ระดมข้อเสนอ : สู่เมือง (ระบบ) สุขภาพดี

ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา ได้สะท้อนให้เห็นถึงความทุกข์ยากของการเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลของคนกรุง หลายคนไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นไปหาหมอที่ไหน ภาพจำของคนป่วยล้มตายกลางถนนซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ยังคงอยู่คงติดอยู่ในความรู้สึก ทำให้การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. รอบนี้ นโยบายด้านสุขภาพและการปรับระบบบริการสุขภาพ ดูจะเป็นที่คาดหวังกว่าที่ผ่าน ๆ มา

ปรากฏการณ์ที่สำคัญคือการตื่นตัวของของภาคประชาชน เครือข่ายนักวิชาการด้านสุขภาพ และตัวแทนผู้ให้บริการทั้งจากฝากภาครัฐและเอกชน ที่ออกมาช่วยกันระดมความคิดความเห็นเพื่อรื้อและยกระดับบริการสุขภาพของกรุงเทพมหานคร จนถึงขั้นนำไปเป็นข้อเสนอถึงผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้นำไปใช้ เพราะเรื่องนี้เป็นโจทย์ร่วมของทุกคน ไม่ใช่แค่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

The Active ร่วมกับ เครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ ระดมสมองผ่านเวทีสาธารณะ “เมือง (ระบบ) สุขภาพดี” โดยมี ผศ.ทพ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ทพ.วิรัตน์ เอื้องพูลสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 13 กทม. นพ.อานนท์ กุลธรรมานุสรณ์ สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ IHPP พญ.สุพัตรา ศรีวณิชชากร มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยสังคมและสุขภาพ สธ. วิศัลย์สิริ ตันตระกูล ประธานอาสาสมัครสาธารณสุข กรุงเทพฯ นิมิตร์ เทียนอุดม ตัวแทนเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ร่วมสะท้อนปัญหา และแนวทางแก้ไขระบบสุขภาพเขตเมืองในพื้นที่ กทม. ยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) ที่ทุกคนเข้าถึงได้

ถ้าคน กทม. เจ็บป่วยเล็กน้อยจะต้องไปรักษาที่ไหน ? ระบบการแพทย์ปฐมภูมิ หายไปจากกรุงเทพมหานครจริงหรือไม่ ? ถ้าเจ็บป่วยรุนแรงจะได้รับการส่งต่อเข้าสู่โรงพยาบาลที่มีขีดความสามารถสูงได้ทันการณ์ต่อการรักษาชีวิต เราจะอุ่นได้หรือไม่ ที่จะมีหมออยู่ใกล้ตัวพร้อมให้คำปรึกษาได้ตลาดเวลา  ไม่ว่าจะเป็นคนยากดีมีจนอย่างไร?

คำถามเหล่านี้ชัดเจนมากขึ้นหลังต้องเผชิญกับการระบาดของโควิด-19  ทำให้ต้องมาทบทวนจุดอ่อนของระบบสาธารณสุขของกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นท้องถิ่นพิเศษที่มีระบบสาธารณสุขเป็นของตัวเอง มี ศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง และ 11 โรงพยาบาลใหญ่ แต่ทั้งหมดถูกบริหารงานแยกส่วนโดยโรงพยาบาลอยู่ในสำนักการแพทย์ ขณะที่สำนักอนามัยกำกับดูแลศูนย์บริการสาธารณ​สุข

ที่ผ่านมาบุคคลากรในสังกัดกรุงเทพมหานครทำงานหนัก แต่ความทุกข์ของผู้ป่วยที่ได้รับบริการไม่ทั่วถึง ยังไม่นับรวมประสิทธิภาพของการส่งต่อผู้ป่วย รวมถึงความโกลาหลทั่วเมืองของภาวะโรคระบาดใหญ่ ล้วนสะท้อนถึงปัญหาบางอย่างที่ซ่อนอยู่ในระบบ ที่จำเป็นต้องได้รับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้ดีขึ้น และการเลือกตั้งผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร คือความหวัง

ย้อนดูจุดที่เป็นปัญหาสำหรับระบบสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร เริ่มจากการจัดการกฎระเบียบและนโยบายให้เป็นระบบ เพราะมีกฎหมายที่ยังติดขัดทั้ง 3 ระดับ คือ “ระดับบริหาร”​ กรุงเทพมหานครให้อำนาจผู้ว่าราชการบริหารก็จริง แต่ในทางปฏิบัติมีหน่วยงานหลายสังกัด ผู้ว่าฯ กทม. ไม่มีอำนาจในการจัดการจริง ๆ

