‘เขตมลพิษต่ำ’ แก้ฝุ่นพิษ กทม. (ภาคสมัครใจ) ทำได้จริง ?

สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ที่เป็นปัญหายาวนาน กระทบการใช้ชีวิต สุขภาพ และเศรษฐกิจมาอย่างต่อเนื่อง ในระหว่างที่รอ พ.ร.บ.อากาศสะอาด เจ้าของบ้านก็มีหน้าที่ต้องคอยปัดฝุ่น แก้ปัญหาด้วยตัวเองกันไปก่อน อย่างโครงการ ‘เขตมลพิษต่ำ’ ในกรุงเทพมหานคร ที่จะลดการปล่อยมลพิษในพื้นที่ด้วยความ ‘สมัครใจ’

The Active ชวนทุกคนมาร่วมทำความรู้จัก และหาคำตอบกับแนวทางแก้ปัญหานี้ ไปพร้อม ๆ กัน

เขตมลพิษต่ำ ช่วยแก้ปัญหาฝุ่นเมืองได้จริงไหม ? เป็นการตั้งคำถามจากวงเสวนา ในงานประกาศเจตนารมณ์ ต่อยอดและขยายพื้นที่โครงการเขตมลพิษต่ำ หรือ Low Emission zone (LEZ) โดย ศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศวอ.) ที่เดินหน้าโครงการเขตมลพิษต่ำ ปี 2 แล้วโครงการนี้จะช่วยลดฝุ่นใน กทม. ได้จริงหรือไม่ ?

เขตมลพิษต่ำ เป็นแนวคิดในการจัดการมลพิษทางอากาศเชิงพื้นที่ ตามความเหมาะสมของพื้นที่นั้น ๆ โดยเฉพาะพื้นที่ที่การจราจรหนาแน่น และมีกิจกรรมที่หลากหลาย ซึ่ง กทม. ได้ เริ่มนำมาใช้กับเขตพื้นที่ชั้นใน ด้วยการควบคุม และ ลดการระบายมลพิษอากาศ ที่มุ่งเน้น ‘มลพิษอากาศจากภาคคมนาคมขนส่งหรือยานพาหนะ’ ที่ผ่านเข้าออกพื้นที่เขตที่ถูกกำหนดให้เป็นเขตมลพิษต่ำ

ถอดบทเรียน ‘ปทุมวันโมเดล’ ทำอะไรถึงสำเร็จ

โครงการนี้ประสบความสำเร็จมาแล้วในระยะแรก หรือที่หลายคนอาจเคยได้ยินชื่อ ‘ปทุมวันโมเดล’ โดยจุดชี้วัดสำคัญ ไพสิฐ พาณิชย์กุล ผอ.ศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศวอ.) บอกว่า มีผู้คนให้ความสนใจอย่างมาก จนเกิดถนนอากาศสะอาดยาว 1.5  กิโลเมตร จากความร่วมมือของสำนักงานเขตปทุมวัน สถานประกอบการภาคเอกชนในพื้นที่ บริเวณตั้งแต่แยกปทุมวัน จนถึงแยกราชประสงค์

ไพสิฐ พาณิชย์กุล ผอ.ศวอ.

ปทุมวันโมเดล ใช้หลักการสำคัญ 5 ด้าน ประกอบด้วย

  1. นโยบายองค์กร

  2. การลดมลพิษอากาศขององค์กรและบุคลากรในองค์กร

  3. การลดมลพิษจากไอเสียรถของซัพพลายเออร์

  4. การลดมลพิษจากไอเสียรถของลูกค้า

  5. การติดตามประเมินและเผยแพร่ข้อมูล
พัชราวดี สุวรรณธาดา หัวหน้ายุทธศาสตร์ ศวอ.

