ปีแห่งอากาศแปรปรวน | 2021 WRAP UP

อากาศและภัยพิบัติ ทบทวนเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงไม่สิ้นสุด

ปัญหาโลกร้อน เป็นปัญหาใหญ่ที่คนทั่วโลกกำลังเผชิญ ปัจจุบันอุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้นแล้ว 1.1 องศาเซลเซียส จากระดับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง

ก่อนหน้านี้ นานาประเทศทั่วโลกมีเป้าหมายลดปัญหาโลกร้อน ภายใต้ความตกลงปารีส (NDCs) ที่จะต้องควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่ให้เกิน 2 หรือ 1.5 องศาเซลเซียส

ในการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 (COP26) ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม –12 พฤศจิกายน 2564 ที่เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร หลายประเทศมีเป้าหมายที่ท้าทายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็น 0 ของโลก ไทยเองก็วางเป้าหมายจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ร้อยละ 20-25 จากกรณีปกติ ภายใน 2573

รศ.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ ม.รังสิต มองว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีแนวโน้มมากขึ้น คนไทยอาจเริ่มรู้สึกถึงผลกระทบข้างเคียงไม่น้อย เพราะเพียงแค่ปี 2564 เพียงปีเดียว ก็เกิดภัยพิบัติด้านสภาพภูมิอากาศที่หลากหลายในเวลาเดียวกัน

ภาคเหนือ ส่วนใหญ่แล้ง น้ำเขื่อนน้อย ภาคกลาง น้ำท่วมใหญ่คล้ายปี 2554 บางพื้นที่ ขณะที่ ภาคอีสาน แล้งอยู่ก็เกิดน้ำท่วม ไม่ต่างจาก ภาคใต้ ที่เผชิญน้ำท่วมต่อเนื่องจากปัญหาน้ำหลาก การที่ประเทศไทยมีพื้นที่การเกษตรค่อนข้างมาก เมื่อเกิดปัญหาภัยพิบัติ ก็มักจะเดือนร้อนหนัก โดยเฉพาะเกษตรกร ที่มีทั้งหนี้สิน พิษโควิด-19 และปัญหารุมเร้ากับการทำกิน กระทบทุกชนชั้น ทุกอาชีพ แต่จะทำอย่างไรให้ปรับตัวอยู่ให้ได้จากปัญหาโลกร้อน เรื่องนี้ภาคนโยบายอาจต้องคิดต่อ   

2021 อากาศแปรปรวน

มกราคม: ภัยแล้ง น้ำเค็มรุกเจ้าพระยา

การประปานครหลวง เปิดเผยปัญหาภัยแล้งและน้ำเค็มรุก เริ่มมีผลกระทบมากช่วงปลายปี 2563 – ต้นปี 2564 เป็นเพราะน้ำต้นทุนใน 4 เขื่อนใหญ่ อย่าง เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีน้ำใช้การน้อยมาก โดยพื้นที่ภาคกลางต้องงดทำนาปรังด้วย ขณะเดียวกัน เมื่อถึงช่วงน้ำทะเลหนุนสูง มีผลให้น้ำจืดในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างดันน้ำทำเลได้ไม่มาก

สำหรับค่าความเค็มในการผลิตน้ำประปาต้องไม่เกิน 0.5 กรัมต่อลิตร และเกณฑ์มาตรฐานน้ำใช้เพื่อการเกษตรต้องไม่เกิน 2.0 กรัมต่อลิตร แต่บางวันเกิน 2.5 กรัมต่อลิตร

กุมภาพันธ์ – เมษายน: อากาศร้อน แปรปรวน และพายุฤดูร้อน ชาวนาเริ่มทำนาก่อนฤดูฝน

กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเข้าสู่ฤดูร้อน ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ซึ่ง เร็วกว่าปี 2563 (29 ก.พ.63) 2 วัน

