เมื่อความงามบนผนังบดบังคนหลังกำแพง: เมืองที่ดีจึงต้องมีมากกว่าความงาม

‘Livable Scape คนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี’

คือคอนเซปต์ของ ‘เทศกาลออกแบบกรุงเทพฯ 2567’ หรือ ‘Bangkok Design Week 2024’ ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 ม.ค. – 4 ก.พ. 2567 โดย 15 ย่านทั่วกรุงเทพฯ มีหลากหลายกิจกรรมให้ ‘คนเมือง’ ได้ออกมาใช้ชีวิตเพื่อเปลี่ยน ‘เมือง’ ให้ดีขึ้นด้วยหัวใจสำคัญ 3 มิติ

Hard Matters เมืองดีต่อกาย กายภาพดี เข้าถึงง่าย เชื่อมโยงผู้คน ให้อยู่สบาย มีสุขภาพดี
Heart Matters เมืองดีต่อใจ ใส่ใจผู้คน กิจกรรมหลากหลาย วัฒนธรรมแข็งแรง
Design Matters เมืองออกแบบดี ชีวิตดี หัวใจในการพัฒนาพื้นที่ ชุมชน และเศรษฐกิจสร้างสรรค์

คำว่า ‘ดี’ ดูเหมือนว่าจะอยู่ในทุกประโยคของคอนเซปต์และหัวใจสำคัญทั้ง 3 มิติ ของเทศกาลออกแบบกรุงเทพฯ ที่หวังจะเห็นความเป็นเมืองเปลี่ยนไปเป็นเมืองที่ ‘น่าอยู่’ ในทุกมิติ ทั้งทางกายภาพ จิตใจ และสังคม ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ส่วนตัว ไปจนถึงพื้นที่สาธารณะสำหรับ ‘ทุกคน’

‘ดี’ ‘น่าอยู่’ แต่ไม่ใช่กับ ‘ทุกคน’ เพราะ ‘อดีตชาวป้อมมหากาฬ’ ไม่ได้รู้สึกแบบนั้น

อดีตที่เจ็บปวดเมื่อ 6 ปีที่แล้วของ ‘ชาวป้อมมหากาฬ’ กับการรื้อถอนชุมชนให้กลายมาเป็นพื้นที่สีเขียว หวนคืนกลับมาอีกครั้งด้วยภาพนักประดาน้ำกำลังสำรวจท้องทะเลพร้อมหมู่ปลาและเหล่าปะการังที่ฉายอยู่บนตัวป้อมมหากาฬ จนทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์บนโลกโซเชียลกันอย่างดุเดือด ซึ่งเสียงส่วนใหญ่ไม่พอใจที่ผลงานดังกล่าวไม่มีความเกี่ยวข้องกับป้อมมหากาฬ

ฉากสีฟ้าของท้องทะเลที่เป็นประเด็น คือ 1 ใน 8 ของผลงาน Projection mapping ที่ศิลปินชาวอินโดนีเซียต้องการสื่อให้เห็นวิถีชีวิตผู้คน วัฒนธรรม และความหลากหลายทางชีวภาพบริเวณทะเลอาราฟูราในประเทศอินโดนีเซีย ตามคอนเซปต์ ‘Livable Scape’

แม้ว่ามีหนึ่งในศิลปินที่ร่วมสร้างผลงานชุด Projection mapping ออกมาชี้แจงแล้วว่า นอกจากภาพที่เป็นประเด็นดังกล่าว ยังมีผลงานที่เกี่ยวข้องกับป้อมมหากาฬในชื่อ ‘Rise Up Again’ ซึ่งมีการเล่าเรื่องความเป็นมาของป้อมมหากาฬอยู่แล้ว ตั้งแต่การสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นป้อมปราการรอบพระนคร จนเริ่มมีคนเข้ามาอยู่อาศัย และเข้าสู่ยุคเสื่อมโทรมที่ชุมชนถูกไล่รื้อโดยอำนาจรัฐ อย่างไรก็ตาม คำชี้แจงนี้ไม่สามารถลบความเจ็บปวดของชาวชุมชนป้อมมหากาฬได้ และยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่า ฉากสีฟ้าบนตัวป้อมหรือพื้นที่สีเขียวหลังกำแพงป้อมมหากาฬ ‘ดีและน่าอยู่’ สำหรับคนบางกลุ่มเพียงเท่านั้น

