6 เดือน รัฐบาลเศรษฐา ‘นโยบาย’ คืบหน้าไปถึงไหนแล้ว

เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2566 อันเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นของการประกาศเจตนารมณ์ ว่ารัฐบาลจะดำเนินนโยบายอะไรบ้าง ท่ามกลางความคาดหวังว่ารัฐบาลที่จากการเลือกตั้งจะสามารถฟื้นความเชื่อมั่น พาประเทศก้าวฝ่าวิกฤตสร้างความเข้มแข็ง

ผ่านมา 6 เดือน นอกจากผลงานทัวร์รอบโลก 15 ประเทศ ที่ทำลายสถิติโลกแล้ว แต่ละนโยบายที่นายกฯ เศรษฐา เคยประกาศไว้คืบหน้ามากน้อยแค่ไหน The Active ประมวลข้อมูลจากแพลตฟอร์ม Policy Watch ที่ติดตามและรวบรวมความคืบหน้าของนโยบายรัฐบาลในเชิงการดำเนินพบว่ามีหลายนโยบายที่เริ่มเห็นความคืบหน้า ในขณะที่หลายนโยบายยังคืบหน้าน้อยมาก โดยสามารถจำแนกเป็น 3 กลุ่มได้ดังนี้ 1. กลุ่มที่ทำแล้วเริ่มเห็นความคืบหน้า, 2. กลุ่มทำแล้วแต่สะดุด หรือยังไม่ตรงตามเป้า และ 3. กลุ่มที่มีความคืบหน้าน้อย

นโยบาย

กลุ่มนโยายที่ทำแล้วเริ่มเห็นความคืบหน้า

จากการติดตามนโยบาย มีนโยบายที่เริ่มดำเนินการแล้วมีความคืบหน้า ทั้งหมด 12 นโยบาย เช่น

สมรสเท่าเทียม

ในถ้อยแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2566 ต่อรัฐสภา ว่ารัฐบาลจะผลักดันให้มีกฎหมายสนับสนุนสิทธิและความเท่าเทียมของกลุ่มหลากหลายทางเพศ โดย เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้สั่งการให้ กระทรวงยุติธรรมเร่งดำเนินการเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม) หวังให้เป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในประเทศไทย ทั้งในมิติด้านสังคมและการสร้างครอบครัว โดยจะทำให้เกิดการยอมรับในทางกฎหมายกับการสร้างครอบครัว การอยู่ร่วมกันของบุคคลมีความหลากหลายทางเพศ รวมถึงก่อให้เกิดสิทธิและหน้าที่ของคู่สมรส LGBTQ+

สำหรับร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม มีหลักการเพื่อให้คู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศได้รับสิทธิและสวัสดิการคู่สมรสเท่าเทียมกับคู่รัก โดยร่างกฎหมายผ่านสภาฯ ในวาระหนึ่ง ทั้ง 4 ฉบับ เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2566 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการ เพื่อพิจารณาร่างกฎหมายเป็นรายมาตรา โดยใช้ร่างของ ครม. เป็นหลัก

พ.ร.บ.อากาศสะอาด

ที่ผ่านมามีความพยายามจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการผลักดันให้มี พ.ร.บ.อากาศสะอาดมาตั้งแต่ยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์​ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี ขณะที่พรรคเพื่อไทย ก็เคยประกาศนโยบายตั้งแต่ช่วงหาเสียงเลือกตั้งเอาไว้ว่าจะแก้ปัญหา PM 2.5 ที่ทุกต้นตอโดยจะผลักดัน พ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน สอดรับกับการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนที่พยายาม เคลื่อนไหว พ.ร.บ.อากาศสะอาดอย่างต่อเนื่องร่าง

สำหรับ พ.ร.บ.อากาศสะอาด มีหลักการเพื่อบริหารจัดการและควบคุมกิจกรรมที่ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศในทุกมิติ โดยเฉพาะปัญหาฝุ่น การก่อมลพิษข้ามพรมแดน ไฟป่า ที่กระทบต่อสุขภาพของคนในประเทศ โดยร่างกฎหมายผ่านสภาฯ ในวาระหนึ่ง ทั้ง 7 ฉบับ เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2567 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการ เพื่อพิจารณาร่างกฎหมายเป็นรายมาตรา โดยใช้ร่างของ ครม. เป็นหลัก