ขณะเดียวกัน ปรากฏการณ์ลานีญากำลังปานกลางที่เริ่มมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2563 และกำลังเข้าสู่ภาวะปกติในเดือนสิงหาคม 2564 ส่งผลให้ภาคใต้ของไทยมีปริมาณฝนมากขึ้นจากปกติ รวมถึงอุณหภูมิในช่วงฤดูร้อนปี 2564 ไม่ร้อนอบอ้าวมากนัก แต่ก็จะมีบางวันที่ร้อน โดยอุณหภูมิสูงที่สุดในเดือนเมษายน 2564 วัดได้ 41.7 องศาเซลเซียส ที่สถานีบัวชุม อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2563 และ 2562 พบว่า เดือนเมษายน 2564 มีอากาศร้อนน้อยกว่า 2 ปีที่ผ่านมา และจากสถิติที่ผ่านมา เคยพบว่า อุณหภูมิสูงสุดในฤดูร้อนของไทยวัดได้ 44.6 องศาเซลเซียส ที่อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน วันที่ 28 เมษายน 2559

ส่วนพายุฤดูร้อนเริ่มมีผลกระทบตั้งแต่เดือนมีนาคม หลายพื้นที่เกิดวาตภัย ลมกระโชกแรง น้ำท่วมภาคเหนือ ภาคอีสานกระทบค่อนข้างมาก และมีบ้านเรือนเสียหายหลายหลัง แต่ก็ต้องยอมรับ เพราะปีนี้พายุฤดูร้อน ฝนตก ลมแรง เกิดบ่อย ปริมาณฝนรวมของทั้งประเทศในช่วงฤดูฝนจะมากกว่าค่าปกติ ประมาณร้อยละ 5 และมากกว่าปีที่ผ่านมา

ค่าฝนที่มากกว่าปกติในช่วงเดือนเมษายน ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยหนึ่งเท่าตัวจากอิทธิพลของพายุฤดูร้อน ส่งผลให้ประเทศไทยมีปริมาณฝนเฉลี่ย 171 มิลลิเมตร ซึ่งมากกว่าค่าปกติถึง 87 มิลลิเมตร คิดเป็นร้อยละ 102 ทำให้เกษตรกรเริ่มทำนาเร็วกว่าปีที่ผ่านมา

พฤษภาคม: เข้าสู่ฤดูฝน แต่ยังตกน้อยกว่าปกติ – ฝนทิ้งช่วง 

ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการในวันที่ 15 พฤษภาคม ตามการประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา ขณะที่ชาวนาภาคกลางหลายคน เปิดเผยว่า เมื่อเข้าสู่ฤดูฝน ชาวนาหลายพื้นที่ก็เริ่มทำนามากขึ้น เพราะเห็นฝนตกเรื่อยมาตั้งแต่เดือนเมษายน แต่เมื่อฝนทิ้งช่วงก็พบว่าหลายแปลงข้าวเริ่มยืนต้นตาย และขาดน้ำหล่อเลี้ยงหลายจังหวัด จากปัญหาฤดูฝน ฝนตกไม่ทั่วฟ้า

มิถุนายน: พายุ “โคะงุมะ” ฝนตกหนัก น้ำหลาก แต่ภาคเหนือและภาคกลางยังแล้ง ขาดน้ำทำการเกษตร 

พายุ “โคะงุมะ” หมายถึง ดาวหมีน้อย ตั้งชื่อพายุโดยประเทศญี่ปุ่น แม้พายุลูกนี้จะไม่เข้ามาในประเทศไทยโดยตรง แต่ในช่วงวันที่ 12-14 มิถุนายน 2564 เป็นช่วงที่กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศว่า ประเทศไทย ตอนบนภาคเหนือจะเริ่มมีความเสี่ยงฝนตกหนัก และภาคอีสานฝนตกหนักมาก ทำให้น้ำท่วมบางอำเภอในจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ เลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี รวม 27 จังหวัด ซึ่งได้รับอิทธิพลของร่องมรสุมพาดผ่านบริเวณตอนบนของภาคเหนือและประเทศลาวตอนบน และอิทธิพลพายุลูกนี้เริ่มสลายตัวเมื่อขึ้นฝั่งในวันที่ 13 มิถุนายน โดยเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณเมืองทัญฮว้า ประเทศเวียดนาม

กรกฎาคม: พายุ “เจิมปากา” น้ำเริ่มเข้าเขื่อนใหญ่ และเริ่มท่วมเฉพาะจุด 

19 กรกฎาคม กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศว่าบริเวณทะเลจีนใต้เริ่มมีพายุดีเปรสชั่น “เจิมปากา” ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน “เจิมปากา” เคลื่อนขึ้นฝั่งที่เมืองเม่าหมิง ประเทศจีนตอนใต้ในช่วงวันที่ 21-22 กรกฎาคม พายุนี้ไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศไทย แต่ทำให้มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น

