ผู้ว่าฯ กทม.คุยท่อใหม่ ระบายน้ำดีสู้ภัยหน้าฝน ชวนติดตามผลงาน 2 ปี 28 พ.ค.นี้

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ติดตามสถานการณ์น้ำอุดมสุข เผยท่อระบายน้ำแบบใหม่ช่วยรีดน้ำเร็ว วันนี้ลงซ้ำ กำชับห้ามท่วม ด้านรองผู้ว่าฯ ทวิดาเตรียมส่งแผนปฏิบัติการเฉพาะภัย สู้สภาพอากาศแปรปรวน ขณะที่ 28 พ.ค.นี้ กทม. นัดส่งการบ้านครบ 2 ปี เล็งยกระดับเมืองน่าอยู่

วันนี้ (22 พ.ค. 2567) หลายพื้นที่ของประเทศไทย มีฝนตกต่อเนื่อง ขณะที่เมื่อวานนี้ (21 พฤษภาคม 2567) กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศว่าประเทศไทยได้เข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการแล้ว โดยวานนี้มีฝนตกหนักในหลายพื้นที่รวมถึงกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีฝนตกติดต่อกันเป็นระยะเวลานานกว่า 3 ชั่วโมง ทำให้ถนนและพื้นที่บางจุดเริ่มมีน้ำท่วมขัง ช่วงกลางดึกที่ผ่านมา ด้าน ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จึงได้ลงตรวจพื้นที่บริเวณถนนอุดมสุข (สุขุมวิท 103) ติดตามสถานการณ์น้ำจากฝนตกหนักในช่วงค่ำ

May be an image of 1 person, trolley, train and text

ทาง กทม. เผยว่าสถานการณ์น้ำท่วมขังลดลงเร็ว โดยใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง ก่อนหน้านี้ ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ได้ชี้แจงว่า บริเวณถนนอุดมสุขได้มีการปรับปรุงทางเท้าและท่อระบายน้ำ โดยเปลี่ยนจากรูปแบบเดิมเป็นรูปแบบ O-GUTTER ซึ่งมีโครงสร้างที่เหมือนรางปูนยาว มีท่อโปร่งตรงกลาง ถูกออกแบบมาเพื่อรีดน้ำที่อยู่บนผิวถนนได้เร็วกว่าท่อระบายน้ำรางวีหรือตะแกรงเหล็กทั่วไป มีการออกแบบให้มีฝาเปิดเพื่อทำความสะอาดได้เป็นช่วง ๆ ตลอดเส้นถนน จึงไม่มีปัญหาเรื่องท่อตัน

ชัชชาติ ย้ำว่า การปรับปรุงดังกล่าวส่งผลให้การระบายน้ำบริเวณถนนอุดมสุขมีประสิทธิภาพดีขึ้น มีการท่วมขังของน้ำน้อยลงจากเดิม แต่ทั้งนี้ หากอุโมงค์ระบายน้ำบึงหนองบอนซึ่งมีการเสียหายก่อนหน้านี้ ได้ซ่อมแซมและก่อสร้างแล้วเสร็จตลอดในอุโมงค์ จะช่วยส่งเสริมศักยภาพในการระบายน้ำและทําให้พื้นที่บริเวณถนนอุดมสุขและหลายส่วนของเขตบางนามีน้ำท่วมขังน้อยลง

May be an image of 2 people

ขณะที่วันนี้ (22 พ.ค. 2567) ช่วงสาย ผู้ว่าฯ ชัชชาติพร้อมทีมงาน ลงพื้นที่ต่อเนื่อง ติดตามความคืบหน้ากรณีเกิดน้ำท่วมขังระบายได้ช้าจากฝนตกบริเวณถนนอุดมสุข (สุขุมวิท 103) ได้มีการสุ่มเปิดท่อระบายน้ำบริเวณดังกล่าว พบว่า บางท่อระบายน้ำมีท่อประปาเก่าขวางอยู่เล็กน้อย มีเศษอิฐเศษปูน ระดับก้นท่อระบายน้ำไม่เท่ากัน รวมถึงพื้นทางเท้าบางจุดไม่ลาดเอียง

ทั้งนี้ ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่เร่งปรับแก้และดำเนินการในส่วนที่สามารถทำได้เร่งด่วน เตรียมพร้อมรับมือฝนที่จะตกเพื่อให้การระบายน้ำทำได้ดีขึ้น พร้อมทั้งเน้นย้ำคืนนี้บริเวณนี้ห้ามเกิดน้ำท่วมขังอีก ซึ่งสำนักการระบายน้ำจะมีการย้ายตำแหน่งสายระบายน้ำให้สามารถระบายน้ำได้ดีขึ้น ล้างท่อระบายน้ำ ดูดโคลนในท่อระบายน้ำ กระจายรถโมบายตามจุดต่าง ๆ โดยผู้ว่าฯ จะลงพื้นที่ตรวจซ้ำในช่วงบ่ายอีกครั้ง

กทม. เตรียมเป็นท้องถิ่นแรกมีแผนปฏิบัติการเฉพาะภัย สู้สภาพอากาศแปรปรวน

ขณะที่เมื่อวาน รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เปิดเผยการดำเนินงานขับเคลื่อนนโยบายด้านความปลอดภัยในพื้นที่ กทม. มีความก้าวหน้าไปบางส่วนแล้ว ส่วนเรื่องการจัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานคร (9 แผน 9 ภัย) ประกอบด้วย การคมนาคม อัคคีภัย สารเคมีและวัตถุอันตราย วาตภัย แผ่นดินไหวและอาคารถล่ม อุทกภัย ภัยแล้ง มลพิษทางอากาศ โรคระบาดและโรคติดต่อ ขณะนี้ดำเนินการเสร็จแล้ว โดยจะนำร่างแผนเข้าวาระการประชุมคณะกรรมการกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในเดือน มิ.ย. 2567 ต่อไป