The Active คุยกับ ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ นักมานุษยวิทยา และอาจารย์ประจำภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถึง ‘การพัฒนาเมือง’ ผ่านเหตุการณ์ ‘ป้อมมหากาฬ’ ในช่วงที่ผ่านมา

ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกคนฝันที่จะเห็นเมืองของตัวเอง ‘สวย-สะอาด-ปลอดภัย-ทันสมัย’ แต่คงเป็นไปได้ยากสำหรับสายตาของคนบางกลุ่มที่เรียกว่า ‘ชนชั้นกลางและชนชั้นนำ’ หากบางมุมของเมืองยังมี ‘ชุมชนแออัด’ ตั้งอยู่ให้เห็นถึงความหนาแน่นและทรุดโทรม ซึ่งไม่สบายตามากเท่าไหร่นักและขัดตาใครหลาย ๆ คน

ดังนั้น การพัฒนาเมืองให้เป็นไปดั่งใจฝันจึงต้อง ‘กำจัด’ ชุมชนแออัดที่เป็นจุดเสื่อมโทรมออกไป เพื่อให้เมือง ‘สวย-สะอาด-ปลอดภัย-ทันสมัย’ เหมือนอย่างการมีพื้นที่สีเขียวหลังป้อมมหากาฬมาแทนที่ชีวิตของคนในนั้น

เพราะคิดอย่าง ‘Gentrification’ การผลักคนบางกลุ่มออกจึงไม่ใช่เรื่องใหญ่?

Gentrification คือ กระบวนการแปลงเมืองเพื่อเปลี่ยนชนชั้น โดยการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทางกายภาพ เพื่อให้พื้นที่นั้นมีลักษณะของการเป็นพื้นที่ที่บรรดาชนชั้นกลางและชนชั้นนำสบายใจและสบายตามากขึ้น ด้วยการผลักคนออกไป โดยเฉพาะ ‘คนจนเมือง’ ซึ่งอาศัยและผูกพันกับพื้นที่นั้น ๆ มาอย่างยาวนาน

ในกรณีป้อมมหากาฬจึงไม่ใช่เรื่องใหญ่และอาจจะเป็นเรื่องดีสำหรับคนบางกลุ่มที่มองว่าการแปลงเมืองเพื่อเปลี่ยนชนชั้นจะทำให้เมืองพัฒนาไปได้

“รุกล้ำที่ดินสาธารณะ”
“ต้องได้ใช้ที่สาธารณะเท่ากัน ไม่ใช่เอาไปเป็นของตัวเองโดยการบุกรุก”
“ที่สาธารณะของคนทั้งชาติ ก็ต้องทำสถานที่เพื่อคนทั้งชาติไม่ใช่คนกลุ่มเดียว”
“ก่อนจะมีสวน มีกี่คนได้ประโยชน์ พอกลายเป็นสวน ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์ได้”

นี่คือความคิดเห็นบางส่วนของผู้ใช้ Facebook เกี่ยวกับกรณี ‘ป้อมมหากาฬ’ ซึ่งมองว่าชาวบ้านที่อยู่หลังกำแพงคือ ‘ผู้บุกรุกที่ดินสาธารณะ’ และเห็นถึงประโยชน์ของการรื้อทุบบ้านของชาวชุมชนป้อมมหากาฬเพื่อเปลี่ยนเป็นสวนสาธารณะที่ ‘ทุกคน’ ได้ใช้ประโยชน์ เช่นเดียวกันกับการคิดอย่าง ‘Gentrification’ ที่กล่าวมาข้างต้น

แน่นอนว่าพื้นที่สีเขียวอย่างสวนสาธารณะก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เมืองน่าอยู่มากยิ่งขึ้น และปัญหาที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้อยู่ที่การมีสวนสาธารณะ แต่ปัญหาคือ ‘กระบวนการได้มาของสวนสาธารณะ’ ที่เป็นการมองในมุมตรงข้ามกับชุมชน

