“คนจนเมือง” ต้องมีที่อยู่มั่นคงในเมือง วิสัยทัศน์ จากผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.

รสนา- วิโรจน์- ศิธา แสดงวิสัยทัศน์ตอบคำถาม เครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ เดินหน้าจัดสรรที่อยู่มั่นคง ดูแลสวัสดิการ การศึกษา จัดหางาน ให้คนจนเมือง

“คนจนเมือง” ถือเป็นกลไกสำคัญช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กับเมืองหลวงแห่งนี้  แต่สุดท้ายราคาที่ดิน ค่าครองชีพที่ถีบตัวสูงขึ้น ทำให้พวกเขาถูกผลักออกไปใช้ชีวิตอยู่นอกเมืองแบบไม่มีทางเลือก

ปัญหาที่เกิดขึ้นถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นคำถาม  ในเวที “ปลุกกรุงเทพฯ เปลี่ยนเมืองใหญ่ เลือกตั้งผู้ว่าฯ 65”  เมื่อวันที่ 16 พ.ค. ที่จัดโดยไทยพีบีเอส  โดย เครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ ได้ตั้งคำถามที่เป็นอีกโจทย์ท้าทายผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ว่ามีแนวคิดหรือนโยบายที่จะจัดหาที่อยู่อาศัยที่มั่นคงให้กับคนจนเมืองอย่างไร

สาธารณสุข กทม.
รสนา โตสิตระกูล

รสนา โตสิตระกูล  ผู้สมัครอิสระ เบอร์ 7 กล่าวว่า คนจนเมืองเป็นคนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ทั้งที่เป็นแรงงานสร้างความร่ำรวยให้กับเมือง แต่รัฐไม่ให้ความสนใจเรื่องความเป็นอยู่ของพวกเขา ยกตัวอย่างเรื่องชุมชนแออัดที่คลองเตยซึ่งเป็นมหากาพย์  พยายามไล่พวกเขาไปหาที่อยู่ใหม่ แต่แก้ไขมา 30 ปีก็ยังเป็นปัญหา ทั้งนี้ รัฐควรยอมให้มีพื้นที่สำหรับประชาชน ที่มีส่วนสร้างเมือง ทำไมรัฐสามารถให้พื้นที่กับนายทุน เจ้าสัว เช่าที่ดิน 50-90 ปี ทำไมไม่สามารถทำให้ประชาชนคนจนเหล่านี้ ถ้าได้เป็นผู้ว่าฯ จะเข้าไปร่วมกับคนจนเมืองเจรจากับเจ้าของพื้นที่ทำให้คนจนเมืองได้มีที่อยู่อาศัย

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่พวกเขายังไม่มีที่อยู่อาศัย กทม. มีหน้าที่ ต้องจัดสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานให้พวกเขา ที่ผ่านมาจะอ้างว่ามีการบุก ทำให้บางพื้นที่ไม่มีน้ำ ไม่มีไฟ ต้องใช้น้ำไฟ แพงว่าที่อื่น  ซึ่งอันนี้ไม่เป็นธรรม กทม. ต้องเข้าไปจัดการเรื่องนี้ รวมไปถึงดูแลการศึกษาของเด็กที่อยู่ในชุมชนเหล่านั้น ซึ่งครอบครัวที่ยากจนมีโอกาสที่เด็กจะหลุดจากระบบการศึกษา  ซึ่งเด็กเยาวชนมีความสำคัญต้องเข้าไปช่วยเหลือ ช่วยให้ได้เรียนฟรีร้อยเปอร์เซ็นต์  รวมทั้งเปิดโอกาสให้ครอบครัวได้มีที่ทำมาหากินและมีเงินกู้ เล็ก ๆ ให้เขาสามารถกู้ยืมเงินไม่ต้องไปเจอหนี้นอกระบบ

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร

ด้าน วิโรจน์ ลักขณาอดิศร  ผู้สมัครเบอร์ 1 จากพรรคก้าวไกล กล่าวว่า  ในต่างประเทศถ้าจะสร้างคอนโดสูง ๆ  จะต้องจัดสรรพื้นที่เพื่อสร้างที่อยู่อาศัย เช่นเดียวกันการจะสร้างอาคารสำนักงานสูง ก็จะต้องจัดพื้นที่สร้างศูนย์อาหารให้คนค้าขาย ให้คนบนตึกได้กินได้ใช้เป็นสิทธิที่จะอยู่ในเมืองนี้ หรือ  Rights to the city  ประเด็นนี้ต้องแก้ที่กติกาข้อบัญญัติที่เกี่ยวกับการสร้างอาคารให้ได้โดยผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก.ในการแก้ข้อบังคับเรื่องการสร้างอาคารสูง จะต้องจัดสรรที่ให้คนจนทั่วไปได้อยู่ในเมือง เพราะทุกวันนี้คนเงินเดือนโตไม่ทันค่าบ้าน ค่าที่ดินที่เพิ่มขึ้น ทำให้ถูกไล่ออกจากเมืองโดยเช้าเข้ามาทำงานในเมือง ตกเย็นก็ออกไปนอกเมือง ค่าเดินทางร้อยสองร้อยบาท  ดังนั้นเราต้องสร้างบ้านให้คนเมือง

