ปิดไม่ปิด “สถานีรถไฟหัวลำโพง”
“ถึงก็ช่างไม่ถึงก็ช่าง” เคยเป็นคำพูดขำขันเกี่ยวกับการเดินรถไฟ ที่ใช้เวลาเดินทางมากกว่าระบบขนส่งมวลชนประเภทอื่น แต่สำหรับ “สถานีรถไฟหัวลำโพง” จะช่างประไรไม่ได้ เพราะมีข่าวคราวให้ชวนสงสัย และลุ้นมาต่อเนื่องตลอดทั้งปี ว่าสรุปแล้วจะ “ปิดหรือไม่” “จะปิดเมื่อไหร่” และ “จะปิดทำไม” เพราะสถานีเก่าแก่แห่งแรกของไทยนี้ มีความสำคัญต่อการเดินทางของผู้โดยสาร โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย รวมถึงความสำคัญในเชิงพื้นที่ “คุณค่าทางประวัติศาสตร์” และโอกาสของการพัฒนาเพื่อประโยชน์สาธารณะของคนเมือง
The Active รวบรวมความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นกับสถานีรถไฟสายเก่า “หัวลำโพง” ทั้งในมุมของหน่วยงานภาครัฐ และภาคประชาชน ต่อการขับเคลื่อนแผนการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วม
เปิดผลวิจัย 5 สถาบัน “หัวลำโพงในฝัน” ของประชาชน
กุมภาพันธ์ – มีนาคม โครงการการศึกษาเพื่อวางกรอบในการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดแผน มโนทัศน์หัวลำโพง จากการเก็บรวบรวมข้อมูลจากประชาชนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เป็นระยะเวลา 1 ปี พบว่า ส่วนใหญ่เห็นด้วยหากมีการพัฒนารถไฟสายท่องเที่ยว และคงการเดินขบวนรถไฟชานเมืองบางสาย เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคได้เดินทางเข้าสู่ย่านกลางเมืองได้สะดวก โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย
ด้านการปรับปรุงเชิงพื้นที่ เสนอให้ปรับปรุงเป็นพื้นที่เรียนรู้พัฒนาการของรถไฟไทย ผ่านการอนุรักษ์อาคารหรือสิ่งประกอบสร้างเก่าแก่ เช่น อนุสรณ์ปฐมฤกษ์รถไฟหลวง เชื่อมโยงระบบการสัญจร รถ ราง เรือ และการท่องเที่ยวในเกาะรัตนโกสินทร์ ได้อีกด้วย ด้านเศรษฐกิจและสังคม เสนอให้มีการจัดเกิดกิจกรรมที่หลากหลาย รองรับคนทุกกลุ่ม ด้านสิ่งแวดล้อม ให้มีการพัฒนาพื้นที่สีเขียวสาธารณะเพิ่มเติม
- 14 ก.พ. On The Road สถานีต่อไป หัวลำโพง
- 19 ก.พ. สถานีต่อไป หัวลำโพง EP.2 เปิด(ร่าง)แผนปรับปรุงหัวลำโพง
- 22 ก.พ. แนวทางการพัฒนาสถานีหัวลำโพง
ผลการศึกษาของ โครงการ การศึกษาเพื่อวางกรอบในการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) ถูกเปิดเผยและชวนคิดต่อยอด ผ่านเวทีสาธารณะออนไลน์ “มโนทัศน์หัวลำโพง จากคุณค่ากว่า 100 ปี สู่อนาคตของประเทศไทย” โดยมีผู้ร่วมเสวนาจากหลากหลายหน่วยงานเพื่อร่วมออกแบบหัวลำโพงในฝัน หลายข้อเสนอมองว่าหากมีการลดปริมาณการเดินขบวนรถไฟ ควรเพิ่มบทบาทในแง่ประโยชน์สาธารณะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการเป็นแหล่งเรียนรู้
“เป็นศูนย์ศึกษาเรียนรู้ และปฏิบัติการ เป็นมรดกรถไฟ สร้างพิพิธภัณฑ์ ศูนย์ข้อมูล คลังความรู้ที่พร้อมนำไปสร้างสรรค์เพื่อต่อยอด มีโรงซ่อมบำรุง ซ่อมเอาหัวจักรเก่ามาวิ่งระยะสั้น จัดให้มีจักรยานรางรถไฟในอดีตสมัยสงครามโลกกลับมา เป็นพื้นที่ทางศิลปะเกี่ยวกับระบบราง พื้นที่สร้างสรรค์จากองค์ประกอบของสถานีรถไฟ”
รณฤทธิ์ ธนโกเศศ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และการอนุรักษ์สถาปัตยกรรม
ชวนคนรุ่นใหม่ ประกวดแบบปรับปรุง “หัวลำโพง” ฉบับประชาชน
มีนาคม – เมษายน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) โดย โครงการการศึกษาเพื่อวางกรอบในการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) แถลงการประกวดแนวคิด “Re-Imagining Hua Lamphong: The New People’s Space” โครงการประกวดแนวความคิดในการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) เพื่อนำไปเป็นส่วนหนึ่งในกรอบการวิจัย และนำเสนอให้กับการรถไฟแห่งประเทศไทย พิจารณาพัฒนาสถานีรถไฟกรุงเทพ ให้สอดรับกับความต้องการของประชาชน และสร้างประโยชน์ทางสังคมที่หลากหลาย ทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และสานต่อคุณประโยชน์ของสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) ให้สามารถพัฒนาและมีบทบาท หน้าที่ใหม่ ควบคู่ไปกับการพัฒนาเมืองต่อไปในอนาคตได้ รวมรางวัลมูลค่ากว่า 100,000 บาท
- 5 มี.ค. Public Forum: เสียงรถด่วนขบวนสุดท้าย: ปลายทางหัวลำโพง ?