26 กรกฎาคม กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานว่ามีพื้นที่ได้รับผลกระทบน้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วม 3 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ ปราจีนบุรี แม่ฮ่องสอน รวม 3 อำเภอ 3 ตำบล 4 หมู่บ้าน และ สถานการณ์ วาตภัย 2 จังหวัด ได้แก่ ตราด และปราจีนบุรี รวม 2 อำเภอ 2 ตำบล 3 หมู่บ้าน

สิงหาคม: น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมฉับพลัน กระทบประชาชนกว่า 300 ครอบครัว

มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมประเทศลาวและเวียดนามตอนบน จึงทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนตกหนักถึงหนักมาก ในช่วงปลายเดือนสิงหาคม เหตุการณ์นี้ส่งผลให้ลุ่มน้ำยม ตั้งแต่จังหวัดสุโขทัย พิจิตร นครสวรรค์ ที่ไม่มีเขื่อนและอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ มีน้ำป่าไหลหลาก

ไม่ต่างจาก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ได้รับอิทธิพลฝนตกหนักถึงหนักมาก ทำให้จังหวัดนครราชสีมามีน้ำท่วมขังในอำเภอเมืองทันที แม้ว่าเวลานั้น ‘กอบชัย บุญอรณะ’ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา จะตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์อำเภอในเขตลุ่มน้ำ และเฝ้าระวัง ทั้ง 32 อำเภอของจังหวัดนครราชสีมา เพื่อเตรียมความพร้อมทันทีแล้วก็ตาม

อีกเหตุการณ์เรื่องฝนตกหนักถึงนักมากในช่วงเดือนสิงหาคม คือ สถานการณ์น้ำท่วมรอบนิคมอุตสาหกรรมบางปู ที่ทำให้บางพื้นที่ของนิคมอุสาหกรรมบางปูมีน้ำท่วมสูงถึง 150 เซนติเมตร โดยเฉพาะในเขตส่งออกนิคมอุตสาหกรรมบางปู เป็นจุดที่น้ำท่วมสูงที่สุด มีโรงงานหลายแห่งที่อยู่ในพื้นที่ต่ำ ถูกน้ำท่วมจนได้รับความเสียหาย รถยนต์จมน้ำมิดหลังคา บางพื้นที่ บ้าน ร้านค้า ข้าวของเสียหาย ถือเป็นเหตุการณ์ท่วมหนักในรอบหลายปี ยิ่งในปัจจุบันพบว่ามีการใช้ประโยชน์จากที่ดินจำนวนมาก ซึ่งเป็นอุปสรรค ขวางทางน้ำ เมื่อฝนตกหนักจึงท่วมเร็วและรุนแรง

กันยายน: พายุ “โกนเซิน” และ “เตี้ยนหมู่”

9 กันยายน 2564 กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเตือนภัยฉบับ ที่ 1 เรื่องพายุโซนร้อน “โกนเซิน” บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน ที่ได้เคลื่อนผ่านเกาะไหหลำลงสู่อ่าวตังเกี๋ยในช่วงวันที่ 12-13 กันยายน 2564 แม้พายุลูกนี้จะไม่เข้าประเทศไทยโดยตรง แต่อิทธิพลของพายุก็ส่งผลให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักในหลายภาค โดยเฉพาะภาคเหนือ ภาคอีสาน เวลาเดียวกันประเทศไทยยังมีร่องมรสุมหรือร่องฝน ที่เป็นปัจจัยที่ทำให้ฝนตกต่อเนื่อง ซึ่งก่อนหน้าที่พายุโกนเซินจะเข้า กองอำนวยการน้ำแห่งชาติก็ระบุว่า ในเวลานั้น มีน้ำเต็มในเขื่อน 54 แห่งแล้ว แม้เขื่อนจะระบายน้ำ แต่ก็ทำได้ไม่มาก เพราะจะทำให้ท่วมซ้ำเติมพื้นที่ลุ่มต่ำ