กทม. ยังได้จัดทำระบบฐานข้อมูลและระบบฐานข้อมูลบริหารจัดการอาสาสมัครพร้อมระบบคัดกรองการปฏิบัติงานในสถานที่เกิดเหตุ ศึกษาแนวทางการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพอาสาสมัคร จัดทำทะเบียนอาสาสมัคร โดยกำหนดแนวทางจัดทำทะเบียนฐานข้อมูลอาสาสมัครโดยจำแนกข้อมูลอาสาสมัครในแต่ละประเภท ตามความรู้ความชำนาญเฉพาะด้านผ่านระบบสารสนเทศ เพื่อให้ตรวจสอบและจัดระบบได้ และจัดทำแนวทางวางแผนพัฒนาสมรรถนะบุคลากร จัดทำแบบ E-Learning เพื่อประหยัดงบประมาณ 

ทั้งนี้ กทม. จะเป็นท้องถิ่นแห่งแรกที่มีการส่งแผนไปที่กระทรวงมหาดไทย และถือว่าเป็นท้องถิ่นแห่งแรกที่ดำเนินการแล้วเสร็จ เพื่อรับมือกับภัยอันตรายที่เกิดขึ้นได้บ่อยครั้งขึ้นจากจำนวนประชากรที่อยู่อาศัยอย่างหนาแน่น รวมไปถึงสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนจากวิกฤตภาวะโลกรวน ทำให้เมืองใหญ่อย่าง กทม. ต้องมีแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่ชัดเจน

28 พ.ค.นี้ กทม.นัดส่งการบ้านครบ 2 ปี เล็งยกระดับเมืองน่าอยู่

ขณะที่วันนี้ (22 พฤษภาคม 2567) เอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร แจ้งว่า ในโอกาสการทำงานครบรอบ 2 ปี และจะเข้าสู่ปีที่ 3 ของการขับเคลื่อนกรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่ ตามนโยบาย 9 ดี 9 ด้านของผู้ว่าฯ ชัชชาติ กรุงเทพมหานครจึงกำหนดจัดกิจกรรม “2 ปี ทำงาน เปลี่ยน ปรับ ยกระดับกรุงเทพฯเมืองน่าอยู่” ขึ้นในวันอังคารที่ 28 พฤษภาคม 2567

กิจกรรมดังกล่าวจะพาทีมบริหาร ทีมระดับปฏิบัติการ และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง มาร่วมเผยผลการดำเนินงาน ตลอดเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ได้เปลี่ยนและปรับอะไรเพื่อทำให้กรุงเทพฯ น่าอยู่ขึ้นบ้าง อะไรเป็นปัญหาอุปสรรคที่ยังติดขัด และต้องการความร่วมมือจากคนกรุงเทพฯ และจะกล่าวถึงวิสัยทัศน์และแนวทางการยกระดับเมืองน่าอยู่ในช่วง 2 ปีต่อจากนี้ ส่วนผลงานในปีที่แล้ว มีความคืบหน้าของผลงานในหลายด้านด้วยกัน เช่น

  • มีการจัดสรรงบกลาง กว่า 5,024 ล้านบาท ลงเส้นเลือดฝอย เพื่อปรับปรุงเขตที่ปัญหาเรื่องน้ำท่วมและเรื่องถนน และจัดสรรงบ 200,000 บาทต่อชุมชน
  • เปิดพื้นที่สาธารณะ 21 แห่ง เพื่อรองรับกิจกรรมที่หลากหลาย จัดดนตรีในสวน 13 สวน 51 ครั้ง และเปิดพื้นที่แสดงดนตรี Bangkok Street Performer 12 จุด มีคนมาแสดงมากกว่า 200 วง
  • ดำเนินโครงการปลูกต้นไม้ล้านต้น โดยปลูกแล้ว 400,000 ต้น, สวน 15 นาที เริ่มดำเนินการกว่า 100 แห่ง
  • ตรวจฝุ่น 9,291 สถานประกอบการ ตรวจควันดำ 131,537 คัน รวบรวมเซนเซอร์ฝุ่นเข้าระบบ 622 จุด
  • มีโครงการแยกขยะมากกว่า 6,400 ราย ขยะลดลง 300-700 ตัน/วัน ประหยัดงบประมาณไปในหลัก 100 ล้านบาท
  • ปรับค่าอาหารกลางวันและอาหารเสริมของเด็กเล็กก่อนวัยเรียน จาก 20 เป็น 32 บาท สำหรับเด็กที่อยู่ในศูนย์เด็กเล็กก่อนวัยเรียน ให้ค่าวัสดุอุปกรณ์จาก 100 เป็น 600 บาท 

ซึ่งทาง กทม.ได้ชวนประชาชนติดตามความคืบหน้าในกิจกรรม “2 ปี ทำงาน เปลี่ยน ปรับ ยกระดับกรุงเทพฯเมืองน่าอยู่” ในวันอังคารที่ 28 พฤษภาคม 2567 เวลา 10.00-11.00 น. ณ ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เขตปทุมวัน หรือติดตามชมไลฟ์ได้ที่เฟซบุ๊กเพจ : กรุงเทพมหานคร

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active