เด็กและเยาวชน มีส่วนร่วมในการออกแบบเมืองได้หรือไม่ ?

เยาวชนกับการพัฒนาเมือง : inclusive CITY

อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็กมีทั้งหมด 54 ข้อ หนึ่งในนั้นได้มีการเอ่ยถึงสิทธิในการมีส่วนร่วม ทั้งการแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี หรือเข้ามามีบทบาทในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะกับเรื่องที่ส่งผลกระทบ หรือมีส่วนโดยตรงกับตัวเด็กและเยาวชนเอง ขณะที่ภาครัฐก็มีหน้าที่ที่จะเอื้ออำนวยและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนตั้งแต่ระดับชุมชน และทุกภาคส่วนก็ควรจะมีบทบาทส่งเสริมสนับสนุนให้เด็ก ๆ และเยาวชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วม  แต่ความเป็นจริงแล้ว โครงสร้างของประเทศไทย ได้ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมนี้มากแค่ไหนกัน

“เยาวชนในประเทศไทยไม่ใช่ว่าเขาไม่ต้องการมีสิทธิ์มีเสียงในการแสดงความคิดเห็น แต่มันดูเหมือนว่าสังคมพยายามกดทับให้เราไม่ต้องส่งเสียงของเราออกมาในการพัฒนาเมือง เพราะการพัฒนาเมืองอาจตัดสินใจอยู่ในเก้าอี้ของรัฐสภา”

อภิสรา เฮียงสา RTUS-Bangkok ริทัศน์บางกอก

อภิสรา เฮียงสา หรือ “รวงข้าว” เอ่ยขึ้นหลังจากได้ยินคำถามถึงสิทธิของเยาวชนกับการมีส่วนร่วมพัฒนาเมือง “รวงข้าว” เป็นประชากรแฝงในกรุงเทพ สิ่งที่น่าสนใจ และชวนให้เราสร้างบทสนทนากับเธอคือ ทำไมเธอถึงสนใจเรื่องเมือง และการพัฒนา ที่เยาวชนมีส่วนร่วม 

“เราสร้างการมีส่วนร่วมของเยาวชนในการพัฒนาเมืองโดยขอบเขตของเราก็แบ่งออกเป็นหลาย ๆ ปัจจัยที่ส่งผลต่อเมือง ทั้งด้านชุมชน พื้นที่สาธารณะ พื้นที่คมนาคม ยูนิเวอร์แซลดีไซน์ ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ มีความสำคัญกับเมือง และผู้คนในเมืองต่างต้องพึ่งพา ทางกลุ่มของเราหรือตัวของรวงข้าวเองก็จะทำงานชุมชนเป็นหลัก  ทีมงานของเราได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของเมืองปลอดภัย ซึ่งจะต้องเป็นเมืองปลอดภัยสำหรับทุกคน โดยใช้ชื่อโครงการว่า inclusafe ซึ่งมาจากคำว่า inclusive และ safe city ซึ่งเป็นการพัฒนาชุมชนให้ปลอดภัย”

รวงข้าว – อภิสรา เฮียงสา

นอกจากตัวของรวงข้าวเอง เธอแพคคู่มากับเยาวชนอีกหนึ่งคน จับอิก-ปกรณ์วิศว์ เวียงศรีพนาวัลย์ ที่ทำงานร่วมกับ รวงข้าว ภายใต้ชื่อเครือข่าย ReThink Urban Space : RTUS-Bangkok (ริทัศน์บางกอก)  ซึ่งสนใจเรื่องพื้นที่สาธารณะทางอาหาร การพัฒนาที่ก้าวย่างเข้าใกล้พื้นที่ชุมชน ทำให้พื้นที่ใช้สอย ถูกจำกัดลง 

“อย่างที่เราได้ยินข่าวหัวลำโพงจะมีการบูรณะและมีการปิดกั้นในบางส่วน ยิ่งถ้าไปพบในภาพปัจจุบันจะเห็นว่ามีล้อมรั้วรอบสถานที่ต่าง ๆ ทำให้พื้นที่ค้าขายหรือพื้นที่สาธารณะทางอาหารมันหายไป เราก็เลยไปโฟกัสกับชุมชนที่อยู่บริเวณซอย และแล้วก็มองว่าพื้นที่เรานั้นมีศักยภาพในการพัฒนาให้เป็นพื้นที่สาธารณะทางอาหารได้”   