สำหรับ พายุ “เตี้ยนหมู่” ถือเป็นพายุลูกแรกที่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยโดยตรงในปี 2564 มีความหมายว่า เจ้าแม่แห่งสายฟ้า มาจาก สาธารณรัฐประชาชนจีน มีกำลังแรงเป็นพายุดีเปรสชันและเป็นพายุที่มีความรุนแรงระดับพายุโซนร้อนขึ้นไปลูกที่ 15 ที่มีแหล่งกำเนิดบริเวณทะเลจีนใต้และมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือด้านตะวันตก

นั่นทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกมีฝนตกเป็นบริเวณกว้าง กับมีฝนหนักหลายพื้นที่และหนักมากบางแห่ง ระหว่างวันที่ 23 – 25 กันยายน และทำให้มีปริมาณน้ำท่าในลุ่มน้ำปิง วัง ยม และน่าน ไหลลงสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยามากขึ้น ปริมาณฝนมากที่สุดใน 24 ชั่วโมงวัดได้ 362.0 มิลลิเมตร ที่อำเภอไพศาลี จังหวัดนครสวรรค์ และมีรายงานลมกระโชกแรงในบางพื้นที่ โดยวัดความเร็วลมสูงสุดได้ 34 นอตหรือ 63 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ที่สถานีอุตุนิยมวิทยาทะเลแหลมฉบัง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี นอกจากนี้ เตี้ยนหมู่ยังส่งผลให้เกิดดินถล่มบริเวณพื้นที่ลาดเชิงเขาในจังหวัดเชียงใหม่ และมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในหลายพื้นที่ โดยพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอิทธิพลของพายุลูกนี้ รวมทั้งสิ้น 28 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ตาก สุโขทัย พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร เลย สกลนคร ขอนแก่น ชัยภูมิ ร้อยเอ็ด นครราชสีมา ศรีสะเกษ อุบลราชธานี สระแก้ว นครสวรรค์ ชัยนาท ลพบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา นครปฐม และปทุมธานี

นอกจากนี้ อิทธิพล พายุ “เตี้ยนหมู่” ยังทำให้ ลุ่มน้ำมูล ลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำน่าน ลุ่มน้ำยม และลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีน้ำล้นตลิ่ง ไหลหลากท่วมหลายจังหวัดที่ติดริมแม่น้ำ โดยเฉพาะจังหวัดสุโขทัยก็ได้รับอิทธิพลของพายุเตี้ยนหมู่เต็ม ๆ หลังจาก 1-2 ปีที่ผ่านมา เผชิญปัญหาภัยแล้งน้ำไม่ท่วม แต่พอปี 2564 กลับพบว่าน้ำท่วมหนัก

26 กันยายน พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่จังหวัดสุโขทัย และติดตามสถานการณ์อุทกภัยและการดูแลประชาชน เพื่อสนับสนุนช่วยเหลือผู้ประสบภัยพร้อมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การไปครั้งนั้นยังมีการหารือแนวทางแก้ปัญหาน้ำท่วมระยะยาวด้วย

“เตี้ยนหมู่” ยังทำให้เกิดเหตุการณ์ที่สร้างความตกใจไม่น้อย กับกรณีอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรชำรุด เมื่อวันที่ 26 กันยายน ที่ ตำบลบัลลังก์ อำเภอโนนไทย จังหวัดนครราชสีมา มีน้ำเกินความจุ คิดเป็น 135 ซึ่งมีปริมาณน้ำมากที่สุดในรอบ 50 ปี นับตั้งแต่ก่อสร้างอ่างเมื่อปี 2514 โดยมวลน้ำฝนสะสมจากอิทธิพลของพายุโซนร้อน “เตี้ยนหมู่”  ทำให้อาคารระบายน้ำล้นปกติ ซึ่งอยู่ระหว่างก่อสร้างได้ถูกกระแสน้ำกัดเซาะกำแพงปีกด้านขวาจนชำรุด ทำให้มวลน้ำไหลทะลักออกมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้มี 9 อำเภอ ในจังหวัดนครราชสีมา ท้ายอ่างเก็บน้ำกระทบกับน้ำท่วม

ตุลาคม: พายุ “ไลออนร็อก” และ “คมปาซุ” น้ำท่วมภาคเหนือ อีสาน และภาคกลาง หลายจังหวัดท่วมขังนานนับเดือน

