สถานีรถไฟหัวลำโพง | 2021 WRAP UP

ปิดไม่ปิด “สถานีรถไฟหัวลำโพง”

“ถึงก็ช่างไม่ถึงก็ช่าง” เคยเป็นคำพูดขำขันเกี่ยวกับการเดินรถไฟ ที่ใช้เวลาเดินทางมากกว่าระบบขนส่งมวลชนประเภทอื่น แต่สำหรับ “สถานีรถไฟหัวลำโพง” จะช่างประไรไม่ได้ เพราะมีข่าวคราวให้ชวนสงสัย และลุ้นมาต่อเนื่องตลอดทั้งปี ว่าสรุปแล้วจะ “ปิดหรือไม่” “จะปิดเมื่อไหร่” และ “จะปิดทำไม” เพราะสถานีเก่าแก่แห่งแรกของไทยนี้ มีความสำคัญต่อการเดินทางของผู้โดยสาร โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย รวมถึงความสำคัญในเชิงพื้นที่ “คุณค่าทางประวัติศาสตร์” และโอกาสของการพัฒนาเพื่อประโยชน์สาธารณะของคนเมือง

The Active รวบรวมความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นกับสถานีรถไฟสายเก่า “หัวลำโพง” ทั้งในมุมของหน่วยงานภาครัฐ และภาคประชาชน ต่อการขับเคลื่อนแผนการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วม

หัวลำโพง คมนาคม

เปิดผลวิจัย 5 สถาบัน “หัวลำโพงในฝัน” ของประชาชน

กุมภาพันธ์ – มีนาคม โครงการการศึกษาเพื่อวางกรอบในการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดแผน มโนทัศน์หัวลำโพง จากการเก็บรวบรวมข้อมูลจากประชาชนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เป็นระยะเวลา 1 ปี พบว่า ส่วนใหญ่เห็นด้วยหากมีการพัฒนารถไฟสายท่องเที่ยว และคงการเดินขบวนรถไฟชานเมืองบางสาย เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคได้เดินทางเข้าสู่ย่านกลางเมืองได้สะดวก โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย

ด้านการปรับปรุงเชิงพื้นที่ เสนอให้ปรับปรุงเป็นพื้นที่เรียนรู้พัฒนาการของรถไฟไทย ผ่านการอนุรักษ์อาคารหรือสิ่งประกอบสร้างเก่าแก่ เช่น อนุสรณ์ปฐมฤกษ์รถไฟหลวง เชื่อมโยงระบบการสัญจร รถ ราง เรือ และการท่องเที่ยวในเกาะรัตนโกสินทร์ ได้อีกด้วย ด้านเศรษฐกิจและสังคม เสนอให้มีการจัดเกิดกิจกรรมที่หลากหลาย รองรับคนทุกกลุ่ม ด้านสิ่งแวดล้อม ให้มีการพัฒนาพื้นที่สีเขียวสาธารณะเพิ่มเติม

ผลการศึกษาของ โครงการ การศึกษาเพื่อวางกรอบในการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) ถูกเปิดเผยและชวนคิดต่อยอด ผ่านเวทีสาธารณะออนไลน์ “มโนทัศน์หัวลำโพง จากคุณค่ากว่า 100 ปี สู่อนาคตของประเทศไทย” โดยมีผู้ร่วมเสวนาจากหลากหลายหน่วยงานเพื่อร่วมออกแบบหัวลำโพงในฝัน หลายข้อเสนอมองว่าหากมีการลดปริมาณการเดินขบวนรถไฟ ควรเพิ่มบทบาทในแง่ประโยชน์สาธารณะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการเป็นแหล่งเรียนรู้

“เป็นศูนย์ศึกษาเรียนรู้ และปฏิบัติการ เป็นมรดกรถไฟ สร้างพิพิธภัณฑ์ ศูนย์ข้อมูล คลังความรู้ที่พร้อมนำไปสร้างสรรค์เพื่อต่อยอด มีโรงซ่อมบำรุง ซ่อมเอาหัวจักรเก่ามาวิ่งระยะสั้น จัดให้มีจักรยานรางรถไฟในอดีตสมัยสงครามโลกกลับมา เป็นพื้นที่ทางศิลปะเกี่ยวกับระบบราง พื้นที่สร้างสรรค์จากองค์ประกอบของสถานีรถไฟ”

