#กินทะลุฟ้า ถามหาประชาธิปไตยความมั่นคงทางอาหาร

“การเลือกอาหาร ก็เหมือนการโหวตเลือกตั้ง การกินเปรียบเสมือนการเลือก และกำหนดชะตาชีวิตเราเหมือนกันนะ ถ้าเรามีช่องทางให้เลือกได้บ้าง ประเด็นคือ ตอนนี้ในทางปัจเจกแทบจะเลือกไม่ได้ ดังนั้น ต้องหันมาทำเชิงโครงสร้างให้เลือกได้มากขึ้น มีพื้นที่ให้คนเล็กคนน้อย วิสาหกิจชุมชน ไม่ปล่อยให้ทุนใหญ่ฮุบไปหมด…”

กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา รองผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี และผู้ประสานงานกินเปลี่ยนโลก

กินทะลุฟ้า เป็นกิจกรรมเล็ก ๆ ที่จัดขึ้นในพื้นที่จัดกิจกรรมที่เรียกว่า หมู่บ้านทะลุฟ้า ข้างทำเนียบรัฐบาล แหล่งรวมพลเครือข่ายฯ ที่ออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมจากปัญหาโครงสร้างอำนาจของรัฐ ที่พวกเขามองว่ากำลังถูกกดทับหลายด้าน รวมถึงทางเลือกอาหาร ที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องเล็ก แต่เป็นเรื่องสำคัญที่สะท้อนถึงสิทธิการเข้าถึงอาหาร การเลือกกินได้อย่างมีเสรีภาพ

กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา รองผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี และผู้ประสานงานกินเปลี่ยนโลก ระบุว่า ระบบอาหารที่ผูกขาด ก็เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง เป็นปัญหาของภาคประชาชน ทั้งแง่ของผู้ผลิต และผู้บริโภค ที่ควรมีสิทธิ์ กำหนดระบบอาหาร ที่ผ่านมาไทยมีบทเรียนเรื่องการเรียกร้องให้ยกเลิกใช้สารเคมีทางการเกษตรที่กระทบต่ออาหารปลอดภัย และสุขภาพของคนกิน ก็เห็นชัดว่าเป็นเส้นทางที่ยากลำบาก เช่นเดียวกับกระบวนการเรียกร้องประชาธิปไตย ที่ยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่องหลายปี

ขบวนการทะลุฟ้า จึงเป็นอีกเสียงสะท้อนที่ทำให้คนทั่วไปรับรู้ว่า สังคมไทยยังมีปัญหาอีกมากมาย ไม่เว้นแม้แต่เรื่อง “อาหาร” ที่ถือว่าเป็นเรื่องของทุกคน เป็นเรื่องพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับ ระบบเศรษฐกิจ เกี่ยวข้องกับการผลิตอาหาร และภาคการเกษตร

“แต่ที่ผ่านมาการผลิตอาหาร ผูกขาดและมีปัญหา สร้างทั้งปัญหาความเป็นธรรม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ สิ่งนี้สะท้อนว่าอาหารเป็นประเด็นทางการเมือง ไม่สามารถแยกขาดจากกันได้ กระบวนการประชาธิปไตยที่เริ่มโดยคนรุ่นใหม่ ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า ปัญหาทุกปัญหาที่ไม่ได้รับการแก้ไข ล้วนเริ่มจากประชาชนไม่มีสิทธิ์ มีเสียง ที่จะกำกับ ผลักดัน…”

กิ่งกร ย้ำว่า อาหารเป็นเพียงตัวอย่างเดียวที่สะท้อนว่ากำลังเกิดปัญหาไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเรื่องอื่น พร้อมยืนยันว่า ประชาธิปไตย เป็นปัจจัยสำคัญของการกำหนดชะตากรรมประชาชนทั้งประเทศ ทั้งเรื่องของกิน การผลิต ขนส่ง ทางเท้า ฯลฯ ยิ่งเป็นเรื่องกิน ยิ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทุกคน เพราะทุกคนต้องกินครบ 3 มื้อ

โดยยกตัวอย่างปัญหาในประเทศไทยที่พบว่า ตอนนี้ ทุนใหญ่เกษตร อุตสาหกรรมขนาดยักษ์ เข้ามายึดครองวิถีการผลิต หรือ ระบบการกระจายอาหาร ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องเดียวกันกับประชาธิปไตย หากสามารถกำหนดการปลูกการกินของเราได้ ก็เหมือนกับการมีประชาธิปไตยที่ทำให้ เราสามารถจัดการกับ อาหารที่เอาใส่ร่างกายวันละไม่ต่ำกว่า 3 มื้อได้เช่นเดียวกัน

กิ่งกร ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบัน ไทยพบการควบรวมซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า อนุญาตให้บริษัท ห้างร้าน ถือครอง Modern Trade (MT) ร้านค้าขายปลีกสมัยใหม่มากกว่า 70% พร้อมกับตั้งคำถามว่านี่สามารถเรียกว่า “การเมืองเอื้อประโยชน์ให้กับทุนใหญ่ได้หรือไม่” เมื่อมีอำนาจผูกขาดคนเล็กคนน้อยจะเหลืออะไร ถึงวันนี้เราเลือกกินไก่พื้นบ้านได้มากน้อยแค่ไหน นี่ยังไม่นับรวมผลกระทบจากการผลิตอาหารเลี้ยงสัตว์ ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและปัญหาหมอกควัน

ข้อเสนอในเวลานี้จึงต้องการจะเห็นเกษตกรรายย่อย กับผู้บริโภคเจอกันตรงได้มากที่สุด

“เราต้องค้นหาและช่วยกันส่งเสริมเกษตรกรรายย่อย โดยเริ่มจากตัวเอง และค่อยขยับให้ผู้บริโภคมีอำนาจ อย่าให้ใครกำหนดเราเพียงอย่างเดียว ควรมองหา และสร้างทางเลือก”

จากนั้น ต้องร่วมกันเรียกร้องให้สังคมทางการเมืองเป็นประชาธิปไตยและฟังเสียงของประชาชนมากขึ้น เห็นประโยชน์ของประชาชนมากขึ้น พร้อมกับทิ้งท้ายว่าเวลานี้ อาหารก็เป็นเรื่องการเมือง เพราะระบบการผลิตที่ผูกขาด และกำหนดให้เรากิน ทั้งหมดนี้มีรากปมมาจากปัญหาไม่ฟังเสียงสะท้อนจากประชาชนเช่นเดียวกัน

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน

Alternative Text
PHOTOGRAPHER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์