เลี้ยงลูกให้มี ‘ทักษะแห่งใจ’ ในวันที่โลก ‘น่าเบื่อหน่าย – ผิดหวัง’

ก้าวเข้าสู่ปี 2567 มาไม่ทันไร หลาย ๆ เหตุการณ์ที่ปรากฎเป็นข่าวล้วนมีที่มาที่เกี่ยวข้องกับเยาวชน ทั้งในฐานะของผู้ก่อเหตุ และตกเป็นเหยื่อ จากผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสภาพจิตใจ ความรุนแรงในครอบครัว การศึกษา ตอกย้ำว่ากว่าเด็กสักคนจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในยุคสมัยนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย

จึงเชื่อว่าถ้าเด็ก ๆ มี ‘ภูมิคุ้มกันทางใจ’ ที่แข็งแกร่งจะช่วยให้พวกเขาผ่านพ้นวิกฤตต่าง ๆ ในชีวิตไปได้ แต่ ‘ทักษะแห่งใจ’ ไม่ได้สร้างได้ในวันเดียว ต้องเกิดจากการเลี้ยงดูปลูกฝังตั้งแต่เล็ก ๆ

The Active ชวนคุยกับ ‘คุณหมอโอ๋ – พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร’ กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น โรงพยาบาลรามาธิบดี เจ้าของเพจ ‘เลี้ยงลูกนอกบ้าน’ ถึงการเลี้ยงดูเด็กในศตวรรษที่ 21 ในยุคที่มีสิ่งต่าง ๆ ล่อตา ล่อใจ ท่ามกลางการแข่งขันทุกนาที ชัยชนะ และความพ่ายแพ้ ที่วนเวียนไม่มีที่สิ้นสุด ชวนให้เด็ก ๆ อ่อนไหว เปราะบาง แล้วเราในฐานะพ่อแม่ ผู้ปกครอง จะสร้างภูมิคุ้มกันทางใจ และ ทักษะชีวิตแบบไหน ให้ติดตัวเด็ก ๆ ไป จนถึงวันที่ได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่แข็งแกร่ง

ใจดีกับตัวเองให้เป็น

การใจดีกับตัวเอง เป็นคุณลักษณะหนึ่งที่มาจากทักษะการมี Self-Esteem ที่ดี นั่นคือ ‘การมองเห็นคุณค่าของตัวเอง’ ที่ไม่ใช่เพียงการภาคภูมิใจนตนเองเท่านั้น แต่รวมถึงการ ชอบตัวเอง การให้เกียรติ และเชื่อมั่นในความสามารถของตัวเองด้วย

เด็กที่มี Self-Esteem ต่ำจะทำให้เขาไม่พอใจกับการเป็นตัวเอง รู้สึกด้อยกว่าคนอื่นเสมอ จนกระทั่งนำไปสู่ความรู้สึกไร้ค่า และไม่มีความสุข ทักษะนี้เป็นสิ่งสำคัญที่พ่อแม่ต้องสร้างให้เขาตั้งแต่วัยเด็ก

“เรากำลังอยู่ในโลกที่ทำให้ต้องสงสัยตัวเองอยู่บ่อย ๆ ว่าเราไม่ดีพอหรือเปล่า ทักษะการเคารพ รัก และเมตตาตัวเอง จึงเป็นสิ่งสำคัญ เด็กจะมี Self-Love หรือ Self-Esteem ได้นั้น ย่อมเกิดจากการเลี้ยงดู ที่ทำให้เขารู้สึกว่าเติบโตจากความรักที่ไม่มีเงื่อนไข และรับรู้ว่า การที่เขาได้รับความรักจากพ่อแม่ ไม่ใช่เพราะเขาเป็นคนที่เรียนหนังสือเก่ง หรือได้เหรียญรางวัล”

