เปราะบาง ล่องหน: ความไร้ตัวตนของแรงงานข้ามชาติในโควิด-19

คนทำงานบ้าน

คนรับรถ

คนล้างรถ

คนขายของหน้าร้าน

พนักงานเสิร์ฟ

หรือแรงงานรับจ้างทั่วไป… พวกเขา คือ แรงงานเพื่อนบ้านที่ทำงานใกล้ชิดผู้คนในเมืองใหญ่

พวกเขาเดินทางเข้ามาแสวงหาโอกาส หารายได้ในประเทศไทย ด้วยหวังว่านโยบายการจ้างงานและสภาพเศรษฐกิจที่นี่ จะช่วยนำพาให้คุณภาพชีวิตของตัวเองและคนข้างหลังดีขึ้น

เช่นเดียวกัน… มีคนไทยมากกว่า 1.12 แสนคน เดินทางไปทำงานต่างแดน แสวงหาโอกาส หวังเก็บเงินก้อนโตกลับบ้าน ยกระดับคุณภาพชีวิต ไม่ต่างกัน

แล้วเรามองเห็นแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านในมุมไหนได้บ้าง?

“แรงงานข้ามชาติ” คือ ความกังวลใจของทีมควบคุมโรคโควิด-19 ตั้งแต่การระบาดระลอกสอง ที่ จ.สมุทรสาคร ในฐานะกลุ่มประชากรจำนวนมากที่กระจายตัวทำงานและอาศัยในประเทศไทย ทั้งถูกและผิดกฎหมาย

นักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข คาดการณ์ว่า การระบาดโควิด-19 ระลอกสามในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ตั้งแต่เดือนเมษายนกำลังทรงตัว กดตัวเลขต่ำกว่าพันคนได้ยาก สถานการณ์ระบาดเรื้อรัง ลุกลามระดับชุมชนมากขึ้น ด้วยปรากฏการณ์ระบาดในกลุ่มคลัสเตอร์ที่มีแรงงานข้ามชาติเป็นตัวละครร่วม

หากย้อนกลับไปที่การระบาดของโควิด-19 ระลอกแรก “ตัวละคร” นี้อาจไม่ปรากฏให้เห็นชัดมากนัก เพราะการระบาดยังอยู่ใน “คลัสเตอร์ใหญ่” เป็นเชื้อนำเข้าจากต่างประเทศ และระบาดในกลุ่มคนทำงานภาคการท่องเที่ยว

แต่การระบาดในระลอกสองและสาม ภาพของ “แรงงานข้ามชาติ” ปรากฏชัดขึ้น หลายคนคุ้นชินกับความเป็นคน “ต่างด้าว” ทั้งในความหมายการนิยามตามแบบรัฐราชการ และนัยของความเป็นอื่น จาก “alien” หรือ คนที่มาจากดาวดวงอื่น แม้ระยะหลังรัฐราชการจะใช้คำว่า “foreign workers” มาแทนที่ เพื่อครอบคลุมคนต่างชาติกลุ่มอื่น ๆ ขณะที่ภาษาในทางวิชาการหรือองค์กรพัฒนาเอกชน มักใช้คำว่า “migrant workers”

การหลุดรอดจากพรมแดนในรอบการระบาดเดือนธันวาคม 2563 ปนเปกับจุดเริ่มต้นใหม่ของการระบาดในค่ำคืนที่ชนชั้นกลางระดับ high-class กำลังท่องราตรีเมื่อเดือนเมษายน 2564 ได้นำมาสู่ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่พุ่งทะยานขึ้นสูง ทุบทุกสถิติ ทั้งผู้ติดเชื้อรายวัน คนป่วยหนัก และผู้เสียชีวิต สิ่งเหล่านี้ได้นำให้ประเทศไทยไต่อันดับภาพรวมของการติดเชื้อให้สูงขึ้น สวนทางกับหลายประเทศที่ผู้ติดเชื้อเริ่มคงที่และมีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ

เข้าเดือนที่สามของการระบาดรอบล่าสุด โควิด-19 ทำให้เห็นคนเปราะบางในเมืองใหญ่ ที่ตกหล่นจากระบบควบคุมโรคได้ชัดขึ้น ความเป็นคนอื่น อาจทำให้โลกของ แรงงานข้ามชาติ ไม่เท่ากับเรา แต่…โรคของเขาเท่ากับของเรา อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