ถ้าเฉพาะเดือนตุลาคมเป็นช่วงที่จังหวัดท้ายเขื่อนเจ้าพระยาในลุ่มน้ำภาคกลางต้องทนทุกข์แสนสาหัสจากน้ำท่วมขังนานนับเดือน อย่างจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในช่วงวันที่ 3 ตุลาคม ก็พบว่า คันกั้นน้ำวัดจุฬามณีแตก จนไหลเข้าท่วมวัดและชุมชนเสียหายค่อนข้างมาก

ชาวบ้านจังหวัดพระนครศรีอยุธยาสะท้อนว่าแม้จะมีการเตือนในภาพใหญ่ของรัฐ แต่กลับคาดการณ์ความเสี่ยงของน้ำท่วมสูงในชุมชนไม่ได้ เพราะน้ำมาหลายทิศทาง แต่ละลุ่มน้ำ ก็เตือนคนละชุด จึงอาจไม่เพียงพอต่อการรับมือ

ขณะเดียวกันในเดือนตุลาคม 2564 ไทยก็เผชิญกับพายุ “ไลออนร็อก” เป็นอีก 1 ลูก ที่แม้จะไม่ได้เข้ามาประเทศไทยโดยตรง แต่อิทธิพลของพายุก็กระทบประเทศไทยหลายจังหวัดเหมือนกัน แม้จะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนบน ก่อนจะอ่อนกำลังเป็นดีเปรสชั่น และเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำ แต่อิทธิพลของพายุก็มีผลทำให้ไทยที่ยังระบายน้ำท่วมเดิมจากพายุเตี้ยนหมู่ไม่หมด ก็สร้างความกังวลใจให้กับ คนในพื้นที่ที่ท่วมจากพายุลูกที่แล้ว  

ถัดมาไม่นาน กรมอุตุนิยมวิทยา ก็ออกประกาศพายุโซนร้อนกำลังแรง “คมปาซุ” เป็นชื่อภาษาญี่ปุ่น แปลว่ากลุ่มดาววงเวียน ที่ขึ้นฝั่งเวียดนามใน 13-14 ตุลาคม พายุลูกนี้กระทบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนตกหนักถึงหนักมากต่อจากพายุลูกที่แล้ว เวลาเดียวกันไทยเองก็มีร่องมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ หรือร่องฝน แต่ผลกระทบครั้งนี้ ส่วนใหญ่จะกระทบภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง พื้นที่การเกษตร สวนผลไม้ ที่ จังหวัดจันทบุรีและตราด เสียหาย รวม 45 จังหวัด และมีพื้นที่เกษตรได้รับผลกระทบจากพายุคมปาซุ อีกกว่า  5 ล้านไร่

พฤศจิกายน: เข้าสู่ฤดูแล้งตามปฏิทินกรมชลประทาน แต่ทุ่งรับน้ำเจ้าพระยา-ท่าจีนยังไม่แห้ง ภาคเหนือและอีสาน อากาศหนาวเย็น

1 พฤศจิกายน 2564 เป็นวันแรกที่กรมชลประทานและกาศเข้าสู่ฤดูแล้ง ที่มีปริมาณน้ำต้นทุนทั่วประเทศ จํานวน 37,857 ล้าน ลบ.ม. ปี 2564/2565 จึงมีการวางแผนจัดสรรน้ำ จํานวน 22,280 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งสํารองน้ำต้นฤดูฝนปี 2565 รวม 15,577 ล้าน ลบ.ม. โดยจะจัดลําดับความสําคัญ ตามกิจกรรมการใช้น้ำ ได้แก่ การอุปโภค-บริโภค รักษาระบบนิเวศและอื่น ๆ การเกษตรฤดูแล้ง และอุตสาหกรรม โดยมีแผนการเพาะปลูกข้าวนาปรัง จํานวน 6.41 ล้านไร่

แต่ดูเหมือนว่าหลายพื้นที่ ที่เป็นทุ่งรับน้ำในทุ่งเจ้าพระยา และลุ่มน้ำท่าจีนในเดือนพฤศจิกายน น้ำยังไม่แห้งจากปัญหาน้ำท่วมจากพายุ และร่องฝน ที่ปี 2564 ฝนตกเข้าเขื่อนไม่มากพอต่อความต้องการการใช้น้ำ ขณะที่การเตือนภัยเรื่องของการเตรียมพร้อมรับมือสภาพอากาศก็ยังไม่ค่อยจะชัดเจนเพื่อให้ประชนเตรียมการต่อการรับมือ