ความเห็นของ อาจารย์ศรยุทธ มองว่า ป้อมมหากาฬเป็นตัวอย่างชัดเจนที่ทำให้เห็นว่าพื้นฐานความคิดในการพัฒนาเมืองโดยรัฐผ่านมุมมองของคนตั้งแต่ชนชั้นกลางขึ้นไป มีการออกแบบเมืองโดยไม่คำนึงถึงชุมชน เพราะเมืองในสายตาของรัฐเป็นสินค้า และผู้อยู่อาศัยคือผู้บริโภค ความน่าอยู่ของเมืองจึงมาจากจินตนาการของคนบางกลุ่มที่ต้องการให้เมืองเติมเต็มความรู้สึกของคนเหล่านั้นให้อิ่มเอมด้วยสายตาที่มองผ่านพื้นที่สีเขียว โดยไม่ได้มองหลังฉากของเมืองว่าสิ่งที่ทำให้จรรโลงใจนี้ต้องแลกมาด้วยชุมชนและผู้คนที่หายไป

ดังนั้น การคิดอย่าง ‘Gentrification’ จึงทำให้มีการมองคนอย่างไม่เท่าเทียม และพื้นที่สีเขียวที่เรียกว่า ‘อาหารสายตา’ จึงสำคัญกว่าชีวิตของคนบางกลุ่ม

อาหารสายตา : ความสวยงามที่บดบังความจริงไว้

เมื่อพูดถึงอาหารสายตา ทั้งพื้นที่สีเขียวหลังกำแพงหรือภาพที่ฉายอยู่บนตัวป้อมมหากาฬในงานเทศกาลออกแบบกรุงเทพฯ 2567 ก็ไม่อาจปฏิเสธความสวยงามของงานศิลปะและงานออกแบบเหล่านี้ได้ ไม่ว่าจะถูกมองจากสายตาของคนชนชั้นไหนก็ตาม แต่ความสวยงามเหล่านี้อาจบดบังอะไรบางอย่างอยู่หรือเปล่า

อาจารย์ศรยุทธ มองว่า การเอางานศิลปะและงานออกแบบมาเป็นด่านหน้าของกระบวนการสร้างความเปลี่ยนแปลงในเมืองและสังคม เช่น พื้นที่สีเขียวหลังป้อมมหากาฬหรือภาพที่ฉายอยู่บนตัวป้อมมหากาฬ เป็นสิ่งที่น่าสนใจอย่างมาก หากแต่ศิลปะและงานออกแบบเปรียบเสมือนดาบสองคม เนื่องจากเป็นกระบวนการที่สื่อสารกับผู้เสพด้วยสุนทรียศาสตร์ ซึ่งความงามอาจครอบงำ จนทำให้ผู้คนไม่ได้ตั้งคำถามหรือปิดบังดวงตาในการรับรู้ความจริงของโลก เพราะหลงใหลและเพลิดเพลินไปกับความสวยงามเหมือนอย่างมองสนามหญ้าสีเขียวโดยไม่ได้จินตนาการถึงชีวิตของคนหลังป้อมมหากาฬ

“เพราะงานศิลปะ เป็นกระบวนการที่สื่อสารด้วยสุนทรียศาสตร์ ซึ่งเป็นการครอบงำที่อันตรายมาก มันทำให้คนไม่ได้ตั้งคำถาม เพราะหลงใหลไปกับความเพลิดเพลินทางสายตา ดังนั้น คนที่ไปดูป้อมก็บอกว่ามันก็สวย ดี ปลอดภัย ด้วยความงามมันไปปิดบังดวงตาในการรับรู้ความจริงของโลก”

ต้องคิดอย่าง The Right to the City การพัฒนาเมืองจึงจะ ‘ดี’ ‘น่าอยู่’ สำหรับ ‘ทุกคน’

เมื่อคนในสังคมกำลังเพลิดเพลินกับความงดงามของงานศิลปะและงานออกแบบโดยไม่ได้มองสิ่งที่หล่นหายไปอย่างเหตุการณ์ที่กำลังเป็นประเด็นในขณะนี้ สิ่งนี้จึงสะท้อนให้เห็นว่ากระบวนการทำงานทางศิลปะหรือการออกแบบเมืองจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการในการทำงานให้สอดคล้องกับพื้นที่ เพื่อให้ทุกคนมี ‘สิทธิที่จะมีส่วนร่วมในเมือง’ หรือ ‘The Right to the City’