แก้หนี้นอกระบบ / พักหนี้เกษตรกร

รัฐบาลประกาศปัญหาหนี้เป็นวาระแห่งชาติ เนื่องจากเป็นปัญหาที่กัดกร่อนสังคมไทยและเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาอื่น ๆ ในสังคมตามมา โดยความคืบหน้านโยบายพักหนี้เกษตรกรเมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2566 มาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อย สำหรับลูกหนี้ที่มีหนี้ไม่เกิน 300,000 บาท โดยมีผู้แจ้งความประสงค์เข้าร่วมโครงการแล้ว 1,679,033 ราย (คิดเป็น 80 % ของผู้มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 2,101,784 ราย) รวมจำนวนต้นเงินที่พักชำระหนี้ 236,136 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีการแถลงความคืบหน้าหนี้ทั้งระบบเมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2567 โดยมีการไกล่เกลี่ยสำเร็จ 12,000 คน (คิดเป็น 57% ของรายการที่มีข้อมูลครบและเข้ากระบวนการไกล่เกลี่ย 21,000 ราย จากผู้ลงทะเบียนทั้งหมด 140,000 ราย) มูลหนี้ลดลง 670 ล้านบาท (จากมูลค่าหนี้รวมทั้งหมด 9,800 ล้านบาท) จึงอาจกล่าวได้ว่านโยบายดังกล่าวมีการดำเนินงานที่คืบหน้าตามที่ได้ตั้งเป้าไว้

ซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power)

อีกนโยบายเรือธงของพรรคเพื่อไทยที่พยาามเพื่อผลักดันประเทศไทยให้เป็นประเทศชั้นนำของโลกด้านซอฟต์พาวเวอร์ มีการพัฒนาแรงงานทักษะสูง สร้างงานสร้างรายได้ ขยายอุตสาหกรรมเป้าหมาย และส่งเสริมการส่งออก โดยคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เห็นชอบกรอบงบประมาณ 5,164 ล้านบาท ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ไทย 11 ด้าน

และเป็นหนึ่งในนโยบายที่มีการพูดถึงมากที่สุดนโยบายหนึ่ง มีการกำหนดอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ไทยใน 11 ด้าน และประยุกต์ต่อในหลาย ๆ ด้านทั้งจากฝั่งรัฐบาลและฝั่งประชาชน เช่น งานเย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2567 ที่จะมีการจัดงาน 21 วัน หรือกางเกงช้าง รวมถึงความพยายามที่จะผลักดันร่าง พ.ร.บ. THACCA เพื่อให้มีหน่วยงานขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ ซึ่งคาดว่าจะเข้าสภาฯ ช่วงปลางปี 2567 นี้

การคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตชาติพันธุ์

ที่ผ่านมา ความพยายามในการออกกฎหมาย เพื่อให้ความคุ้มครองสิทธิของชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งในประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์กว่า 60 กลุ่ม รวมประมาณ 6.1 ล้านคน โดยปัจจุบัน ร่างกฎหมายผ่านสภาฯ ในวาระหนึ่ง ทั้ง 5 ฉบับ เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2567 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการ เพื่อพิจารณาร่างกฎหมายเป็นรายมาตรา โดยใช้ร่างของ ครม. เป็นหลัก

นอกจากนี้ยังมีนโยบายอื่น ๆ ที่ทำรัฐบาลเริ่มดำเนินการแล้วมีความคืบหน้า เช่น

ทำแล้วแต่สะดุด หรือยังไม่ตรงตามเป้า

หลายนโยบายที่ได้รับความสนใจในช่วงพรรคเพื่อไทยหรือพรรคร่วมรัฐบาลได้หาเสียงไว้ช่วงเลือกตั้ง แต่ผ่านมา 6 เดือน หลายนโยบายเริ่มดำเนินการแล้วแต่ยังมีจุดติดขัด-สะดุด หรือเริ่มดำเนินการแล้วแต่ยังไม่ถึงเป้าหมาย ทั้งหมด 12 นโยบาย เช่น

ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

เพื่อให้ประชาชนมีเงินเดือนและค่าแรงขั้นต่ำที่เป็นธรรม เหมาะสมกับค่าครองชีพในปัจจุบัน และดำรงชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี โดยตั้งเป้าหมายค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวันโดยเร็วที่สุด และได้ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน และเงินเดือนคนจบปริญญาตรีและข้าราชการเริ่มต้นที่ 25,000 บาท ภายในปี 2570

ปัจจุบันการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำยังไม่ถึงเป้าหมายแรก หรือ 400 บาทต่อวันตามที่ได้ตั้งไว้ โดยราชกิจจานุเบกษาประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 2-16 บาททั่วประเทศ มีผลวันที่ 1 ม.ค. 2567 อยู่ที่ 330 – 370 บาท ขึ้นอยู่กับจังหวัด และอาจมีการปรับค่าแรงขึ้นอีกรอบในเดือน เม.ย. 2567 และในปี 2568 ตามลำดับ

รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย

หนึ่งในนโยบายปฏิบัติการเร่งรัด (Quick Win) ของรัฐบาลในด้าน “คมนาคม เพื่อความอุดมสุขของประชาชน” เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน

ปัจจุบัน นโยบายนี้ถูกใช้กับรถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง) และรถไฟฟ้ามหานคร (สายสีม่วง) เท่านั้น โดยอยู่ระหว่างการจัดทำพระราชบัญญัติตั๋วร่วม และคาดว่าจะได้ใช้รถไฟฟ้า 20 บาททุกสาย ช่วงกลางปี 2568

โครงการแลนด์บริดจ์ (Land Bridge)

เมกะโปรเจกต์พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการด้านคมนาคม เชื่อมโยง 2 ท่าเรือ เพื่อส่งเสริมการขนส่งทางน้ำ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ แม้ทางรัฐบาลจะมีการ Road show และเชิญชวนนักลงทุนต่างประเทศมาร่วมลงทุน รวมถึงสภาฯ จะเห็นชอบผลการศึกษาของ กมธ. แลนด์บริดจ์ เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2567 ที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ตาม นโยบายดังกล่าวถูกตั้งคำถามจากทางฝ่ายค้านถึงความคุ้มค่าของการลงทุน และการคัดค้านจากชาวบ้านในพื้นที่ เช่น เครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ เครือข่ายรักษ์ระนอง เนื่องจากความกังวลว่าจะกระทบต่อด้านสิ่งแวดล้อม สังคมวัฒนธรรม และสุขภาพของประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท

อีกนโยบายเรือธงของพรรคเพื่อไทยที่ถูกจับตามากที่สุด ด้วยเป้าหมายเร่งด่วนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยการใส่เงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ และกระจายไปยังทุกพื้นที่ให้หมุนเวียนอยู่ในระบบ แต่ที่ผ่านมารายละเอียดของนโยบายดูจะยังไม่นิ่ง ผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องยังไม่อาจหาข้อสรุปสุดท้ายว่านโยบายนี้จะเดินหน้าต่อไปอย่างไร

ที่สำคัญยังถูกตั้งคำถามจากทั้งฝ่ายค้าน รวมไปถึงมีข้อเสนอแนะและความเห็นจากองค์กรต่าง ๆ เช่น คณะกรรมการกฤษฎีกา และป.ป.ช. โดยเมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2567 บอร์ดนโยบายฯ ดิจิทัลวอลเล็ต มีมติตั้งอนุกรรมการด้านการตรวจสอบการกระทำอาจเข้าข่ายผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการ กำหนดระยะเวลาในการศึกษาข้อเสนอแนะ 30 วัน ส่งผลให้โครงการยังไม่ได้เดินหน้าตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

แจกโฉนดที่ดิน ส.ป.ก.

นโยบายแก้ปัญหากรรมสิทธิ์ที่ดิน เป็นนโยบายด้านเกษตรที่สำคัญของรัฐบาล ควบคู่กับนโยบายเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร โดยตั้งเป้าหมายให้เกษตรกรทุกครัวเรือนมีที่ดินทำกินอย่างเพียงพอ ด้วยการออกโฉนดที่ดิน 50 ล้านไร่ ทั่วประเทศ โดยที่ดินในเขตสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) นับเป็นเป้าหมายในนโยบายของรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม ระหว่างการดำเนินงานเกิดข้อพิพาทเรื่องพื้นที่ทับซ้อนระหว่างพื้นที่อุทยานฯ เขาใหญ่ และพื้นที่ที่ ส.ป.ก. ออกเอกสารสิทธิให้ ทำให้เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2567 ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้ยกเลิกเอกสารสิทธิที่รุกพื้นที่อุทยานฯ เขาใหญ่ทุกแปลง ต่อมาในวันที่ 4 มี.ค. 2567 มีการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ฝั่งอุทยานฯ) และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ฝั่ง ส.ป.ก.) โดยใช้ One Map แก้ปัญหานำร่องพื้นที่อุทยานฯ เขาใหญ่ และอุทยานฯ เขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด ภายใน 2 เดือน

