กมธ.ที่ดินฯ เตรียมประสาน “จิสด้า” เคลียร์ปมแผนที่ พิสูจน์สิทธิทำกินชาวบางกลอย

พร้อมเรียกร้องกระทรวงทรัพยากรฯ เดินตามกลไก MOU ด้าน ภาคี #Saveแก่งกระจาน ขอการแก้ปัญหาไม่เชื่อเพียงข้อมูลด้านเดียว ต้องปกป้องทรัพยากรเพื่อคนทั้งประเทศ ไม่ใช่แค่คนบางกลุ่ม

11 มี.ค. 2564 – ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึง กรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร ลงพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เพื่อตรวจสอบและติดตามการแก้ไขปัญหากรณีบางกลอย

พรพนา ก๊วยเจริญ อนุกรรมาธิการที่ดินฯ สอบถามตัวแทนเจ้าหน้าที่อุทยานฯ โดยเน้นไปที่การตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการอพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่บางกลอยบน-ใจแผ่นดิน ตั้งแต่ปี 2539 โดยเฉพาะประเด็นการจัดที่ดินทำกินให้กับชาวบ้าน ซึ่งพบว่าชาวบ้านบางส่วนประสบปัญหาที่ทำกินไม่เหมาะสมกับการเพาะปลูก กระทบต่อวิถีชีวิต

ขณะที่ปฏิบัติการตาม “ยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร” ที่นำไปสู่การจับกุม ดำเนินคดีชาวบ้าน ในข้อหาบุกรุกแผ้วถางป่า ถูกตั้งคำถามถึงการละเมิดสิทธิชาวบ้าน พบการใช้ความรุนแรง ไม่เปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้พบญาติ พบทนายความ พร้อมตั้งคำถามว่าภาพถ่ายทางอากาศที่พบว่ามีการบุกรุกป่า จนนำไปสู่การจับกุมชาวบ้าน ได้ตรวจสอบข้อมูลที่ชัดเจนแล้วหรือไม่ว่าเป็นการแผ้วถาง หรือ เป็นพื้นที่ทำกินดั้งเดิมของชาวบ้าน

อภินันท์ ธรรมเสนา จากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ตั้งข้อสังเกตต่อโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับชาวบ้านบางกลอย เมื่อพบว่า ตลอด 25 ปีที่ผ่านมาหลังการอพยพชาวบ้านออกมาจากป่ามี 30 หน่วยงานที่เข้าไปให้ความช่วยเหลือผ่าน 121 โครงการ ใช้งบประมาณไปไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท แต่สิ่งที่พบคือชาวบ้านยังคงเผชิญหน้าอยู่กับปัญหาที่กระทบต่อคุณภาพชีวิต จึงตั้งคำถามว่าที่ผ่านมาอุทยานฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเคยประเมินผลความสำเร็จและความคุ้มค่าของโครงการต่าง ๆ บ้างหรือไม่

พร้อมขอให้ใช้โอกาสนี้พิสูจน์การแก้ไขปัญหาให้เกิดความชัดเจน โดยใช้ข้อมูลวิชาการ งานวิจัยมาเป็นแนวทาง เช่น วิถีไร่หมุนเวียนที่ต้องได้รับการยอมรับร่วมกัน นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้ประสานไปยังสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ จิสด้า ให้ช่วยวิเคราะห์แผนที่ภาพถ่ายทางอากาศทั้งปัจจุบัน และย้อนหลัง กรณีข้อถกเถียงพื้นที่ชุมชน พื้นที่ทำกินดั้งเดิม เพื่อให้เกิดความชัดเจน

ทางด้าน นิจิตณาพงศ์ บัณฑิตสมิทร์ ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ในฐานะรักษาการหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ยันยันว่า ทุกกระบวนการตั้งแต่นำชาวบ้านออกมาจากพื้นที่ป่าในอดีตได้ให้การช่วยเหลือในทุกด้านแก่ชาวบ้านอย่างเต็มที่ ขณะที่ ปฏิบัติการที่เกิดขึ้นล่าสุด เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ ที่ต้องดำเนินการเอาผิดชาวบ้านหลังพบการบุกรุกพื้นที่ป่าต้นน้ำจริง หากไม่ทำก็จะถือว่าเป็นการละเว้นปฏิบัติหน้าที่

ขณะที่ วัฒนา วชิโรดม เครือข่ายการจัดการวิกฤตป่าและน้ำ ตัวแทนสมาคมอุทยานแห่งชาติฯ ในนามกลุ่มภาคี #saveแก่งกระจาน เชื่อว่า การแก้ปัญหากรณีบางกลอยเป็นการพูดเพียงด้านเดียว ทั้งที่ความพยายามกลับขึ้นไปบางกลอยบนของชาวบ้าน อาจเกี่ยวข้องในอีกหลายมิติที่หลายฝ่ายแสดงความเป็นห่วง ที่ต้องไม่ลืมคือควรคำนึงถึงมิติทางเศรษฐกิจ ระบบนิเวศ และมิติด้านความมั่นคงด้วย โดยมองว่าคณะกรรมาธิการฯ ต้องแสวงหาข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา ปกป้องทรัพยากรให้กับคนทั้งประเทศ ไม่ใช่แค่คนเพียงบางกลุ่ม

ขณะที่ อภิชาติ ศิริสุนทร ประธานกรรมาธิการการที่ดินฯ ยอมรับว่า กลไกการแก้ปัญหาผ่านข้อตกลงที่ทำร่วมกับรัฐบาล เป็นแนวทางที่ดีที่สุด ที่ทุกฝ่ายควรให้ความสำคัญ ดังนั้นระหว่างที่รอกลไกนี้ทำงาน ไม่ควรจะมีปฏิบัติการใด ๆ เกิดขึ้น จนกว่าจะได้ข้อสรุปที่ครบถ้วนรอบด้าน ไปสู่การแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้าน ส่วนข้อมูล ข้อเสนอในวันนี้ รวมถึงวันพรุ่งนี้ที่จะลงพื้นที่พูดคุยกับชาวบ้านบางกลอย จะถูกรวบรวมและจัดทำข้อสรุปแก้ปัญหากรณีบางกลอย นำเสนอต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต่อไป

Author

Alternative Text
AUTHOR

พงศ์เมธ ล่องเซ่ง

นักข่าวไม่จำกัดสาย จัดให้ได้ทุกประเด็น