ชี้ประชาชนรู้สึก ชีวิตไม่มั่นคง จากนโยบายรัฐ – สวัสดิการ ที่ยังไม่ดีพอ แนะยึดหลักการเคารพความหลากหลายทางวัฒนธรรม หากลไกควบคุม กลุ่มคนหาผลประโยชน์จากความเชื่อ
กลายเป็นประเด็นร้อนบนโลกโซเชียลสำหรับประเด็นความเชื่อ “แก้ปีชง” ภายหลัง “แพรรี่” ไพรวัลย์ วรรณบุตร ออกมาวิพากษ์วิจารณ์อย่างดุเดือดในไลฟ์ เมื่อวันที่ 8 ม.ค.ที่ผ่านมา ระบุว่า ความเชื่อปีชงเอาไว้หลอกคนโง่ เพราะขายของได้ ทุกอย่างแก้ได้ด้วยการเสียเงิน ขณะที่ความเห็นอีกด้านจาก ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการคนดัง ระบุ คนแก้ชงไม่ใช่คนโง่ แต่เป็นกลไกอย่างหนึ่งในการสร้างความสบายใจ ในยุคที่รัฐไทยไม่สามารถสร้างความมั่นคงในชีวิตได้
The Active พูดคุยประเด็นนี้กับ อภินันท์ ธรรมเสนา ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารสังคมและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ระบุว่า ปีชงถือเป็นหนึ่งในระบบความเชื่อ เป็นสิทธิ์ทางวัฒนธรรม คนมีสิทธิ์ที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ได้ ไม่ควรไปดูถูกดูแคลนว่าคนที่เชื่อเรื่องนี้เป็นคนโง่
“เวลาจะไปวิพากวิจารณ์ใครในระบบความเชื่อ หลักของการเคารพเรื่องความหลากหลายทางวัฒนธรรม ไม่ควรไปว่าใครนับถือสิ่งนี้เป็นคนโง่ เพราะมันเป็นสิทธิ์ของเขาที่เขาจะนับถือ หรือไม่นับถือ”
อภินันท์ ธรรมเสนา
นักมานุษยวิทยา ยังมองว่า หากปีชงเป็นระบบความเชื่อที่เกิดขึ้นแล้วดำรงอยู่ได้ ก็เพราะว่า มีหน้าที่หรือฟังชันก์บางอย่าง หรือมีบทบาทหน้าที่ ที่ทำให้คนในสังคม มีความรู้สึกปลอดถัย ระบบความเชื่อเหมือนมารองรับ หรือสร้างความมั่นคงได้ คนที่เชื่ออาจไม่มีความหวัง แต่นี่คือความหวังที่คิดว่าจะเป็นทางออก ซึ่งแต่ละคนมีวิธีการแก้ปัญหาที่ต่างกัน ถ้าบางคนมีเงินก็อาจจะไปทำอย่างอื่น เช่นเที่ยวเมืองนอกให้สบายใจ แต่นี่คือความหวังท่ามกลางเศรษฐกิจที่แย่ ชีวิตดูไม่มีความมั่นคงอะไร ก็เป็นความเชื่อว่า แก้ชงแล้วก็อาจจะดีขึ้น เป็นคล้าย ๆ กุศโลบายที่ช่วยทำให้เขามีความผ่อนคลายในจิตใจ หรือสบายใจว่าชีวิตจะดีขึ้น
“มนุษย์ทุกคนมันอยู่ด้วยความหวัง หาสิ่งที่หล่อเลี้ยงความหวังของเขา เขามีโอกาสที่จะคิดหาทางที่จะไป ให้ดูเหมือนว่าชีวิตไม่ได้สิ้นไร้ไม้ตอก“
อภินันท์ ธรรมเสนา
แนะหากลไกควบคุม คนหาประโยชน์จากความเชื่อ