“ระดับปฏิบัติการ” แม้มีงบประมาณบุคลากรท้องถิ่น แต่ในความเป็นจริงมีบุคลากรจำกัด เนื่องจากรัฐบาลกลางออก พ.ร.บ.ระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น  กำหนดให้ใช้งบฯ ด้านบุคลากรได้แค่ 40% ของงบทั้งหมด กรุงเทพมหานครจึงขยายบริการไม่ได้เพราะไม่มีเงิน

“ระดับชุมชน” แม้กองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานครให้เขียนโครงการเพื่อขอทุน ได้แต่ในความเป็นจริงยังติดขัดกับกฏระเบียบมากมาย จึงไม่มีทุนมาทำโครงการส่งเสริมสุขภาพ

เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญคือการส่งเสริมการมีส่วนร่วมอย่างเป็นรูปธรรมโดยกรุงเทพมหานคร ต้องพูดคุยข้ามหน่วยงาน และประสานให้ทุกภาคส่วนการปรับใช้องค์ความรู้ต่างๆเพื่อพัฒนาเมือง ขยายพื้นที่การดูแลสุขภาพเพื่อให้บริการที่ทั่วถึง รวมถึงส่งเสริมการสร้างเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุข หรือ อสส. โดยทั้งหมดจะส่งผลโดยตรงนำไปสู่ การบริการอย่างเท่าเทียม และครอบคลุมไปถึงการบริการระบบสุขภาพของกลุ่มเปราะบางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแรงงานข้ามชาติ คนจนเมือง หรือคนไร้บ้าน

การปฏิรูประบบสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร เป็นหนึ่งในนโยบายของรัฐที่ต้องการจะยกเครื่องให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ด้วยเห็นจุดอ่อนมาก่อนหน้านี้แล้ว อันที่จริง กทม. มีต้นทุนในพื้นที่อยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นจำนวนโรงพยาบาล คลินิกเอกชน ตลอดจนทรัพยากรต่าง ๆ แต่ที่ผ่านมาอาจยังไม่ได้ใช้ต้นทุนที่มีอยู่มาตอบสนองต่อความจำเป็นได้อย่างเหมาะสม

“แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” มีการพูดถึงการพัฒนาระบบสุขภาพในพื้นที่กรุงเทพมหานครโดยเฉพาะระบบสุขภาพปฐมภูมิในพื้นที่เพื่อตอบสนองต่อภาวะวิกฤต รวมทั้งยังพูดถึงเมืองปลอดภัย เมืองสุขภาพดี แต่เป็นเพียงแนวคิดกว้าง ๆ แม้จะมีการกำหนดตัวชี้วัดและกำหนดเป้าหมาย แต่ยังไม่มีแอ็คชั่นแพลน ขณะที่เป้าหมายบางส่วน ยังคงยึดติดอยู่กับกรอบการทำงานประจำวัน หรืองานรูทีน

ระบบสุขภาพเป็นระบบที่เกี่ยวพันกับวิถีชีวิตคนตั้งแต่เกิดจนตาย จึงควรมีนโยบายแกนหลักของกรุงเทพมหานครที่ต้องเชื่อมโยงทุกภาคส่วน และนี่เป็นครั้งแรกที่เครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ ได้ร่วมกันระดมความเห็นเกี่ยวกับข้อเสนอเชิงนโยบายด้านระบบสาธารณสุข สะท้อนปัญหา และทิศทางในการแก้ไขปัญหาระบบสุขภาพปฐมภูมิเบื้องต้น โดยแบ่งกระบวนการสังเคราะห์ข้อมูลเป็นกลุ่มย่อย 4 กลุ่ม

กลุ่มแรก หัวข้อ “กฎหมาย ระเบียบ นโยบายและยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพ”​ สะท้อนปัญหารัฐไม่ยืดหยุ่น​ในข้อกฎหมาย มีอัตรากำลังต่ำ​ และไม่เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนมาร่วมมากนัก​ บางเรื่องมีกฎหมายแต่ถูกบังคับใช้​

กลุ่ม 2 หัวข้อ “ระบบบริการด้านสุขภาพปฐมภูมิ การจัดการทรัพยากร​“ เสนอเพิ่มทีมหมอครอบครัว​ 570  ทีม​ โดย กทม.เป็นเจ้าภาพ​ ดึงเอกชน​ มาร่วมทีม จะช่วยประหยัดงบประมาณ​ เนื่องจากกรุงเทพมหานครมีโรงพยาบาลเอกชนในสัดส่วนเกินครึ่งซึ่งครอบคลุมกว่า ขณะเดียวกันเครือข่ายหน่วยบริการจะต้องเชื่อมรอยต่อกัน เริ่มจากคอลเซ็นเตอร์พูดคุยไขข้อข้องใจ ไปจนถึงทีมลงพื้นที่ที่เรียกว่าหน่วยสร้างเสริมสุขภาพ ก่อนจะไปหน่วยบริการปฐมภูมิคือศูนย์บริการสาธารณสุขต่างๆที่มีคลินิกเฉพาะทางครบถ้วน

