‘สวน’ ทำให้หนูเติบโต… ความสุขง่าย ๆ จนอะไรก็ไม่ใช่ปัญหา

ท่ามกลางแสงแดดอุ่น ๆ ยามเย็น ภายใน อุทยานเบญจสิริ หรือ สวนเบญจสิริ ที่โอบล้อมด้วยตึกสูง มีคนเมืองจำนวนมากใช้ที่นี่ ออกกำลังกาย พักผ่อน แต่ทุก ๆ วันเสาร์ กลับมีบรรยากาศที่แปลกตาออกไป…

เสียงเจื้อยแจ้วของเด็ก ๆ ที่มารวมตัวกันอยู่บริเวณ ‘ลานนก’ สถานที่จัดแสดงเปิดหมวกของกลุ่ม Bangkok Street Performer หนึ่งในโปรเจกต์ที่ กทม. ส่งเสริมการใช้พื้นที่สาธารณะทั่วกรุงเทพฯ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ พื้นที่ศิลปะ การแสดง

บรรยากาศแห่งความครื้นเครง สนุกสนาน ปนเปไปกับความชุลมุน เริ่มขึ้นทันทีเมื่อมีการแสดง เด็ก ๆ วิ่งออกไปร่วมแสดงกับพี่ ‘คณะละครใบ้’ พร้อมปลดปล่อยตัวเองผ่านจินตนาการ ความรู้สึก ให้ทำหน้าที่

สร้างพื้นที่เรียนรู้ อยู่กับตัวเองและผู้คนในโลกแห่งความจริง

มาลิสา เลิศรักษ์มงคล ไม่ละสายตาจาก น้องมะลิ วัย 5 ขวบ ที่กำลังเพลิดเพลินร่วมกับเด็กคนอื่น ๆ เธอพาลูกสาวมาที่นี่ ตามคำชักชวนของเพื่อน หวังให้ลูกได้ออกกำลัง ใช้จินตนาการ และก้าวออกมาพบปะกับเพื่อน ๆ รุ่นราวคราวเดียวกัน ซึ่งดูแล้ว น้องมะลิชอบใจไม่น้อยเลยทีเดียว

มาลิสา เลิศรักษ์มงคล และ น้องมะลิ

และหนึ่งในเหตุจูงใจที่ทำให้ มาลิสา ต้องใช้เวลาวันหยุดไปกับกิจกรรมแบบนี้ ก็คงตรงใจกับผู้ปกครองคนอื่น ๆ นั่นคือ กังวลว่าลูกจะติดจอจนเกินไป จนขาดปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ที่สำคัญ คือ เป็นห่วงว่าลูกสาวในวัย 5 ขวบ จะเปรียบเทียบตัวเองกับคนในโลกออนไลน์ นำมาสู่ความเครียดในวัยเด็ก เนื่องจากแนวโน้มภาวะเครียด กดดันในวัยเด็กมีอายุลดลงเรื่อยๆ

“ถ้าได้ดูสื่อต่าง ๆ อาจจะเกิดการเปรียบเทียบตัวเองกับเพื่อน กับคนในโซเชียล ซึ่งมันห่างไกลกับตัวเขามาก และเกิดการกดดันโดยที่ไม่รู้ตัว ซึ่งต่างจากเราเมื่อก่อนที่อาจจะเปรียบกับเพื่อช่วงวัยรุ่น แต่ตอนนี้เด็กลงเรื่อย ๆ ซึ่งไม่ดีแน่ ๆ ก็ต้องเริ่มให้เขาลดความเครียด ออกมาเจอโลก มาเจอสังคม สิ่งแวดล้อม มีกิจกรรมตั้งแต่เด็ก”


มาลิสา  เลิศรักษ์มงคล

‘พื้นที่สร้างสรรค์’ แบบไม่มีค่าใช้จ่าย

พงศกร ธีระพงษ์รามกุล ก็เป็นอีกครอบครัวที่เดินทางมาไกลจากย่านนนทบุรี ตามคำเรียกร้องของลูกสาว หลังประทับใจกับการแสดงของคณะละครใบ้ครั้งก่อนที่มิวเซียมสยาม ซึ่งกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับลูกสาว พ่ออย่างเขาจึงต้องลงทุนขับรถเข้ามาเมืองเพื่อสิ่งนี้

