“ปฏิรูประบบสาธารณสุข กทม.” เรื่องที่อาจทำไม่สำเร็จใน 4 ปี

จากข้อเสนอรื้อระบบสุขภาพ กทม. หลังผ่านวิกฤตโควิด-19 หากกรุงเทพฯ มีผู้ว่าฯ ชื่อ “สกลธี – สุชัชวีร์ – รสนา” ระบบสาธารณสุข กทม. จะมีหน้าตาอย่างไร?

หนึ่งในคำถามจากเครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ ที่ประมวลจากกิจกรรม “Bangkok Active Forum: ฟังเสียงกรุงเทพฯ” ช่วงเกือบสองเดือนที่ผ่านมา คือเรื่อง “การปฏิรูประบบสุขภาพ กทม.”

ในเวทีแสดงวิสัยทัศน์ “มหกรรมปลุกกรุงเทพฯ เปลี่ยนเมืองใหญ่ เลือกตั้งผู้ว่าฯ 65” เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2565 จัดโดยไทยพีบีเอส มีผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ที่เลือกตอบคำถามนี้ 3 คน คือ สกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครอิสระหมายเลข 3, สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ หมายเลข 4 และ รสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครอิสระ หมายเลข 7

“การเลือกตั้งครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังผ่านมรสุมโรคระบาดใหญ่โควิด-19 จึงเป็นครั้งแรกที่มีการพูดถึงนโยบายปฏิรูประบบสาธารสุข กทม. โดยมีข้อเสนอที่ก้าวหน้าไปถึงขั้นให้เปลี่ยนศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม. เป็นโรงพยาบาลของทุกเขต แต่นี่ไม่ใช่ข้อสรุปที่ตรงกันของทุกกลุ่ม

เกี่ยวกับเรื่องนี้คุณคิดอย่างไร และถ้ารู้ว่าเป็นเรื่องที่ไม่มีทางทำให้เสร็จสมบูรณ์ภายใน 4 ปี คุณจะเริ่มต้นทำหรือไม่ วางแผนทำยังไง ภายใน 3 เดือนจะเห็นอะไร 2 ปี 4 ปี  จะเห็นอะไร?”

สาธารณสุข กทม.

สกลธี ตอบคำถามนี้เป็นคนแรก เขากล่าวว่า สาธารณสุขเป็นนโยบายหนึ่งที่ต้องเกิดขึ้นในยุคของผู้ว่าฯ ชื่อสกลธี จากที่เรามีศูนย์สาธารณสุข 69 ศูนย์ ใน 50 เขตของ กทม. แต่จะทำอย่างไรให้กระจายงบฯ ให้ถึงศูนย์ฯ เหมือนโรงพยาบาลประจำเขต ทำให้คนในชุมชนไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล ต้องหาเงินมาใส่ตรงนี้

“ใน 2 ปีแรกของสกลธี จะทำให้ศูนย์ฯ 69 แห่ง เป็นโรงพยาบาลประจำเขตให้ได้ ใช้ริสแบนด์มาดูแลกลุ่มคนสูงอายุและใช้ระบบเทเลเมดิซีน (Telemedicine) เพื่อลดการเดินทาง”

สาธารณสุข กทม.

ด้าน สุชัชวีร์ ตอบคำถามนี้ว่า สิ่งแรกที่จะทำ คือ เมื่อเป็นผู้ว่าฯ กทม. จะลงไปดูแล กำชับการทำงานเรื่องโควิด-19 เพราะกำลังจะเปิดเมือง เปิดประเทศ วันนี้จุดอ่อนคือระบบราชการ ในเวลา 90 วันแรก จะไปปรับตรงนี้ โดยเฉพาะจุดอ่อนเรื่องความลักลั่น ที่สุดท้ายแล้วศูนย์การสาธารณสุขชุมชน ศูนย์การสาธารณสุข กทม. เป็นเพียงพื้นที่ส่งต่ออย่างเดียว ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องเงิน แต่เป็นเรื่องการวางแผน

ใครจะไปรู้โรคอุบัติใหม่อาจจะกลับมาก็ได้ จะใช้วิกฤตเป็นโอกาสในการเตรียมความพร้อมสำหรับในอนาคต

ขณะที่ระยะถัดมา ภายใน 6 เดือน เขาบอกว่าศูนย์บริการสาธารณสุขจะมีหมอ อาคารตอนนี้พร้อมแล้ว โดยเติมหมอลงไป ให้หมอ 3 วันต่อสัปดาห์ และมีนักกายภาพบำบัด นักจิตบำบัด ในระยะยาว กทม. จะดูแลครบถ้วน โรงพยาบาล กทม. ทั้ง 11 แห่ง จะยกระดับเป็นโรงพยาบาลที่มีผู้เชี่ยวชาญ เพื่อลดความแออัดในการให้บริการ และยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุขอีก 69 แห่ง เมื่อมีหมอก็จะมีเครื่องมือแพทย์

ผมรู้ว่าจะต้องทำอย่างไร ระบบทุกอย่างจะออนไลน์หมด และดูแลยามฉุกเฉินได้ และ 4 ปีเครือข่ายโรงพยาบาลทั้ง 80 แห่งจะเชื่อมโยงทุกโรงพยาบลใน กทม. ระบบโรงพยาบาลใน กทม. จะไร้รอยต่อให้เหมือนกับเมืองหลวงในประเทศต่าง ๆ

สาธารณสุข กทม.