รณฤทธิ์ ธนโกเศศ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และการอนุรักษ์สถาปัตยกรรม

ชวนคนรุ่นใหม่ ประกวดแบบปรับปรุง “หัวลำโพง” ฉบับประชาชน

มีนาคม – เมษายน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) โดย โครงการการศึกษาเพื่อวางกรอบในการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) แถลงการประกวดแนวคิด “Re-Imagining Hua Lamphong: The New People’s Space” โครงการประกวดแนวความคิดในการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) เพื่อนำไปเป็นส่วนหนึ่งในกรอบการวิจัย และนำเสนอให้กับการรถไฟแห่งประเทศไทย พิจารณาพัฒนาสถานีรถไฟกรุงเทพ ให้สอดรับกับความต้องการของประชาชน และสร้างประโยชน์ทางสังคมที่หลากหลาย ทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และสานต่อคุณประโยชน์ของสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) ให้สามารถพัฒนาและมีบทบาท หน้าที่ใหม่ ควบคู่ไปกับการพัฒนาเมืองต่อไปในอนาคตได้ รวมรางวัลมูลค่ากว่า 100,000 บาท

โครงการประกวดแนวความคิดในการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) จัดกิจกรรมเสวนาวิชาการ “หัวลำโพง: พื้นที่ ความหมาย และคุณค่าที่แปรเปลี่ยน” เพื่อร่วมเสนอความคิดเห็นต่อการปรับปรุงพื้นที่สถานีรถไฟหัวลำโพง ให้สอดรับกับความต้องการของประชาชน และสร้างประโยชน์ทางสังคมที่หลากหลาย พร้อม ๆ กับการอนุรักษ์พื้นที่มรดกทางสถาปัตยกรรมไทย

“สถานีรถไฟหัวลำโพงมีความเป็นพื้นที่สาธารณะ หรือ Public Space อยู่ในตัวเอง ด้วยการใช้งานของพื้นที่ในลักษณะผสมผสาน แต่คนไม่รู้ว่า มาแล้วจะไปไหนต่อ นอกจากการปรับปรุงอาคารที่ทรงคุณค่า จึงต้องมองถึงกิจกรรมสร้างสรรค์ที่จะเกิดขึ้น และการวางแผนให้เป็นจุดเชื่อมเส้นทางสัญจร ซึ่งคิดว่าเป็นบทบาทใหม่ของการรถไฟ ที่มากกว่ากิจการเดินรถในแบบเดิม นั่นคือการพัฒนาพื้นที่เพื่อประโยชน์ที่หลากหลายในสังคมด้วย”

รศ.อภิรดี เกษมศุข อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

คำสั่ง “ปิดหัวลำโพง” แชร์สนั่นโลกออนไลน์

พฤศจิกายน – มีการกระจายข่าวสารผ่านสื่อมวลชนในหลายช่องทาง อ้างถึงบุคคลน่าเชื่อถือในกระทรวงคมนาคม ว่า ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีนโยบายให้การรถไฟแห่งประเทศไทยจัดทำแผนยุติการเดินรถที่สถานีหัวลำโพงทุกขบวน ตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2564 เป็นต้นไป เพื่อลดปัญหาการจราจรในเขตเมือง และเตรียมย้ายสถานีปลายทางไปยังสถานีกลางบางซื่อแทน โดยขบวนรถไฟแต่ละเส้นทางต้องปรับการเดินรถไปยังสถานีรายทางต่าง ๆ ด้วย

รวมพล เรียกร้องให้ขบวนรถไฟได้ไปต่อสู่ปลายทาง “หัวลำโพง”

พฤศจิกายน – สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดแคมเปญรณรงค์ เรายังต้องการการสนับสนุนในการร่วมกันลงชื่อเพื่อคัดค้าน และให้ยุตินโยบายการปิดสถานีรถไฟหัวลำโพง ผ่านเว็บไซต์ Change.org รวมผู้ลงชื่อกว่า 10,000 คน

สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดเวทีสาธารณะ ASA TALKS SERIES 11/21 “การอนุรักษ์และพัฒนา สถานีหัวลำโพง” มีผู้เข้าร่วมเสวนาจากหลายหน่วยงาน ทั้งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมาคมนักผังเมืองไทย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยศิลปากร

ธันวาคม – สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) จัดกิจกรรมเสวนาและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เรื่องการหยุดให้บริการเดินขบวนรถไฟเข้าสถานีหัวลำโพง โดยมีข้อสรุป 3 เรื่อง ดังนี้ 1. ยังคงให้มีบริการขบวนรถไฟรับ-ส่งผู้โดยสารที่สถานีรถไฟหัวลำโพง 2. ควรปรับปรุงและส่งเสริมระบบเดินรถทางรางเพื่อแก้ปัญหาการจราจรติดขัดในพื้นที่กรุงเทพฯ​ แทนการยกเลิกขบวนรถไฟเพื่อแก้ปัญหาจราจร และ 3. การพัฒนาพื้นที่ในเชิงพาณิชย์เพื่อมาชดเชยผลการดำเนินงานที่ขาดทุนของการรถไฟฯ ควรดำเนินการจากที่ดินของการรถไฟฯ ในพื้นที่อื่น ๆ ที่มีความพร้อม อาทิ พื้นที่ย่านพหลโยธิน 

สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟฯ ยังได้มีการแจกแบบสอบถามเก็บข้อมูลความคิดเห็นกับประชาชนทั่วไปกว่า 10,000 คน โดยเกือบทั้งหมดระบุว่า ไม่สนบสนุนให้มีการปิดสถานีรถไฟหัวลำโพง

ด้าน การรถไฟแห่งประเทศไทย กระทรวงคมนาคม เปิดเวทีเสวนาออนไลน์ “อนาคตสถานีหัวลำโพง ประวัติศาสตร์คู่การพัฒนา” รับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่ของสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) โดยมีตัวแทนจากรัฐ นักวิชาการ และภาคประชาสังคม เช่น สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟฯ

เทศกาลพลเมืองร่วมเปลี่ยนแปลง (Citizens make change) จัด เวทีเสวนาหัวลำโพง ไปทางไหนดี ? มีผู้ร่วมเสวนามาจากหลายภาคส่วนทั้งผู้แทนกระทรวงคมนาคม รฟท. นักวิชาการ และภาคประชาสังคม

“หัวลำโพงอย่างไรก็ต้องมีอยู่ เพราะเป็นประวัติศาสตร์หน้าแรกของระบบรางในประเทศไทย รถไฟสายไกลต้องวิ่งเข้าหัวลำโพง จะหยุดการเดินรถเพื่อเอาที่ดินไปให้ใครก็ไม่รู้”

ประภัสร์ จงสงวน อดีตผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย

สรุปปมหยุดเดินรถ “หัวลำโพง” ได้ไปต่อ…

ธันวาคมศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ระบุว่า กรณีการปรับลดขบวนรถไฟเข้าสถานีหัวลำโพง จากนโยบายของการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่จะปรับลดจาก 118 ขบวน เหลือเฉพาะรถไฟชานเมือง 22 ขบวน เพื่อย้ายการเดินรถไฟปลายทางไปยังสถานีกลางบางซื่อ ในวันที่ 23 ธันวาคม 2564 ขณะนี้ชะลอออกไปก่อน โดยให้ การรถไฟฯ จัดทำเช็กลิสต์ ผู้เชี่ยวชาญ และผู้เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากเดินหน้านโยบายดังกล่าว ภายใน 30 วัน ดังนั้น การรถไฟแห่งประเทศไทย ยังคงการเปิดเดินรถไฟทุกขบวนตามกำหนดเวลาเดิม และสามารถเข้าหัวลำโพงได้ตามปกติ รวมถึงยกเลิกคำสั่งปิดสถานีสำคัญอื่น ๆ ด้วย

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์