The Active ชวนมองให้เห็นตัวตนของหนึ่งในกลุ่มคนเปราะบาง ในสถานการณ์โรคระบาดอย่าง “แรงงานข้ามชาติ”


คนเปราะบางคือใคร ในสถานการณ์โควิด-19

หากนับ “คนเปราะบาง” ตามนิยามของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย จากระบบฐานข้อมูล TPMAP (Thai People Map and Analytics Platform) ประเทศไทยมีคนเปราะบาง 10,754,205 คน ใน 76 จังหวัด (ไม่รวมกรุงเทพมหานคร) คำนิยามนี้ครอบคลุมเด็กยากจน คนพิการและผู้สูงอายุที่ไม่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐ ผู้ป่วยเรื้อรังที่ดูแลตัวเองไม่ได้ และผู้ที่ไม่มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย

ส่วนคนเปราะบางในกรุงเทพฯ จากระบบฐานข้อมูลสวัสดิการสังคม (e-Social Welfare) เพื่อรับเงินเยียวยาโควิด-19 พบว่ามี 948,054 คน กระจายอยู่ใน 3 กลุ่ม คือ 1. เด็กที่ได้รับเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด 2. ผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และ 3. คนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการ

แต่หากดูคำนิยามของ “คนเปราะบาง” โดย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) “ประชากรกลุ่มเปราะบางด้านสุขภาพในบริบทของประเทศไทย” จะพบว่ามีความหมายที่ครอบคลุมมากกว่าที่ฐานข้อมูลภาครัฐจะเข้าถึงได้

สิ่งที่ค้นพบจากงานวิจัยภายใต้โครงการ “ศึกษาแนวคิดและแนวทางปฏิบัติเพื่อตอบสนองต่อความต้องการด้านสุขภาพของประชากรกลุ่มเปราะบางด้านสุขภาพในระดับพื้นที่ของประเทศไทย” เมื่อปี 2560 ระบุว่า คนเปราะบางในมิตินี้ คือ ผู้ที่มีคุณสมบัติอย่างน้อย 2 ใน 3 ข้อ คือ 1) ประชากรชายขอบซึ่งอาจถูกตีตราหรือถูกเลือกปฏิบัติจากสังคม 2) ประชากรซึ่งมีความต้องการทางด้านสุขภาพแต่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ และ 3) ประชากรซึ่งมีความเสี่ยงต่อการถูกทอดทิ้งหรือการถูกกระทำทารุณหากไม่ได้รับการตอบสนองความต้องการด้านสุขภาพในระยะยาว

หนึ่งในนั้น คือ แรงงานข้ามชาติ ที่นอกจากเปราะบาง ยังไม่ถูกมองเห็น


แรงงานข้ามชาติ อยู่ในทุกคลัสเตอร์ระบาดหลักของ กทม.

เมื่อย้อนดูสถานการณ์การติดเชื้อในกลุ่ม “แรงงานข้ามชาติ” ในกรุงเทพมหานคร จะเห็นว่า นับตั้งแต่ 1 เม.ย. เป็นต้นมา มีแรงงานข้ามชาติติดเชื้อ 10,157 คน จากผู้ติดเชื้อทั้งหมด 54,110 คน คิดเป็น 18.78% และพบว่าในคลัสเตอร์เฝ้าระวังสูงสุดทั้ง 66 แห่ง สามารถแบ่งคลัสเตอร์หลักได้ 4 กลุ่ม คือ ชุมชนแออัด ตลาด/ศูนย์การค้า แคมป์คนงาน และโรงงาน/ที่ทำงาน

จะเห็นได้ว่า แรงงานเหล่านี้ ใช้ชีวิตอยู่ในทั้ง 4 กลุ่มคลัสเตอร์เฝ้าระวังสูงสุด พวกเขาอยู่ในชุมชนเช่าขนาดใหญ่และชุมชนแออัดหลายแห่งในเมือง มีไม่น้อยที่เป็นแรงงานก่อสร้าง อาศัยแคมป์คนงานเป็นทั้งที่พักและที่ทำงานหารายได้

ความสัมพันธ์แบบนี้ ยังพบได้ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่อาศัยพื้นที่ตลาดหรือศูนย์การค้าเป็น แหล่งหากิน ทั้ง หากิน ในความหมายแบบเคี้ยวกลืนให้อิ่มท้อง หรือ หากิน ที่หมายถึงแหล่งรายได้เลี้ยงปากท้องด้วย