พัชราวดี สุวรรณธาดา หัวหน้ายุทธศาสตร์ ศวอ. เล่าย้อนว่าในช่วงเริ่มทำโครงการ ได้ศึกษาว่าแนวคิดนี้มาจากยุโรป และเห็นประเทศที่นำแนวคิดนี้ไปใช้ เช่น การเก็บค่าทำเนียมผ่านทาง อย่างอังกฤษ ที่เก็บเงินค่าผ่านทางสำหรับการนำรถเข้าพื้นที่  Low Emission zone เพราะกฎหมายเปิดทางให้สามารถทำได้

แต่เมื่อมองกลับมาที่ไทย จะเห็นข้อจำกัดชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นด้านกฎหมาย มีข้อกังวลว่าจะละเมิดสิทธิหรือไม่ ? และการเก็บเงินผู้ปล่อยมลพิษจะทำอย่างไร ? จึงเกิดเป็นการประยุกต์ใช้ ด้วยการวางรูปใหม่ โดยยังคงแนวทางในเรื่อง การแบ่งพื้นที่ เน้นให้แต่ละพื้นที่มองปัญหาของตัวเองว่าเราจะเน้นตรงไหน เรียกได้ว่าเป็นการ พบกันครึ่งทาง ระหว่างคนอยู่ในพื้นที่ เช่น เขตปทุมวัน จะมีกลุ่มผู้ประกอบการที่มองเห็นว่ามลพิษอะไรที่เขาพอจะมีส่วนแก้ไขได้ ก็จะเสนอทำในส่วนนั้น และเริ่มดำเนินการในเขตปทุมวันโดยเปิดรับความร่วมมือ แบบสมัครใจ

“ที่เลือกเป็นปทุมวันโมเดล เมื่อปี 2565 เป็นการเชื้อเชิญแบบสมัครใจ โดยมีผู้ประกอบการทั้งหมดที่อยู่ในเขตปทุมวันว่าใครบ้างที่สนใจอยากร่วม โดยวิธีการของเรา คือ ให้ผู้ประกอบการมาบอกว่าจะมีกิจกรรมอะไรที่สามารถทำได้ในส่วนของตัวเอง เช่น สามย่านมิตรทาวน์มีจุดจอดรถจักรยาน รวมทั้งคนที่อยากเข้ามาร่วม เช่น คนในชุมชน ผู้ใช้บริการ ต้องการทำอะไร กล่าวได้ว่า Low Emission Zone ที่เราทำกับเขตปทุมวัน คือ ไม่ใช่การออกแบบจากทีมงาน แต่เป็นการร่วมทำไปด้วยกัน”

พัชราวดี สุวรรณธาดา

แม้ในพื้นที่โครงการ จะเห็นว่าฝุ่น PM2.5 ลดลงจริง แต่ พัชราวดี ก็ยังไม่อย่างด่วนสรุปว่าเป็นผลมาจากโครงการ Low Emission Zone เพราะมีปัจจัยหลายอย่างที่เข้ามาเกี่ยวข้อง และมีหลายมาตรการที่ร่วมดำเนินการ โดยหลักการ คือ ลดการใช้ยานพาหนะ, เน้นการใช้บริการขนส่งสาธารณะ และการใช้เชื้อเพลิงที่มีคุณภาพดี

นอกจากนี้โครงการยังมีสิ่งที่จูงใจให้ผู้ประกอบการอยากเข้าร่วม คือ มีการให้คะแนน มีรางวัลให้ โดยระยะที่ 2 จะมีกิจกรรมลดมลพิษที่แตกต่างออกไปในแต่ละเขต ยึดตามตามความต้องการของแต่ละพื้นที่ หรือจุดเด่นของเขตนั้น ๆ 

ยกระดับ ‘น้ำมัน และ ยานยนต์’ ตัวการก่อ ‘ฝุ่น’ เขตเมือง

สำหรับผู้รับผิดชอบหลักการแก้ปัญหามลพิษใน กทม. ว่าที่ ร.ต. วิรัช ตันชนะประดิษฐ์ ผอ.กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. ร่วมอธิบายว่า จริง ๆ แล้ว กทม. มีแผนหลักในการแก้ไขปัญหามลพิษ PM2.5 ซึ่งดำเนินการร่วมกับอีก 23 หน่วยงาน อาทิ กรมควบคุมมลพิษ,  กรมการขนส่งทางบก, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นต้น แต่ละหน่วยงาน ทำตามอำนาจหน้าที่ในการรับผิดชอบ และจะมีการถอดบทเรียนทุกปี ซึ่ง Low Emission Zone เป็นหนึ่งในแผนที่ กทม. ดำเนินการ 

ว่าที่ ร.ต. วิรัช ตันชนะประเดิษฐ์ ผอ.กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม กทม.

