ความหวังคนกรุง กับชีวิตดี ๆ ความท้าทาย เป้าหมายธรรมนูญสุขภาพ กทม.

การที่คนเราจะมีชีวิตในกรุงเทพฯ ในแบบที่ดีได้ ต้องมีอะไรบ้าง?

คำตอบของแต่ละคนอาจจะแตกต่างกันออกไป…

จากการวิเคราะห์ความสนใจของประชาชนถึงเรื่อง “ความหวัง กทม.” ผ่านเครื่องมือ Zocial Eye โดย The Active ระหว่างวันที่ 27 ก.ย. 2566 – 27 มี.ค. 2567 พบว่า อันดับต้น ๆ ที่คนให้ความสนใจ คือ รถเมล์ ได้รับความสนใจ 2.98 แสน Engagements  โดยอยากให้มีการปรับปรุงรถเมล์ บางบริษัทที่เดินรถเมล์ไม่มีการเชื่อมกับระบบส่วนกลาง แก้ปัญหาการรอรถเมล์นาน รวมไปถึงการที่สภา กทม. ผ่านกฎหมายรถเมล์อนาคตเปลี่ยนรถเมล์ทั้ง กทม. เป็น EV ทั้งหมดภายใน 7 ปี (เมื่อ 4 ต.ค. 2566)

รองลงมาคือ ปัญหาทางเท้า 2.61 แสน Engagements  โดยส่วนใหญ่พูดถึงปัญหาทางเท้าที่เกิดขึ้น เช่น ไม่เป็นมิตรต่อผู้ใช้วีลแชร์ สกปรก รุกล้ำพื้นที่เพื่อค้าขาย มีป้ายขวางทาง 

ประเด็น ผังเมือง 2.09 แสน Engagements โดยประเด็นหลักที่คนพูดถึง คือ การตั้งคำถามเรื่องผังเมือง กทม. ของ ศุภณัฐ มีนชัยนันท์ สส.พรรคก้าวไกล ว่า “ผังเมืองเอื้อนายทุน” ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ซึ่งถูกพูดถึงเป็นอย่างมากช่วง 5 – 12 ม.ค. 2567

คุณภาพชีวิต 1.90 แสน Engagements ระบุถึงการอยากมีคุณภาพชีวิตที่ดี เช่น ได้เงินเดือนมากกว่า 15,000 บาท เนื่องจากไม่เพียงพอจะอยู่ใน กทม. แม้ว่าจะพออยู่ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี

เช่นเดียวกับ เรื่องปากท้องและค่าแรง 1.12 แสน Engagements โดยพูดถึงค่าแรงขั้นต่ำใน กทม. ว่าไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิต เช่น ค่าแรง 15,000 บาท หรือ 353 บาทต่อวัน รวมไปถึงค่าใช่จ่ายต่าง ๆ ที่มีราคาสูงเกือบเท่าราคาค่าแรงแต่ละวัน 

เรื่องฝุ่น อากาศ 1.11 แสน Engagements โดยจากสถานการณ์ฝุ่นควันในกรุงเทพ มีการพูดถึงพื้นที่ใน กทม. ที่ควรระวังปัญหาเรื่องฝุ่นจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยวและการเผาไร่ในต่างจังหวัด สถานการณ์ฝุ่นในกทม.บางส่วนดีขึ้นจากการเพิ่มพื้นที่สีเขียว แต่ก็มีการพูดว่ากทม. มีอากาศดีตามสากลทั้งปีแค่ 4% (14-15 วัน) และมีการเปรียบเทียบสถานการณ์ #กลิ่นไหม้ ช่วงวันที่ 20 – 21 มี.ค. 2567 กับจังหวัดในภาคเหนือว่านี่คือสิ่งที่คนต่างจังหวัดต้องเจอ