“พ่อแม่ต้องทำให้เขาเติบโตมาด้วยความรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนที่ ‘ใช้ได้’ ไม่ได้หมายความว่าต้องแข่งขันแล้วชนะใคร หรือได้เหรียญรางวัล แต่ต้องทำให้เขาเชื่อว่า เขาเป็นคนที่มีคุณลักษณะที่ดี (Character) หลายอย่าง อาจจะเป็น ความขยัน ความพยายาม ความกล้าหาญ หรือความเกรงใจ โดยที่คุณสมบัติเหล่านี้ไม่ได้เกี่ยวกับความประสบความสำเร็จจากการแข่งขันแต่อย่างใด”

อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญมากในการพัฒนา Self-Esteem คือ การมีอิสระที่จะล้มเหลว สิ่งนี้คุณหมอโอ๋ ย้ำว่า พ่อแม่ต้องทำให้ลูกเชื่อว่า เขามีอิสระในตัวเอง ได้เลือกในสิ่งที่ชอบ-ไม่ชอบ ได้กล้าลองผิด ลองถูกและได้ตัดสินใจเลือกชีวิตของตัวเองได้

การมี Self-Esteem ของเด็กยังสัมพันธ์กับลักษณะนิสัยอีกหลายอย่าง รวมไปถึงการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมด้วย

“เราเห็นการนินทา อิจฉาริษยา และการกลั่นแกล้งในโรงเรียนอยู่บ่อย ๆ สิ่งเหล่านี้เกิดจากการที่เด็กขาดทักษะการเคารพตัวเองจึงต้องเหยียบย่ำคนอื่นเพื่อให้รู้สึกดีกับตัวเองมากขึ้น หากพวกเขามี Self ภายในที่มั่นคง เขาจะรู้สึกว่าตัวเองดีพอ และยอมรับความแตกต่างหลากหลายได้ ปัญหาดังกล่าวก็จะเกิดขึ้นน้อยลง”

สุดท้ายแล้ว Self-Esteem ที่ดี มาจากการที่รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนที่มีความหมาย และเป็นที่รัก การที่เด็กคนหนึ่งจะสร้าง Self ภายในที่มั่นคงได้นั้น เขาต้องเติบโตมาในความสัมพันธ์ที่ดี และมั่นคง นี่คือสิ่งที่จะทำให้เขามีความรัก นับถือ และเมตตาตัวเองได้

‘ความเห็นอกเห็นใจ’ ทักษะสู่ความสำเร็จ

ท่ามกลางมรสุมการแข่งขัน โดยเฉพาะการแข่งขันทางการศึกษา พ่อแม่ส่งลูกลงสนามตั้งแต่เด็ก ทั้งทักษะทางภาษา ความรู้ทางวิชาการ กลายเป็นเครื่องชี้วัดความสำเร็จของเด็ก แต่แท้จริงแล้ว เป้าหมายความสำเร็จกลับไม่ได้หมายถึงการมีความสุขในชีวิตเสมอไป

“เมื่อก่อนเราคิดว่าทักษะความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นหรือการเข้าใจหัวใจผู้อื่น (Empathy) เป็นแค่อุปกรณ์เสริม ใครมีก็ดี ไม่มีก็ได้ แต่ภายหลังเราพบว่า เด็กคนไหนที่มีทักษะนี้ จะเป็นเติบโตเป็นบุคคลที่มีความสุขและประสบความสำเร็จได้มากกว่า แต่จะเลี้ยงเด็กคนหนึ่งให้มี Empathy ได้อย่างไรนั้น คงไม่ใช่เรื่องการพร่ำสอน เพราะตัวอย่างที่ดีต้องเริ่มที่ในบ้าน”

คุณหมอโอ๋ ย้ำว่า พ่อแม่ต้องเข้าใจหัวใจของเด็ก ยอมรับอารมณ์ที่เกิดขึ้นของลูกทุกรูปแบบ ไม่ว่าลูกกำลังโกรธ หงุดหงิด เสียใจ หรือแม้กระทั่งเบื่อหน่าย ความรู้สึกเข้าอกเข้าใจที่พ่อแม่มีนี้ จะส่งต่อไปถึงตัวเด็ก และจะปลูกฝังให้เขาเข้าใจหัวใจความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นได้ไม่ยาก

จำเป็นไหม ? ต้องให้เด็กรีบค้นหาตัวตน 

โตขึ้นหนูอยากเป็นอะไร ?