พงศกร ธีระพงษ์รามกุล

เขาย้ำถึงความสำคัญของ พื้นที่สร้างสรรค์ ในยุคของโซเชียลมีเดีย เพราะแทนที่จะทำกิจกรรมอยู่แค่ภายในครอบครัว การพาลูก ๆ ออกมาเปิดหูเปิดตา มาเจอสังคม ซึ่งสังคมเองก็มีส่วนร่วมดูแลเด็ก ๆ เมื่อพวกเขาโตขึ้นก็จะเคารพคนอื่น และเห็นถึงความแตกต่างหลากหลาย แต่ยอมรับว่าในย่านชานเมืองไม่ค่อยมีพื้นที่ลักษณะนี้เท่าที่ควร สิ่งที่ทำได้คือตระเวนพาครอบครัวไปตามคาเฟ่ต่าง ๆ ที่มีกิจกรรม แต่ทั้งหมดนั้นล้วนมี ‘ค่าใช้จ่าย’

“โดยสิทธิพื้นฐานจริง ๆ เด็กก็ควรจะเข้าถึงพื้นที่สร้างเสริมสุขภาวะแบบนี้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เราควรมีพื้นที่แบบนี้กระจายตามจุดต่าง ๆ ของชุมชน กิจกรรมอาจจะให้หลากหลาย สอดคล้องกับความต้องการของเด็ก ๆ ให้เขาได้สัมผัสกับความเป็นเด็กด้วยเอง และเห็นความสามารถของคนอื่นๆ เพื่อเกิดเป็นแรงบันดาล”

พงศกรธีระพงษ์รามกุล

‘สวน’ เป็นอะไรได้บ้าง ?

Bangkok Street Performer เป็นหนึ่งในนโยบายเพื่อส่งเสริมให้พื้นที่สาธารณะกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่แห่งดนตรีและศิลปะการแสดง (Street Show) สร้างการเคลื่อนไหวทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ทาง กทม. จึงเปิดรับสมัครศิลปินและนักแสดง (ทั้งศิลปินเดี่ยวและกลุ่ม) ประเภทเยาวชนและบุคคลทั่วไป เพื่อเล่นดนตรีและเข้าร่วมแสดงในโครงการ

กฤษณ์ สงวนปิยะพันธ์ผู้ร่วมก่อตั้ง Urban Street Bangkok

หนึ่งในนักแสดงที่ได้รับความสนใจจากเด็ก ๆ ไม่น้อย คือชายในชุดเอี๊ยม สวมหมวกหูกวางเรนเดียร์ตามการ์ตูนชื่อดัง หลุยส์ – กฤษณ์ สงวนปิยะพันธ์ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Urban Street Bangkok เล่าถึงการทำงานร่วมกับโปรเจกต์นี้ เกิดขึ้นจากการตั้งคำถามว่า “เมืองของเราควรจะต้องมีพื้นที่สำหรับเด็กๆ และครอบครัวได้ออกมาเสพงานสร้างสรรค์ดีๆ ให้มากขึ้นหรือไม่”

ตรงกับสิ่งที่ ชัชชาติ สิทธิพันธ์ ผู้ว่าฯ กทม. และ ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม. มีนโยบายนำร่องให้พื้นที่ของ กทม.เป็นพื้นที่ของดนตรีและการแสดง จึงเกิดเป็น Bangkok Street performer เปิดพื้นที่ต่าง ๆ ในเมืองให้เป็นพื้นที่เปิดหมวก พื้นที่สร้างสรรค์ แต่คำถามคือพื้นที่สวย ๆ ในเมืองอาจจะไม่เยอะมาก

ขณะที่ กทม. มีกิจกรรม ดนตรีในสวน ซึ่งถือว่าตอบโจทย์ประชาชน แต่โจทย์ต่อไปคือทำอย่างไรให้ครอบครัวเข้าไปมีส่วนร่วมมากขึ้น ซึ่งจากการศึกษาทั่วโลกพบว่าการแสดงที่ไร้ภาษา ทุกคนเข้าถึงได้ เด็กได้จินตนาการ ดังนั้นจะทำอย่างไรที่จะทำให้สวนสาธารณะที่มีอยู่ใน กทม. ได้เปิดโอกาสให้กับนักสร้างสรรค์เข้ามาแสดง แล้วให้เด็ก ๆ ครอบครัว เข้ามาร่วมกิจกรรมกันมากขึ้น จึงเกิดเป็น Happy Garden เปิดสวนนำการแสดง เช่น ละครใบ้, มายากล ทดลองนำร่องในพื้นที่สวนธารณะทุกวันเสาร์