ว่าที่ ร.ต.วิรัช ยังอ้างถึงผลการศึกษาของหลายสถาบัน ที่ให้ผลรายงานตรงกันว่า ‘กรุงเทพมหานครมีมลพิษหลักที่มาจากการจราจร‘ ประมาณเกินครึ่ง เช่น การศึกษาของ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บอกว่า 57% มาจากจราจร คือ รถยนต์ดีเซล และ ฝุ่นนอกฤดูกาล ทำให้การดำเนินการของ กทม. จะดูแลเรื่องการรักษาความสะอาดถนนหนทาง จนมีการพัฒนาร่วมกับหน่วยงานภายนอก สู่การเป็น Low Emission Zone  ในเขตปทุมวันเป็นเขตแรก

“ได้ร่วมทำกิจกรรมกับทั้งห้างมาบุญครอง จุฬาฯ ภาคเอกชน ภาครัฐ และกิจกรรมหลัก ๆ คือการตรวจสภาพรถ ของหน่วยงานที่เข้ามาในพื้นที่ ตรวจควันดำไม่ให้เกินมาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง นอกจากนี้ยังมีการตรวจวัดคุณภาพอากาศโดย คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ใช้เครื่อง Sensor for All ตลอดเส้นทางที่มีการดำเนินการ และได้มีการประเมินว่าทั้งโครงการมีตัวช่วยอะไรบ้างที่ทำให้ลดฝุ่นได้จริง”

ว่าที่ ร.ต. วิรัช ตันชนะประเดิษฐ์

แต่การจะประเมินว่าโครงการนี้ ลด PM2.5 ได้เท่าไร ว่าที่ ร.ต.วิรัช มองว่าเป็นเรื่องยาก เพราะมีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง แต่ถือว่าโครงการระยะแรก ประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ

พันศักดิ์ ถิรมงคล ผอ.กองจัดการคุณภาพและเสียง กรมควบคุมมลพิษ (คพ.)

อีกหน่วยงานที่ยืนยันอีกเสียงว่าโครงกรเขตมลพิษต่ำได้ประโยชน์ คือ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) โดย พันศักดิ์ ถิรมงคล ผอ.กองจัดการคุณภาพและเสียง กรมควบคุมมลพิษ ซึ่งที่ผ่านมา คพ. มีหน้าที่เสนอแนะนโยบาย ติดตามสถานการณ์ และวิเคราะห์ว่าโครงสร้างของปัญหา คืออะไร ? เพื่อให้รู้สถานการณ์ว่าฝุ่นจะเกิดเมื่อไร ? เกิดนานไหม ? ใครทำให้เกิด ? และจะแก้อย่างไร ? ซึ่งตอนนี้มีมาตรการออกมาเยอะ และ Low Emission Zone  ก็คือส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้อากาศดีขึ้น แต่จะทำอย่างไรให้ต่ำนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะแต่ละพื้นที่มีความต่างกัน มีบริบทที่แตกต่างกัน โดยในเขตเมืองมีกิจกรรมที่ทำให้เกิดฝุ่น คือ การจราจร อุตสาหกรรม ก่อสร้าง แต่จะขอเน้นเรื่องของยานพาหนะ การจราจร ซึ่งปัจจุบันได้มีการบังคับใช้กฎหมายยกระดับมาตรฐานนำมันเป็น ยูโร 5 

“ปี 2567 ในแผนการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ครม. (คณะรัฐมนตรี) เห็นชอบเมื่อปี 2566 เรากำหนดว่าจะต้องใช้น้ำมันสะอาด มาตรฐานยูโร 5 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ตอนนี้ประกาศใช้แล้วครับ คาดหมายว่ารถทุกคันเมื่อใช้น้ำมันสะอาด จะลดการปล่อยฝุ่นละอองไปได้ 20 – 25 %”