จับอิก-ปกรณ์วิศว์ เวียงศรีพนาวัลย์

ประเด็นนี้มีความสำคัญมาก อยากให้ทุกคนลองมองพื้นที่สาธารณะในปัจจุบันของกรุงเทพอย่างสตรีตฟูด หรือร้านอาหารระหว่างที่รับประทานอาหารพูดคุยกัน นั่นมันก็คือพื้นที่สาธารณะหนึ่ง แต่ปัจจุบันด้วยสถานการณ์โควิด-19 หรือว่าสถานการณ์ที่มีการจัดการสตรีตฟูด อาหารริมทางก็พบว่ามันถูกปิดกั้นการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะอย่างหนึ่งเหมือนกัน เราเลยมองว่าพื้นที่เหล่านี้ควรจะได้รับการจัดการที่ดีเหมือนกัน เราเลยอยากจะโฟกัสและผลักดันให้มันเกิดการจัดการที่ดีกับพื้นที่สาธารณะทางอาหาร

รวงข้าว ให้มุมองเสริมว่า การพัฒนาเมืองที่ส่วนใหญ่ จะมุ่งเน้นไปที่การสร้างเมืองให้สวยงาม เช่นการสร้างสถาปัตยกรรมใหม่ ๆ ที่ตอบสนองการใช้ชีวิตของคนชนชั้นกลาง เป็นหลักซึ่งความเป็นจริงแล้วเมืองควรที่จะมีมากกว่าความสวยงามอยู่แล้ว นั่นคือเมืองที่เป็นธรรมเมืองที่มีทุกคนอยู่ในนั้นเมือง ไม่ลดทอนผู้คนออกไปด้วยการทดแทนด้วยสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ เพราะว่าจริง ๆ ในเมืองมันมีมากกว่าตึกที่ว่างเปล่าแต่มันยังมีชุมชน มีหัวใจของหลายคนอยู่ในนั้น หากวันนึงพื้นที่ของผู้คนถูกทดแทนด้วยตึกว่างเปล่า มันก็ไม่สามารถที่จะเรียกว่าเมืองได้อีกต่อไปถ้าหากไร้ซึ่งผู้คน

หากพูดเชิงศัพท์วิชาการจะเรียกว่า  Gentrification ก็คือเมืองที่มันมีการเติบโตสูงขึ้น และผู้คนในพื้นที่ไม่สามารถที่จะขยับตัวเองเข้าไปอยู่ในการพัฒนานั้นได้ ด้วยความที่เมืองมันข้างขยาย พื้นที่บริเวณหัวลำโพงเป็นพื้นที่ที่กำลังจะเจริญในอนาคตต่อจากสยามและสามย่าน คนที่อยู่บริเวณรอบหัวลำโพงก็ทำอาชีพที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับริมทางรถไฟเยอะ หรือเป็นประชากรแฝงที่เข้ามาหางานทำในกรุงเทพ แต่พอพื้นที่ตรงนี้มันกำลังเจริญที่ดินมันมีมูลค่าสูงขึ้นทำให้คนที่เคยอยู่ดั้งเดิมอาจจะไม่สามารถใช้ชีวิตได้เหมือนเดิม เพราะว่าราคาที่ดินแพง ค่าครองชีพแพง เป็นตัวบีบคั้นให้คนที่อาศัยอยู่บริเวณนี้ต้องย้ายไปอยู่ที่ชานเมืองแทน

มันจะดีกว่าไหมถ้าเราทำให้พื้นที่ตรงนี้ มีพื้นที่ค้าขายได้ง่ายขึ้น ทำให้เขาไม่ต้องย้ายไปในพื้นที่แห่งใหม่ เพราะหากพูดกันตามตรงการย้ายของคนหนึ่งออกไปจากพื้นที่ เขาต้องไปไขว่คว้าหาโอกาสในการทำอาชีพใหม่ซึ่งมันไม่ตอบรับกับการมีชีวิตของคนในพื้นที่นั้นจริงๆ 

ปกรณ์วิศว์ เวียงศรีพนาวัลย์ ReThink Urban Space (RTUS)  กทม.

แม้ประเด็นย่อยจะต่างกัน  แต่ท้ายสุดจุดร่วมของเยาวชนทั้ง 2 คนนี้ คือการมีส่วนร่วมของเยาวชนในการพัฒนาเมือง ทั้งในเชิงปฏิบัติและนโยบาย  เริ่มต้นบทสนทนากับเขาทั้ง 2 ด้วยคำถามตั้งต้นที่ว่า 

ทำไมสนใจเรื่องเยาวชนกับเมือง

จับอิก บอกว่า เคยมีโอกาสได้ไปฝึกงานที่นิตยสารฉบับหนึ่งที่ทำเกี่ยวกับเรื่องเมืองทำให้ได้พบกับคนที่ทำเครือข่ายเรื่องเมืองจำนวนมาก แต่เครือข่ายที่ได้เจอก็ยังไม่มีกลุ่มคนที่เป็นเยาวชนมากเท่าไหร่ในการพัฒนาเมือง ก็เลยสนใจว่าโครงการนี้จะเป็นพื้นที่ที่ดีสำหรับเยาวชน ในการพัฒนาเมือง

รวงข้าว เสริมว่า เราเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ จะเห็นเลยว่าผู้คนไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเมืองขนาดนั้น โดยเฉพาะเยาวชน ต้องชวนถามกลับไปว่าจริง ๆ แล้วเมืองของเราสร้างมาเพื่อเยาวชนอยู่อาศัยจริงหรือเปล่า และเยาวชนมีสิทธิ์มากน้อยแค่ไหนในการออกเสียงในการพัฒนาเมือง เราอยากที่จะอาศัยมันอยู่ที่นี่ไปอีก 10 -20 ปี อยากให้ที่นี่เป็นเมืองที่ตอบสนองไม่ใช่เพียงแค่คนที่มีทะเบียนบ้านในที่นี่ แต่รวมไปถึงผู้คนที่เข้ามาสละแรงกาย ซึ่งเด็กและเยาวชน ณ  ตอนนี้ก็จะต้องโตไปเป็นผู้คนเหล่านี้เช่นกัน เราก็เลยอยากสร้างเมืองที่เยาวชนเป็นผู้สร้างและเยาวชนก็จะต้องมองเห็นผู้คนอื่น ๆ ที่ไม่ใช่แค่คนในรุ่นของตัวเองแต่ต้องสร้างให้เมืองนี้ครอบคลุมกับทุกคนและทุกวัย

คิดอย่างไรกับคำว่าเยาวชนและการพัฒนาเมือง

รวงข้าว บอกว่า ในความเป็นจริงแล้วการตัดสินใจในการพัฒนาเมืองมันเริ่มมาจากตัวเรา ที่ลึก ๆ ได้มาจากคอมเมนต์ใน เฟซบุ้ก มาจากคอมเมนต์ในติ๊กต๊อกที่เราเห็น ๆ กัน มันสามารถพัฒนามาจากตรงนั้นได้ทั้งหมด เราก็คิดว่าเยาวชนเองก็ควรที่จะมีสิทธิ์พัฒนาเมืองที่เค้าจะต้องอยู่ไปในอนาคต 10 – 20 ปี หรือเยาวชนที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีก

จับอิก เสริมว่า เยาวชนคือหัวใจสำคัญหนึ่งของการพัฒนาเมืองเยาวชนคือคนที่จะอยู่ในเมืองนี้ต่อไปในอนาคตไม่ว่าจะเป็นกี่ 10 ปี 20 ปีหรือ 30 ปี หากเขาไม่ได้มีส่วนร่วมในตอนนี้เค้าจะเข้าไปอยู่ในเมืองที่เค้าไม่ได้มีส่วนร่วมในการออกแบบเมืองเลย แล้วมันจะทำให้เมืองนั้นเป็นเมืองที่แช่แข็ง อย่าลืมว่าเมืองไม่เคยหยุดนิ่งเพราะฉะนั้นทุกช่วงอายุควรจะได้มีส่วนร่วมในการออกแบบพื้นที่ของตัวเองจริง ๆ เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีตอบโจทย์กับพวกเขา

