‘สหภาพฯรถไฟ’ ขอทบทวนปิดหัวลำโพง 23 ธ.ค. ห่วงโกลาหลช่วงกลับบ้านปีใหม่

‘ประธานสหภาพฯรถไฟ’ ห่วงหยุดเดินรถหัวลำโพง สร้างความวุ่นวายช่วงเทศกาลปีใหม่ ตอกกลับรัฐต้องพูดความจริง ว่าหนี้การรถไฟเกิดเพราะใคร ‘ประภัสร์’ ชี้ รฟท. ควรพูดความจริง ถ้ายังไม่พร้อม ไม่ควรหยุดเดินรถ

วันนี้ (19 ธ.ค. 2564) เวทีเสวนาการพัฒนาเชิงอนุรักษ์เพื่อความยั่งยืน ภายใต้เทศกาลพลเมืองร่วมเปลี่ยนแปลง (Citizens make change) ณ ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) สราวุธ สราญวงศ์ รักษาการประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟ กล่าวว่า สหภาพฯรถไฟ ไม่ได้มีหน้าที่เพียงการเรียกร้องสิทธิและสวัสดิการของพนักงานและลูกจ้างรัฐวิสาหกิจเท่านั้น แต่ตามกฎหมาย ยังมีวัตถุประสงค์ในเรื่องการให้ความร่วมมือ และปกป้องผลประโยชน์ของรัฐวิสาหกิจด้วย

สหภาพฯรถไฟ จึงมีจุดยืนเรื่องการใช้ประโยชน์ในที่ดิน ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ข้ออ้างของการพัฒนาสถานีรถไฟหัวลำโพงด้วยเหตุผลว่า แก้ปัญหาการจราจรติดขัด ขอย้ำว่าการเดินรถไฟ ไม่ใช่สาเหตุของรถติด รถไฟเกิดมาก่อนการสร้างถนนเสียด้วยซ้ำ และอีกเหตุผลสำคัญ คือ การใช้พื้นที่หัวลำโพง เพื่อชดเชยภาระขาดทุนสะสมของ รฟท. เพื่อมาใช้หนี้จำนวนมหาศาล

สราวุธ กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่เป็นธรรมกับ รฟท. รัฐบาลควรพูดความจริงทั้งหมด ไม่เอาตัวเลขกลมๆ มาสร้างภาพลักษณ์ให้กับองค์กร ว่าบริหารจัดการมีปัญหา สร้างหนี้สินจำนวนมหาศาล หนี้ที่เกิดขึ้นตอนนี้จำนวน 6 แสนล้าน แท้ที่จริงแล้ว รฟท. เป็นหนี้เท่าไหร่ อย่าทำให้การรถไฟเป็นผู้ร้าย หนี้ที่เกิดขึ้นตามกฎหมายที่เกิดจากการบริหารของรถไฟเองคือเท่าไหร่ ต้องอธิบายเรื่องนี้ให้ชัดเจน

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI ได้เคยทำวิจัยออกมาว่าค่าใช้จ่ายของคนไทยในการใช้รถไฟ ต่อรอบนั้นมากกว่า 3 บาท และการให้บริการของ รฟท. เก็บค่าโดยสาร 21 สตางค์ต่อรอบต่อคน เพราะรัฐมีนโยบายเรื่องการลดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน ตามกฎหมายกำหนดว่าหาก รฟท. บริหารได้กำไร ต้องส่งเข้าส่วนกลาง แต่หากบริหารขาดทุนจากนโยบายของรัฐ รัฐต้องชดเชยอย่างเหมาะสม

“แต่ที่ผ่านมารัฐไม่เคยชดเชยให้ หรือชดเชยให้ล่าช้า ไม่เท่ากับจำนวนที่ขาดทุน ทำให้ต้องไปกู้เงินจากภายนอกเพื่อนำมาบริหารจัดการเอง และรัฐไม่ได้อุ้ม รฟท. หนี้ภายนอกทั้งหมด หน่วยงานของเราต้องชดใช้เองทั้งสิ้น ต้องให้ความเป็นธรรมกับเรื่องนี้”

สราวุธ สราญวงศ์

สราวุธ กล่าวต่อว่า รฟท. มีภารกิจหลักในการจัดการเดินรถให้กับประชาชน เพื่อประโยชน์ของรัฐ และประชาชน การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มาสั่งการให้แก้ปัญหาแบบนี้ โดยลดบทบาทของสถานีรถไฟหัวลำโพงลง ถือเป็นการ ‘ขัดพระบรมราชโองการของล้นเกล้ารัชกาลที่ 5’ ถึงแม้จะอ้างว่าไม่เคยมีนโยบายการทุบ หรือรื้อหัวลำโพง แต่สิ่งที่กำลังทำเป็นการ ‘ด้อยค่า’ สถานีรถไฟหัวลำโพง ให้เป็นเพียงพื้นที่เชิงพาณิชย์เท่านั้น

ตามแผนแม่บทระบบราง หากจะทำให้สมบูรณ์ รถไฟฟ้าสายสีแดงส่วนต่อขยาย จากบางซื่อมาสู่หัวลำโพง ต้องมีเส้นทางเชื่อมต่อกัน แต่ตอนนี้ระบบต่อขยายไม่สามารถทำได้ และยังต้องลดบทบาทหัวลำโพงลงด้วย ถือเป็นการสร้างภาระให้กับประชาชนเป็นอย่างมาก หลังเวทีรับฟังความเห็น เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. ในส่วนรถไฟทางไกลที่ประชาชนยังต้องใช้บริการอยู่ ต่อจากนี้จะไม่ได้มาจอดที่หัวลำโพงแล้ว โดยอ้างว่ามีระบบขนส่งรองรับ หรือ feeder ทั้งรถเมล์ รถไฟฟ้า แต่สิ่งนั้นไม่สอดคล้องกับชีวิตประชาชน และเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนจำนวนมาก

นอกจากนั้นสิ่งที่เป็นกังวล คือ ‘การเดินทางกลับบ้านช่วงปีใหม่’ ของประชาชน เพราะตอนนี้ รฟท. กำหนดหยุดการเดินรถที่สถานีหัวลำโพง ในวันที่ 23 ธ.ค.นี้ จะสร้างความวุ่นวาย โกลาหล ให้กับประชาชนเป็นอย่างมาก ขอเรียกร้องให้มีการทำประชาพิจารณ์ จนกว่าจะมีการดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับสถานีหัวลำโพง รวมถึงการหยุดการเดินรถ อย่ารอให้เกิดปัญหาแล้วมาแก้ไข ควรรับฟังความเห็นอย่างรอบด้าน แล้วมาดำเนินการให้ได้รับประโยชน์ร่วมกันอย่างเท่าเทียม

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้