เช่นเดียวกันกับคลัสเตอร์โรงงาน ที่มีพวกเขาทำงานกลมกลืนอยู่กับแรงงานไทย อย่างแยกไม่ออก


แรงงานข้ามชาติ คนล่องหนที่เราพึ่งพิง

จริงอยู่…ว่าแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้ ใช้แรงแลกเงิน ไม่ต่างจากแรงงานไทย พวกเขาปะปนอยู่กับคนในเมืองเพื่อทำอาชีพที่ได้รับอนุญาต บางส่วน หาช่องทางและโอกาสทำมาหากินผ่านการเช่าช่วง ขยับฐานะจากลูกจ้าง กลายเป็นเจ้าของกิจการ เช่น ค้าขายเล็ก ๆ น้อย ๆ

การเป็นแรงงานอพยพเข้าสู่ประเทศไทยนั้น มาจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ ปัจจัยที่เป็นแรงผลักดัน อย่าง ปัญหาการว่างงาน ความยากจน ความไม่สงบทางการเมือง ความด้อยโอกาสทางการศึกษา และ ปัจจัยที่เป็นแรงดึงดูด อย่างนโยบายการว่าจ้างแรงงาน ระบบการศึกษา และสภาพทางเศรษฐกิจของประเทศไทย

นอกจากนี้ ยังมีเหตุผลที่แรงงานไทยไม่นิยมทำงานหนักและเสี่ยงอันตราย ทำให้แรงงานข้ามชาติ ซึ่งมีค่าแรงที่ถูกกว่า ขยัน และอดทนสูงกว่า เข้ามาแทนที่ โดยเฉพาะในกิจการที่มีลักษณะพิเศษในงาน 3 ประเภท คือ สกปรก ยากลำบาก และอันตราย (3D Jobs – Dirty, Dangerous and Difficult)

ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวปี 2563 กำหนดให้พวกเขาทำงานได้ 3 แบบ รวม 12 อาชีพ หากพวกเขาเลือกเป็น กรรมกร (คนงานหรือลูกจ้างที่ใช้แรงงานทั่วไป ในที่นี้ รวมถึงลูกจ้างขายของหน้าร้านด้วย) พวกเขาทำงานได้เฉพาะกรณีมีนายจ้างและได้รับอนุญาตให้เขามาในประเทศไทย ตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ภายใต้ MOU 

แต่หากจะทำอาชีพด้าน กสิกรรม ทำที่นอน ทำรองเท้า ประดิษฐ์เครื่องแต่งกาย งานก่อสร้างอื่น ๆ ทำมีด ทำหมวก งานปั้นดินเผา มีเงื่อนไขว่าต้องเป็นลูกจ้างและในงานที่ขาดแคลนแรงงานเท่านั้น โดยไม่กระทบต่อโอกาสการมีงานทำของคนไทย

ส่วนงานด้าน บัญชี วิศวกรรมโยธา และสถาปัตยกรรม การจ้างงานเป็นไปตามข้อตกลงระหว่างประเทศอาเซียน ซึ่งคนต่างชาติต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพตามกฎหมายไทยก่อนขอรับใบอนุญาตทำงาน

นี่ทำให้เห็นว่าแรงงานข้ามชาติถูกกฎหมาย จำนวน 2.3 ล้านคนในปี 2564 กระจายอยู่ทั่วประเทศ ทำอาชีพหลากหลาย ใกล้ชิด พึ่งพากันและกัน

ยังไม่นับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ที่ไทยอาศัยศักยภาพของแรงงานข้ามชาติ หากคำนวณจาก “ตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิตใน 180 สาขาเศรษฐกิจประจำปี 2558” ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) โดยใช้ “สัดส่วนแรงงานข้ามชาติต่อกำลังแรงงานรวมของไทย” นั้นพบว่าพวกเขาร่วมสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่าปีละ 4 แสนล้านบาท