บทเรียนหรือสิ่งที่ได้จากการร่วมทำงานกับเครือข่ายเยาวชนและเมือง

จับอิก มองว่า จากที่ได้เข้าไปทำงานกับเครือข่ายเยาวชน พบว่าจริง ๆ มีกลุ่มเยาวชนเยอะมากทั่วประเทศที่ทำงานมา 9-10 ปี ส่วนใหญ่เขาจะทำงานในสเกลที่เป็นย่านหรือชุมชน แต่ในเชิงภาพรวม เรามองว่ามันยังขาดการทำงานร่วมกัน มันเป็นเพียงการทำงานเฉพาะกลุ่มเพื่อพัฒนาในพื้นที่นั้นนั้น เราเลยมองว่าเยาวชนในพื้นที่อื่น ๆ จะเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองได้ มันอาจจะต้องอาศัยการร่วมมือกันเป็นองคาพยพ เพื่อให้เมืองเกิดการลื่นไหลและมีพลังที่มากพอกับเสียงของเยาวชนและการพัฒนาเมือง 

จำเป็นที่ต้องมีใครสักคนมาทำงานกับเครือข่ายเยาวชน เพื่อทำให้เป็นเมืองที่ตอบโจทย์สำหรับอนาคตของพวกเขา ใครสักคนนั้น คงต้องเป็นผู้ที่มีอำนาจหรือบทบาทที่จะสร้างกลไกหรือนโยบายบางอย่างที่ทำให้เขาสามารถทำงานร่วมกันได้ง่ายขึ้น เรื่องแบบนี้คนที่มีอำนาจในเมืองทั้งหลายควรที่จะมาร่วมมือกับชุมชนและทำไปพร้อมกัน ทำให้มันเป็น inclusive city เป็นเมืองที่มีส่วนร่วมของทุกคนจริง ๆ และเมืองนั้นจะถูกพัฒนาให้กับคนในเมืองนั้นนั้นได้ใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี

ไม่ต่างจาก รวงข้าว ที่เห็นว่า ที่ผ่านมาเครือข่ายของเราไม่ได้ทำงานเพียงแค่เป็นเครือข่ายเดียว แต่เราทำงานร่วมกับเครือข่ายต่าง ๆมากมายการทำงานตรงนี้ทำให้เรามองเห็นเครือข่ายต่าง ๆ ที่ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อพัฒนาเมืองอย่างกรุงเทพฯ ซึ่งมีหลากหลายเครือข่าย ทำให้เราเห็นว่า มีผู้คนมากมายที่จะสร้างกรุงเทพฯ ให้ดีขึ้นได้ แล้วเราก็พร้อมที่จะผลักดันร่วมไกับผู้คนอีกหลายหลายเครือข่าย

ความคาดหวัง หรือ ภาพฝันจากงานที่ทำ

ในฐานะที่เรายังพอทำได้เราก็อยากให้เมืองของเราสามารถโอบกอดทุกคนไว้ได้จริง ๆ โดยที่เราไม่ต้องทิ้งใครไว้ข้างหลังและให้เมืองได้เติบโตขึ้นโดยที่เราไม่ต้องไปทับถมชีวิตของคนอีกจำนวนมากให้ราบเป็นหน้ากลองและสร้างตึกขึ้นมาใหม่ เราอยากจะให้เมืองนี้เป็นมากกว่าความสวยงามก็คือเมืองที่เป็นธรรม

อภิสรา เฮียงสา ReThink Urban Space (RTUS)  กทม.

รวงข้าว อธิบายเพิ่มว่า อยากผลักดันการทำงานของเยาวชนแบบนี้ไปทั่วประเทศ อย่างเครือข่ายของเราจะมีหลายพื้นที่ คือ เชียงใหม่ กาญจนบุรี ขอนแก่น สงขลา และกรุงเทพฯ เราคาดหวังว่าถ้าพื้นที่ กทม.  ของเราพัฒนาตรงนี้ได้สำเร็จ เราอยากจะพัฒนาไปสู่เมืองอื่น ๆ ในประเทศไทยได้ เพราะว่าอย่างในต่างประเทศก็มีหลายหลายตัวอย่างที่เกิดขึ้นแล้วอย่างในยุโรปเอง ก็มีการทำ inclusive city แล้วก็เมืองปลอดภัยเกิดขึ้นในหลายภูมิภาคของยุโรป เราหวังว่าประเทศไทยอาจจะเป็นภูมิภาคแรกไหมที่อาจจะสามารถทำได้ถึงขั้นนั้น