พันศักดิ์ ถิรมงคล

นอกจากมาตรฐานน้ำมันแล้ว มาตรฐานรถยนต์ใหม่ก็จำเป็นที่ต้องทำควบคู่ไปด้วย ซึ่งเวลานี้สำนักพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรม (สพอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ออกประกาศมาตรฐานรถยนต์ใหม่ โดยเฉพาะรถเครื่องยนต์ดีเซล รถยนต์เล็ก รวมถึงรถยนต์ใหญ่ ให้ใช้มาตรฐาน ยูโร 5 และเตรียมวางแผนพัฒนาสู่ ยูโร 6 

“ฝุ่นจะลดลงไปมากกว่า 95% ในรถแต่ละคัน แต่ประเด็นคือ ต้องเป็นรถใหม่ เพราะฉะนั้นพวกท่านทั้งหลาย ต้องซื้อรถยนต์ใหม่ที่เป็น ยูโร 5 และนับแต่นี้เป็นต้นไปอยากให้ปฏิญาณว่าจะซื้อรถยูโร 5 เท่านั้น หรือ EV ก็ช่วยได้ แต่ขึ้นอยู่กับกำลังทรัพย์ หลักการของ Low Emission Zone คือ การมีส่วนร่วม ส่วนมาตรฐานน้ำมัน คือ ภาคบังคับ เพราะว่าเรากำหนดมาตรฐานน้ำมัน หรือยังคับผลิตรถยนต์ใหม่ตามมาตรฐาน อาจต้องอาศัยความร่วมมือกับทุกคนที่กำลังเตรียมจะซื้อรถใหม่ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ จะมีผลอย่างมาก จะช่วยให้เกิดความเข้มแข็งในการลดฝุ่น”

พันศักดิ์ ถิรมงคล

ในมุมของเอกชนก็มองไม่ต่างกัน สุธิรา พวงศิริ ฝ่ายบริหารความปลอดภัยความมั่นคงอาชีวอนามัยสิ่งแวดล้อม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) อธิบายว่า การใช้น้ำมันสะอาดมาตรฐานยูโร ต้องแยกระหว่าง ตัวเครื่องยนต์ กับ มาตรฐานน้ำมัน ปัจจุบันไทยใช้ยูโร 5 ยูโร 6 และกำลังร่างแผนสู่ยูโร 7 แต่ต้องย้ำว่ายูโร 5 มีค่ามลพิษที่ต่ำ ซึ่งมีค่ากำมะถันอยู่ที่ 10 : 1,000,000 ส่วน ลดลงมาจากยูโร 4 ที่มีกำมะถัน 50 : 1,000,000 ส่วน ซึ่งลดได้ 4 – 5 เท่า ถ้าเชื่อมโยงกับการปล่อย PM2.5 ก็สามารถลดได้ 20% 

สุธิรา พวงศิริ ฝ่ายบริหารความปลอดภัยความมั่นคงอาชีวอนามัยสิ่งแวดล้อม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

“ต้องบอกว่าการผลิต ยูโร 5 ทาง ปตท. และบริษัทที่เป็นกลุ่มโรงกลั่น ได้ดำเนินการผลิตเพื่อตอบสนองนโยบายภาครัฐ ซึ่งมีการจำหน่ายแล้วที่หน้าปั๊มน้ำมันแล้วตั้งแต่ 1 มกราคม ที่ผ่านมา แม้ว่ากฎหมายไม่บังคับ ปตท. มีแผนที่จะดำเนินการอยู่แล้ว เช่นเดียวกับรถยนต์ที่มีการควบคุมถึง ยูโร 5 ยูโร 6 หากผู้ประกอบการไม่ได้เตรียมตัวมาก่อนหน้านี้ แม้จะกฎหมายหรือมาตรการออกมาเราอาจจะไม่สามารถตอบสนองได้ทันที เพราะเรื่องของการปรับเปลี่นกระบวนการในภาคอุตสาหกรรม มีกระบวนการ มีเงินลงทุน และโดยปกติกระบวนการในการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตครั้งนี้ ใช้เม็ดเงินมากกว่า 20,000 ล้านบาท ในการลงทุนโรงกลั่นน้ำมันทั้ง 3 โรง”

สุธิรา พวงศิริ

แล้วประชาชนจะเติมน้ำมันแพงขึ้นไหม ?