ปัญหาของแรงงานข้ามชาติในสถานการณ์ระบาด

นอกจากปัญหาสภาพความเป็นอยู่ อาชีพ และความจำเป็นในการเคลื่อนย้ายที่อยู่ ทำให้ “แรงงานข้ามชาติ” ไม่สามารถทำมาตรการป้องกันโควิด DMHTT ดังที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำ ได้เพียงพอ (D : Distancing คือ เว้นระยะห่างระหว่างกัน M : Mask Wearing คือ สวมหน้ากากผ้า/หน้ากากอนามัยตลอดเวลา H : Hand Washing คือ ล้างมือบ่อย ๆ T : Testing คือ ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายก่อนเข้างาน T : Thai Cha Na คือ เช็กอินผ่านแอปพลิเคชัน “ไทยชนะ” ทุกครั้ง เมื่อเข้าไปในสถานที่ต่าง ๆ)

การเข้าไม่ถึงการตรวจเชื้อ รักษา และการฉีดวัคซีน คือ สิ่งที่เกิดขึ้นจริงและเป็นปัญหาของแรงงานข้ามชาติในสถานการณ์โควิด-19 แม้หลายครั้งภาครัฐย้ำว่า สิทธิทางสุขภาพและสาธารณสุข ครอบคลุมทุกคนบนแผ่นดินไทย แต่นั่นเป็นการให้คำมั่นในทางนโยบาย

สิ่งที่เกิดขึ้นจริง หรือในทางปฏิบัติกลับพบว่ามีข้อจำกัดไม่น้อย และปฏิเสธไม่ได้ว่าพวกเขาอาจไม่ได้ถูกนับอยู่ในชนชั้นใดชนชั้นหนึ่งของเมืองด้วยซ้ำไป

ยกตัวอย่าง การควบคุมโรคในพื้นที่ระบาดคลัสเตอร์คลองเตย กลุ่มแรงงานข้ามชาติที่อาศัยในชุมชนรอบตลาดคลองเตย จะสามารถเข้าถึงการตรวจเชื้อเชิงรุกได้ แม้จะอยู่ในลำดับท้าย ๆ ของกลุ่มเป้าหมาย แต่หากเป็นพื้นที่อื่น พวกเขาแทบไม่มีช่องทางในการเข้าตรวจหาเชื้อ แม้เป็นกลุ่มเสี่ยงตามคำนิยามของการควบคุมโรค

หรือในมิติของการรักษา ที่มีการยืนยันจาก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ว่าการรักษาโควิด-19 ฟรี ครอบคลุมกลุ่มแรงงานข้ามชาติด้วย หากพวกเขาทำประกันสังคมจะได้รับสิทธินั้นอย่างไม่มีเงื่อนไข

แต่หากซื้อเพียงประกันสุขภาพ กลับพบว่า หลายกรณีที่ค่ารักษาเกินวงเงินประกัน (ส่วนใหญ่พบในโรงพยาบาลเอกชน) ทางเลือกแบบราคาถูกที่สุด กลับไม่ถูกนำเสนอเป็นให้แรงงานได้เลือก หากพวกเขาดูเหมือนเป็นแรงงานที่มีศักยภาพในการจ่ายส่วนต่างได้

สิ่งเหล่านี้เป็นช่องว่างของการเข้าถึงสิทธิ เพราะข้อจำกัดเรื่องภาษาและทัศนคติ ว่า “ไม่รู้อะไร”

ส่วนโอกาสที่จะได้รับการฉีดวัคซีน เป็นปัญหาเช่นเดียวกับการตรวจหาเชื้อ คือ ในระยะแรกนี้ จะเห็นว่ามีแรงงานข้ามชาติที่เข้าถึงการฉีดวัคซีนฟรี เฉพาะในพื้นที่คลัสเตอร์ระบาดหนัก เท่านั้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจากกรณีฉีดวัคซีนในแรงงานข้ามชาติในตลาดคลองเตย กลับพบ “ความกังวล” ของภาคเอกชนและสาธารณสุข ว่าจะเกิดการตั้งคำถาม “ทำไมแรงงานข้ามชาติจึงได้ฉีดวัคซีนก่อน” ในขณะที่การจัดสรรวัคซีนให้กับกลุ่มเป้าหมายอื่นยังขาดช่วงและขาดแคลน ได้นำมาสู่การปกปิดไม่ให้ภายนอกรับรู้เหตุผลในการใช้วัคซีนช่วยคุมโรคระบาดในกลุ่มแรงงานข้ามชาติในเมือง

ปัญหาเหล่านี้ ยังเป็นปัญหาร่วมของคนไร้สัญชาติ คนไร้บ้าน รวมถึงคนเปราะบางกลุ่มอื่น ๆ ด้วย ยิ่งหากเป็นแรงงานผิดกฎหมาย ปัญหายิ่งมากกว่าหลายเท่า