ขณะที่ รสนา บอกว่าเรื่องสุขภาพจะต้องทำให้เกิด “สร้าง นำ ซ่อม” การที่จะมีสุขภาพดี ต้องมีความรับผิดชอบต่อตัวเองด้วย มีอาหารที่ปลอดภัย โดยจะสนับสนุนให้มีการกินอาหารที่เป็นอินทรีย์ ใช้พื้นที่ว่างใน กทม. ส่งเสริมให้คนทำ Urban Farming ในลักษณะที่เป็นเกษตรธรรมชาติมากขึ้น

เธอบอกอีกว่า เวลาเจ็บป่วย 80% เป็นโรคที่เราดูแลกันเองได้ ดูแลตัวเองได้ ฉะนั้น จะสนับสนุนให้องค์กรต่าง ๆ ในภาคประชาสังคมได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ให้ความรู้กับประชาชนในการดูแลโรค

ส่วน 69 ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. จะต้องมีการพัฒนา ให้แต่ละเขตมีโรงพยาบาล โดยทั้ง 69 ศูนย์ ควรมีการส่งเสริมให้ทำงานทั้ง 24 ชั่วโมง ส่งเสริม อสส. กทม. และเครือข่ายภาคประชาชน เข้ามามีส่วนร่วม ทำให้คนเหล่านั้นมีความรู้ ในการช่วยกันดูแลกัน

ในส่วนของ โรงพยาบาล กทม. จะทำให้มีการเชื่อมประสาน ดึงคนที่มีวิชาชีพที่เกษียณแล้วเข้ามามีส่วนร่วม เช่น หมอ พยาบาล นักการสาธารณสุข

“ระบบบริการสุขภาพ” กับข้อเสนอนโยบายภาคประชาชน ใน “สมุดปกขาว”

สำหรับข้อเสนอนโยบายจากเครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ ที่ยื่นให้กับผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ที่เข้าร่วมเวทีแสดงวิสัยทัศน์ ระบุไว้ในหัวข้อ “เมืองปลอดภัย” ว่าด้วย การพัฒนาระบบบริการสุขภาพให้ครอบคลุมทุกพื้นที่และประชาชนทุกช่วงวัยสามารถเข้าถึงได้ ผ่าน 10 แนวทาง

  1. สร้างพื้นที่ เวทีหรือกลไกให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในระบบบริการสุขภาพของ กทม.
  2. จัดทำธรรมนูญสุขภาพในแต่ละพื้นที่จากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อตั้งเป็นนโยบายด้านสุขภาพแต่ละพื้นที่อย่างชัดเจน
  3. ยกระดับศูนย์สาธารณสุขชุมชนให้เป็นโรงพยาบาลชุมชน หรือยกระดับคุณภาพศูนย์สาธารณสุขชุมชนให้สามารถบริการประชาชนในพื้นที่ได้อย่างครอบคลุม
  4. เพิ่มศูนย์สาธารณสุขชุมชนหรือคลินิกหมอครอบครัว (Primary Care Cluster: PCC) ให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานคร
  5. สร้างการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการศูนย์สาธารณสุขชุมชนโดยคนในชุมชน
  6. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมอย่างเป็นรูปธรรมของศูนย์บริการสาธารณสุขและโรงพยาบาลใหญ่ รวมภาคเอกชน ซึ่งมีการจัดตั้งเครือข่ายหน่วยบริการที่เชื่อมรอยต่อซึ่งกันและกัน
  7. ส่งเสริมการสร้างเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุข เพื่อเพิ่มศักยภาพในการดำเนินงาน
  8. เพิ่มบุคลากรทางการแพทย์ และทีมหมอครอบครัวเพื่อให้บริการอย่างทั่วถึง
  9. บูรณาการและเชื่อมโยงฐานข้อมูลสุขภาพของสถานพยาบาลทุกระดับในทุกกลุ่มวัย โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็ก และผู้งอายุ
  10. ปรับมาตรฐานการขอทุนจาก“กองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานคร” ในระดับเขตของภาคประชาชน เพื่อการสนับสนุนที่เท่าเทียม และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างพื้นที่เพื่อต่อยอดพัฒนาในรูปแบบพี่เลี้ยง

ทั้งนี้ สาระสำคัญในสมุดปกขาวฯ ร่างแรก จะมีการปรับเนื้อหาเป็นฉบับสมบูรณ์ เพื่อมอบให้กับผู้ว่าฯ กทม. หลังรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการต่อไป

📌 สามารถดาวน์โหลด “สมุดปกขาว: ข้อเสนอนโยบายภาคประชาชน” (ร่างแรก) ได้ที่นี่ 👉🏼 https://bkkelection65.thaipbs.or.th/wp-content/uploads/2022/05/WhitePaperPolicy.pdf


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active