พายุ “เตี้ยนหมู่” กระทบแล้ว 27 จังหวัด “ภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้” ฝนยังหนักถึง 2 ต.ค.

ส่วน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง บุรีรัมย์ เริ่มคลี่คลาย ประชาชนเกือบ 6 หมื่นคนได้รับผลกระทบ กรมชลฯ เร่งระบายน้ำ ผอ.สสน. ชี้ เขื่อนลำเชียงไกร ยังไม่เข้าข่ายคำว่าเขื่อนแตก

27 ก.ย. 2564 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานสถานการณ์อุทกภัยจากอิทธิพลพายุ “เตี้ยนหมู่” ในช่วงวันที่ 23 – 27 ก.ย. 2564 เกิดอุทกภัยใน 27 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ตาก สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ พิจิตร กำแพงเพชร เลย ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ อุบลราชธานี สระแก้ว จันทบุรี นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี สุพรรณบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา และนครปฐม รวม 120 อำเภอ 417 ตำบล 1,933 หมู่บ้าน 1 เขตเทศบาล ประชาชนได้รับผลกระทบ 58,977 ครัวเรือน สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 4 จังหวัด (เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง และบุรีรัมย์) ยังคงมีสถานการณ์ 23 จังหวัด

ปภ. รายงานเพิ่มเติมว่าปัจจุบันภาพรวมสถานการณ์ในพื้นที่ระดับน้ำทรงตัว ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ อยู่ระหว่างการเร่งระบายน้ำ ซึ่ง ปภ. ได้ร่วมกับจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่สำรวจความเสียหายและให้การช่วยเหลือประชาชน

กรมชลฯ จับตาสถานการณ์น้ำ 24 ชั่วโมง เร่งช่วยเหลือพื้นที่น้ำท่วมต่อเนื่อง

ขณะที่ กรมชลประทาน เฝ้าติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ระดมเครื่องจักร เครื่องมือต่าง ๆ เข้าไปช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง จนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่าวันนี้ (27 ก.ย.) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 49,111 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 65 ของความจุอ่างฯ รวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 25,180 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้รวมกันอีก 26,970 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 11,648 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 47 ของความจุอ่างฯ รวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 4,952 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้รวมกันอีกประมาณ 13,223 ล้าน ลบ.ม.

สำหรับสถานการณ์อุทกภัย เนื่องจากฝนตกหนักต่อเนื่องตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้หลายพื้นที่ประสบปัญหาน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ชุมชนหลายแห่งนั้น กรมชลประทาน ร่วมกับจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งสูบระบายน้ำออกจากพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนให้มากที่สุด ตามข้อสั่งการของรัฐบาล

ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ในช่วงวันที่ 27 ก.ย. – 2 ต.ค. 2564 ร่องมรสุมจะเลื่อนลงไปพาดผ่านภาคกลางตอนล่างและภาคใต้ตอนบน จะทำให้ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ จึงได้กำชับให้โครงการชลประทานในพื้นที่เสี่ยง เฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำท่าอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด พิจารณาพร่องน้ำในอ่างฯ ให้เป็นไปตามเกณฑ์ เพื่อเตรียมรองรับปริมาณน้ำที่อาจจะเพิ่มขึ้น โดยไม่กระทบต่อพื้นที่ท้ายอ่าง ตรวจสอบอาคารชลประทาน รวมทั้งเครื่องจักรเครื่องมือ ให้พร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ ที่สำคัญให้ทำการประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำให้ประชาชนได้รับทราบอย่างทั่วถึงและต่อเนื่อง เพื่อลดความตระหนกให้แก่ประชาชน พร้อมขอให้ประชาชน รับฟังข่าวสาร สถานการณ์น้ำ รวมไปถึงสภาพอากาศ จากทางหน่วยงานราชการเท่านั้น หากต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อไปยังโครงการชลประทานในพื้นที่ หรือโทร 1460 สายด่วนกรมชลประทานได้ตลอดเวลากรมชลฯ จับตาสถานการณ์น้ำ 24 ชั่วโมง เร่งช่วยเหลือพื้นที่น้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง

สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ ชี้ ตะกอนสะสมพื้นอ่างเก็บน้ำ ทำให้ระดับน้ำเพิ่มสูงเร็ว 

ไทยพีบีเอสออนไลน์ เปิดเผยว่า สุทัศน์ วีสกุล ผอ.สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ให้สัมภาษณ์กรณีเขื่อนลำเชียงไกร จ.นครราชสีมา ว่ายังไม่เข้าข่ายคำว่าเขื่อนแตก เพราะหากเขื่อนแตกในทางเทคนิค คือ การพังลงมา และน้ำทั้งก้อนจะระบายลงมาด้านล่างจากก้อนน้ำจากเขื่อนแตก

สถานการณ์ลำเชียงไกรก็ไม่ดี เพราะคันล้มไปเรื่อย ๆ หลังจากนี้ต้องตรวจสอบทางเทคนิคว่าทำไมน้ำถึงล้นออกมาได้ เพราะถ้าเป็นเขื่อนดินจะไม่ให้ไหลล้นข้ามคันดิน แต่จะให้ล้นข้ามสปิลเวย์ แต่ปัจจัยหนึ่งปีนี้น้ำมากจริง จนระบายเกินค่าออกแบบน้ำก็สูงทำให้การไหลไม่เป็นไปตามที่วิศวกรออกแบบ

ผอ.สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ กล่าวอีกว่า ปัจจัยของอ่างเก็บน้ำ หากตะกอนสะสม จะทำให้ระดับน้ำเพิ่มสูงเร็ว เพราะเป็นตะกอนที่พื้นอ่าง เมื่อน้ำเข้ามา ระดับน้ำจะสูงขึ้น เพราะรวมระดับตะกอนเข้าไปด้วย แต่ทั้งหมดต้องดูข้อมูลทางเทคนิค และไม่ถูกต้องที่จะปรักปรำถึงสาเหตุ เพราะเท่าที่ทราบ ทางกรมชลประทาน ได้มีมาตรการจะดูแลในระดับหนึ่ง มีมาตรฐานการดูแลซ่อมบำรุงเขื่อน

โดยระบุว่าเชิงหลักการ ต้องทำงานข้ามหน่วยกับพื้นที่ต้นน้ำ เมื่อมีเขื่อน ด้านเหนือเขื่อนต้องช่วยดูแลประสานกับหน่วยงานที่ดูแลเพื่อลดตะกอน

ด้านเหนือเขื่อน มีการบุกรุกตัดป่าต้นน้ำ มีการปลูกพืชที่ไม่ได้อนุรักษ์ดิน ทำให้ตะกอนที่มีมากในท้องเขื่อนอยู่แล้ว เวลามีน้ำป่าไหลหลากลงมา จะมีมากขึ้น ดังนั้นในแต่ละปีจึงมีตะกอนเพิ่มขึ้น


อ้างอิง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active