ผลกระทบ หากไม่ให้ความสำคัญ “แรงงานข้ามชาติ”

ข้อมูลจาก ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 หรือ ศ​บค. แถลงทุกวันในช่วง 2 เดือนนี้ว่า กรุงเทพฯ เป็นแชมป์มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เสียชีวิตมากที่สุด มีผู้ป่วยล้นเตียงและมีอาการหนัก ใส่เครื่องช่วยหายใจมากที่สุด ซึ่งจำนวนนับดังกล่าวไม่ได้แยกสัญชาติ ว่าเป็นคนไทย หรือ “แรงงานข้ามชาติ”

“ผล” ดังกล่าวมาจาก “เหตุ” ที่ว่า ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีกลุ่มคนเปราะบางทางสังคมและสุขภาพ ซึ่งรวมถึง “แรงงานข้ามชาติ” จำนวนมาก เข้าไม่ถึงการตรวจคัดกรองเชิงรุก ทำให้ไม่รู้ “สถานะ” ว่าเขากำลังติดเชื้อหรือเป็นผู้ป่วย เมื่อไม่ทราบสถานะ จึงนำไปสู่ปัญหาใหญ่ตามมา คือ ไม่สามารถแยก “ผู้ติดเชื้อ” และ “ผู้ป่วย” ออกจากกลุ่มผู้สัมผัสที่มีความเสี่ยงสูงเพื่อให้กลุ่มแรกถูกรักษาทันท่วงที และกลุ่มหลังได้กักกันตัวเองจนพ้นระยะเวลาแพร่เชื้อ

สองปัจจัย คือ การเข้าไม่ถึงการตรวจเชื้อเพื่อทราบสถานะผู้ติดเชื้อ และการไม่สามารถแยกตัวเพื่อกักกันไม่ให้แพร่เชื้อ เป็นสาเหตุให้เกิดการลุกลามแพร่เชื้อในวงกว้าง เมื่อติดตามเคส “ผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ” ไม่ได้ จึงควบคุมโรคยากลำบากขึ้น

ปรากฏการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นใน “ชุมชนคลองเตย” ซึ่งมีประชากรในฐานข้อมูลของสำนักงานบริหารทะเบียนราษฎร ของกระทรวงมหาดไทย ประมาณกว่า 70,000 คน แต่เมื่อรวมประชากรแฝงที่ครอบคลุมแรงงานต่างจังหวัดและ “แรงงานข้ามชาติ” ทำให้คาดการณ์ว่ามีจำนวนประชากรมากกว่าแสนคน และแม้ว่ากรุงเทพมหานคร ซึ่งบริหารจัดการสถานการณ์โควิด โดย ศบค. กรุงเทพฯ มีเป้าหมายการตรวจเชื้อเชิงรุกประชาชน 5,000 คน เพื่อนำผู้ป่วยผู้ติดเชื้อแยกตัวออกมาที่โรงพยาบาลสนาม ฉีดวัคซีนให้ชุมชนคลองเตย 50,000 คน นับเป็น 70% ของจำนวนประชากรที่รวมประชากรแฝง ทั้งปิดตลาดคลองเตย 14 วันจะพ้นระยะแพร่โรค

ด้วยมาตรการควบคุมโรคทั้งหมดที่มีอยู่ ได้ระดมใช้จนหมดแล้ว ก็ยังพบว่า มี “คนติดเชื้อซ้ำ” “มีคนที่ฉีดวัคซีนแล้วติดเชื้อ” เนื่องจากในชุมชนยังมีผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการปะปนอยู่ ทุกคนยังใช้อากาศเดียวกันในการหายใจร่วมกัน และมีผู้ป่วยตกค้างอยู่ในชุมชน ซึ่งตัวแทนจาก สปสช. ยอมรับว่า การส่งต่อ “แรงงานข้ามชาติ” และ “ผู้ป่วยติดเตียง” เข้าสู่ระบบการรักษาพยาบาล หรือโรงพยาบาลสนาม เป็นเรื่องยากที่สุด ขณะนี้