สุธิรา ย้ำว่า ราคาน้ำมันเป็นราคาตามกลไกราคาตลาด สามารถเติมได้ทุกคัน แต่การเกิดฝุ่นพิษ PM2.5 มาจาก 2 ส่วน คือ ประสิทธิภาพของน้ำมันเชื้อเพลิง และการเผาไหม้ของรถยนต์ ดังนั้นการที่จะต้องการลด PM2.5 ตามแนวทางที่มีการวิจัยมาต้องต้องมีองค์ประกอบสำคัญ 2 ส่วน คือประสิทธิภาพเชื้อเพลิง และประสิทธิภาพเครื่องยนต์

“รถที่มีประสิทธิภาพต่ำลงมายังสามารถเติมน้ำมันที่ดีกว่าได้ แต่จะคาดหวังการลด PM2.5 ได้เต็มร้อย อาจจะยังไม่ถึงขั้นนั้น แต่สามารถเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยได้” 

สุธิรา พวงศิริ

รถ EV ลดมลพิษ ในเมือง… แต่สร้างมลพิษจากการผลิตไฟฟ้า

สุธิรา ยังบอกอีกว่า ในระยะยาวธุรกิจต้องปรับตัวสอดรับกับนโยบายประเทศ คือ การสนับสนุนการใช้รถ EV โดยอาศัยองค์ประกอบอื่น ๆ ที่จะทำให้รถ EV สามารถขยายพื้นที่การใช้ได้ กลุ่ม ปตท. ได้พยายามมองการปรับตัวเข้าสู่ รถ EV ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจ EV Value Chain (ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร) หรือจุดชาร์จ ที่ตอนนี้มีในหลายปั๊มน้ำมัน หรือ ห้างสรรพสินค้า ส่วนราชการที่มีการติดตั้งสถานีชาร์จ ที่สนับสนุนการลดมลพิษทางอากาศ และสอดคล้องกับ ลดคาร์บอนไดออกไซด์ของประเทศ

ขณะที่ Low Emission zone ภายในบริษัทสนับสนุนกิจกรรมในหมวด EV เช่น ความร่วมมือกับสยามพารากอนในการติดตั้งสถานีชาร์จ การผลักดันการใช้ EV หรือเพิ่มประสบการณ์การใช้รถ EV ให้กับภาคประชาชนในธุรกิจ บริการมอเตอร์ไซค์ ไฟฟ้า แต่สิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามคือ “มลพิษ ในการผลิตไฟฟ้า นอกเขตกรุงเทพฯ”

“ซึ่งการผลิตไฟ้จากพลังงานสะอาด กำลังอยู่ในระหว่างการหารือ ศึกษาแนวทาง รวมทั้งการคุยกับหน่วยงานผลิตไฟฟ้า เช่น การผลักดันใช้ก๊าซธรรมชาติ ที่มีมลพิษต่ำ หรือสนับสนุนการวิจัยร่วมกันในเรื่องเทคโนโลยีการบำบัด จากกระบวนการของการผลิตไฟฟ้า”  

สุธิรา พวงศิริ

ก้าวต่อไป ‘เขตมลพิษต่ำ เฟส 2’ ขยายพื้นที่ 4 เขต

อย่างไรก็ตาม ว่าที่ ร.ต. วิรัช กทม. บอกว่า ในโครงการเฟส 2 ที่ ศวอ. และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มาร่วม และมีตัวแทนจาก 50 เขต เดินหน้าโครงการ ซึ่งมีการพูดคุยหลายประเด็น เช่น การต่อยอดจากเขตเดิม ขยายไปยังเขตใกล้เคียง และขยายเขตพื้นที่นำร่องออกไปหลาย ๆ เขต ซึ่งคัดเลือกมาได้ 4 เขต ประกอบด้วย เขตคลองสาน, เขตปอมปราบศัตรูพ่าย, เขตบางรัก และ เขตคลองเตย ส่วนปทุมวันได้ขยายเขตถนนปลอดฝุ่นให้ยาวขึ้น 

