเบื้องต้น โดยรัฐบาลคาดการณ์ว่าเงินหมื่นจะถึงมือประชาชนในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567

อันดับที่ 4 ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ (0.37 ล้านเอ็นเกจเมนต์)

ยอดเอ็นเกจเมนต์รายวันของการพูดถึงนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

เป็นการติดอันดับครั้งแรกของนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ในเดือน มี.ค. นี้ ถูกพูดถึงใน 2 เหตุการณ์สำคัญ โดยส่วนใหญ่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ถึงการดำเนินนโยบายดังกล่าว

  • 7 มี.ค. 67 จากเหตุการณ์สภาฯ รับหลักการร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 2 ฉบับ (ฉบับวรรณวิภา ไม้สน – ก้าวไกล และฉบับวรศิษฎ์ เลียงประสิทธิ์ – ภูมิใจไทย) แต่ปัดตกฉบับเซีย จำปาทอง – ก้าวไกล นำมาสู่การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลที่เสนอนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาท แต่กลับตีตกกฎหมายเพื่อให้ได้แรงงานราคาถูก และมีการย้ำว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นสิ่งจำเป็น
  • 26 – 27 มี.ค. 67 พูดถึงการปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวัน แต่เฉพาะประเภทกิจการโรงแรม 4 ดาวขึ้นไป ที่มีลูกจ้าง 50 คนขึ้นไป ในเขตที่กำหนด 10 พื้นที่ ใน 10 จังหวัด โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 13 เม.ย. 2567 ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าธุรกิจดังกล่าวมีการให้ค่าแรงมากกว่า 400 บาทต่อวันอยู่แล้ว การปรับขึ้นในครั้งนี้อาจจะไม่ได้ช่วยอะไร และตั้งคำถามว่าที่ปรับขึ้นเพื่อให้รัฐบาลไม่โดนข้อครหาว่าทำไม่ได้ตามนโยบายปรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวันหรือไม่

อันดับที่ 5 พ.ร.บ.อากาศสะอาด (0.35 ล้านเอ็นเกจเมนต์)

ยอดเอ็นเกจเมนต์รายวันของการพูดถึงพ.ร.บ.อากาศสะอาด

หลังจากที่ติดอันดับที่ 4 ในเดือน ม.ค. และหายไปจาก 5 อันดับแรกในเดือน ก.พ. ในเดือน มี.ค. นี้ มีการพูดถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการแก้ปัญหาฝุ่นและการผลักดันกฎหมายอากาศสะอาดกลับมากอีกครั้ง จากสถานการณ์ฝุ่นใน จ.เชียงใหม่ ที่มีความรุนแรงมากขึ้น

  • 16 มี.ค. 67 พูดถึงสถานการณ์ฝุ่นในจ.เชียงใหม่ ที่ร้ายแรง ความเร่งด่วนของการมีกฎหมายอากาศสะอาด พูดถึงเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ มอบหน้ากากป้องกันฝุ่น PM 2.5 แก่ประชาชน จ.เชียงใหม่ และพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.ก้าวไกล ติดตามสถานการณ์ฝุ่นที่สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

นอกเหนือจากนโยบายต่าง ๆ ที่ถูกพูดถึงในโซเชียล 5 อันดับแรกแล้ว ยังมีความคืบหน้าของนโยบายอื่น ๆ ที่ไม่ได้ติดอันดับ ได้แก่

  • 19 มี.ค. 67 จากกรณีอดีตผู้ช่วยของธิษะณา ชุณหะวัณ สส.ก้าวไกล ฆ่าตัวตายในค่ายทหาร มีการเปิดเผยแชทพูคุยถึงสถานการณ์ในค่ายทหาร และเรียกร้องให้ทางค่ายทหารเปิดเผยผลชันสูตรศพและแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น นำมาสู่การพูดถึงและติดแฮชแท็ก #ยกเลิกเกณฑ์ทหาร บนโลกออนไลน์ พูดถึงการลิดรอนสิทธิของทหารเกณฑ์ กรณีทหารเกณฑ์เสียชีวิตในค่ายทหารอื่น ๆ และทวงถามถึงนโยบายยกเลิกการเกณฑ์ทหารตามที่รัฐบาลได้เคยหาเสียงไว้

นโยบาย 5 อันดับข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของความคืบหน้านโยบายและโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาล ภายใต้การนำของ นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ซึ่งเป็นเรื่องปกติในสังคมประชาธิปไตยที่จะมีการติดตาม วิพากษ์วิจารณ์ และถกเถียงว่า เห็นด้วยกับนโยบายต่าง ๆ หรือไม่ อย่างไร ด้วยหลักเหตุและผล ซึ่งโซเชียลมีเดียก็เป็นหนึ่งในช่องทางการแสดงความคิดเห็น และกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน

The Active เชิญชวนประชาชนร่วมติดตามความคืบหน้าของนโยบายและแสดงความคิดเห็นผ่านแพลตฟอร์ม Policy Watch 

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธนธร จิรรุจิเรข

จบใหม่จากคณะสายวิทย์ จับพลัดจับผลูมาทำงานสายสื่อ บางครั้งก็สงสัยว่าตัวเองอยากเป็นนักวิเคราะห์ data ที่เขียนได้นิดหน่อย หรือนักเขียนที่วิเคราะห์ data ได้นิดหน่อยกันแน่

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

ชญาดา จิรกิตติถาวร

เปรี้ยว ซ่า น่ารัก ไม่กินผัก ไม่กินเผ็ด