ค่าครองชีพ 0.85 แสน Engagements พูดถึงปัญหาเรื่องค่าครองชีพ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินชีวิตในกรุงเทพ เช่น ค่าที่พัก ค่าเดินทาง ค่าอาหาร มีราคาสูง รวมไปถึงแสดงความกังวลว่ารายได้อาจไม่เพียงพอต่อค่าครองชีพ มีการพูดถึงว่าให้อยู่แบบประหยัดได้ แต่จะไม่มีการเผื่อกรณีมีเหตุต้องใช้เงิน รวมไปถึงสถานการณ์ค่าครองชีพจังหวัดอื่น ๆ ที่แพงเหมือนกัน เช่น ภูเก็ต

คนไร้บ้าน 0.56 แสน Engagements พูดถึงสถานการณ์ของคนไร้บ้านที่เพิ่มมากขึ้นในกทม. เกิดจากปัญหาภายในครอบครัวและความยากจน ควรแก้ที่ต้นตอคือปัญหาความยากจนและความสัมพันธ์ภายในครอบครัว รวมไปถึงมีการพูดถึงการบริจาคเพื่อช่วยเหลือคนไร้บ้านผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น บริจาคกับมูลนิธิ หรือแจกอาหารให้คนไร้บ้าน

สวนสาธารณะ และ พื้นที่สีเขียว 0.40 แสน Engagements กระแสตอบรับค่อนข้างไปในทางแง่บวก มีการพูดถึงข้อดีของสวนสาธารณะ แนะนำสวนสาธารณะในกทม. สนับสนุนโครงการสวน 15 นาที แสดงให้เห็นว่าผู้คนค่อนข้างให้ความสนใจกับการมีสวนสาธารณะ  อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นถกเถียงเรื่องสวนสาธารณะในกรุงเทพนั้นเพียงพอ-เข้าถึงง่ายแล้วหรือยัง หรือพูดถึงปัญหาฝุ่นที่พบเมื่อออกกำลังกายในสวนสาธารณะ

พื้นที่สาธารณะ 0.08 แสน Engagements บางส่วนมีความคล้ายกับประเด็นสวนสาธารณะ มีการถกเถียงว่าพื้นที่สาธารณะเพียงพอแล้วหรือยัง พูดถึงปัญหาการยึดที่สาธารณะเพื่อค้าขายแผงลอย และเรียกร้องให้มีการเพิ่มสุขาในสถานีรถไฟฟ้า 

หาบเร่แผงลอย 0.05 แสน Engagements วิจารณ์นโยบายจัดการหาบเร่แผงลอยที่แก้ปัญหาไม่ได้จริง ยังมีการขายของหาบเร่แผงลอยบนทางเท้าอยู่ มีการพูดถึง Hawker Center ที่อยากให้หาบเร่แผงลอยย้ายเข้ามาอยู่จริง ๆ ไม่ใช่ร้านค้าอื่น ๆ มาขยายสาขา  และความยากของสถานการณ์การจัดระเบียบทางเท้าของ กทม. เพราะพ่อค้าแม่ค้าบางส่วนขายมานาน ต้องอาศัยความร่วมมือของคนขายและคนซื้อ

ในปัญหาที่คนให้ความสนใจเหล่านี้ ล้วนแต่เป็นปัญหาที่ “ธรรมนูญสุขภาพกรุงเทพมหานคร” ต้องการขับเคลื่อนแก้ไข

“ธรรมนูญสุขภาพ ” ข้อตกลงร่วม ความหวังที่ต้องไปให้ถึง

“ธรรมนูญสุขภาพ” เกิดขึ้นตาม พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ซึ่งเป็นกฎหมายว่าด้วยสุขภาพแห่งชาติ กำหนดให้ทุกฝ่ายทำงานเรื่องสุขภาพร่วมกัน โดยอาศัยกลไกภายใต้ พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พ.ร.บ.สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เพื่อพัฒนาสุขภาพหรือสุขภาวะที่มุ่งสู่ทิศทาง “สร้างนำซ่อม” คือ การสร้างสุขภาพดี (Wellness) มากกว่าการซ่อมสุขภาพเสีย (Illness) คือ การรักษาโรค