แม้ว่ามีหลายเสียงในสังคมมองชาวป้อมมหากาฬเป็นผู้บุกรุกหรือคุกคามพื้นที่สาธารณะ แต่เมื่อมาย้อนดูประวัติศาสตร์ตั้งแต่อดีต จะเห็นว่าการมีชุมชนแออัดเกิดขึ้นมาอย่าง ‘ชุมชนป้อมมหากาฬ’ หรือที่อื่น ๆ ต่างก็เกิดจากแผนการพัฒนาเมืองของรัฐ ด้วยโครงสร้างการพัฒนาที่เห็นเมืองเป็นเพียงศูนย์กลางหรือไข่แดงในการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นโครงการพัฒนาบ้านหรือสถานที่ราชการ แม้กระทั่งสวนสาธารณะที่บีบชุมชนท้องถิ่นเดิมให้กลายเป็นชุมชนแออัด หรือการพัฒนาเมืองจนทำให้ผู้คนต้องอพยพจากแหล่งที่อยู่เดิมเพื่อหาที่อยู่อาศัยใหม่อย่างไม่เต็มใจ

ดังนั้น เมื่อพูดถึงการพัฒนาเมือง อาจารย์ศรยุทธ ให้ความเห็นว่า จะต้องเข้าใจ ‘ความเป็นเมือง’ ว่าเป็นศูนย์รวมทรัพยากรที่มีทั้งความเจริญและความเหลื่อมล้ำ ด้วยความแตกต่างทางชนชั้นที่เข้ามาอาศัยอยู่ร่วมกัน การพัฒนาเมืองจึงต้องมองให้ครบทั้งระบบนิเวศของเมืองที่ประกอบไปด้วยผู้คนที่หลากหลายและชุมชน โดยเฉพาะชนชั้นแรงงาน ซึ่งเป็นผู้อพยพ ไม่ว่าจะจากชนบท ชานเมือง หรือกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ซึ่งต้องทำให้ทุกคนสามารถอยู่ในเมืองร่วมกันได้อย่างเท่าเทียม

เมื่อพูดถึงความเท่าเทียมไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะต้องมีทุกอย่างเหมือนกัน แต่ความเท่าเทียมที่กล่าวมา คือ โครงสร้างพื้นฐานที่ให้คนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงสวัสดิการในฐานะประชาชนคนหนึ่งของประเทศ เพราะเดิมที เรามองเมืองในฐานะที่เป็นผลผลิตของกระบวนการตลาดของระบบทุนนิยม การออกแบบเมืองจึงเป็นการออกแบบแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด (Authoritarian) โดยไม่ได้สนใจผู้อยู่อาศัยมากนัก คนที่มีสิทธิ์มากกว่าอย่างคนชนชั้นกลางขึ้นไปจึงมีสิทธิ์เข้าถึงพื้นที่สาธารณะมากกว่าคนจนที่ไม่มีปากเสียงมากพอ

ดังนั้น ‘สิทธิที่จะมีส่วนร่วมในเมือง’ หรือ ‘The Right to the City’ จึงเป็นแนวคิดที่มองว่า ทุกคนมีสิทธิที่จะกำหนดการใช้พื้นที่และสามารถใช้พื้นที่เมืองได้โดยไม่ถูกกีดกัน

กลับมาที่คอนเซปต์ ‘Livable Scape คนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี’ ต้องมาดูว่าใครเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานบ้าง มีการจินตนาการถึงชุมชนเมืองไหม ซึ่งหากจะให้เป็นไปตามคอนเซปต์ก็ต้องอาศัยมุมมองหรือจินตนาการจากคนหลาย ๆ มุม และทำให้ทุกคนมีส่วนร่วมจริง ๆ ซึ่งเราสามารถเรียนรู้ได้จากเหตุการณ์ ‘ป้อมมหากาฬ’ เพื่อให้การพัฒนาเมืองในอนาคตเป็นไปอย่างเท่าเทียมสำหรับทุกคน ทุกชนชั้น เหมือนคอนเซปต์และหัวใจสำคัญ 3 มิติของงานเทศกาลออกแบบกรุงเทพฯ 2567

Author

Alternative Text
AUTHOR

กัลยกร สมศรี

นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาวิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยขอนแก่น

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

ชญาดา จิรกิตติถาวร

เปรี้ยว ซ่า น่ารัก ไม่กินผัก ไม่กินเผ็ด