ฮีลใจตัวเองได้ไม่ต้องมู สุขภาวะทางปัญญา นโยบายที่รัฐบาลใหม่ยังไม่พูดถึง

การเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ สังคม และการใช้ชีวิตของผู้คนที่เต็มไปด้วยความวิตกกังวลบนความไม่แน่นอน จนบางครั้งคุณอาจบ่นออกมาเบา ๆ ว่า “ชีวิตไม่เป็นดั่งใจ” ทำให้คนจำนวนไม่น้อยพยายามหาสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ คนไทยเชื่อเรื่อง “โชคลาง” คนรุ่นใหม่หลายคนก็ไปทาง “สายมู” นอกเหนือจากนี้แล้วยังมีอะไรบ้างที่ให้ใจที่เคว้งได้ยึดเหนี่ยว

“สุขภาวะทางปัญญา” หรือ “สุขภาวะทางจิตวิญญาณ” (Spiritual Health) ค่อย ๆ เติบโต มีผู้คนให้ความสนใจตลอด 20 กว่าปีที่ผ่านมา และในปีนี้ยังเป็นครั้งแรกที่เอาเรื่องที่เป็นนามธรรมมาจัดประชุมวิชาการระดับชาติ รวมถึงมหกรรมพบเพื่อนใจ : Soul Connect Fest 2023 ที่เพิ่งผ่านพ้นไป มีผู้เข้าร่วมกระบวนการฮีลใจ หาเครื่องมือเพื่อดูแลตัวเอง วิธีการเมื่อต้องเผชิญกับความทุกข์โดยไม่ต้องไปมูของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วย

ถ้าคุณเชื่อในอำนาจที่อยู่เหนือตรรกะวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ทำไมจะไม่ลองเชื่อในสิ่งนี้ดูบ้างล่ะ..

บรรยากาศภายใน ลิโด้ คอนเนคท์ สยามสแควร์ เมื่อ 19-20 ส.ค.ที่ผ่านมา มีผู้คนที่ลงทะเบียนล่วงหน้า และผู้ที่สนใจร่วมกิจกรรมหน้างานนับหมื่นคน โดยที่ 50 กว่ากระบวนการที่เครือข่ายด้านสุขภาวะทางปัญญาจากทั่วประเทศขนมานั้น ไม่มีการมู หรือขายเครื่องรางให้เช่าบูชา

แต่ถ้าจะมีอะไรที่เหมือนกัน ก็อาจเป็นการก้าวเท้าออกจากบ้านของผู้คนในวันนั้น หวังว่าจะมีความความสุขในชีวิต หรือการรับมือกับความทุกข์ไม่ให้บอบช้ำกับจิตใจจนเกินไป

หมอดูตอบเราได้ แต่ก็ไม่เท่าเราตอบคำถามตัวเอง

ชุติมา ภู่มาก – กี้ ครูโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งย่านปริมณฑล เล่าให้ฟังถึงการเติบโตในอาชีพซึ่งกำลังไปได้ดี แต่ในเวลาเดียวกันอาการคิดถึงบ้านเป็นสิ่งที่รบกวนจิตใจ

คุณเหลือเวลาในชีวิตอีกเท่าไหร่ (Life Countdown) เป็นคำถามเริ่มต้นในกิจกรรม กี้ กำหนดวัน เวลาที่คาดเดาว่าจะตาย แสดงเปอร์เซ็นต์เวลาที่เหลืออยู่ สุ่มสาเหตุการตาย ซึ่งบางคนจากไปอย่างไม่ทันตั้งตัว สิ่งนี้จะกระตุ้นให้เราตระหนักว่าเรามีเวลาในชีวิตจำกัด จึงควรเริ่มลงมือทำสิ่งสำคัญด้วยความไม่ประมาท ก่อนเวลาจะหมดลง ภายหลังการร่วมกิจกรรม กี้ ตัดสินใจว่ารุ่งเช้าวันถัดไปเธอจะเข้าไปคุยกับผู้บริหารเพื่อขอย้ายกลับไปสอนที่บ้านเกิด

“ตลอดการทำกิจกรรม วิทยากรมีเทคนิคที่พาความคิดที่วุ่นวายของเรา ลงไปแตะกับความรู้สึกจนตอบคำถามในใจของเราได้จริง ๆ ซึ่งก่อนหน้านี้เราก็เคยถามหมอดูตามที่คนแนะนำมาบ้าง แต่พอกลับมาก็ไม่ช่วยเราได้เท่ากับครั้งนี้ ที่เราถามใจตัวเอง”

