“แพทย์ชนบท” บุกกรุงฯ ตรวจเชิงรุก ปิดแผลระบบสาธารณสุข กทม.

“ดีใจมากที่มีหมอเข้ามาตรวจ เพราะให้ต่อแถวรอตามจุดที่เขาตั้งไว้คงไม่ได้ตรวจ ขนาดออกไปรอตี 4 ตี 5 ยังไม่ได้ตรวจเลย คนเต็มไปหมด” 

เสียงสะท้อนหนึ่งจากชาวชุมชนวัดสิงห์ เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร หลังได้มีโอกาสตรวจโควิด-19 เป็นครั้งแรก จากการลงพื้นที่ตรวจเชื้อเชิงรุกของ “กลุ่มแพทย์ชนบท” ที่เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อปฏิบัติภารกิจสำคัญตั้งแต่วันที่ 14-16 ก.ค. 2564

วัดสิงห์ เขตจอมทอง กทม. 1 ใน 30 จุดตรวจเชิงรุกของทีมแพทย์ชนบท

“ชุมชนวัดสิงห์” เป็น 1 ใน 30 ชุมชนกรุงเทพมหานคร ที่ทีมแพทย์ชนบทเลือกเข้าไปทำภารกิจครั้งนี้ จากการตั้งหลักเกณฑ์ว่า ควรเป็นชุมชนที่ขาดโอกาสในการเข้าถึงการตรวจเชื้อเชิงรุก ประชากรหนาแน่น อยู่รวมกันแออัด และที่สำคัญ คือ มีผู้ติดเชื้อตกหล่นในชุมชนก่อนหน้านี้แล้ว

ใน 30 ชุมชนนี้ ยังรวมถึง “แคมป์คนงานก่อสร้าง” ด้วย ที่แม้จะถูกปิดจากคำสั่งของ ศบค. ในการควบคุมโรคมาตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2564 แต่ภายในแคมป์ก็ยังมีผู้ติดเชื้อตกหล่น หรือยังไม่รับการตรวจ คนกลุ่มนี้มีทั้งคนไทยและแรงงานเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางอยู่แล้วยิ่งซับซ้อนและขาดโอกาสในการเข้าถึงระบบสาธารณสุข

“แพทย์ชนบท”​ แบ่งทีมทำงานเป็น 6 ทีม กระจายไปตามจุดต่าง ๆ สับเปลี่ยนหมุนเวียนใน 3 วัน เพื่อให้ครบ 30 ชุมชน ตั้งเป้าตรวจให้ได้ประมาณ 2-3 หมื่นคน 

เฉพาะจุดตรวจโควิด-19 วัดสิงห์ เขตจอมทอง เจ้าหน้าที่ประจำจุดนี้เพียงครึ่งวัน สามารถตรวจคัดกรองเชิงรุกได้ประมาณ 1,000 คน ด้วยชุดตรวจแอนติเจน เทสท์ คิท (Antigen Test Kit) ที่รู้ผลภายใน 30 นาที ซึ่งเบื้องต้น พบ 30 คนมีผลเป็นบวก

ผู้มีผลตรวจเป็นบวกจากชุดตรวจ Antigen Test Kit ถูกแยกออกมารอ swab ซ้ำ ก่อนเข้าสู่ระบบการรักษา

การจัดการหลังพบผลบวกเบื้องต้น คือ แยกคนกลุ่มนี้ออกมาเพื่อรอตรวจ Swab RT-PCR อีกครั้ง หากผลยืนยันติดเชื้อ ก็จะแยกผู้ติดเชื้อเหล่านี้เข้าสู่ระบบการรักษาโดยชุมชน หรือ Community Isolation (CI) โดยชุมชนได้ข้อสรุปร่วมกันว่าจะใช้วัดสิงห์เป็นโรงพยาบาลสนาม หลังการตรวจคัดกรองเสร็จสิ้นลง

การดำเนินงานเป็นไปอย่างรวดเร็ว จากการประสานผ่านตัวแทนชุมชน อาสาสมัครสาธารณสุข กทม. (อสส.) และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในพื้นที่  