“ส่วนความเป็นไปได้ที่จะทำให้ กทม. 50 เขต ปลอดฝุ่น อาจจะต้องค่อย ๆ ดำเนินการไป เพราะว่าหลายเขตพื้นที่ยังมีภารกิจจำนวนมาก แต่เบื้องต้นเราใช้การประเมินศักยภาพของเอกชนในพื้นที่ก่อนว่าสามารถที่จะร่วมมือกับเราได้มากแค่ไหน เพราะลำพังภาครัฐส่วนเดียวไม่มีทางสำเร็จ ผมยืนยัน”

ว่าที่ ร.ต.วิรัช ตันชนะประเดิษฐ์

สำหรับหลักเกณฑ์การคัดเลือกพื้นที่เข้าร่วมโครงการฯ ประกอบด้วย

  • รูปแบบทั่วไปของพื้นที่เขตมลพิษต่ำ เช่น เป็นเขตกรุงเทพชั้นในที่มีการจราจร กิจกรรมหลากหลาย และเป็นที่น่าสนใจ

  • เป็นเขตพื้นที่ที่มีเส้นทางคมนาคม ได้แก่ ถนนสายหลัก หรือ คลองสายหลัก ที่มีแนวเส้นทางเข้าออกชัดเจน

  • มีระบบขนส่งมวลชนสาธารณะให้บริการในพื้นที่ เช่น รถไฟฟ้า เรือไฟฟ้า หรือรถโดยสารประจำทางสาธารณะรุ่นใหม่ที่เป็นรถไฟฟ้า เป็นต้น

  • มีสถานีบริการสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า เช่น การชาร์จแบตเตอรี่ไฟฟ้า สำหรับรถยนต์ส่วนบุคคล ทั้งรถส่วนตัว รถเช่าขับเอง หรือรถแท็กซี่

  • สามารถจัดเส้นทางเดินเท้า หรือ เส้นทางรถจักรยาน ให้แก่ประชาชนได้ โดยมีระบบอำนวยความสะดวก ระบบบริการข้อมูลเส้นทางและความปลอดภัย เช่น บริเวณจุดจอดรถจักรยาน จุดบริการข้อมูล

  • มีกลุ่มผู้ประกอบกิจการที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมลดมลพิษอากาศ โดยกิจกรรมของสถานประกอบกิจการขึ้นกับลักษณะของสถานประกอบกิจการนั้น เช่น ศูนย์การค้า โรงแรม โรงพยาบาล สถานศึกษา ศาสนสถาน หน่วยงาน สมาคมหรือองค์กร เป็นต้น

  • เป็นพื้นที่ที่สามารถพิจารณาการจัดเส้นทางหากมีกรณีห้ามรถยนต์เข้ามาในพื้นที่ถนนบางเส้นทางบางช่วงเวลา เช่น ช่วงวิกฤตฝุ่นละออง รวมทั้งสามารถจัดให้มีเส้นทางเลี่ยงให้ผู้ขับขี่รถยนต์ หรือจัดให้มีบริการสาธารณะในการส่งต่อการเดินทาง

  • มีเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเขตฯ เพื่อประสานงานและสนับสนุน การดำเนินกิจกรรม

ทั้งนี้การกำหนดเขตมลพิษต่ำ ก็คือ การจัดการกิจกรรมที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการไม่นำยานพาหนะเข้ามาพื้นที่ ใช้ยานพาหะที่เป็น EV หรือร่วมกันรณรงค์ในการทำจะทำให้รถของผู้ประกอบการเป็นรถที่ปล่อยมลพิษต่ำ โดยใน ช่วงเดินหน้าโครงการ คพ. จะทำหน้าที่ในการสนับสนุนเชิงรุก ตามนโยบายหลัก พร้อมสนับสนุนทั้งเครื่องมือและข้อมูล