ทุกข์ เพราะเอาชีวิตไปเปรียบเทียบกับคนอื่น จนมองไม่เห็นตัวเอง

พัชร์ดนัย ขำเกิด อาชีพวิศกร ที่ต้องการดูว่าในสังคมปัจจุบัน ผู้คนรู้สึกอย่างไรกับตัวเอง และคนอื่น ๆ ผ่าน แจกันมนุษย์ : เราต่างเบ่งบานในแบบที่ตัวเองเป็น ด้วยการปักดอกไม้ใส่แจกันที่ตรงกับความรู้สึกของตัวเอง เช่น โดนบูลลี่ ให้อภัยตัวเองไม่ได้ วันจันทร์อีกแล้วหรอ กลัวความไม่สมบูรณ์แบบ ไม่เห็นความหมายในชีวิต เพื่อพบว่าดอกไม้ของคุณไม่ได้โดดเดี่ยว แต่อาจเพียงเพราะหลงลืมคุณค่าในตัวเอง

“ที่ชอบมากก็คือ ‘แจกันชีวิตที่สมบูรณ์แบบ’ เราเห็นว่าเป็นแจกันเดียวเลยที่ไม่มีดอกไม้ปักอยู่ ทำให้เรารู้ที่ผ่านมาไม่ได้มีแค่เรานะที่รู้สึกว่าชีวิตมันไม่ได้ดั่งใจ แต่เรากำลังเปรียบเทียบกับมาตรฐานอะไรบางอย่าง เช่น วัตถุ ขณะที่เราก็ได้เห็นแจกันอื่น ๆ ว่าความทุกข์ของคนในปัจจุบันมันหลากหลายมาก และทบทวนเพื่อทำให้เราอยู่กับปัจจุบันอย่างมีความสุขมากขึ้น”

ออกแบบวาระสุดท้าย เพื่อเริ่มชีวิตที่มีเป้าหมาย

พันธกานต์ อินต๊ะมูล เคน เป็นอีกหนึ่งคนที่ต่อคิวเข้าไปในบูธ The last photo – ภาพทรงจำ

ธำรงรัตน์ บุญประยูร หรือ พี่ตุ่ย ช่างภาพอิสระ ชวนเลือกภาพถ่ายให้กับงานศพของตัวเองและกำหนดวันตายเป็นกิจกรรมที่ฟังดูเศร้า ได้รับความสนใจอย่างมากจากคนทุกช่วงวัย และถึงแม้จะต้องสนทนาถึงความตายของตัวเอง แต่ก็เต็มไปด้วยรอยยิ้มที่เบิกบาน

แม้จะเป็นคนรุ่นใหม่ แต่เคนก็ตั้งคำถามถึงเวลาชีวิตมาโดยตลอด ซึ่งตลอด 20 กว่านาทีของการถ่ายภาพ สลับกับการพูดคุยกับพี่ตุ่ย เคนก็พบว่าเราสามารถกำหนดเวลาในชีวิตของตัวเองได้ The last photo ช่วยกระตุกความคิดของเราผ่านบรรยากาศงานศพของตัวเอง ทำให้ได้ทบทวนว่าวันนี้เราดูแลสุขภาพ กินอาหารดี ๆ หรือยัง รวมถึงการจัดเตรียมวาระสุดท้ายของชีวิตถ้าเราพูดไม่ได้ ว่าต้องการจากไปแบบไหน

“ภาพนี้ผมเลือกเองเพราะว่าผมฟันหลอ และกำลังจัดฟันอยู่ ซึ่งอนาคตหน้าตาผมอาจเปลี่ยนไป ผมว่านี่เป็นเวอร์ชั่นเดิมที่ผมอยากเก็บไว้ให้ทุกคนเห็นในงานศพของผมว่าผมมีความสุขดี ไม่ต้องห่วง ตอนนี้ก็สั่งเสียทุกอย่างไว้หมดแล้วในสมุดเบาใจ”

จากการสอบถามผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรม เกิน 90% ของผู้เข้ารวมกว่า 1 หมื่นคน พบว่า ต้องการให้มีพื้นที่รูปแบบนี้เพิ่มมากขึ้น และเชื่อว่าหากมีกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมหรือสร้างความมั่นคงทางจิตใจ จะให้จัดการความทุกข์ส่วนตัว และความทุกข์ของสังคมได้ โดยส่วนใหญ่เห็นว่า การสร้างความมั่นคงทางจิตใจ ต้องอาศัยกระบวนการ และการเปิดพื้นที่ให้เข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น สอดคล้องกับแบบสอบถามคนรุ่นใหม่เกี่ยวกับมายาคติหลัก 8 ประการ ที่เป็นเส้นทางตามชุดความคิดในสังคม ที่คนรุ่นใหม่ต่างคิดว่าคือเส้นทางของความสุข คือ เส้นทางทุนนิยม บูชาเงินและความสำเร็จ สุขจากวัตถุนิยม ชีวิตดีแบบในโซเชียล มายาคติความงาม ค่านิยมบูชาเกรดและคนเก่ง ค่านิยมตามวัย มายาคติเรื่องความรัก และมายาคติเรื่องบทบาทครอบครัว มายาคติเหล่านี้ทำให้ชีวิตของคนรุ่นใหม่เป็นทุกข์ และมักไม่ค่อยรู้ตัวว่ากำลังเดินหลงไปกับเส้นทางเหล่านั้น

สุขภาวะทางปัญญา นามธรรมที่วัดได้

รศ.ดร.รัตติกรณ์ จงวิศาล อาจารย์ประจำสาขาจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ ภาควิชาจิตวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศึกษาความสัมพันธ์ของสุขภาวะทางปัญญาที่ส่งผลต่อการทำงาน ทั้งในประเทศกลุ่มตะวันออกและตะวันตก ผู้ที่นับถือศาสนาและไม่นับถือศาสนา ตลอด 12 ปีที่ผ่านมา นำมาสู่การวิจัยสุขภาวะทางปัญญาในบริบทของสังคมไทย เรื่อง “แนวคิด และองค์ประกอบสุขภาวะทางปัญญา ในคนวัยทำงานของสังคมไทย” เพื่อสร้างเครื่องมือวัด และตัวชี้วัดสุขภาวะทางปัญญาในคนวัยทำงานของสังคมไทย

ผลการวิจัยได้ค้นพบตัวชี้วัดสุขภาวะทางปัญญาของคนในวัยทำงานของสังคมไทย ซึ่งประกอบด้วย 3 มิติ

1. ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสุขภาวะทางปัญญา หมายถึง การที่บุคคลรับรู้และเข้าใจความเป็นจริงทางจิตวิญญาณ ความเป็นจริงภายในตนเองทั้งในระดับทั่วไปและระดับสัจธรรม เช่น การเห็นคุณค่าในตนเอง เห็นคุณค่าของงาน คุณค่าของชีวิต มีความสัมพันธ์ที่ดีกับตนเอง ผู้อื่น และธรรมชาติ

2. สภาวะบ่งชี้การมีสุขภาวะทางปัญญา หมายถึง การมีพฤติกรรมและจิตใจที่แสดงให้เห็นถึง การมีชีวิตที่สมดุล มีสัมพันธภาพที่ดีกับคนรอบข้าง มีสติ ยอมรับตนเอง สงบ มีเป้าหมายที่มีคุณค่า และมีใจแผ่กว้าง

3. ปัจจัยเกื้อหนุนสู่การมีสุขภาวะทางปัญญา หมายถึง การฝึกปฏิบัติทางจิตวิญญาณ ทั้งการฝึกปฏิบัติภายนอก และฝึกปฏิบัติทางจิตใจ เช่น การสะท้อนใคร่ครวญ ความเอื้ออาทร เสียสละ มีความรักความเมตตาต่อผู้อื่น มีกัลยาณมิตร และมีกิจกรรมทางจิตวิญญาณ เช่น การทำสมาธิ ภาวนา ทำงานจิตอาสา เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีการศึกษาเรื่อง “การพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมภาวะผู้นำเชิงจิตวิญญาณ สำหรับผู้นำในองค์การ” โดยศึกษากับผู้นำในองค์การ จำนวน 62 คน แบ่งเป็นกลุ่มทดลอง จำนวน 32 คน ซึ่งเป็นผู้นำที่เข้ารับการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาภาวะผู้นำเชิงจิตวิญญาณ และกลุ่มควบคุม จำนวน 30 คน ซึ่งเป็นผู้นำที่ไม่ได้เข้ารับการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาภาวะผู้นำเชิงจิตวิญญาณผลการวิจัยพบดังนี้

กลุ่มทดลอง ก่อนการทดลองมีค่าเฉลี่ยสุขภาวะทางปัญญา เท่ากับ 3.82 และหลังการทดลองมีค่าเฉลี่ยสุขภาวะทางปัญญาเพิ่มขึ้นเป็น 4.40 ก่อนการทดลองมีค่าเฉลี่ยภาวะผู้นำเชิงจิตวิญญาณ เท่ากับ 3.72 และหลังการทดลองมีค่าเฉลี่ยภาวะผู้นำเชิงจิตวิญญาณเพิ่มขึ้นเป็น 4.34

