แก้ปัญหาจัดการน้ำ “10 ปีผ่านไป ทำไมไม่ถึงฝัน?” บทเรียนคนท้ายน้ำ “ลุ่มแม่น้ำท่าจีน”

‘นักวิชาการ’ ชี้ ไทยยังขาดเครื่องมือสนับสนุนการตัดสินใจ สื่อสารลงลึกเพื่อเตือนภัย ระบุ ยังไม่มีส่วนไหนพยายามทำ ‘ภาคประชาชน’ ย้อนถาม จัดการน้ำไทยมีช่องโหว่หรือไม่?

ภาคประชาชน ชี้ 10 จัดการน้ำลุ่มท่าจีน ยังไปไม่ถึงไหน

ชุติมา น้อยนารถ‘ คณะทำงานวิชาการสภาลุ่มน้ำท่าจีน สะท้อนว่าการแก้ปัญหาน้ำท่วมของไทยยังเหมือนเดิม เพราะตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา แม้ทางคณะทำงานวิชาการสภาลุ่มน้ำท่าจีน พยายามทำงานวิจัยรวบรวมข้อมูลและวางแผนร่วมกับส่วนกลาง เช่น กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ฯลฯ เพื่อไม่ต้องกลับมาแก้ปัญหาซ้ำซาก หรือหาทางอยู่กับภัยพิบัติให้ได้ดีกว่านี้ แต่ก็พบว่าการจัดการน้ำยังวนเวียนกลับมาแก้ปัญหาเดิม ๆ

“ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เราก็เชื่อมือภาครัฐถึงการจัดการน้ำ และก็มั่นใจว่าน้ำน้อยกว่าปี 2554 ถึง 3 เท่า ทำให้หลายคนในพื้นที่เชื่อมั่น ไว้ใจรัฐ จากประสบการณ์ที่มี แต่เมื่อเกิดปัญหาน้ำท่วม 2564 ปีนี้ปรากฏว่า ทุกอย่างที่วางแผนมามันยังดูไม่ค่อยเต็มที่ ในขณะที่ประชาชนก็ยังลำบากเหมือนเดิม บางแห่งสถานการณ์แย่กว่าเดิม”

สำหรับคนลุ่มน้ำท่าจีน ที่ผ่านมา แม้จะให้ความสำคัญในระดับคูคลองมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 มีทั้งคลองน้ำเข้าและคลองน้ำออก แต่เข้าใจว่าเมื่อมีความเจริญของสังคมเมือง ก็ทำให้ระบบคลองต่าง ๆ อาจใช้ไม่เต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นคลองแนวนอน คลองแนวตั้ง ที่เคยช่วยจัดการน้ำได้ดี ทดแทนการระบายน้ำในลุ่มน้ำท่าจีนและลุ่มน้ำเจ้าพระยา แต่ปัจจุบันคลองเหล่านี้ไม่ได้นำมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในขณะที่เมื่อปี 2555 ก็เคยมีการปรับปรุงคลองแล้วบางส่วน แต่ปีนี้กลับเห็นว่าคลองยังไม่พร้อม ขณะที่การบริหารจัดการน้ำก็ยังไม่สอดคล้องกับพื้นที่หรือการสร้างความมีส่วนร่วมมากนัก

เธอเสนอว่า ภาครัฐควรชัดเจนในการจัดพื้นที่โซนนิ่งแก้ปัญหาเรื่องน้ำ ทั้งข้อตกลงการชดเชยให้ผู้รับน้ำโดยตรง และสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของพื้นที่ที่มีความแตกต่าง อย่างพืชเศษฐกิจที่ใช้ระยะเวลาปลูกนาน ก็ควรปกป้องเพื่อลดความสูญเสียระยะยาว เช่น ลุ่มน้ำท่าจีนตอนล่าง จ.นครปฐม ก็จะมีสวนส้มโอพันธุ์เฉพาะถิ่น ในพื้นที่เกาะทรงคนอง อ.สามพราน ถือเป็นพื้นที่เปราะบาง ที่ควรอนุรักษ์ มีสถานที่สำคัญ ที่ควรปกป้อง และน่าจะถูกระบุในแผนระดับจังหวัด เพราะไม่เช่นนั้นแต่ละหน่วยงานก็จะต่างคนต่างทำตามภารกิจที่ไม่อิงภาพรวม ก็จะกระทบอีกหลายภาคส่วน ในขณะที่อีกด้าน การทำแผนจัดการน้ำทั้งระบบในจังหวัดส่วนกลางและภาพรวม รัฐควรสร้างการมีส่วนร่วมให้คนในระดับท้องถิ่น ตำบล อำเภอ ไปร่วมชี้เป้า บอกจุดอ่อน จุดแข็งของชุมชน เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหา

รัฐต้องเร่งสร้างระบบ DSS เตือนภัยประชาชน

‘ผศ.สิตางศุ์ พิลัยหล้า’ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก่อนหน้านี้ลงพื้นที่สำรวจลุ่มน้ำท่าจีน พบว่าปัญหาน้ำท่วม ปี 2564 มีปัจจัยให้เกิดน้ำท่วมหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น น้ำหลาก น้ำทะเลหนุน น้ำจากเขื่อน และน้ำฝนที่ตกมากในพื้นที่ ซึ่งสิ่งที่ได้รู้จาการลงพื้นที่น้ำท่วม ต.บางระกำ จ.นครปฐม ลุ่มน้ำท่าจีน พบอุปสรรคหลายด้าน

เช่น ประเด็นแรก หลังปี 2554 มีการยกถนน สร้างคัน เพื่อปกป้องพื้นที่ฝั่งตะวันออก แต่นั่นทำให้พื้นที่ฝั่งตะวันตกต้องรับภาระน้ำมากขึ้น หนักขึ้น ซึ่งระดับน้ำท่วมในพื้นที่ที่ท่วมก็สูงขึ้น เพราะพื้นที่รับน้ำมีน้อยลง เป็นชะตากรรมที่ชาวบ้านไม่ได้เลือก หรือเลือกไม่ได้

ประเด็นที่สอง ลุ่มน้ำท่าจีน เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำที่อยู่ท้ายน้ำของเจ้าพระยา ได้รับอิทธิพลจากการบริหารน้ำลุ่มเจ้าพระยาแบบไม่มีทางเลือก และยังได้รับอิทธิพลจากน้ำทะเลขึ้นลงโดยตรง ซึ่งชาวบ้านบอกว่า ทำได้แค่ปกป้องตัวเองแบบพออยู่ได้เท่านั้น

“ที่สำคัญ การเตือนภัยที่ไม่ชัดเจน คือ สิ่งที่ทำให้ประชาชนสับสนรับมือไม่ทัน เพราะที่ผ่านมาภาครัฐมักจะมีการเตือนภัยในข้อมูลเฉพาะของหน่วยงานตัวเอง จึงทำให้ประชาชนยังคาดการณ์สถานการณ์น้ำได้ยาก ซึ่งไทยเองยังจุดอ่อนที่ต้องปรับ หาคนกลางรวบรวมข้อมูลต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ปัจจัยต่าง ๆ มาประเมินวิเคราะห์สถานการณ์ ฉายให้ประชาชนเห็นภาพ กับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในทุก ๆ สถานการณ์ ลงลึกในระดับชุมชน เพื่อลดความเสี่ยงภัยพิบัติ ซึ่งที่ผ่านมาการบริการจัดการน้ำของไทยยังขาดการเครื่องมือในการสนับสนุนการสื่อสารและตัดสินใจ หรือ DSS (Decision Support System) ถึงความแม่นยำให้ประชาชนคาดการณ์ล่วงหน้า”

ผศ.สิตางศุ์ ยังคาดหวังว่า สิ่งที่ภาครัฐ รวมถึงสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ซึ่งมีหน้าที่จัดการน้ำทั้งระบบ ควรทำต่อ คือ เรื่องการสร้างระบบสนับสนุนการสื่อสารและการตัดสินใจ ด้วยระบบ DSS ด้วยการให้สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) เป็นผู้รวมข้อมูลและวิเคราะห์ออกมาให้เป็นภาพฉายให้เห็นถึงสถานการณ์ต่าง ๆ ประกอบการตัดสินใจ ให้ประชาชนและชุมชนแต่ละพื้นที่รับมือ ก่อนจะนำสิ่งที่เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดส่งต่อให้ผู้มีอำนาจเกี่ยวข้อง สั่งการให้ทุกหน่วยงานปฏิบัติ


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

นิตยา กีรติเสริมสิน

สนใจวงการบันเทิงตั้งแต่เด็ก รักการพูด แต่ชีวิตพลิกผันก้าวสู่นักสื่อสารมวลชน รักงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดิน น้ำ และความเป็นไปของโลก คิดบวก มองทางเลือกใหม่ ๆ อย่างสร้างสรรค์