เตือน! 7 จังหวัดริมแม่น้ำโขง เตรียมรับมือแม่น้ำโขงขึ้น กว่า 2 เมตร

กอนช. คาด อิทธิพลโซนร้อน “เจิมปากา” ทำน้ำไหลผ่านเขื่อนไซยะบุรีมาก ส่งผลให้ 26 – 27 ก.ค. ระดับแม่น้ำโขงจะสูงขึ้นกว่า 2 เมตร นายอำเภอเชียงคาน ออกประกาศเตือนชาวบ้านริมแม่น้ำ เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันแล้ว

เนื่องจากอิทธิพล พายุโซนร้อน “เจิมปากา” ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ลุ่มน้ำโขง บริเวณประเทศลาวในช่วง 2- 3 วันที่ผ่านมา และส่งผลให้เกิดน้ำหลากไหลลงแม่น้ำโขง ประกอบกับเขื่อนน้ำอู ประเทศลาว ระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขง ประมาณ 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ หรือ กอนช. จึงคาดการณ์ว่าจะมีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนไซยะบุรี ประเทศลาว ในอัตรา 8,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่งผลให้ในช่วงวันนี้ – 27 ก.ค. 2564 ระดับน้ำในแม่น้ำโขง บริเวณ 7 จังหวัดริมแม่น้ำโขง ด้านท้ายเขื่อนไซยะบุรี ตั้งแต่ จ.เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี จะมีระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันอยู่ในช่วง 2.00 – 2.50 เมตร แต่ระดับน้ำยังคงต่ำกว่าตลิ่ง

ด้าน ว่าที่ร้อยตรี นครชัย แสงมณี นายอำเภอเชียงคาน ก็ได้ออกประกาศเตือนอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ตั้งแต่วันที่ 24 ก.ค. 2564 แล้ว ว่าขอให้ประชาชนที่อาศัยริมแม่น้ำโขงเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน หลังมีรายงานสถานีอุทกวิทยา ที่ 3 เชียงคาน ว่าทางเขื่อนไซยะบุรี ประเทศลาว ได้มีการปล่อยน้ำออกจากเขื่อนสืบเนื่องจากปริมาณน้ำมีความจุเกินปริมาณที่ต้องเก็บกัก ไว้สูงถึง 10 เมตร จึงได้มีการปล่อยน้ำออก ซึ่งอาจกระทบต่อผู้อาศัยตามแนวริมน้ำและผู้ประกอบอาชีพประมง โดยปริมาณน้ำโขง อยู่ที่ 9.50 เมตร ต่ำกว่าตลิ่ง 8 เมตร

จากการเฝ้าสังเกตการ ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 12 เซนติเมตร/ชั่วโมง และหากน้ำเพิ่มขึ้นต่อเนื่องคาดว่า ช่วงเที่ยงคืนน้ำจะถึงระดับ 16 เมตร โดยในช่วงวันนี้กับวันพรุ่งนี้ ขอให้ประชาชนที่อยู่ริมน้ำโขงและพื้นที่ใกล้เคียงเฝ้าระวังและขนย้ายสิ่งของสำคัญไปยังที่ปลอดภัย และเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด อย่างต่อเนื่อง

ด้าน กรมอุตุนิยมวิทยา ก็เตือนว่า พื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียง เหนือ ยังมีฝนตกหนักบางแห่ง อย่างที่จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี หนองบัวลำภู สกลนคร และนครพนม

ขณะที่ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ใน 4 จังหวัดได้แก่ กาฬสินธุ์ ปราจีนบุรี แม่ฮ่องสอน รวม 3 อำเภอ 3 ตำบล 4 หมู่บ้าน วาตภัย 2 จังหวัด ได้แก่ ตราด และปราจีนบุรี รวม 2 อำเภอ 2 ตำบล 3 หมู่บ้าน ซึ่ง ปภ. ได้ร่วมกับจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่สำรวจความเสียหายและให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเบื้องต้นแล้ว

โดยประชาชนสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM และสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง

Author

Alternative Text
AUTHOR

นิตยา กีรติเสริมสิน

สนใจวงการบันเทิงตั้งแต่เด็ก รักการพูด แต่ชีวิตพลิกผันก้าวสู่นักสื่อสารมวลชน รักงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดิน น้ำ และความเป็นไปของโลก คิดบวก มองทางเลือกใหม่ ๆ อย่างสร้างสรรค์