ส่วนในกลุ่มควบคุม ก่อนการทดลอง มีค่าเฉลี่ยสุขภาวะทางปัญญา เท่ากับ 4.30 และหลังการทดลองมีค่าเฉลี่ยสุขภาวะทางปัญญาเพิ่มขึ้นเป็น 4.36 ก่อนการทดลองมีค่าเฉลี่ยภาวะผู้นำเชิงจิตวิญญาณ เท่ากับ 4.21 และหลังการทดลองมีค่าเฉลี่ยภาวะผู้นำเชิงจิตวิญญาณเพิ่มขึ้นเป็น 4.29

จากผลการทดลองพบว่า หลังการฝึกอบรม ผู้นำที่ได้รับการฝึกอบรมหลักสูตรการพัฒนาภาวะผู้นำเชิงจิตวิญญาณมีภาวะผู้นำเชิงจิตวิญญาณสูงกว่าผู้นำที่ไม่ได้เข้ารับการฝึกอบรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แสดงให้เห็นว่า ภาวะผู้นำเชิงจิตวิญญาณสามารถพัฒนาได้โดยใช้โปรแกรมการฝึกอบรม

“เราพบว่าการพัฒนาโปรแกรมหรือการจัดกิจกรรมส่งเสริมการพัฒนาสุขภาวะทางปัญญา การพัฒนาจิตวิญญาณในการทำงาน ตัวอย่างบริษัทชั้นนำระดับโลก เช่น กูเกิล แอปเปิล หรือบริษัทอื่นๆ ที่มีการจัดให้มีผู้ให้คำปรึกษาด้านจิตวิญญาณ จะช่วยให้คนในองค์การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับตนเอง ผู้อื่น สังคม และช่วยให้มีความสุขที่แท้จริงในการทำงาน นอกจากนี้อาจจะช่วยแก้ปัญหาทางจิตใจที่คนในสังคมปัจจุบันเผชิญอยู่ทุเลาลงได้”

รศ.รัตติกรณ์ จงวิศาล

สุขภาวะทางปัญญา ความรู้สึกที่จำเป็นต้องมีอยู่ในนโยบาย

ความจริงแล้วนโยบายสาธารณะที่มีจิตวิญญาณ (Spiritual Health) เป็นมิติหนึ่งของสุขภาพ ตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ ปี 2550 และเป็นเรื่องหนึ่งภายใต้ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 2 ซึ่งประกาศใช้มาตั้งแต่ปลายปี 2559 และถ้าจะให้พูดให้เห็นถึงความสำคัญกว่านั้น ยังถูกกำหนดให้เป็น 1 ใน 17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable  Development Goals: SDGs) ในเป้าหมายที่ 3 Good health and Well-being โดยนิยามว่า สุขภาวะทางจิตวิญญาณ (Spiritual well-being) คือการรู้ผิดชอบชั่วดี การไม่ยึดถือตัวตนอัตตา การเข้าใจและเท่าทันความรู้สึกนึกคิดของตัวเอง ซึ่งมิตินี้ทำให้มีการเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์

อย่างไรก็ตาม ความเข้าใจเพื่อนำไปสู่การออกแบบนโยบายด้านต่าง ๆ มีค่อนข้างน้อย เช่นเดียวกับการที่เราถามคนในสังคมอาจจะขมวดคิ้วด้วยความสงสัย ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เพราะแม้แต่เวทีประชุมวิชาการระดับชาติ เครือข่ายความรู้สุขภาวะทางปัญญา ก็เพิ่งจัดขึ้นครั้งแรกในปีนี้นี่เอง

หากแต่ ผศ.อรอร ภู่เจริญ ผู้อำนวยการสถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หนึ่งในภาคีเครือข่ายด้านสุขภาวะทางปัญญาที่ขับเคลื่อนประเด็นนี้มากว่า 20 ปี มองว่า สังคมจำเป็นต้องพูดเรื่องนี้ให้เป็นปกติ หยุดคิดว่าเป็นเรื่องที่เป็นนามธรรม หรือเกิดขึ้นจริงไม่ได้ เพราะในปัจจุบันมีหลายแนวคิดที่ถูกเขียน เล่าเรื่องโดยประชาชน จนนำไปสู่การปรับแก้หรือเขียนหรือแก้ไขกฎ กติกา ต่าง ๆ

“บ้านเราเด่นชัดมากเรื่องการทำให้สุขภาวะทางปัญญาในระดับปัจเจก นำไปสู่นโยบายสาธารณะ ยกตัวอย่างการตายดีที่เมื่อก่อนนี้เราไม่พูดถึงกันในวงการแพทย์ หลายครอบครัวต้องทนเห็นคนรักทุกข์ทรมานก่อนจากไป ภาคประชาชนกลุ่มหนึ่งก็เลยลุกขึ้นมาทำระบบตายดีให้เกิดขึ้น และผู้รับบริการก็มีความสุข ท้ายที่สุดก็ไปอยู่ในสิทธิ สปสช. โรงเรียนแพทย์สอนเรื่องนี้กันมากขึ้น นี่คือการที่กฎระเบียบต่าง ๆ ถูกปรับตามบริบทของสังคมที่เห็นใจเพื่อนมนุษย์ นี่คือการที่เรามีสุขภาวะทางปัญญาอยู่ในนโยบายสาธารณะ”

ผศ.อรอร ภู่เจริญ

นโยบายสาธารณะที่มีสุขภาวะทางปัญญา ยังอาจกล่าวได้ว่าเป็นแนวทางที่ช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคม เนื่องจากแก่นของสุขภาวะทางปัญญา ประกอบด้วยการนึกถึง ตนเอง ผู้อื่น และ สังคม หรือคือการทำความเข้าใจว่าการกระทำของเราล้วนส่งผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบต่อสังคมโดยรวม เช่น ปัญหาขยะทะเลจากการบริโภค  ภาวะโลกร้อนจากการปล่อยมลพิษ ก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเราไม่เคยคิดว่าจะมีผลตามมาในภายหลัง

หากกล่าวให้เห็นเป็นรูปธรรมที่ใกล้ตัวมากขึ้น นโยบาย “ทวงคืนผืนป่า” ในการเอาคนกลุ่มชาติพันธุ์ออกจากป่าต้นน้ำของอุทยานฯ ผู้คนจำนวนมากต้องย้ายมาลงหลักปักฐานและมองหาโอกาสในเมืองใหญ่ทั่วประเทศ และส่วนใหญ่ยังไม่เคยมีบ้านที่มั่นคงกลายเป็นปัญหาทับซ้อนให้เกิดคนจนเมือง คนไร้บ้านที่เพิ่มมากขึ้น แต่ถ้าเป็นการกำหนดรูปแบบการอยู่ร่วมกันของคนกับป่าด้วยวิถีแนวทางนโยบายสาธารณะที่คำนึงถึงจิตวิญญาณ ภูมิปัญญา ความเชื่อ เห็นถึงคุณค่าของวิถีวัฒนธรรมท้องถิ่น เป็นไปได้หรือไม่ที่สถานการณ์ต่าง ๆ จะคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น

อย่างไรก็ตามในโลกของทุนนิยม ผู้เขียนไม่อาจปฏิเสธว่าการมีนโยบายที่ดี สวัสดิการที่ดีจะทำให้คนมีความสุขขึ้น แต่สุขภาวะทางปัญญา เป็นองค์ประกอบสำคัญของการทำให้ตัวเองมีสุขท่ามกลางสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งงานวิจัยพิสูจน์ว่าความสุขจากวัตถุไม่สามารถเติมความสุขในใจให้เต็มได้

ปัจจุบันจึงยังมีภาพของการสวดภาวนาในสิ่งลี้ลับ เช่าวัตถุมงคล การขาดความเห็นใจต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน จนลืมดูปัจจัยภายในอย่างจิตวิญญาณของตัวเองซึ่งถือเป็นเพื่อนที่ซื่อสัตย์ที่สุด และเป็นศักยภาพแห่งความเป็นมนุษย์ โดยหากงอกเงยจนเกิดขึ้นในระดับสังคม ไม่ว่าจะด้วยนโยบายที่ส่งเสริมสุขภาวะทางปัญญา หรือทำให้นโยบายด้านต่าง ๆ คำนึงถึงมิติสุขภาวะทางปัญญาของผู้มีส่วนได้เสีย การอยู่ร่วมกันในสังคมก็คงจะมีความเห็นอกเห็นใจ และสงบสุขเพิ่มมากขึ้น

Author

Alternative Text
AUTHOR

รุ่งโรจน์ สมบุญเก่า

หนุ่มหน้ามนต์คนบางเลน สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ชื่นชอบอนิเมะ ทั้งสัตว์บกสัตว์ทะเลล้วนเป็นเพื่อน