ศบค. กทม. ล้มเหลวจัดการโควิด-19 

แม้ภารกิจของกลุ่มแพทย์ชนบทจะได้รับความร่วมมือจากชุมชน และมาในฐานะตัวแทนของกระทรวงสาธารณสุข ในนาทีวิกฤตและฉุกเฉิน ไม่มีใครคิดว่าต้องเผชิญกับเส้นแบ่งของสังกัดหน่วยงาน แต่เหตุการณ์นี้ก็เกิดขึ้นที่ “ชุมชนคลองสามวา” 

ประชาชนเขตคลองสามวา ยืนรอแพทย์ชนบทตรวจเชื้อเชิงรุก ข้างร้านสะดวกซื้อ เพราะ ผอ.เขตฯ ไม่สนับสนุนให้ใช้โรงเรียนเป็นสถานที่ตรวจ

ชุมชนแห่งนี้​ ต้องใช้สถานที่บริเวณข้างร้านสะดวกซื้อ ซึ่งเป็นลานเล็กและแคบสำหรับให้ทีมแพทย์ชนบทเข้าตรวจเชื้อในช่วงครึ่งวันเช้า จากผู้ที่ขอเข้ารับการตรวจถึง 650 คน เราจึงเห็นภาพของผู้คนจำนวนมากที่ต้องตากแดดรอการตรวจหาเชื้อ​ บ้างก็ใช้เงาจากเสาไฟฟ้าเพื่อบังแดด ทำให้การตรวจคัดกรองในจุดนี้เป็นไปอย่างทุลักทุเล

ชำนาญ​ รัตนพันธ์ ประธานเครือข่ายชุมชนคลองวา

“ชำนาญ​ รัตนพันธ์” ประธานเครือข่ายชุมชนคลองสามวา​ บอกกับ The Active ถึงปัญหาที่ผ่านมาว่า ชุมชนเคยประสานขอตรวจเชิงรุกไปยังหน่วยงานของ กทม. และผู้อำนวยการเขตในฐานะ ผอ.ศบค.​เขต ตามโครงสร้างที่​ “พลเอก​ ประยุทธ์​ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี​ นั่งเป็น​ประธาน​ ศบค. กทม.​ ที่ประกาศออกมาเพื่อแก้ไขสถานการณ์โรคระบาดในภาวะฉุกเฉิน 

แต่ไม่เคยได้รับการช่วยเหลือ​ ตลอดช่วง 3 เดือนหลังเกิดการระบาดรอบที่ 3 

ทำให้มีผู้ป่วยตกค้างในชุมชน 3 ราย​ และยังไม่เคยมีการตรวจเชิงรุก​

หลังจากที่เขารู้ข่าวว่า สปสช. จับมือกับแพทย์ชนบท จะตรวจหาเชื้อให้กับชุมชนในกรุงเทพฯ​จึงพยายามประสาน จนได้รับการตรวจในที่สุด แต่เมื่อทำเรื่องขอใช้สถานที่ ลานกีฬาภายในโรงเรียนแห่งหนึ่ง​ในเขตคลองสามวา​ กลับได้รับการปฏิเสธจากผู้อำนวยการเขต และผู้อำนวยการโรงเรียน​  แม้จะทำหนังสืออย่างเป็นทางการขอไปแล้ว

“นี่สะท้อนระบบราชการที่ล่าช้า​ ไม่ทันกับสถานการณ์​วิกฤต​ ความเป็นความตายของประชาชน​ รู้สึกเจ็บใจ​ ปวดใจ​ ที่ไม่ได้รับการเหลียวแลจากเจ้าของพื้นที่​ จนต้องรอให้​หมอจากต่างจังหวัด​เข้ามาช่วย”

โควิด-10 กรุงเทพฯ สะท้อนความเหลื่อมล้ำสังคม – สาธารณสุข

The Active พูดคุยกับ “นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ” ประธานชมรมแพทย์ชนบท และ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา ที่นำทีมบุกกรุง เพื่อปฏิบัติภารกิจครั้งนี้ตลอด 3 วัน และได้สะท้อนว่า พบระบบบริหารจัดการในภาวะวิกฤต โควิด-19 ของกรุงเทพมหานครที่ยังวุ่นวายพอสมควร โดยเฉพาะขั้นตอนการรักษา เมื่อสามารถแยกผู้ป่วยตามกลุ่มสีอาการออกได้แล้ว จะส่งต่อไปที่ไหน