และหากต้นทางของปัญหายังวนเวียนไม่จบ ไม่สามารถควบคุมโควิด-19 ที่ระบาดในพื้นที่ชุมชนแออัด ที่มี “แรงงานข้ามชาติ” อาศัยและทำมาหากินในมหานครให้สงบได้ โรคที่ระบาดในมหานครก็ไม่มีทางสงบ และวัคซีนที่มีอยู่อย่างจำกัด แม้เทหมดหน้าตักให้คนกรุงเทพฯ แล้วก็อาจไม่ได้ “ผลตามที่คาดหมายไว้” ถ้ารัฐยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับ “แรงงานข้ามชาติ”


ต้นทุนที่ “พวกเขา” – “แรงงานข้ามชาติ” จ่ายเพื่อหากินในไทย

หลายครั้ง เมื่อมีเสียงเรียกร้องขององค์กรพัฒนาเอกชน ให้รัฐมีมาตรการดูแลและคุ้มครองสิทธิของแรงงานข้ามชาติ มักถูกตั้งคำถามจากสังคมว่า ทำไมต้องดูแลพวกเขา ในขณะที่พลเมืองไทยยังมีความเหลื่อมล้ำและเข้าไม่ถึงสิทธิด้านต่าง ๆ อยู่

ข้อมูลหนึ่ง ที่อาจจำกัดการรับรู้อยู่เพียงกลุ่มนายจ้างหรือในระบบเศรษฐกิจที่พึ่งพาแรงงานข้ามชาติ เพราะต้องเป็นผู้ร่วมจ่าย ก็คือต้นทุนที่พวกเขามอบให้กับรัฐ ไม่ใช่แค่การใช้แรงกายแลกกับการพัฒนาประเทศเท่านั้น

หากเป็นแรงงานข้ามชาติในกิจการทั่วไป พวกเขาต้องจ่ายค่าใบอนุญาตทำงาน หรือ Work permit ปีละ 1,900 บาท จ่ายเงินซื้อประกันสุขภาพ 3,200 บาท (มีอายุ 2 ปี) และหากเข้าสู่ระบบประกันสังคม พวกเขาต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือน โดยคำนวณจากค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับในอัตราร้อยละ 5 ซึ่งฐานค่าจ้างที่จะนำมาคำนวณต่ำสุด คือ เดือนละ 1,650 บาท และสูงสุดไม่เกินเดือนละ 15,000 บาท เท่ากับว่า พวกเขาต้องจ่ายเงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 83 บาท และไม่เกินเดือนละ 750 บาท หรือปีละ 996 – 9,000 บาท

ทั้งนี้ ในส่วนมาตรการบรรเทาผลกระทบช่วงโควิด-19 ระลอกสามนั้น คณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อ 18 พ.ค. 2564 ให้ลดเงินสมทบเหลือร้อยละ 2.5 เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่ มิ.ย. – ส.ค. 2564 เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนแก่นายจ้างและผู้ประกันตน ตามที่ คณะกรรมการประกันสังคม เสนอ

นอกจากนี้ ยังมีค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมในการต่ออายุ VISA รวมแล้ว 1,900 บาท สำหรับขออยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ก่อนขออนุญาตทำงาน

นั่นเท่ากับว่า มีต้นทุนที่แรงงานข้ามชาติต้องจ่ายรายปี เพื่อแลกกับการอนุญาตทำงานในประเทศไทย คนละเกือบ 20,000 บาท เมื่อนำมาคำนวณรวมกับสถิติแรงงานข้ามชาติที่ได้รับอนุญาตทำงานในราชอาณาจักรไทยกว่า 2 ล้านคน อาจมีตัวเลขรวมถึงหลักหมื่นล้านบาทต่อปี

ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมาเป็นรายครั้ง โดยเฉพาะในช่วงการระบาดของโควิด-19 คือ ค่าตรวจโรค 1,000 บาท ค่าตรวจโควิด-19 2,300 บาท และค่าบัตรสีชมพู 80 บาท และหากเป็นแรงงานประมงจะต้องเสียค่าตรวจโรคเพิ่มอีก 100 บาท และหนังสือคนประจำเรือ (Seaman Book) 100 บาท


รัฐมีข้อเสนอเพื่อควบคุมโรคใน “แรงงานข้ามชาติ” หรือไม่?

นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ (สวส.) ได้นำเสนอ “มาตรการควบคุมโรคในประชาชนกลุ่มเปราะบางทางสังคม รวมทั้งแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมาย ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล” ในที่ประชุม “ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข (EOC)” กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธาณสุข เมื่อวันที่ 10 มิถุนายนที่ผ่านมา และเตรียมเสนอในที่ประชุม ศบค. กรุงเทพฯ และปริมณฑล หากข้อเสนอใดเกินอำนาจการจัดการในพื้นที่จะนำเสนอต่อ ศบค.ระดับชาติ ตามลำดับ

“ข้อเสนอ” เพื่อแก้ปัญหาสำหรับ “แรงงานข้ามชาติ” แบ่งเป็น 2 ด้านสำคัญ คือ มาตรการทางสาธารณสุขและมาตรการทางสังคม โดยมีผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน และเงื่อนไขเวลาคือ “เร็วที่สุด”

มาตรการทางสาธารณสุข

  • ให้ดำเนินการตรวจคัดกรองเชิงรุกตามแผนควบคุมโรคของทางกรุงเทพฯ และกระทรวงสาธารณสุขใน “พื้นที่เสี่ยงต่าง ๆ” โดยให้ครอบคลุมถึงกลุ่มแรงงามข้ามชาติทั้งที่ถูกและผิดกฎหมายด้วย
  • เสนอให้กรุงเทพมหานคร โดย สำนักงานเขต สำนักอนามัย สำนักการแพทย์ และ สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และภาคประชาสังคม ที่กำลังติดตามสอบสวนโรคขอให้ครอบคลุมกลุ่ม “แรงงานข้ามชาติ” ด้วย โดยแจ้งผลการตรวจคัดกรองให้ผู้เกี่ยวข้องและเจ้าตัวรู้โดยเร็ว และนำเข้าสู่ระบบการรักษาให้รวดเร็วมากขึ้น
  • เสนอให้ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงแรงงานร่วมกันสำรวจจำนวน “แรงงานข้ามชาติ” และวางแผนการฉีดวัคซีนให้ทั่วถึงโดยเร็ว

มาตรการทางสังคม

  • ให้ความช่วยเหลือเรื่องอาหาร โดยจัดระบบการให้บริการที่ปลอดภัย เพื่อลดการเคลื่อนย้ายข้ามพื้นที่
  • เสนอให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงแรงงาน ชะลอการบังคับใช้กฎหมายแรงงานและกฎหมายการเข้าเมืองในระยะของการระบาดของโรค 
  • เสนอให้กรุงเทพมหานคร กระทรวง พม. การไฟฟ้า การประปา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยเหลือค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำ ค่าไฟ เพื่อไม่ให้เขาหลุดจากที่พักอาศัยปัจจุบันและลดการเคลื่อนย้ายข้ามพื้นที่ ทั้งนี้ จะต้องมีมาตรการเยียวยาการเสียรายได้แก่บรรดาเจ้าของบ้านเช่าและที่พักของแรงงานข้ามชาติด้วย

นอกจากนั้น ยังมีข้อเสนอขอให้รัฐสนับสนุนภาคเอกชนในการพัฒนาระบบข้อมูล Thai.care เพื่อร่วมติดตามและดูแลผู้ติดเชื้อโควิด 19 ครอบคลุมขั้นตอนตั้งแต่การสอบสวนโรคเพื่อระบุผู้สัมผัสเสี่งสูงที่ครอบคลุม การสนับสนุนผู้สัมผัสเสี่ยงสูงให้กักตัวอยู่ที่บ้าน การติดตามผู้ติดเชื้อ การให้การดูแลเบื้องต้น และประสานงานส่งตัวเคสออกจากชุมชนโดยเร็ว จนถึงการติดตามกลุ่มเป้าหมายการฉีดวัคซีนให้ได้รับการฉีดอย่างทั่วถึง

รวมทั้งมีการกำหนดมาตรฐานกลางของ “รหัสระบุตัวบุคคล” แรงงานต่างด้าวเป็นระบบเดียว ซึ่งกระทรวงแรงงาน เคยทำ “รหัสระบุตัวบุคคล” ในกลุ่มแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายที่จ.สมุทรสาคร จนทำให้เจ้าหน้าที่ควบคุมโรคสามารถติดตามความครอบคลุมในการตรวจเชื้อเชิงรุกและความครบถ้วนของการให้วัคซีน ความสำเร็จดังกล่าว ควรถูกนำมาใช้ที่กรุงเทพมหานคร และพื้นที่อื่น ๆ ด้วย


อ้างอิง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active