จับอิก บอกว่า อยากจะฝากให้ฟังเสียงของเยาวชนเพราะเขาเป็นกลุ่มที่สำคัญที่จะต้องอยู่ในเมือง ในอนาคต เสียงของเขาเป็นเสียงที่มีความหมาย ต่อเมืองจริง ๆ เราไม่อยากให้คนมองว่าเด็กเป็นคนที่ไม่มีประสบการณ์ แต่อยากให้มองว่าเค้าเป็นคนคนหนึ่งที่อยากจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แล้วลองเปิดพื้นที่ให้พวกเขาได้ลองไปเทคแอคชั่น กับพวกคุณ ซึ่งจะทำให้เมืองนั้นเป็นเมืองที่มีสีสันและน่าอยู่จริง ๆ

การไปต่อของกระบวนการทำงานเยาวชนจะสำเร็จและไปได้ไกลมากถึงขนาดไหน ไม่มีคำตอบตายตัว แต่ระหว่างที่พวกเขาได้ย่ำเท้าลงไปในพื้นที่ ล้วนเกิดภาพสะท้อน สร้างความเข้าใจ สร้างกระบวนการ เห็นข้อดี ข้อเสีย ของสังคมเพื่อนำไปสู่การออกแบบเมืองที่พวกเขาจะต้องอยู่ในวันนี้ และวันข้างหน้า 

พลังของพวกเขาเป็นหนึ่งแรงกระเพื่อมที่จะต้องอาศัยแรงสนับสนุน ทั้งจากผู้คนในสังคม นับตั้งแต่คนธรรมดาไปจนถึงคนที่มีอำนาจในการออกนโยบาย การกระจายงบประมาณ  ท้ายสุดของบทสนทนา ทั้ง 2 ทิ้งท้ายถึงงานที่ทำเวลานี้  

รวงข้าว ยืนยันว่า สิ่งที่ทำอยู่ตอนนี้ไม่ใช่เพียงแค่จุดมุ่งหมายของตัวเองที่อยากจะเติมเต็มอะไรบางอย่าง แต่ท้ายที่สุดแล้วการเข้ามาอยู่ตรงนี้มันทำให้เรารู้ว่าคนที่เผชิญปัญหาตรงนี้มันมีมาก และยังมีอีกหลายคนที่เข้าไม่ถึง แม้กระทั่งการแก้ไขปัญหา เราอยากที่จะเข้าไปช่วยเหลือ และเข้าไปกระจายเสียงของพวกเราให้พวกเขามาร่วมกัน เราอาจจะเป็นตัวกลางในการรวมเสียงของเยาวชนคนอื่น ๆเพื่อมาเรียกร้องให้กับเครือข่ายอื่น ๆ เพื่อสร้างความตระหนักว่าเมืองแห่งนี้ต้องเป็นเมืองของทุกคนจริง ๆ

“การพัฒนาเมืองที่ทำให้คนตกหล่น มันทำให้ไม่มีการพูดคุยกับคนในชุมชนมากพอ เรามองว่าการที่จะพัฒนาพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งมันต้องมีการสร้างการมีส่วนร่วม ระหว่างคนที่ร่างนโยบายกับคนที่อยู่ในชุมชนจริง ๆ แต่หลาย ๆ ครั้งเราจะพบว่าคนในชุมชนเองมาทราบทีหลังว่าพื้นที่นี้จะถูกพัฒนาไปเป็นอะไร ก็ตอนที่มีการกระทำทางนโยบายไปแล้ว ทำให้เค้าต้องไปดิ้นรนหาที่ทางทำมาหากินใหม่หรือว่าหาทิศทางในการทำอาชีพใหม่”

จับอิก-ปกรณ์วิศว์ เวียงศรีพนาวัลย์

ขอบคุณสถานที่ : TheCOMMONS ศาลาแดง


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

อัญชัญ อันชัยศรี

จากทุ่งนาสู่ป่าคอนกรีต สาวอีสานผู้หลงไหลในการเดินทาง ใช้ชีวิตไปตามแรงดึงดูดของความสัมพันธ์ เชื่อว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นมันคือการคัดสรรโดยธรรมชาติ