นี่เป็นโปรเจกต์ระยะสั้น เพื่อทดลองกับสวนสาธารณะที่ยังมีระเบียบไม่สามารถจะเปิดหมวกหรือให้ศิลปินมาแสดงความสามารถ เพื่อแลกเปลี่ยนกับรายได้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างปรับระเบียบและทำลองพื้นที่นำร่อง 3-4 เดือน เพื่อพิสูจน์ความตั้งใจของศิลปิน ว่ากำลังทำสิ่งที่เป็นประโยชน์อยู่ โดยมีตัวชี้วัดที่ได้เรียนรู้ร่วมกันทุก ๆ วันเสาร์ ท้ายที่สุดจะมีการวัดผลว่าสุขภาพจิตเป็นอย่างไร ความรู้สึกของประชาชนดีขึ้นจริงไหม

“ภาพที่เห็นน่าจะตอบคำถามว่าเด็กและครอบครัวต้องการพื้นที่แบบนี้แค่ไหน เพราะฉะนั้นสุขภาพจิตมาโดยตรง กับอีกอย่างหนึ่ง คือ ไปถามศิลปินว่าเขามีความสุขหรือเปล่า เพราะฉะนั้นขั้นต่อไปเราจะเปิดสอนให้กับเด็ก ๆ เผื่อวันหนึ่งเขาจะได้มายืนตรงนี้ ได้รับความสุขอีกแบบหนึ่ง คือ ความสุขของการเป็นผู้ให้”

กฤษณ์ สงวนปิยะพันธ์

เขายังมองว่า การส่งเสริมป้องกันสุขภาพจิตไม่ควรทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ เรื่องนี้ควรเป็นหนึ่งในสวัสดิการ ที่คนทั้งประเทศต้องได้รับ โดยเฉพาเด็ก ๆ และครอบครัว ควรจะสามารถออกมาในที่สาธารณะได้เพียงไม่กี่นาที และมีความสุขได้แบบง่าย ๆ โดยมองว่าตอนนี้หลายพื้นที่มีพื้นที่สาธารณะที่ออกแบบมาอย่างดี เหลือแค่นักสร้างสรรค์จะเข้าไปทำอย่างไรกับพื้นที่ได้บ้าง เพื่อส่งคืนความสุขเหล่านี้เป็นสวัสดิการให้กับทุก ๆ คน

เดินหน้าแปลงสวนสาธารณะ เป็นพื้นที่เรียนรู้

ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม.

ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม. บอกกับ The Active ว่า กทม. มีแผนที่จะพัฒนาสวนสาธารณะ และพื้นที่ต่าง ๆ ให้เป็นสถานที่เรียนรู้ และเล่นสนุกของเด็ก ๆ เบื้องต้น 20 แห่ง เช่น สวนเบญจกิติ, สวนรถไฟ, สวนลุมพินี ขณะที่การเล่นดนตรี การแสดงเปิดหมวก ผู้ว่าฯ กทม. ได้ให้นโยบายว่า Soft Power ไม่ใช่แค่การจัดงานครั้งเดียว แต่หัวใจสำคัญคือการสร้างในเกิดวงจรที่เป็นระบบ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการปรับกฎระเบียบบางอย่างเพื่อให้ผู้คนได้มาแสดงศักยภาพ

“จริง ๆ แล้วเรามีสวน และพื้นที่สาธารณะมากมายที่ประชาชนอยากจะมาแสดงความสามารถ หนึ่งในนั้นคือการเปิดหมวกที่ได้ทดลองไปเมื่อปี 66 จะเห็นได้ว่ามีหลายกลุ่ม หลายแขนง ปัจจุบันเราเปิดอยู่ 10 แห่ง มีเด็ก ๆ วัยรุ่นที่สนใจมาสมัครกันค่อนข้างเยอะ เราค่อนข้างเชื่อว่าพื้นที่นี้จะเป็นทั้งพื้นที่สร้างความสุขและแรงบันดาลใจในเวลาเดียวกัน”