- 22 มี.ค. ชวนออกแบบ “หัวลำโพง” รองรับการใช้ประโยชน์ สอดรับการพัฒนาเมือง
โครงการประกวดแนวความคิดในการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) จัดกิจกรรมเสวนาวิชาการ “หัวลำโพง: พื้นที่ ความหมาย และคุณค่าที่แปรเปลี่ยน” เพื่อร่วมเสนอความคิดเห็นต่อการปรับปรุงพื้นที่สถานีรถไฟหัวลำโพง ให้สอดรับกับความต้องการของประชาชน และสร้างประโยชน์ทางสังคมที่หลากหลาย พร้อม ๆ กับการอนุรักษ์พื้นที่มรดกทางสถาปัตยกรรมไทย
“สถานีรถไฟหัวลำโพงมีความเป็นพื้นที่สาธารณะ หรือ Public Space อยู่ในตัวเอง ด้วยการใช้งานของพื้นที่ในลักษณะผสมผสาน แต่คนไม่รู้ว่า มาแล้วจะไปไหนต่อ นอกจากการปรับปรุงอาคารที่ทรงคุณค่า จึงต้องมองถึงกิจกรรมสร้างสรรค์ที่จะเกิดขึ้น และการวางแผนให้เป็นจุดเชื่อมเส้นทางสัญจร ซึ่งคิดว่าเป็นบทบาทใหม่ของการรถไฟ ที่มากกว่ากิจการเดินรถในแบบเดิม นั่นคือการพัฒนาพื้นที่เพื่อประโยชน์ที่หลากหลายในสังคมด้วย”
รศ.อภิรดี เกษมศุข อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
คำสั่ง “ปิดหัวลำโพง” แชร์สนั่นโลกออนไลน์
พฤศจิกายน – มีการกระจายข่าวสารผ่านสื่อมวลชนในหลายช่องทาง อ้างถึงบุคคลน่าเชื่อถือในกระทรวงคมนาคม ว่า ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีนโยบายให้การรถไฟแห่งประเทศไทยจัดทำแผนยุติการเดินรถที่สถานีหัวลำโพงทุกขบวน ตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2564 เป็นต้นไป เพื่อลดปัญหาการจราจรในเขตเมือง และเตรียมย้ายสถานีปลายทางไปยังสถานีกลางบางซื่อแทน โดยขบวนรถไฟแต่ละเส้นทางต้องปรับการเดินรถไปยังสถานีรายทางต่าง ๆ ด้วย
รวมพล เรียกร้องให้ขบวนรถไฟได้ไปต่อสู่ปลายทาง “หัวลำโพง”
พฤศจิกายน – สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดแคมเปญรณรงค์ เรายังต้องการการสนับสนุนในการร่วมกันลงชื่อเพื่อคัดค้าน และให้ยุตินโยบายการปิดสถานีรถไฟหัวลำโพง ผ่านเว็บไซต์ Change.org รวมผู้ลงชื่อกว่า 10,000 คน
สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดเวทีสาธารณะ ASA TALKS SERIES 11/21 “การอนุรักษ์และพัฒนา สถานีหัวลำโพง” มีผู้เข้าร่วมเสวนาจากหลายหน่วยงาน ทั้งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมาคมนักผังเมืองไทย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยศิลปากร
- 25 พ.ย. เรากำลังจะทิ้งใครไว้ที่หัวลำโพง?