ทั้งนี้ เราสามารถสร้างบ้านคนเมืองหนึ่งหมื่นยูนิตให้อยู่ในเมือง โดยเก็บจากภาษีที่ดินนายทุน ให้คนจนเมืองได้อยู่ในเมืองมีรถเมล์ผ่าน พวกเขาต้องมีสิทธิอยู่ในเมือง เพราะทำงานในเมือง ในเมื่อทหารก็ยังมีที่พักสวัสดิการอยู่ ถ.เทอดดำริ ในเมือง  ค่ายทหารมีความจำเป็นอะไรที่อยู่ในเมือง แต่คนจนเหล่านี้มีความจำเป็นต้องทำงานในเมือง นี่เป็นภารกิจที่ผู้ว่าฯ กทม. อาจจะต้องใช้กฎหมายผังเมืองโดยเฉพาะ และอาจจะเป็นหน้าที่ส่วนหนึ่ง ต้องทำงานการเมืองภาพใหญ่ ผลักดันค่ายทหารออกไปนอกเมือง มีพื้นที่สร้างที่อยู่อาศัย สวนสาธารณะให้คนที่อยู่ที่นี่จริง

น.ต. ศิธา ทิวารี

น.ต. ศิธา ทิวารี ผู้สมัครจากพรรคไทยสร้างไทย เบอร์ 11  กล่าวว่า ปัญหาคนไร้บ้านมีความรุนแรงยิ่งกว่าคนที่อยู่ในชุมชนแออัด  ซึ่งทางกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้ไปสำรวจร้อยคนว่าหากมีที่ให้อยู่ มีอาหารให้กินจะไปอยู่หรือไม่ โดยพบว่ามีคนที่อยากไปอยู่แค่สองสามคน ซึ่งเขาไม่ใช่คนอินดี้ แต่คนเราต้องมีทั้งชีวิตและชีวา คนไร้บ้านไม่ได้ต้องการเป็นขอทาน เขาต้องการของาน ไม่ได้อยากขอเงิน อย่างมูลนิธิกระจกเงาที่ทำโครงการ “จ้างวานข้า” เพื่อจ้างงานคนเหล่านี้ ถือเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ภาครัฐต้องนำองค์กรเหล่านี้เข้ามาช่วยเป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำ

ส่วนเรื่องชุมชนแออัด ส่วนตัวเคยไปนอนกับชาวบ้านที่ถูกไฟไหม้คลองเตย ปูผ้ายางนอนใต้ทางด่วนเดือนครึ่ง รับรู้ความรู้สึกของพวกเขา ทำให้เห็นว่าการแก้ปัญหาเป็นการแก้ปัญหาไม่ถูกต้อง ที่ไปไล่รื้อบ้านเขาคนที่จำเป็นต้องเชื่อก็ย้ายไปอยู่ที่ มีนบุรี หนองจอกทั้งที่ต้องทำงานในเมือง   สิ่งที่ไม่มีใครมองเห็นคือพวกเขาเป็นแรงงานที่ไม่มีใครอยากทำ ค่าแรงต่ำ  การแก้ไขสามารถทำได้เช่นคลองเตยที่ดินส่วนใหญ่เป็นของการท่าเรือ ประมาณ 2,000 ไร่ ใช้ประโยชน์ไม่ได้เพราะมีชุมชนแออัด สามารถจัดสรรใหม่ให้พวกเขาไปรวมกันได้ ในเนื้อที่ 500 ไร่    ยังมีที่เหลืออีกพันกว่าไร่หากพัฒนาก็จะมีมูลค่ายิ่งกว่าถนนสุขุมวิท เพราะเป็นที่สวยติดแม่น้ำ คนจนก็จะอยู่ในเมืองได้เพราะเขาเป็นแรงานในเมือง  “ผมยืนยันว่าคนจนในเมืองจำเป็นต้องอยู่ในเมือง”  

การพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับทุกคน ข้อเสนอจาก “สมุดปกขาว”

สำหรับข้อเสนอนโยบายจากเครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ ที่ยื่นให้กับผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ที่เข้าร่วมเวทีแสดงวิสัยทัศน์ ระบุไว้ในหัวข้อ “เมืองเป็นธรรม” ประเด็นเรื่อง การพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับคนจนเมืองหรือสำหรับทุกคน มีข้อเสนอ 3 แนวทาง

  1. แก้ไขปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยสำหรับคนไร้บ้านในพื้นที่สาธารณะ
  2. ส่งเสริมและช่วยเหลือค่าใช้จ่ายหรือค่าเช่าบ้านของผู้ที่มีรายได้น้อย
    ให้สามารถเป็นเจ้าของทรัพย์สินได้
  3. จัดหาที่ดินให้ประชาชนได้อยู่ในที่ดินเดิม และจัดทำสัญญาเช่าระยะยาว
    ประมาณ 30 ปีขึ้นไป

📌 สามารถดาวน์โหลด “สมุดปกขาว: ข้อเสนอนโยบายภาคประชาชน” (ร่างแรก) ได้ที่นี่ 👉🏼 https://bkkelection65.thaipbs.or.th/wp-content/uploads/2022/05/WhitePaperPolicy.pdf


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active