ศานนท์ หวังสร้างบุญ

เพราะธรรมชาติทำให้เด็ก ๆ เติบโต ก้าวข้ามความเจ็บปวด

คงไม่ใช่เรื่องใหม่หากจะบอกว่าแนวโน้มความความเครียด ความรุนแรงในเด็กที่อายุน้อยลง ส่วนหนึ่งมาจากการเลี้ยงดู แรงกดดันในระบบการศึกษา ยังไม่นับการเข้าถึงโซเชียลมีเดียที่ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยง

แต่ภาวะเด็กกับ ‘โรคขาดธรรมชาติ Children & Nature-deficit Disorder’ อาจเป็นเรื่องใหม่ของผู้ปกครอง รวมถึงใครหลาย ๆ คน ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก เนื่องจากปัจจุบันเด็ก ๆ มีภาวะของการขาดธรรมชาติในหลายมิติด้วยกัน ทั้งในเรื่องของสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป เกิดมลพิษต่าง ๆ การเลี้ยงดูเด็กของผู้ปกครอง ผู้ดูแลที่ไม่มีเวลาให้กับเด็กอย่างเพียงพอ และการเข้ามาของโลกเสมือนจริง เด็กหลายคนแทนที่จะอยู่กับธรรมชาติในโลกแห่งความเป็นจริง ถูกกระตุ้น ถูกผลักดันให้กลับไปอยู่ในโลกเสมือนจริง ต้องใช้เวลาเกือบทั้งวันเล่นเกมส์ หรือเล่นกับเพื่อนในโลกเสมือนจริง ซึ่งส่งผลให้เด็กเกิดภาวะของการขาดธรรมชาติ

ผลกระทบที่เกิดขึ้น จะทำให้เด็กอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ได้ติดต่อ ไม่ได้เชื่อมโยง ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่ง ไม่ได้รู้จักเรียนรู้ ไม่ได้รู้จักซึมซับ หรือแม้กระทั่งไม่ได้ทำความเข้าใจกับธรรมชาติ กลายเป็นเด็กที่ร่างกายไม่แข็งแรง สมาธิไม่ค่อยดี อยู่กับคนอื่นไม่ค่อยได้ กลายเป็นว่าเราเลี้ยงเด็กที่พัฒนาการปกติให้กลับกลายเป็นเด็กที่มีปัญหาพัฒนาการไป

การกระตุ้นให้เด็กที่อยู่ในภาวะ โรคขาดธรรมชาติ กลับมาเป็นปกตินั้นทำได้ไม่ยาก คือการแก้ปัญหาด้วยการ คืนเด็กกลับสู่ธรรมชาตินั่นเอง ออกไปทำกิจกรรม หรือพาไปเที่ยวสัมผัสธรรมชาติ เช่น สวนสาธารณะ หรือพื้นที่ ๆ มีต้นไม้ ป่าไม้ รวมถึงการเล่นสนุก จนเนื้อตัวเลอะเทอะในกิจกรรมที่เขาสนใจ

ที่สำคัญ คือการที่ครอบครัวได้ออกไปทำกิจกรรมร่วมกัน มีปฏิสัมพันธ์ร่วมกับเด็ก และผู้ปกครองคนอื่น ๆ ยังช่วยให้เด็ก ๆ เข้าใจอารมณ์ ความรู้สึก ความต้องการของตัวเอง และผู้อื่น ผ่านการพูด สัมผัส ได้เรียนรู้ทุกความสมหวัง ผิดหวัง ซึ่งล้วนอยู่ในตัวมนุษย์ เพื่อไม่ให้พวกเขาสูญเสียส่วนนี้ไป และเติบโตอย่างสมวัยก้าวผ่านทุกอย่างไปได้ โดยมีครอบครัวคอยเป็นกำลังใจอยู่เคียงข้าง


“Children & Nature-deficit Disorder เด็กกับโรคขาดธรรมชาติ”

Author

Alternative Text
AUTHOR

รุ่งโรจน์ สมบุญเก่า

หนุ่มหน้ามนต์คนบางเลน สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ชื่นชอบอนิเมะ ทั้งสัตว์บกสัตว์ทะเลล้วนเป็นเพื่อน

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

อภิวรรณ หวังเจริญไพศาล