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท

“นพ.สุภัทร” ยังบอกอีกว่า ในวันสุดท้ายที่จบภารกิจว่าตัวเลขเฉลี่ยของวันแรก (14 ก.ค.) พบผลบวกถึง 19% จากที่ตรวจ 5,000 กว่าคน ยังรอผลของการตรวจในวันที่สอง (15 ก.ค.) ซึ่งตรวจไป 7-8 พัน คน และวันสุดท้าย (16 ก.ค.) เบื้องต้นคาดว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อเฉลี่ยโดยรวมอยู่ที่ 5-10% ซึ่งถือว่าสูงมาก 

“ไม่แปลกที่จะเกิดการสัมผัสติดเชื้อสูง แสดงให้เห็นความเหลื่อมล้ำ การเข้าไม่ถึงโอกาส ทั้งโอกาสในการตรวจ เข้าถึงการสอบสวนโรค เข้าถึงโรงพยาบาลสนาม หรือเข้าถึงบริการทางการแพทย์อื่น ๆ ทุกคนยังมีความทุกข์อยู่พอสมควร” 

นพ.สุภัทร ยอมรับว่า ภารกิจครั้งนี้ของทีมแพทย์ชนบท ค่อนข้างฉุกละหุก เพราะไม่รู้พื้นที่ ขับรถไปไหน ก็ไม่ถูก จึงต้องอาศัยการประสานกับทีมโควิดชุมชน ซึ่งเป็นภาคประชาชนในกรุงเทพฯ ทีมโควิดชุมชนเป็นคนจัดพื้นที่ให้ ประสานงานให้ทั้งหมด 

เขาชี้แจงถึงวัตถุประสงค์ในการนำทีมแพทย์ชนบทบุกกรุงครั้งนี้ ด้านหนึ่งต้องการสื่อสาร ว่าวิกฤตครั้งนี้หนักหน่วงและรุนแรง ทุกคนต้องช่วยกัน ซึ่งคนที่ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด คือ ชุมชน คนตัวเล็ก ตัวน้อย แม้แพทย์ชนบทจะช่วยได้เพียงเล็กน้อย แต่นี่คือคำร้องขอไปยังทุกองค์กร ให้ลงมือปฏิบัติในโลกแห่งความจริง เพื่อช่วยกันก้าวข้ามโควิด-19 และสร้างสังคมที่เหลื่อมล้ำให้น้อยลง 

“การลงพื้นที่ครั้งนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือสัมผัสความจริง เห็นความจริง ความจริงที่ไม่อาจรับรู้จากการอ่านเฟซบุ๊ก ไม่อาจรับรู้จากการฟังเพื่อนเล่า แต่เป็นความจริงที่สัมผัสเห็นผู้คนที่ลำบากจริง ๆ ยอมมานั่งรอตรวจและอยากตรวจ แล้วรู้สึกว่ามีความเสี่ยง มีความกังวล ครอบครัวมีคนติดเชื้อ และเข้าไม่ถึงการตรวจ ไปรอคิวตีสามตีสี่ คิวเต็มหมด แล้วไปหลายรอบก็ไม่ไหว”

สิ่งนี้ทำให้รู้ว่า คงต้องไม่ใช่แค่การเข้าช่วยเป็นครั้งคราว 
แต่ต้องพยายามผลักดันในเชิงนโยบาย 
และสร้างการเปลี่ยนแปลงในเชิงระบบด้วย

แพทย์ชนบทเสนอปฏิรูประบบสาธารณสุข กทม.

นอกจากหวังจะให้คนที่ตกหล่น สามารถเข้าถึงการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ได้แล้ว การบุกกรุงของทีมแพทย์ชนบทในครั้งนี้ บอกอะไรกับสังคม? เมื่อหมอหลายคนดั้นด้นจากหลายพื้นที่ ไกลสุดมาจาก อ.ตากใบ จ.นราธิวาส 

บางคนอาจตั้งคำถามว่า หมอจากนราธิวาส นครศรีธรรมราช ขอนแก่น น่านหรือ กาญจนบุรี เพียงไม่กี่คน จะมาช่วยทำให้การตรวจเชิงรุกดีขึ้นแค่ไหน?