กลุ่ม 3 หัวข้อ “เครือข่ายสุขภาพภาคประชาชน อาสาสมัครสาธารณสุข แกนนำชุมชน”​ เสนอเรื่องการสร้างศูนย์สุขภาพ​ชุมชน​ เพิ่มเติม เชื่อมโยงกับเครือข่ายประชาชนที่พร้อมให้การดูแลอยู่แล้ว​ พร้อมสะท้อนบริบทชุมชนเมืองชุมชน​ บางแห่งถูกละเลย​ ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับสำนกเขต ตกหล่นเข้าไม่ถึงระบบบริการสุข ​ ส่วนนิติบุคคล​คอนโด หมู่บ้านจัดสรร ​ ต้องมีการจัดการร่วมกันในอีกรูปแบบ

และกลุ่ม 4 หัวข้อ “สภาพแวดล้อมเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ” เสนอให้มีพื้นที่ออกกำลังกาย และอาหารปลอดภัย​ รื้อผังเมืองที่เอื้อต่อการสร้างพื้นที่สาธารณะอย่างมีส่วนร่วม

การยกระดับระบบสาธารณสุขกรุงเทพมหานครให้บรรลุเป้าหมาย สำคัญที่สุดคือ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ต้องประกาศเจตจำนงว่าจะเป็นคนช่วยประสาน ให้ภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามาร่วมในการดูแล เพราะอำนาจผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ดูแลได้แค่ 11 โรงพยาบาลในกัด และ 69 ศูนย์บริการสาธารณสุข จึงจำเป็นต้องประสานหน่วยงานทั้งโรงพยาบาลรัฐ และโรงพยาบาลเอกชน หรือคลินิกเอกชน ซึ่งมีสัดส่วนมากที่สุดให้เข้ามาร่วม

การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่กำลังจะมีขึ้น ภาคประชาชนมองเห็นเป็นโอกาสที่จะเสนอให้มี “โรงพยาบาลประจำเขต”​ ซึ่งเป็นช่องว่างของระบบส่งต่อผู้ป่วยในกรุงเทพมหานคร ที่แม้จะมีโรงพยาบาลมากที่สุดในประเทศ แต่ไม่เชื่อมต่อกัน

วิธีคิดที่สำคัญท่ามกลางความซับของระบบ คือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ต้องทำงานร่วมกับคนอื่นให้ได้ โดยเฉพาะการสร้างความร่วมมือและเสริมพลังภาคประชาชน เช่น กรณีโควิด-19 มีปัญหาการสื่อสาร จำเป็นต้องมีหน่วยจัดการและสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ ซึ่งเป็นงานสาธารณสุขปฐมภูมิ หน่วยนี้ไม่ได้ใช่เงินเยอะ ไม่ได้ใช้การก่อสร้างอาคาร แต่ต้องการระดมคน ซึ่งอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร หรือ อสส. เป็นด่านหน้าของระบบสุขภาพปฐมภูมิ  ก็ต้องการการสนับสนุนงบประมาณ และสร้างศูนย์สุขภาพชุมชน เพื่อส่งเสริมการทำงานของ  อสส. ซึ่งเป็นเครือข่ายภาคประชาชน ที่พร้อมทำงานด้านสาธารณสุข ปัจจุบันยังมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับต่างจังหวัด แต่ทำงานยากและซับซ้อนกว่าอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านหรือ อสม. ในต่างจังหวัด

อีกเสียงสะท้อนคือการจัดสรรงบประมาณใน “กองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานคร” ที่ให้ภาคประชาชนเขียนโครงการส่งเสริมสุขภาพเข้ามาเสนอ แต่ค่อนข้างยากที่จะได้รับการอนุมัติจึงควรปรับมาตรฐานการขอทุนระดับเขต เพื่อการสนับสนุนที่เท่าเทียม และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างพื้นที่เพื่อต่อยอดพัฒนาในรูปแบบพี่เลี้ยง อันจะก่อให้เกิดเครือข่ายในพื้นที่ สุดท้ายคือการจัดการกฎระเบียบและนโยบาย ให้เป็นระบบเอื้อให้มีส่วนร่วม บริหารอย่างมีประสิทธิภาพ ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ฟังความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง สร้างการบริการที่ตอบสนองรวดเร็ว

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS

Alternative Text
VISUAL NOTE TAKER

ลลิตา วิจิตอมรวงษ์

เปลี่ยนเนื้อหาเข้าใจยาก ให้เป็นภาพเข้าใจง่าย เจ้าของเพจ Mis.lalita รักธรรมชาติ และชอบฟังเพลง