อภินันท์ ยังมองว่า ระบบความเชื่อปฏิเสธไม่ได้ แต่เรื่องจะใช้ความเชื่อไปหลอกคน ต้องดูว่าเกินเลยไปหรือไม่ เช่น การหลอกดูดวง ต้องทำพิธีกรรมเสียเงิน เสียทองจำนวนมาก อาจจำเป็นต้องควบคุม ในปัจจุบันที่สายมู กลายเป็นปรากฎการณ์ขนาดใหญ่ ความเชื่อเป็นธุรกิจที่มีเงินจำนวนมาก ที่ไม่เคยถูกตรวจสอบ เพราะว่าเป็นเรื่องความพึงพอใจ ความสมัครใจ
แต่อีกด้านก็มองได้ว่า เป็นความเปราะบางของสังคม ที่ไม่มีหลักอะไรยึด จึงต้องไปพึ่งสิ่งเหล่านี้ มากกว่านั้นกลไกของรัฐ ก็ไม่มีการควบคุมสิ่งนี้ ทำให้คนบางกลุ่ม อาจจะเอาเปรียบคนที่มีความเชื่อ
“เมื่อเต็มใจจะจ่าย เขาก็อาจเชื่อว่ามันอาจจะคุ้มก็ได้ เรื่องนี้เราไปตัดสินไม่ได้ว่ามันควรทำหรือไม่ควรทำ เป็นเรื่องของคน 2 ฝั่งที่คุยกัน แล้วต่างคนต่างยอมจ่าย เพื่อความสบายใจของตัวเอง”
อภินันท์ ธรรมเสนา
ทั้งนี้จากปรากฎการณ์สายมู สู่การแก้ปีชง มองได้ว่า คนเริ่มรู้สึกไม่มีความมั่นคงในชีวิตมากพอ จึงหันไปพึ่งพาสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ เพราะกลไกของรัฐ ยังไม่มีระบบที่จะให้ความช่วยเหลือดูแลได้ดีพอ ถ้ารัฐมีระบบสวัสดิการที่ดี มีนโยบายที่ดี ที่ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน ปรากฎการณ์เหล่านี้ก็อาจจะไม่มีก็ได้ หรืออาจจะมีอยู่แต่ไม่หมกหมุนขนาดนี้
แต่รัฐเองก็หาความมั่นใจอะไรไม่ได้เลย ความมั่นคงของคนที่จะอยู่ในประเทศนี้ พรุ่งนี้จะเป็นยังไงยังไม่รู้เลย มนุษย์ทุกคนก็คาดหวังว่าจะดีขึ้น เช่น ถ้ามีนโยบายที่ดีว่า อีก 3 ปีข้างหน้า ผู้คนไม่ต้องเดือดร้อนที่จะหาเงินมารักษาตัวเอง เพราะรัฐจัดการดูแลได้ แต่เพราะคนไม่มีความมั่นใจ สิ่งนี้อาจจะเรียกว่าเป็นความล้มเหลวของรัฐ ในแง่ของการจัดระบบสวัสดิการ ที่ทำให้ประชาชนมีความรู้สึกมั่นคงในชีวิต
”ถ้าคนมันไม่มีความมั่นคงก็จะไปหาทางนี่แหละ และเรื่องแบบนี้ก็ทำให้เป็นช่องทางให้คนกลุ่มนึง ที่เข้ามาใช้โอกาสนี้แสวงหาประโยชน์ เรียกเงินจำนวนมาก เข้าข่ายหลอกลวง แต่กฎหมายก็เอื้อมไปไม่ถึง เพราะตกลงปลงใจระหว่าง 2 ฝ่าย แต่ท้ายที่สุด เรากลับมามองว่า รัฐควรมีกลไลเชิงนโยบาย ที่ทำให้สังคมรู้สึกว่าใช้ชีวิตมีเสถียรภาพ มีความมั่นคง มีความหวังได้“
อภินันท์ ธรรมเสนา ทิ้งท้าย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง