แนวโน้มน้ำประเทศไทย ปี 2564 ครึ่งปีแรกน้ำน้อย ฝนลด ครึ่งปีหลังฝนหนัก เสี่ยงท่วม!

สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ คาดการณ์ เตรียมรับมือฝนตกลดลง ช่วงปลายเดือน ก.ค.-ส.ค. 64 และฝนตกหนักช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค. 64

7 มิ.ย. 2564 – สุทัศน์ วีสกุล ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. เปิดเผยว่า ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมีนาคม ประเทศไทยมีฝนน้อย แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงเดือนเมษายนกลับมีฝนมากกว่าค่าปกติร้อยละ 102 ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยหนึ่งเท่าตัวจากอิทธิพลของพายุฤดูร้อน ส่งผลให้ประเทศไทยมีปริมาณฝนเฉลี่ย 171 มิลลิเมตร ซึ่งมากกว่าค่าปกติถึง 87 มิลลิเมตร คิดเป็นร้อยละ 102

ทั้งนี้ ยังมีปริมาณฝนเดือนเมษายนที่มากกว่าค่าปกติในทุกภาค โดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือ ที่มีปริมาณฝนมากกว่าค่าปกติ 114 มิลลิเมตร (160%) ภาคตะวันออกมีปริมาณฝนมากกว่าค่าปกติ 139 มิลลิเมตร (135%) และภาคกลาง และ94 มิลลิเมตร (127%)

เป็นผลมาจากพายุฤดูร้อนถึง 4 ครั้ง ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำสายสำคัญ อย่างลุ่มน้ำปิง ลุ่มน้ำวัง ลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำชี และลุ่มน้ำมูล มีระดับน้ำเพิ่มสูงมากกว่า 1 เมตร ปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ สะสมเดือนเมษายน 2564 ภาคเหนือ 344 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันตก 260 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 190 ล้าน ลบ.ม. และ ภาคกลาง 54 ล้าน ลบ.ม. สูงที่สุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา (2560-2564)

สุทัศน์ วีสกุล ผอ.สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน)

ผอ. สสน. ระบุอีกว่า ถ้าเปรียบเทียบปริมาณน้ำของ 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา เฉพาะเดือนเมษายน ไม่ว่าจะเป็น เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ปริมาณน้ำไหลลงสะสม รวม 350 ล้าน ลบ.ม. มากกว่าปี 2562 เท่ากับ 239 ล้าน ลบ.ม. มากกว่าปี 2563 เท่ากับ 262 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำระบายสะสม รวม 696 ล้าน ลบ.ม. น้อยกว่าปี 2562 เท่ากับ 509 ล้าน ลบ.ม. มากกว่าปี 2563 เท่ากับ 97 ล้าน ลบ.ม. จึงทำให้ปีนี้ 2564 ไม่มีการประกาศพื้นที่ประสบภัยแล้ง แม้น้ำต้นทุนน้อย แต่ฝนในฤดูแล้งมาก

ครึ่งปีแรกจะพบว่าคาดการณ์ฝนคล้ายปี 2539 แต่ครึ่งปีหลัง คาดการณ์ว่า ฝนจะคล้ายปี 2551 ซึ่งโดยภาพรวมทั้งปี จะมีฝนมากกว่าค่าปกติ แต่ก็ต้องเตือนไว้ก่อนเพราะปีนี้น้ำมีความสำคัญต่อเกษตรกร โดยช่วงปลายเดือนกรกฎาคม ถึงเดือนสิงหาคม 2564 ฝนจะตกลดลง เพราะแนวโน้มในเดือนกรกฎาคมฝนจะน้อยกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 3 และในเดือนสิงหาคมฝนจะน้อยกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 15 ซึ่งทั้งสองเดือนนี้ ฝนจะตกไม่ต่อเนื่อง และตกน้อย จากค่าเฉลี่ยในทางสถิติ

นอกจากนี้ ผอ. สสน. กล่าวด้วยว่า ช่วงปลายปีควรระมัดระวังเพราะฝนตกจะหนักในช่วงเดือนกันยายน ถึงตุลาคม จากการคาดการณ์พบว่าเดือนกันยายน ฝนจะตกมากกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 11 สำหรับเดือนตุลาคมฝนจะตกมากกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 14 โดยในช่วงสองเดือนนี้ ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีฝนมาก คล้ายปี 2551 ที่เคยมีพายุเมขลา ผ่านเข้ามามีผลกับประเทศไทยเมื่อครั้งก่อน ซึ่งปีนี้คาดว่าแนวโน้มของพายุอาจพัดเข้ามาในประเทศไทยเช่นกัน

Author

Alternative Text
AUTHOR

นิตยา กีรติเสริมสิน

สนใจวงการบันเทิงตั้งแต่เด็ก รักการพูด แต่ชีวิตพลิกผันก้าวสู่นักสื่อสารมวลชน รักงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดิน น้ำ และความเป็นไปของโลก คิดบวก มองทางเลือกใหม่ ๆ อย่างสร้างสรรค์