แทบทุกคนโตมากับคำถามนี้ ไม่ว่าจะเป็นทั้งในบ้าน หรือโรงเรียน แต่คุณหมอโอ๋ ชี้ให้เห็นว่า คำถามในลักษณะนี้กลับเป็นการตีกรอบความคิดต่อมุมมองในการเลือก นำไปสู่สร้างพันธะสัญญาบางอย่างให้เด็กโดยไม่รู้ตัวและอาจมีผลเสียมากกว่าที่คิด

พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร

“เด็กจะสามารถอ่านพลังงานได้ เขาจะรับรู้ว่าคำตอบแบบไหนที่ทำให้พ่อแม่ตาเป็นกระกายหรือดูดีใจ เขาจะเผลอแบกสิ่งนี้ไว้ในเนื้อในตัวแล้วคิดว่านี่คือ ‘พันธะสัญญา’ หรือ ‘ภารกิจของชีวิต’ ที่ต้องทำให้พ่อแม่มีความสุขและพอใจ”

คุณหมอโอ๋ แนะนำว่า ให้ลองเปลี่ยนคำถาม และหมั่นสังเกตลูกว่า เขาดูมีความสุข หรือเพลิดเพลินไปกับการทำกิจกรรมแบบไหนมากกว่า

“แทนการถามว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร เราควรถามว่าเขาอยากทำอะไร มีความสุขกับอะไร หรืออยากเปลี่ยนแปลงอะไรบนโลกใบนี้มากกว่า ลองสังเกตว่าอะไรที่ทำให้ตาเขาเป็นกระกาย สิ่งเหล่านี้จะค่อย ๆ ประกอบร่างเป็นความฝัน เป็นแรงบันดาลใจ และทำให้เด็กรับรู้ว่านี่คือ passion ของเขา จะทำให้เขารู้จักตัวเองมากขึ้นด้วย”

แต่การทำให้เด็กคนหนึ่งรู้จักตัวตน รู้จักความชอบของตัวเองไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นข้ามคืน การช่วยเด็กค้นหาตัวเองจึงกลายเป็นโจทย์ใหญ่ของพ่อแม่ เพราะหลายบ้านใช้เวลาทุกนาทีไปกับกับพาลูกทำกิจกรรมนานาชนิดเพื่อค้นหาเส้นทางแห่งพรสวรรค์ของลูก แต่แท้จริงแล้วมันอาจไม่ได้จำเป็นเลย

“ในอดีต เราถูกสอนกันมาว่าให้รีบค้นหาตัวเองให้เจอ แต่แท้จริงแล้วเป็นเรื่องเข้าใจผิด เพราะการเจอตัวเองในวัยใดวัยหนึ่งไม่ได้เป็นคำตอบของทั้งชีวิต คนเราเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา และมนุษย์สามารถค้นหาตัวเองได้ตลอดชีวิต”

สิ่งที่สำคัญกว่าการรีบค้นหาตัวเองคือการมี ‘ทักษะ’ ค้นหาตัวเองให้เจอต่างหาก ตรงกับทฤษฎีความมุ่งมั่นของตนเอง (Self-Determination Theory) ซึ่งการทำให้เด็กมีแรงจูงใจในตัวเอง รู้สึกว่าตนเองสามารถทำบางสิ่งได้ด้วยการเลือกและตัดสินใจของตัวเอง

สิ่งเหล่านี้สร้างมากจาก 3 รากฐานสำคัญ ได้แก่ การทำให้เด็กเชื่อว่าตัวเขามีความสามารถ ทำให้เขาเชื่อว่ามีความสัมพันธ์อันมั่นคง และการทำให้เขามีอิสระในตัวเอง

“การทำให้เด็กรู้สึกมีอิสระในตัวเองเป็นสิ่งสำคัญมาก หากเด็กเชื่อว่าเขามีอิสรภาพในการเลือกและตัดสินใจชีวิตตัวเองได้ สิ่งนี้จะสร้างแรงจูงใจในชีวิตให้เขาโดยไม่ต้องมีรางวัลหรือสิ่งใดมาล่อ แต่มันมาจาก self ภายในของตัวเด็กเอง”