แต่นี่คือการแสดงออกเพื่อสื่อสารและไปถึงหลายฝ่าย รวมถึง ระบบสาธารณสุขในเมืองหลวงอย่าง กทม. ที่ดูจะเพียบพร้อมทั้งอุปกรณ์ บุคลากร แต่สิ่งที่ขาดหายไปจากเมืองใหญ่แห่งนี้ คือ บทบาทของการ “แพทย์ปฐมภูมิ” ซึ่งเป็นสิ่งที่แพทย์ชนบทเห็นว่าเป็นรากฐานของระบบสาธารณสุขที่สำคัญที่สุด

“การแพทย์ปฐมภูมิ” หรือ Primary care รับผิดชอบดูแลสุขภาพของประชาชนอย่างต่อเนื่องร่วมกับประชาชน โดยประยุกต์ความรู้ทั้งทางด้านการแพทย์จิตวิทยา และสังคมศาสตร์ ในลักษณะผสมผสาน การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การรักษาโรค และการฟื้นฟูสภาพได้อย่างต่อเนื่อง ด้วยแนวคิดแบบองค์รวม ให้แก่บุคคล ครอบครัว และชุมชน โดยมีระบบการส่งต่อและเชื่อมโยงกับโรงพยาบาลได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งประสานกับองค์กรชุมชนในท้องถิ่น เพื่อพัฒนาความรู้ของประชาชนในการดูแลส่งเสริมสุขภาพของตนเอง และสามารถดูแลตนเองเมื่อเจ็บป่วยได้อย่างสมดุล

นี่คือสิ่งที่ “นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิชล จ.นครศรีธรรมราช และประธานที่ปรึกษาชมรมแพทย์ชนบท บอกว่า หากเป็นต่างจังหวัดซึ่งมีความเข้มแข็งด้านการแพทย์ปฐมภูมิ จะสามารถตามผู้เสี่ยงสูงมาตรวจ เพื่อหาผู้ติดเชื้อได้ไม่ยาก แต่กรุงเทพฯ ระบบการคัดกรองกลุ่มเสี่ยงสูง ทำไม่ไหวเพราะประชากรมาก ผลก็คือผู้ติดเชื้อโควิด-19 ไม่รู้ว่าตนมีเชื้อ แม้จะลดการเดินทางแล้ว แต่ก็ยังมีโอกาสแพร่ระบาดให้กับคนในครอบครัว

นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ประธานที่ปรึกษาชมรมแพทย์ชนบท 

วิกฤตโรคระบาดครั้งนี้อาจเป็นบทเรียน ให้จำเป็นต้องมีการปฏิรูประบบสาธารณสุข ในกรุงเทพฯ ที่แยกส่วน แม้จะมีโรงพยาบาลจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลทุติยภูมิ และตติยภูมิ ขณะที่ความสำคัญของการแพทย์ปฐมภูมิ จะช่วยอย่างยิ่งในการควบคุมโรค

สอดคล้องกับ “นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ” รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ยอมรับว่าการแก้ไขเฉพาะหน้าในเวลานี้คือทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันบูรณาการงานข้ามสังกัด เพราะเหลือเวลาไม่มากนัก มาตรการล็อกดาวน์ไม่สามารถทำได้เป็นระยะเวลานาน 

จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องตรวจเชื้อให้เร็ว รักษาชีวิตให้ทัน และเร่งสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการฉีดวัคซีนไปพร้อมกัน ซึ่งภาระหน้าที่อาจเหนือกว่าศักยภาพของกรุงเทพมหานครจะรับมือได้เพียงหน่วยงานเดียว

แพทย์ปฐมภูมิหายไปจาก กทม. จริงหรือ?