ขณะที่ผศ.สิตางศุ์ พิลัยหล้า นักวิชาการด้านน้ำเสนอว่าไทยเองยังมีจุดอ่อนในการบริหารจัดการน้ำค่อนข้างมาก จึงเสนอ ภาครัฐต้องเร่งสร้างระบบ DSS (Decision Support System) การสนับสนุนการสื่อสารและตัดสินใจ เตือนภัยประชาชน ถึงความแม่นยำให้ประชาชนคาดการณ์ล่วงหน้า” ถึงการรับมือให้ทันกับภัยพิบัติล่วงหน้า

สอดคล้องกับ รศ.เสรี ศุภราทิตย์ อธิบายว่า ประเทศไทยยังขาดการเตือนภัยที่ชัดเจน แม้จะมีการเตือนภัยจากหลายหน่วยงาน แต่เป็นชุดข้อมูลของหน่วยงานนั้น ๆ ขาดการบูรณาการวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงที่จะเกิดภัยให้แคบลงตรงกลุ่มเป้าหมายของการแจ้งเตือน เข้าถึงข้อมูลได้ง่ายและรวดเร็ว เช่น การแจ้งเตือนอัตราระบายน้ำจากเขื่อน กรมชลประทาน หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะแจ้งข้อมูลเป็นหน่วย “ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที” หรือ หากเป็นการแจ้งเตือนปริมาณฝน กรมอุตุนิยมวิทยา จะแจ้งข้อมูลเป็นหน่วย “มิลลิเมตรต่อวัน” หรือมากกว่านั้น การแจ้งเตือนเช่นนี้ หากประชาชนไม่สามารถประเมินข้อมูลร่วมกับลักษณะพื้นที่ของตัวเองได้ ก็น่าจะเป็นไปได้ยาก ที่จะนำมาสู่การตัดสินใจว่าต้องรับมือแบบไหน

สำหรับสภาพอากาศปี 2564 ในช่วงเดือนพฤศจิกายน พบว่ามีความแปรปรวนพอสมควร กรมอุตุนิยมวิทยา วิเคราะห์ว่า ถ้าไล่เรียงปริมาณฝนระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 28 ตุลาคม 2564 ประเทศไทยมีปริมาณฝน 1,561.8 มิลลิเมตร มากกว่าค่าปกติ 135.8   มิลลิเมตร (10%)โดยทุกภาคมีปริมาณฝนมากกว่าค่าปกติ ยกเว้นภาคใต้ฝั่งตะวันออก ที่มีปริมาณฝนน้อยกว่าค่าปกติ 84.4 มิลลิเมตร (-8%)

และมีการประกาศเข้าสู่ฤดูหนาว ในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 เพราะสภาพอากาศเริ่มมีลมที่พัดปกคลุมบริเวณประเทศไทยที่ระดับความสูง 100 เมตร ถึงความสูง 3,500 เมตร ได้เปลี่ยนเป็นลมตะวันออกเฉียงเหนือหรือลมตะวันออก ส่วนลมระดับบนที่ความสูงตั้งแต่ 5,000 เมตรขึ้นไป ได้เปลี่ยนเป็นลมฝ่ายตะวันตกอย่างต่อเนื่องประกอบกับอุณหภูมิต่ำสุดในช่วงเช้าบริเวณประเทศไทยตอนบนลดลงอยู่ในเกณฑ์อากาศเย็นเกือบทั่วไป โดย อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ด้วยว่าฤดูหนาวของปี 2564 จะสิ้นสุดประมาณ ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2565

Author

Alternative Text
AUTHOR

นิตยา กีรติเสริมสิน

สนใจวงการบันเทิงตั้งแต่เด็ก รักการพูด แต่ชีวิตพลิกผันก้าวสู่นักสื่อสารมวลชน รักงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดิน น้ำ และความเป็นไปของโลก คิดบวก มองทางเลือกใหม่ ๆ อย่างสร้างสรรค์

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์