- 27 พ.ย. หัวลำโพง รถไฟขบวนแห่งความหวัง
- 29 พ.ย. เช็กจุดยืนสหภาพรถไฟฯ ปิดหัวลำโพง ?
ธันวาคม – สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) จัดกิจกรรมเสวนาและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เรื่องการหยุดให้บริการเดินขบวนรถไฟเข้าสถานีหัวลำโพง โดยมีข้อสรุป 3 เรื่อง ดังนี้ 1. ยังคงให้มีบริการขบวนรถไฟรับ-ส่งผู้โดยสารที่สถานีรถไฟหัวลำโพง 2. ควรปรับปรุงและส่งเสริมระบบเดินรถทางรางเพื่อแก้ปัญหาการจราจรติดขัดในพื้นที่กรุงเทพฯ แทนการยกเลิกขบวนรถไฟเพื่อแก้ปัญหาจราจร และ 3. การพัฒนาพื้นที่ในเชิงพาณิชย์เพื่อมาชดเชยผลการดำเนินงานที่ขาดทุนของการรถไฟฯ ควรดำเนินการจากที่ดินของการรถไฟฯ ในพื้นที่อื่น ๆ ที่มีความพร้อม อาทิ พื้นที่ย่านพหลโยธิน
สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟฯ ยังได้มีการแจกแบบสอบถามเก็บข้อมูลความคิดเห็นกับประชาชนทั่วไปกว่า 10,000 คน โดยเกือบทั้งหมดระบุว่า ไม่สนบสนุนให้มีการปิดสถานีรถไฟหัวลำโพง
ด้าน การรถไฟแห่งประเทศไทย กระทรวงคมนาคม เปิดเวทีเสวนาออนไลน์ “อนาคตสถานีหัวลำโพง ประวัติศาสตร์คู่การพัฒนา” รับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่ของสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) โดยมีตัวแทนจากรัฐ นักวิชาการ และภาคประชาสังคม เช่น สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟฯ
เทศกาลพลเมืองร่วมเปลี่ยนแปลง (Citizens make change) จัด เวทีเสวนาหัวลำโพง ไปทางไหนดี ? มีผู้ร่วมเสวนามาจากหลายภาคส่วนทั้งผู้แทนกระทรวงคมนาคม รฟท. นักวิชาการ และภาคประชาสังคม
“หัวลำโพงอย่างไรก็ต้องมีอยู่ เพราะเป็นประวัติศาสตร์หน้าแรกของระบบรางในประเทศไทย รถไฟสายไกลต้องวิ่งเข้าหัวลำโพง จะหยุดการเดินรถเพื่อเอาที่ดินไปให้ใครก็ไม่รู้”
ประภัสร์ จงสงวน อดีตผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย
- 6 ธ.ค. โอกาส และทางเลือก “พัฒนาสถานีหัวลำโพง”
- 7 ธ.ค. หัวลำโพง-บางซื่อ … (ไม่ใช่)แค่ปากซอย
- 11 ธ.ค. “หัวลำโพงในฝัน” ของประชาชน
- 19 ธ.ค. ‘สหภาพฯรถไฟ’ ขอทบทวนปิดหัวลำโพง 23 ธ.ค. ห่วงโกลาหลช่วงกลับบ้านปีใหม่
- 19 ธ.ค. ‘ประภัสร์’ ตั้งข้อสังเกตห้ามขายตั๋วลงหัวลำโพง ห่วงจุดจอดขบวนทางไกลสร้างปัญหา
สรุปปมหยุดเดินรถ “หัวลำโพง” ได้ไปต่อ…
ธันวาคม – ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ระบุว่า กรณีการปรับลดขบวนรถไฟเข้าสถานีหัวลำโพง จากนโยบายของการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่จะปรับลดจาก 118 ขบวน เหลือเฉพาะรถไฟชานเมือง 22 ขบวน เพื่อย้ายการเดินรถไฟปลายทางไปยังสถานีกลางบางซื่อ ในวันที่ 23 ธันวาคม 2564 ขณะนี้ชะลอออกไปก่อน โดยให้ การรถไฟฯ จัดทำเช็กลิสต์ ผู้เชี่ยวชาญ และผู้เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากเดินหน้านโยบายดังกล่าว ภายใน 30 วัน ดังนั้น การรถไฟแห่งประเทศไทย ยังคงการเปิดเดินรถไฟทุกขบวนตามกำหนดเวลาเดิม และสามารถเข้าหัวลำโพงได้ตามปกติ รวมถึงยกเลิกคำสั่งปิดสถานีสำคัญอื่น ๆ ด้วย