“ตอนนี้ร่วมกับ กทม. ในการรายงานข้อมูลแบบเรียลไทม์ ซึ่งต้องบอกว่า กทม. ตรวจเยอะกว่า คพ. เสียอีก คพ. มีจุดตรวจวัดฝุ่นแค่ 12 สถานี เพราะทำภาพรวมทั้งประเทศ”

พันศักดิ์ ถิรมงคล
ดาริน เรืองโรจน์ ผอ.กลุ่มงานการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด

ในมุมของเอกชน ผู้ประกอบการ อย่าง ดาริน เรืองโรจน์ ผอ.กลุ่มงานการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ซึ่งมีห้างสรรพสินค้า ในเครือ เช่น สยามพารากอน สยามดิสฯ สยามเซ็นเตอร์ สยามสแควร์วัน เน้นย้ำทางบริษัทเตรียมตัวเข้าร่วมโครงการต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 และคาดว่าจะต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 โดยที่ผ่านมามีการตรวจวัดในเรื่องค่าควันดำ มอนิเตอร์คุณภาพอากาศทั้งภายในและบริเวณทางเข้าศูนย์การค้า และในเรื่องการจัดระบบกรองปล่องระบายอากาศ และรวมไปถึงการเพิ่มพื้นที่สีเขียว

“ต้องยอมรับว่าพื้นที่ตรงนี้ เขตปทุมวัน ค่อนข้างจำกัด พยายามแปลงพื้นที่ชั้นดาดฟ้าของอาคาร สยามคาร์ปาร์ค เป็นศูนย์เพาะพันธุ์ต้นไม้ ที่เรานำมาปลูกในพื้นที่ นอกจากปลูกในพื้นที่ยังขยายผลไปยัง ซัพพลายเออร์ และลูกค้า รวมทั้งการขอความร่วมมือดับเครื่องยนต์เมื่อจอด การตรวจวัดควันดำให้ หากพบค่าควันดำเ ราอาจจะยังไม่มีอำนาจในการบังคับให้เปลี่ยน แต่อย่างน้อยเป็นเรื่องการแนะนำให้เปลี่ยนได้ นอกจากนี้ยังส่งเสริมทำเรื่องจุดชาร์จ EV ให้กับลูกค้า ส่งเสริมจุดจอด Car Pool Parking ขับรถมา 4 คน จอดได้เลย”

ดาริน เรืองโรจน์
พุทธชาด ศรีนิศากร ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการตลาด บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน)

ไม่ต่างกับ พุทธชาด ศรีนิศากร ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการตลาด บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) ระบุว่า เรื่อง Low Emission Zone ควรให้มีกฎหมายออกมารองรับ โดยสิ่งที่ทางบริษัทจัดการมี 3 ส่วน คือ 1. การจัดการภายในศูนย์การค้า มีระบบปรับอากาศ เพื่อให้ผู้ใช้บริการ ห้างร้าน คู่ค้าได้มีอากาศหายใจซึ่งเป็นไปตามสิทธิของเขา 2. มองเห็นในเรื่องพลังงานสะอาด ทุกที่ในเครือ มีการติดตั้ง Solar Rooftop อาจจtไม่ได้ 100 % แต่ช่วยลดเรื่องของการใช้คาร์บอนลงไปได้ และ 3. ร่วมมือกับภาคีภาครัฐ ในการแสดงออกในการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ

“อากาศสะอาดเป็นพื้นฐานชีวิตของมนุษย์ที่เราต้องมี ทำไมเราต้องมีเลือดไหลออกจมูก ทำไมเราต้อง ใช้สเตียรอยด์เพื่อรักษาอาการแพ้ฝุ่น ตัวเองต้องใช้สเตียรอยด์ในช่วงที่ฝุ่นหนัก ๆ ทุกคนมีสิทธิที่จะมีอากาศในการหายใจ”