กำหนดให้มี “ธรรมนูญสุขภาพแห่งชาติ” ที่ใช้เป็นกรอบแนวทางในการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์และการดำเนินงานด้านสุขภาพของประเทศ การพัฒนาจำเป็นต้องมีการปรับตามบริบทในแต่ละพื้นที่เป็นธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพเฉพาะพื้นที่ เพื่อให้การดำเนินงานเกิด “ประสิทธิภาพ” และเป็น “รูปธรรม” มากขึ้น

ขณะที่มาตรา 40 พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ได้กำหนดให้มีสมัชชาสุขภาพพื้นที่ หรือสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น เพื่อเป็นเวทีกลางให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันระดมสมอง แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบาย ที่จะนำไปสู่การพัฒนาและแก้ไขปัญหาร่วมกัน ภายใต้กระบวนการมี ส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เรียกว่า “สมัชชาสุขภาพ” โดยได้เริ่มกระบวนการสมัชชาสุขภาพพื้นที่เป็นครั้งแรก

“ธรรมนูญสุขภาพกรุงเทพมหานคร” เกิดขึ้นหลังจากมีเวที “สมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร” ครั้งที่  1 ปี 2563 ที่ กทม. ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และภาคีเครือข่าย ได้แก่ ผู้แทนหน่วยงาน นักวิชาการ ภาคประชาสังคม และแกนนำชุมชน ร่วมกันจัดทำนโยบายสาธารณะที่ใช้เป็นกรอบหรือข้อตกลงร่วมกันในการแก้ไขปัญหาของกรุงเทพมหานคร

ธรรมนูญสุขภาพกรุงเทพมหานคร ได้นำเอาหลักการสากลที่สำคัญมาใช้ คือ 1.การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals: SDGs และ 2. แนวคิดเมืองสุขภาวะ ที่จะเป็นข้อตกลง และพันธะร่วมกันของทุกภาคส่วนในกรุงเทพฯ ทั้งชุมชน ประชา สังคม ภาคเอกชน กทม. และหน่วยราชการต่าง ๆ ที่จะเป็นแนวปฏิบัติในการนำไปสู่สุขภาวะของคนกรุงเทพฯ ร่วมกันได้

โดยหลักการสำคัญและแนวคิดของธรรมนูญสุขภาพกรุงเทพมหานคร การส่งเสริมการมีส่วนร่วม การจะจายอำนาจ ความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ การลดความเหลื่อมล้ำด้านต่าง ๆ และการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี โดยมุ่งหวังให้เกิดสุขภาพในทุกมิติ ทั้งกาย ใจ ปัญญา สังคม กับประชาชนใน กทม.ทุกกลุ่มวัย

ธรมนูญสุขภาพกทม.

ตัวอย่างความร่วมมือ ช่วงโควิด-19 สู่ ธรรมนูญสุขภาพ 22 เขต

นอกจากนี้มติของสมัชชาสุขภาพ กทม. ยังเห็นชอบให้ดำเนินการโดยกลไกระดับเขต ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน อย่างในช่วงการระบาดโควิด-19 จัดกิจกรรม “รวมพลังพลเมืองตื่นรู้ ช่วยชาติสู้ภัยโควิด-19” ใน กทม. ได้จัดทำ “ธรรมนูญสุขภาพมาตรการชุมชนสู้ภัยโควิด 69 ชุมชนใน 10 เขต” ทำให้กระบวนการนโยบายสาธารณะได้รับการยอมรับจากหน่วยงานองค์กรต่าง ๆ มีการเชื่อมโยงการทำงานระดับเขต ผ่านคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับเขต (พชข.) และอนุกรรมการกองทุนหลักประกันสุขภาพเขต เกิดเป็นข้อตกลงความร่วมมือ 

