30 ปี การบังคับให้สูญหายนายทนง โพธิ์อ่าน กับกระบวนการแรงงานไทย

เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ทนง โพธิ์อ่าน ประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรแรงงานที่มีสมาชิกมากที่สุด และเป็นกรรมการสมาพันธ์แรงงานระหว่างประเทศภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิค (ICFTU) เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันค่าแรงขั้นต่ำ การคัดค้านสัญญาจ้างที่ไม่เป็นธรรม ไปจนถึงกฎหมายประกันสังคม ที่ได้ต่อรองกับรัฐบาลในฐานะสมาชิกวุฒิสภา เป็นผลให้ประเทศไทยมีพระราชบัญญัติประกันสังคมใช้ในปี พ.ศ. 2533

การเคลื่อนไหวของทนงได้รับการตอบรับจากขบวนการแรงงานสากลอย่างกว้างขวาง ในบทบาทฐานะที่เป็นตัวเชื่อมระหว่างขบวนการแรงงานไทยกับขบวนการแรงงานสากล ทำให้ถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษ

ตัวเลขอย่างเป็นทางการจากองค์กรสหประชาชาติระบุว่าระหว่างปี 2523-2561 มีผู้ถูกบังคับสูญหายด้วยกันถึง 86 คน ไทยได้ลงนามในอนุสัญญาต่อต้านการซ้อมทรมานปี 2550 และอนุสัญญาคุ้มครองบุคคลจากการหายสาบสูญฯ ของสหประชาชาติ เมื่อปี 2554 แต่จนถึงปัจจุบันยังคงไม่มีกฎหมายที่เป็นรูปธรรม ที่ให้การซ้อมทรมานและการทำให้บุคคลสูญหายเป็นอาชญากรรมที่สามารถนำคนผิดมาลงโทษได้

เพื่อระลึก การหายตัวไป 3 ทศวรรษ “ทนง โพธิ์อ่าน” ผู้นำแรงงานคนสำคัญ คณะกรรมาธิการ การแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ขอเชิญชมเสวนาออนไลน์ถอดบทเรียนสังคมไทย 30 ปี การบังคับให้สูญหาย “ทนง โพธิ์อ่าน ” และการพัฒนากฎหมายสิทธิแรงงาน สิทธิมนุษยชนในสังคมไทย และร่วมกันผลักดัน พ.ร.บ. ต่อต้านการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย เพื่อคืนความยุติธรรม และยุติการซ้อมทรมานและการบังคับบุคลลสูญหายในประเทศไทยอย่างถาวร ในวันที่ 18 มิ.ย. 2564 เวลา 09:00-12:00 น. ทางเพจ Cross Cultural Foundation (CrCF)

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active