นอกจากนี้ยังมีอีกทักษะหนึ่งที่สำคัญคือ ‘วิธีคิดเติบโต‘ (Growth Mindset) นั่นคือการรู้จักลองผิด ลองถูกและกล้าเผชิญกับความล้มเหลว โดยให้คุณค่ากับความพยายามมากกว่าความสำเร็จ

“เด็กที่กล้าลองผิด ลองถูก ไม่กลัวความผิดพลาดล้มเหลวจะทำให้เขาค้นหาตัวเองเจอได้ว่าชอบอะไร ถนัดอะไร หรือถ้าเจอสิ่งที่ไม่ชอบก็กล้าที่จะหยุดมัน”

จัดการใจอย่างไร ? เมื่อเส้นทางชีวิตเต็มไปด้วยความเบื่อหน่าย-น่าผิดหวัง

หลายครั้งที่ระหว่างทางการค้นหาตัวตนนั้นมีทั้งเรื่องที่ชอบและไม่ชอบ สิ่งหนึ่งที่พ่อแม่มักคิดไม่ถึงคือการให้ลูกรู้จักกับ ความเบื่อหน่าย เพราะนี่เป็นช่วงเวลาสำคัญที่ทำให้เขารู้ว่าสิ่งใดที่มีความหมายกับเขา อะไรสร้างแรงจูงใจ หรือแม้กระทั่งการจัดการกับสถานการณ์ที่ไม่เป็นใจ การอยู่กับความเบื่อหน่ายยิ่งทำให้เขาได้ค้นพบตัวเองเร็วขึ้นด้วย

ในขณะที่ ความผิดหวัง ก็ไม่น้อยหน้า เพราะย่อมเกิดขึ้นเป็นระยะตลอดการเดินทาง บางครั้งเป็นความผิดหวังที่เกิดจากตัวเด็กเองแต่บ่อยครั้งก็เกิดจากความรู้สึกที่พ่อแม่ที่ส่งต่อไปที่ตัวเด็กโดยไม่รู้ตัว การเรียนรู้และอยู่กับความผิดหวังให้ได้จึงเป็นทักษะสำคัญที่มองข้ามไม่ได้

“ความผิดหวังเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับคนเราทุกคน ไม่เคยมีมนุษย์คนใดในโลกที่ได้ทุกอย่างที่หวัง เราต้องยอมรับว่าความผิดหวังเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต

“แต่ในระหว่างความผิดหวังนั้น พ่อแม่ควรให้เขาเรียนรู้วิธีจัดการความรู้สึก ชี้ชวนให้เห็นว่าภายใต้สิ่งนี้มีคุณค่าบางอย่างซ่อนอยู่ สิ่งนั้นอาจเป็นความตั้งใจ ความพยายาม ความทุ่มเท หรือความกล้าหาญ แล้วเขาจะได้เห็นความคุณลักษณะที่ดีของตัวเองแม้ในวันที่ไม่ได้เป็นดั่งใจหวังก็ตาม”

ท้ายที่สุด เมื่อความผิดหวังเกิดขึ้นไปแล้ว เราคงไม่อาจให้บอกให้เด็ก ๆ หยุดร้องไห้ หยุดเศร้า หรือหยุดเสียใจได้ทันที แต่ขอให้อยู่เคียงข้างเขา ชวนเขาอยู่กับความรู้สึกตรงนั้น และทำให้เขาเรียนรู้ว่าความผิดหวังไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร

เพราะนี่คงไม่ใช่ครั้งเดียวที่จะเจอความผิดหวัง แต่อาจยังมีอีกนับร้อยพันครั้งในชีวิตที่ต้องเผชิญ เพียงแค่ต้องสร้างทักษะแห่งใจ เป็นภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงให้กับพวกเขา

Author

Alternative Text
AUTHOR

ปุณยอาภา ศรีคิรินทร์

Transmedia Journalist

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

อภิวรรณ หวังเจริญไพศาล