ระหว่าง กทม. สสส. สปสช. พอช. และ สช. โดยมี มหาวิทยาลัยราชภัฏกลุ่มรัตนโกสินทร์ 5 แห่ง มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จ เจ้าพระยา มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เป็นภาคีหลักสนับสนุนด้านวิชาการมีการจัดตั้ง “ศูนย์วิชาการสุขภาวะเขตเมือง” เพื่อเป็นพี่เลี้ยงและพัฒนางานด้านวิชาการในพื้นที่รับผิดชอบในการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพระดับเขต

ปัจจุบันมี “ธรรมนูญสุขภาพระดับเขต” ในพื้นที่ กทม. รวมแล้ว 22 เขต ได้แก่ เขตทวีวัฒนา เขตธนบุรี เขตสายไหม เขตบางคอแหลม เขตวังทองหลาง เขตดอนเมือง เขตคลองสาน เขตลาดพร้าว เขตบางบอน เขตบึงกุ่ม เขตทุ่งครุ เขตลาดกระบัง เขตมีนบุรี เขตหนองแขม เขจตุจักร เขตยานนาวา เขตพระโขนง เขตคลองสามวา เขตดุสิต เขตหลักสี่ เขตคลองเตย และเขตตลิ่งชัน

จากผลที่เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมข้างต้น สช. จึงต้องการยกระดับการพัฒนาสุขภาพของประชาชนในพื้นที่เขตเมือง โดยร่วมกับคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชนเขตพื้นที่ 13 กทม. สำนักอนามัย กทม. สปสช. สธ. สสส. ให้เกิดการพัฒนากลไกขับเคลื่อนสุขภาวะแบบมีส่วนร่วมในพื้นที่ระดับเขต สร้างการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย และพัฒนาศักยภาพ

ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ ภาคเอกชน และประชาชน ให้เข้ามามีบทบาทและแสดงความคิดเห็นเพื่อสร้างนโยบายสาธารณะ และขับเคลื่อนนวัตกรรมในการสร้างเสริมสุขภาพของในเขตพื้นที่โดยใช้ งบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานคร ขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพระดับเขตในมิติด้านต่าง ๆ ผ่านการเขียนโครงการขอทุน โดยกำหนดเป้าหมายที่ต้องการให้เกิดใน 3 ปี ต้องมีการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพระดับพื้นที่ 50 เขต ที่เชื่อมโยงกับธรรมนูญสุขภาพ กทม. ให้เกิดกระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมในพื้นที่

นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ

นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ธรรมนูญสุขภาพกรุงเทพมหานคร เป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะทำให้เป็นการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมให้ทุกคนมามองเห็นปัญหา เป้าหมาย และสร้างกติการ่วมกัน และเขียนไว้เป็น “ธรรมนูญ” หรือ ข้อตกลงร่วมกัน ว่าจะทำอะไรร่วมกัน อย่างไร 

“เราเชื่อเรื่องกระบวนการมีส่วนร่วม และเชื่อว่าประชาชนมีศักยภาพ คำตอบอยู่ที่พื้นที่ และอาศัยการหนุนเสริมจากภาคส่วนอื่น เช่น วิชาการ ภาครัฐ เพราะในการแก้ปัญหา เราต้องมองทั้งสิ่งที่เขากำลังเผชิญอยู่ และมาตรการ วิธีการที่จะแก้เรื่องนั้น ๆ ซึ่งมีทั้งเชิงวิชาการ มาตรการเชิงสังคม ที่ทุกคนเห็นปัญหาร่วมกัน มีเป้าหมายร่วมกัน และมาตกลงร่วมกันว่าใครจะช่วยทำอะไร” 

นพ.สุเทพ เพชรมาก

Author

Alternative Text
AUTHOR

อรอุษา พรมอ๊อด

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

อภิวรรณ หวังเจริญไพศาล