จะว่าไปแล้ว กรุงเทพมหานคร ก็มี “ศูนย์บริการสาธารณสุข” สำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร กระจายอยู่ตามเขตต่าง ๆ ถึง 68 ศูนย์ แต่ศูนย์บริการสาธารณสุขเหล่านั้น จะถูกเรียกว่าเป็นระบบการแพทย์ขั้นปฐมภูมิของกรุงเทพมหานครได้หรือไม่ คงขึ้นอยู่กับว่า “ประชาชน”​ รับรู้ถึงบทบาทหน้าที่ของศูนย์เหล่านี้มากน้อยแค่ไหน

มักมีคำกล่าวตลอดมาว่า “คนกรุงเทพฯ น่าสงสาร หากเจ็บป่วยเล็กน้อยจะต้องไปรักษาที่ไหน” ขณะที่คนต่างจังหวัดสามารถเดินเข้าโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล ขยับขึ้นไปเป็นโรงพยาบาลประจำอำเภอ และโรงพยาบาลจังหวัด ที่มีอยู่ในทุกพื้นที่ แต่คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ต้องพึ่งบริการสถานพยาบาลเอกชน ซึ่งมีสัดส่วนอยู่ถึง 70% ในพื้นที่

ขณะเดียวกัน เครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ก็ไม่เข้มแข็งเท่าต่างจังหวัด ด้วยลักษณะสังคมเมือง มีความต่างคนต่างอยู่ ทำให้การแพทย์ปฐมภูมิค่อย ๆ เลือนหายไปจากพื้นที่

จำนวนผู้ติดเชื้อในกรุงเทพมหานคร ที่ไม่สามารถควบคุมโรคได้ ส่วนหนึ่งมาจากขาดการแพทย์ปฐมภูมิมาตั้งแต่ต้น ทำให้การตรวจเชื้อเชิงรุก และการสอบสวนโรค ซึ่งเป็นงานถนัดของ “แพทย์ชนบท” เป็นไปอย่างยากลำบากในกรุงเทพมหานคร สะท้อนผ่านผลลัพธ์การควบคุมโรค ของ กทม. ว่าสำเร็จหรือล้มเหลว 

แต่อาจไม่ยุติธรรมนัก หากโทษ กทม. ฝ่ายเดียว เพราะวิกฤตครั้งนี้นับว่าใหญ่เกินความสามารถของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง

“พลตำรวจโท โสภณ พิสุทธิวงษ์” รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ยอมรับว่าไม่ขัดข้องที่หลายหน่วยงานระดมส่งต่อความช่วยเหลือมายังกรุงเทพมหานคร และพร้อมประสานงานอำนวยความสะดวก โดยในส่วนของ กทม. เอง ก็มีความพยายามอย่างเต็มที่เช่นกันในการจัดการโรคระบาดเท่าที่ทรัพยากรของตนเองมีอยู่

การจัดตั้งศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อแล้ว 24 ศูนย์ ในพื้นที่ 23 เขต (เขตจตุจักร 2 ศูนย์) เปิดบริการรับผู้ป่วยแล้ว 14 ศูนย์ จะเปิดให้บริการเพิ่มอีก 5 ศูนย์ ภายเร็ว ๆ นี้ และอยู่ระหว่างตรวจสอบความพร้อมอีก 5 ศูนย์ ก็เป็นการเพิ่มศักยภาพการดูแลรักษาผู้ป่วยตกค้าง รวมทั้งป้องกันและควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค 

จากนี้ กทม. จึงจะจัดตั้งศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อเพิ่มเติม ตามโครงการ 1 เขต 1 ศูนย์พักคอย โดยได้เชิญผู้อำนวยการเขต 27 เขต ที่ยังไม่ได้จัดตั้งศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อในพื้นที่ ร่วมประชุมเพื่อหารือแนวทางการจัดตั้งศูนย์ฯ ต่อไป…

บทส่งท้าย

วิกฤตโรคระบาดครั้งนี้ ทำให้ระบบสาธารณสุขของกรุงเทพมหานคร ศูนย์กลางที่เต็มไปด้วยบุคลากร และเครื่องไม้เครื่องมือ จากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ถูกตั้งคำถาม…

และกำลังรอคำตอบว่า จำเป็นต้องมีการปฏิรูปตามมาหรือไม่ เพราะโควิด-19 คงไม่ใช่โจทย์ท้าทายสุดท้ายของระบบสาธารณสุขในเมืองหลวงแห่งนี้


ชม พลิกปมข่าว แพทย์ชนบทต่อชีวิต วิกฤตสาธารณสุข (15 ก.ค. 64)

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์