นอกจากนี้ยังมีนโยบายอื่น ๆ ที่ทำแล้วแต่ยังสะดุดหรือไม่ตรงตามเป้าที่วางไว้ เช่น

คืบหน้าน้อย

ส่วนนโยบายที่มีความคืบหน้าในการดำเนินงานน้อย มีทั้งหมด 7 นโยบาย เช่น

สังคมสูงวัย

  • รัฐบาลตระหนักถึงผลกระทบจากสังคมสูงวัย ซึ่งประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเข้าสู่สังคมสูงวัยแบบสมบูรณ์ (Aged Society) โดยมีคนสูงวัยมากกว่าร้อยละ 20 ของจำนวนประชากร ซึ่งจะส่งผลต่อศักยภาพทางเศรษฐกิจจากการลดลงของสัดส่วนประชากรช่วงวัยทำงาน
  • แม้มีการเคลื่อนไหวจากเครือข่ายภาคประชาชนยื่นรายชื่อ 43,826 รายชื่อ เพื่อเสนอกฎหมายร่าง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ เสนอให้มีบำนาญถ้วนหน้าด้วยรัฐสวัสดิการ เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2566 แต่รัฐบาลก็ไม่ได้มีนโยบายอย่างชัดเจนเพื่อรองรับการมาถึงของสังคมสูงวัย

แก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน

  • ถือเป็นนโยบายที่มีมาในทุกยุคทุกรัฐบาล ไม่เว้นแม้แต่ในรัฐบาลชุดนี้ เพื่อลดการเกิดคอร์รัปชัน
  • แม้นายกฯ จะมีการพูดถึงปัญหาคอร์รัปชันหลายครั้งโดยการใช้หลักนิติธรรมควบคู่ เช่น การประกาศขจัดปัญหาคอร์รัปชันโดยการใช้หลักนิติธรรม และใช้เทคโนโลยีเพื่อให้เกิดความโปร่งใส ไปเมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2566 หรือการประกาศย้ำการมีหลักนิติธรรมจะเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่ช่วยขจัดคอรัปชันให้หมดไปได้ เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2567 อย่างไรก็ตาม ทางรัฐบาลไม่ได้มีนโยบายที่เป็นรูปธรรมชัดเจนในการแก้ปัญหาดังกล่าว

การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

  • รัฐบาลสานต่อนโยบาย Carbon Neutrality (ความเป็นกลางทางคาร์บอน) เพื่อรับมือสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และมีเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นผู้นำของอาเซียนในด้านการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ เพื่อเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนและนำไปสู่การเปิดประตูสู่การค้าโลก
  • รัฐบาลเข้าร่วมเวที COP28 มีการกล่าวจุดยืนของไทยเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และในวันที่ 21 ก.พ. 2567 พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.ทส. มอบหมายให้กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เร่งจัดการและแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ แต่การดำเนินการก็ยังไม่ได้คืบหน้ามากแต่อย่างใด

แก้ไขรัฐธรรมนูญ

  • หนึ่งในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลเศรษฐา เพื่อให้คนไทยมีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นโดยไม่แก้ไขหมวดพระมหากษัตริย์ และจะมีการทำประชามติต่อไป
  • แม้คณะกรรมการพิจารณาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญจะได้ข้อสรุปว่า จะถามคำถามประชามติเพียงข้อเดียว คือ “เห็นชอบหรือไม่ ให้มีการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยไม่แก้ไข หมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์” ตั้งแต่วันที่ 26 ธ.ค. 2566 แต่ปัจจุบันก็ยังไม่ได้มีการเสนอเรื่องต่อ ครม. ต่อแต่อย่างใด

แก้ไขฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5)

  • ดำเนินนโยบายด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า การเผาในที่โล่ง และหมอกควัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชน
  • แม้ ครม. จะเห็นชอบมาตรการของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ในปี 2567 เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2566 มีการกำหนดเป็นมาตรการให้หน่วยงานภาครัฐไปปฏิบัติ แต่ไม่มีการกำหนดแผนแก้ปัญหาเหมือนรัฐบาลที่ผ่านมา การดำเนินการแก้ฝุ่น PM2.5 จึงเน้นไปที่ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดเป็นส่วนใหญ่

นอกจากนี้ยังมีนโยบายอื่น ๆ ที่มีความคืบหน้าในการดำเนินงานน้อย เช่น

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธนธร จิรรุจิเรข

จบใหม่จากคณะสายวิทย์ จับพลัดจับผลูมาทำงานสายสื่อ บางครั้งก็สงสัยว่าตัวเองอยากเป็นนักวิเคราะห์ data ที่เขียนได้นิดหน่อย หรือนักเขียนที่วิเคราะห์ data ได้นิดหน่อยกันแน่

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

ชญาดา จิรกิตติถาวร

เปรี้ยว ซ่า น่ารัก ไม่กินผัก ไม่กินเผ็ด