เริ่มแล้ว 4 นโยบายเป้าหมาย วาดฝัน ชีวิตดี ๆ เมืองมหานคร

เวทีสมัชชาสุขภาพกทม.ครั้งที่ 4 หวังสร้างพื้นที่ของการสนทนาเพื่อการมีส่วนร่วมผลักดันคุณภาพชีวิตคน กทม. ทั้ง ระบบสุขภาพปฐมภูมิ, พื้นที่สาธารณะ, หาบเร่แผงลอย, ธรรมนูญสุขภาพ กทม. 

(31 มี.ค.) วันนี้ สมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 4  จัดงานภายใต้แนวคิด  ”ร่วมสร้างมหานครแห่งโอกาสและความเป็นธรรมเพื่อสุขภาวะ“ ผ่านเวทีขับเคลื่อนสุขภาวะคนกรุงเทพฯ ใน 4 ด้าน 4 เวที  ได้แก่ ระบบสุขภาพปฐมภูมิ, พื้นที่สาธารณะ,หาบเร่แผงลอย, และ ธรรมนูญสุขภาพ กทม.  ณ ลานคนเมือง ศาลาว่าการ กทม.

รศ.ชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ยอมรับว่าโจทย์ที่ยากที่สุดในการสร้างสังคมสุขภาวะพื้นที่ กทม. คือ ‘ระบบสุขภาพปฐมภูมิ’ ซึ่งต้องวางรากฐานให้ดีและสร้างความเชื่อใจให้ประชาชน นับว่าเป็นโจทย์ใหญ่ที่คาดว่าจะร่วมหาทางออกได้ในเวทีนี้ ขณะที่ธรรมนูญสุขภาพตั้งเป้าขับเคลื่อนให้มีธรรมนูญสุขภาพครบทุก 50 เขต โดยให้ยึดโยงกับบริบทของแต่ละเขต

“ปฐมภูมิ เป็นด่านหน้าของการปะทะทุกเรื่อง ทั้งการป้องกัน การรักษาเบื้องต้นจะทำอย่างไรให้เข็มแข็ง การมีพื้นที่ของการฟังเสียงของประชาชน และการมีส่วนร่วมสำคัญและทุกเรื่องเราต้องทำ“

ด้าน นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ย้ำว่าการพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิ ควรเริ่มต้นจากการดูแลสุขภาพของตัวเอง ซึ่งระบบและกลไกในเรื่องนี้หลายเรื่องเริ่มต้นขึ้นแล้ว มีการจัดบริการดูแลความเสี่ยง พัฒนาระบบการดูแลตัวเอง

ขณะที่เวทีการสานพลังพัฒนาพื้นที่สาธารณะ เน้นย้ำถึงการมีส่วนร่วมของชุมชนในการมีพื้นที่เพื่อการเป็นที่อยู่อาศัยของชุมชนและการทำประโยชน์ที่ไม่ใช่แค่การมีพื้นที่สีเขียว การออกกำลังกาย  ด้าน ประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิดวงประทีป ระบุว่า ชุมชนคลองเตยถูกเปลี่ยนสีผังเมืองจากสีน้ำเงินเป็นสีแดง ชาวบ้านเริ่มกังวลว่าจะไร้ที่อยู่อาศัย จึงมีข้อเสนอให้มีการรวมตัวของชุมชนในเวทีครั้งนี้ เพื่อขอคืนพื้นที่ 20% ทำสุขภาวะชุมชน  โมเดลเริ่มต้นที่คลองเตย

“ให้การสนับสนุนพื้นที่คลองเตยและอีกหลายพื้นที่ที่มีการบริหารจัดการที่ไม่เน้นแค่ตัวเลขทางเศรษฐกิจ แต่มองถึงการส่งเสริมศักยภาพของคน ชุมชน ขับเคลื่อนสุขภาวะที่ดีไปด้วยกัน”

หลายคนที่แลกเปลี่ยนในเวทีครั้งนี้ ต่างพยายามสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นของการพัฒนาที่เบียบขับคนจนออกจากพื้นที่ จึงเสนอว่าทุกคนควรมีพื้นที่อาศัยในเมือง และไม่ใช่แค่สาธารณะ แต่ควรเป็นทุกพื้นที่ที่สามารถใช้ประโยชน์เพื่อสาธารณะได้ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ของทางส่วนราชการหรือเอกชน เป็นพื้นที่ที่เห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วม ต้องการจะมีส่วนร่วมต้องมีกลไกที่มาสนับสนุน มองพื้นที่สาธารณะจากสายตาของชุมชนด้วยกัน และมีคณะทำงานร่วมกันที่ไม่ใช่ภาระของกรุงเทพมหานคร สุขภาวะทุกด้านมีพื้นที่รองรับ

 

ส่วนประเด็นสุดท้ายเรื่องการจัดการหาบเร่แผงลอย เศรษฐกิจปลอดภัย ภายใต้ความหลากหลาย เริ่มต้นจากการทบทวน มติสมัชชาฯ สะท้อนผ่าน 2 ปัญหาหลักคือ การมีกฎเกณฑ์ที่ผู้ค้าไม่มีส่วนร่วมในการหาทางออกในการใช้ประโยชน์บนทางเท้า และระเบียบประกาศของกทม. ในการจัดระเบียบเพื่อลดผลกระทบ จึงเสนอให้ทบทวนกฎระเบียบประกาศของ กทม.ในการจัดการพื้นที่ เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายที่มีส่วนได้เสียได้มีส่วนร่วมมากขึ้น เป้าหมาย คือ การสร้างกลไกที่มีกติกามากขึ้น โดยกฎที่ออกมาควรยุติธรรมกับทุกกลุ่ม มากกว่ารัฐเพียงฝ่ายเดียว 

ขณะที่กลไกการรับรองผู้ค้าเพื่อให้มีส่วนร่วมในการกำหนดกติการมากขึ้นและยั่งยืน ควรมีโมเดล คือ การมีกลไกในระดับพื้นที่ระดับเขต เพื่อพัฒนากระบวนการผู้ที่ประกอบอาชีพแรงงานรับจ้างทั้งระบบไม่ใช่แค่หาบเร่ ให้มีสุขภาวะที่ดีในการประกอบอาชีพในเมือง โดยไม่ให้ผู้ค้าไปสร้างภาระให้กับเมือง รวมถึงการมีพื้นที่ในการรองรับ เช่นอยู่ในรูปแแบ Hawker Center  เป็นต้น จึงควรหาพื้นที่นำร่อง สร้างกลไกที่บูรณาการการทำงานผลักดันจริงจัง

สำหรับเวทีครั้งนี้  มีความคาดหวังให้เป็นพื้นที่สนทนาของการมีส่วนร่วมทุกฝ่าย  เพื่อสร้างกติการ่วมกันในการขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นได้จริงภายใน 3 ปี 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active