พุทธชาด ศรีนิศากร

โดยการเดินหน้าโครงการ ระยะที่ 2 ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อถอดบทเรียน โครงการประเมินผู้ประกอบกิจการต้นแบบผู้มีส่วนร่วมในการลดมลพิษอากาศในพื้นที่เขตปทุมวัน พร้อมจัดทำองค์ความรู้ แนวคิดเขตมลพิษต่ำและการถอดบทเรียนการดำเนินงานในพื้นที่นำร่องเขตปทุมวัน กทม.เพื่อสรุปข้อคิดเห็นและเสนอแนะแนวคิด วิธีการดำเนินงาน รวมทั้งสื่อสารเผยแพร่องค์ความรู้ ขยายผลการดำเนินโครงการฯ ในพื้นที่เขตอื่นของกรุงเทพมหานคร นอกจากความร่วมมือแล้ว ยังมีการจัดกิจกรรม Care Air และกิจกรรมอื่น ๆ ตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ต่อไป

สภาลมหายใจสร้างเครือข่ายแก้ฝุ่นเมือง

สิ่งที่เกิดขึ้นกับโครงการฯ เป็นบทสะท้อนชัดเจนว่า การแก้ปัญหาฝุ่นควันต้องร่วมมือกันทำซึ่ง วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ประธานสภาลมหายใจกรุงเทพฯ มองว่า ทุกคนต่างเห็นเป้าหมายเดียวกัน คือการที่เรา “อยากมีอากาศสะอาด” ซึ่งการแก้ปัญหามลพิษ ไม่สามารถทำได้แค่เฉพาะพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง เพราะฝุ่นลอยไปได้ทุกที่ ต้องทำร่วมกัน สภาลมหายใจฯ ต้องไม่ลืมพื้นที่ประเทศไทย และต้องไม่ลืมพื้นที่ในภูมิภาค กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม เกี่ยวข้องด้วย

ดังนั้นสภาลมหายใจฯ จึงประกอบไปด้วย 4 อย่าง คือ ความรู้ จากนักวิชาการ ความกล้า จะมีความหมายก็ต่อเมื่อมีภาคส่วนอื่น ๆ มาร่วม และหนุนให้กลุ่มที่เกี่ยวข้องกล้าที่จะลุกขึ้นมาทำอะไร สภาลมหายใจเป็นเหมือนตัวเชื่อมที่ทำให้มีความกล้ามากขึ้น ความต่อเนื่อง เพราะฝุ่นที่ไหลไปมาตามอากาศ บ้างก็มาตามฤดูกาล บ้างก็ไม่มาตามฤดูกาล เช่น ควันท่อไอเสีย ควันจากปล่อง แต่การเผามาตามฤดูกาล จำเป็นต้องมีความต่อเนื่องในการดำเนินการ และ การยอมรับและเข้าใจในข้อจำกัดของกันและกัน ถ้าเราเข้าใจเรื่องเหล่านี้ จะทำให้เราสามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุด แก้ปัญหาที่ผิดจุด

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ประธานสภาลมหายใจกรุงเทพฯ

โดยภายหลังการก่อตั้งสภาลมหลายใจกรุงเทพฯ ได้เริ่มมีการหารือแนวทางในการแก้ปัญหาฝุ่น ที่มองว่าการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ ไม่สามารถแก้ได้เฉพาะพื้นที่ สภาลมหายใน กทม. จึงจำเป็นต้องสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังและแก้ปัญหาในพื้นที่รอบกรุงเทพฯ ด้วยเช่นกัน

ถึงตรงนี้การขับเคลื่อนโครงการ เขตมลพิษต่ำ เรียกว่าเดินหน้าแก้ปัญหาภาคสมัครใจ จากการขอความร่วมมือภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง คู่ขนานไปกับการแก้ปัญหาในทางกฎหมาย จากร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. …. รวม 7 ร่าง ที่มีทั้งจากรัฐบาล ฝ่ายค้าน และภาคประชาชน ซึ่งผ่านสภาฯ เข้าไปสู่การพิจารณาของคณะกรรมาธิการฯ

คาดว่าจะต้องใช้ระยะเวลาพิจารณานานพอสมควร เพื่อให้ได้กฎหมายสำหรับการบังคับใช้ที่ครอบคลุมและประชาชนได้รับประโยชน์สูงที่สุด

Author

Alternative Text
AUTHOR

อรอุษา พรมอ๊อด

Alternative Text
AUTHOR

อภิวรรณ หวังเจริญไพศาล