ธรรมะ “แดนซ์” ปล่อยจอย-เปลื้องทุกข์ ยุคดิจิทัล

ชวนทำความรู้จัก “Contact Dance” ศาสตร์การเคลื่อนไหวภาวนา ถือกำเนิดตั้งแต่ยุค 70 และยังคงถูกใช้ฮีลใจผู้คนถึงยุคปัจจุบัน

วันนี้(24 ก.พ.67) ในยุคที่สังคมกำลังสับสน เต็มไปด้วย “ความเครียด-ความทุกข์” ตัวเลขของผู้ป่วยจิตเวชที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้คนต่างแสวงหาที่ยึดเหนี่ยวจิตใจที่หลากหลาย การสวดมนต์ ภาวนา กระแสหลักอาจไม่ใช่ทางเลือกเดียวของการ เข้าถึงจิตวิญญาณในตัวเองอีกต่อไป เนื่องในวันสำคัญทางศาสนา “วันมาฆบูชา” ที่หลายคนอาจจะเลือกฝึกสติ สมาธิตามวิธีของตัวเอง The Active ชวนทำความรู้จัก Contact Improvisation หรือ “Contact Dance” อีก ศาสตร์การเคลื่อนไหวภาวนา ซึ่งถือกำเนิดตั้งแต่ยุค 70 และยังคงถูกใช้ในการฮีลใจผู้คนมาจนถึงยุคปัจจุบัน กับ นิธิพัฒน์ (อ๋อง) พลชัย ศิลปินนักเต้น อาจารย์ และนักฟิสิกส์

จุดกำเนิด “Contact Dance” ศาสตร์การเคลื่อนไหวภาวนา

Contact Improvisation แปลเป็นไทย คือ “การด้นสดของร่างกาย” ไม่ใช่แค่การเต้น การแสดงโชว์ในมิติวัฒนธรรม แต่เป็นมิติทางศาสนา-การภาวนาด้วย… ริเริ่มใน ปี 1972 โดยนักออกแบบท่าเต้น ชาวอเมริกัน “𝗦𝘁𝗲𝘃𝗲 𝗣𝗮𝘅𝘁𝗼𝗻” มีรากฐาน และพัฒนา มาจากการเต้นรำสมัยใหม่ ของกลุ่มการเต้นรำด้นสดในเมืองนิวยอร์ก ผสมผสานกับการฝึกสมาธิ และหลักการต่อสู้แบบตะวันออกอย่าง ไอคิโด และไทเก็ก โดยใช้วิธีการเชื่อมโยงร่างกาย กับ พื้นดิน โดยในช่วง 5 ทศวรรษที่ผ่านมา Contact Improvisation ยังคงเป็นรูปแบบศิลปะที่ล้ำสมัย เปิดกว้างให้สามารถนำไปใช้ และประยุกต์ได้อย่างหลากหลาย

คุณอ๋อง-นิธิพัฒน์ อธิบายเพิ่มเติมว่า จุดกำเนิดของ Contact Improvisation ในยุค 70 เกี่ยวข้อง กับ การรวมกลุ่มกัน ของ นักเต้นในโรงละครยุคนั้น เริ่มแสวงหาอิสระเสรี เพื่อต่อสู้กับ ระบบโครงสร้างอำนาจนิยม แต่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ จึงเลือกฝึกเต้นกันกลายเป็นชุมชน โดย Contact Improvisation สามารถประยุกต์ใช้ได้กับคนทุกเพศ ทุกวัย แม้แต่คนพิการ เพราะขึ้นอยู่กับประสาทการรับรู้ภายใน และสิ่งแวดล้อมภายนอก

แม้จะเต้นคนเดียวในห้อง ก็สามารถเปิดพื้นที่ภายในร่างกาย เพื่อให้เห็นถึง การเชื่อมต่อการสัมผัสต่างๆ ของอวัยวะภายในร่างกาย เปลี่ยนจากการวิ่งตามสิ่งยั่วยุภายนอก กลับมาสู่ ปัจจุบันขณะ (สติ)หรือ เต้นเป็นคู่ เพื่อสร้างความไว้วางใจระหว่าง ตัวเอง กับ คู่ และสิ่งแวดล้อม

นิธิพัฒน์ (อ๋อง) พลชัย ศิลปินนักเต้น อาจารย์ และนักฟิสิกส์

“Contact Dance” เต้นเพื่อเรียนรู้กับตัวเอง เรียนรู้กับกลุ่ม

การเต้นภาวนาในลักษณะนี้ใช้การฝึกที่ประยุกต์ได้หลายรูปแบบ ฝึกเต้นคนเดียว เป็นคู่ หรือเป็นกลุ่ม ยกตัวอย่างเช่น

  • Small dance : การทำสมาธิแบบง่าย คล้าย “การยืนสมาธิ” เพื่อสแกนร่างกายเพื่อหาความเครียดส่วนเกิน และปล่อยให้ร่างกายอยู่ในแนวเดียวกัน เพื่อให้เห็นการเรียงกันของกระดูก กล้ามเนื้อ การทำต่อเนื่องจะทำให้ผู้ฝึก เจอพลังงานภายในภายในตัวเอง
  • Weight-sharing, Counterbalance : “การถ่ายน้ำหนัก สร้างสมดุลร่างกายระหว่างคู่” ช่วยให้สามารถรับรู้ถึงการ “เท” น้ำหนักผ่านคู่ จากจุดศูนย์กลางของตนไปสู่โครงสร้างของคู่ การแบ่งพื้นที่ระหว่างตัวผู้ทำกับเพื่อน ไม่จดจ่ออยู่ที่ส่วนใด ส่วนหนึ่งของร่างกายเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการถ่ายเทน้ำหนัก เพื่อรับรู้ไปยังจุดอื่นๆ ของร่างกายด้วย เป็นต้น

ผู้ที่สนใจเรียนรู้ท่าทางต่างๆ จากการเต้นลักษณะนี้ สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จาก Fundamentals of Contact Improvisation

ปัจจุบันในโลกที่เต็มไปการแข่งขัน การอยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ อยู่กับฐานกายของตัวเอง เป็นสิ่งที่ถูกลืม และมีทางเลือกน้อย คุณอ๋อง-นิธิพัฒน์ มองว่า Contact Improvisation เป็นทางเลือกหนึ่งของผู้คนในปัจจุบันที่แม้จะยังไม่แพร่หลาย แต่เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการเพิ่มความสุข สร้างสุขภาวะให้ผู้คน โดยเฉพาะในปัจจุบันในยุคที่เทคโนโลยีเปิดกว้าง การทำความเข้าใจคำว่า “พุทธศาสนา” ก็ไม่ได้มีแบบเดียว แต่ความจริงก็คือ ทุกคนในสังคมควรคู่กับการมีสุขภาวะที่ดี ศาสตร์เหล่านี้จึงงอกเงยมาจากความต้องการที่หลากหลาย ตามจริต ช่องทางของแต่ละคน เพื่อค้นหาจิตวิญญาณที่หลากหลาย

ในยุคหนึ่ง หลายคนรู้สึกว่า ศาสนา เข้าถึงยาก เป็นแค่เรื่องของความเชื่อ วัฒนธรรมเฉพาะของคนบางประเทศ แต่พอมีช่องทางอื่น มีทางเลือกใหม่ๆ แต่ยังคงมีหลักคิดที่เชื่อมโยงกับ สติ-สมาธิ จึงทำให้ศาสนาดูมีเสน่ห์ มีภูมิปัญญาที่หลากหลายมากขึ้นในยุคดิจิทัลแบบนี้…

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active