“ชาติพันธุ์พีมูฟ” ร้อง กมธ.ชาติพันธุ์ฯ ตรวจสอบกรมอุทยานฯ ออกกฎหมายลูกประกอบ พ.ร.บ.ป่าอนุรักษ์ ละเมิดสิทธิคนอยู่กับป่า

ที่ปรึกษา กมธ.ย้ำ เดินหน้าจัดทำรายงานเสนอผลกระทบกรณีดังกล่าวแล้ว ขณะนักวิชาการชี้อีก 20 ปีอาจไม่มีชุมชนในป่า

กลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอจากชุมชนบ้านแม่ลานคำ บ้านป่าคา และบ้านแม่โต๋ อ.สะเมิงจ.เชียงใหม่ ในนามสมาชิกขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ พีมูฟ ได้เข้ายื่นหนังสือเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2564 ถึง มุกดา พงษ์สมบัติ ประธานคณะกรรมาธิการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ ณ มูลนิธิโครงการหลวง บ้านหนองหอย อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ต่อกรณีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ผลักดันร่างกฎหมายลำดับรองประกอบพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และ พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ที่พวกเขาเห็นว่ามีเนื้อหาละเมิดสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์ จึงขอให้ กมธ. ตรวจสอบการบังคับใช้ พ.ร.บ. ทั้งสองฉบับดังกล่าวและกฎหมายลำดับรองว่ากระทบต่อสิทธิชาติพันธุ์อย่างไรและชี้แจงมาตรการป้องกันผลกระทบต่อกลุ่มชาติพันธุ์

โดยหนังสือมีเนื้อหาระบุว่า เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2564 ได้มีการประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2564 เพื่อพิจารณาร่างกฎหมายลำดับรองประกอบพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 จำนวน 12 ฉบับ และวันที่ 7 กันยายน 2564 ได้มีการประชุมคณะกรรมการพัฒนากฎหมายกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 3/2564 โดยที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบร่างกฎหมายลำดับรองที่ออกตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2563 จำนวน 4 ฉบับ และเตรียมนำเสนอพิจารณารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมลงนามนั้น แสดงให้เห็นถึงการไม่เคารพข้อตกลงในการเจรจา ผลการประชุม และละเลยการรับฟังข้อเสนอของประชาชน

“สิ่งที่เราห่วงกังวลคือเนื้อหาในร่างกฎหมายลำดับรองที่จะกระทบต่อวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ อาทิ วิถีการทำไร่หมุนเวียนอันเป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหารหลักจะถูกจำกัดรอบหมุนเวียน จำกัดการทำกินในพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้น 1 และ 2 อนุญาตให้ทำกินได้เพียงครัวเรือนละ 20 ไร่ คราวละ 20 ปี ให้การใช้ประโยชน์จากพื้นที่ป่า ที่จำกัดเวลาเพียง 20 ปี การดำเนินคดีในพื้นที่ทำกินบรรพบุรุษเพื่อยึดพื้นที่ และการเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติที่จะต้องเสียค่าธรรมเนียมใบอนุญาตถึง 10,000 บาท”

ดังนั้นจึงขอเรียกร้องถึงคณะกรรมาธิการฯ 2 ข้อ คือ 1.ให้ตรวจสอบการบังคับใช้พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๖๒ รวมทั้งร่างกฎหมายลำดับรองทุกฉบับว่าสร้างผลกระทบต่อกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ในประเด็นใดบ้าง และ 2. ให้ชี้แจงมาตรการหรือแนวปฏิบัติร่วมกันระหว่างหน่วยงานและชุมชนเพื่อป้องกันผลกระทบจากพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 รวมทั้งร่างกฎหมายลำดับรองทุกฉบับ รวมทั้งขอข้อมูลการสำรวจพื้นที่ทำกินและพื้นที่การใช้ประโยชน์จากพื้นที่ป่าจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชมาตรวจสอบร่วมกันจนมีข้อยุติ

สุพอ ศรีประเทืองชัย ชาวปกาเกอะญอบ้านป่าคา อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า เมื่อทราบเนื้อหาของกฎหมายลูกประกอบพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 รู้สึกกังวลใจ ในขณะเดียวกันก็ยืนยันว่าชาวบ้านสามารถดูแลป่าให้อุดมสมบูรณ์ได้ โดยไม่ต้องมีกฎหมายอุทยานฯ หากละเมิดสิทธิชุมชน

“เรากังวลเรื่องไร่หมุนเวียนกับเรื่องการเลี้ยงสัตว์มากที่สุด พื้นที่ 300 กว่าปีที่ผ่านมา บรรพชนทำไร่หมุนเวียนซึ่งมันเป็นเรื่องความหลากหลายทางพืชพันธุ์ ผมเกิดมาในยุคนี้ผมดีใจมากที่บรรพบุรุษเราดูแลรักษาป่า แต่พื้นที่เราไม่มีเอกสารสิทธิ์ ยังอยู่ในป่าสงวนฯ ตอนนี้เตรียมการประกาศเป็นอุทยานฯ เขาบอกจะมาเอาป่าเท่านั้นเท่านี้ กล่าวหาว่าเราบุกรุกทำลายป่า จริงๆน่าจะส่งเสริมไร่หมุนเวียนของเรา มากกว่าส่งเสริมพืชเชิงเดี่ยวอีก พวกเรามั่นใจว่าถ้าให้พวกเราดูแลพื้นที่ของบรรพบุรุษ เราก็สามารถดูแลได้ยั่งยืนกว่า” 

ตาแยะ ยอดฉัตรมิ่งบุญ ชาวปกาเกอะญอบ้านแม่ลานคำ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ ในพื้นที่เตรียมการประกาศอุทยานแห่งชาติออบขาน สะท้อนว่า พ.ร.บ. ของกรมอุทยานฯ กระทบกับชาวบ้านโดยตรง ตนอยู่กับอุทยานแห่งชาติออบขานที่กำลังเตรียมการประกาศ นโยบายใหม่ที่กำลังจะมาก็กระทบมาก เจ้าหน้าที่เข้าไปในพื้นที่สำรวจป่าตลอด ชาวบ้านก็ระแวง กลัวเจ้าหน้าที่ ตอนนี้ตนกำลังดำเนินการต่อรองว่าอย่ามาคุกคามชาวบ้าน เพราะกฎหมายก็ออกมาไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนอยู่กับป่า ถ้ากฎหมายออกมาแล้วเป็นอุปสรรคให้คนในป่า ก็จะอยู่กันไม่สงบสุข

“กรรมาธิการฯ ของ ส.ส. ขอให้ช่วยดูแลกฎหมายให้มันชัดเจนหน่อย กฎหมายมันต้องร่างจากประชาชน ร่างให้ครอบคลุมคนอยู่กับป่าที่อยู่กันมานานแล้ว กฎหมายอุทยานฯ มาทีหลัง กฎหมายก็ต้องยุติธรรม ตอนนี้เขาไม่ได้ดูเรื่องความยุติธรรมเลย ชาวบ้านเจอแต่อุปสรรค พอเจอเจ้าหน้าที่ชาวบ้านก็ไม่สบายใจ ทำไมเขามีอำนาจขนาดนั้น จะเข้ามาไม่แจ้งเลย แล้วยิ่งกำลังจะมีกฎหมายแบบนี้เราก็ไม่สบายใจ ซึ่งเห็นว่าควรต้องเป็นโฉนดชุมชน ถ้ามีสิทธิชุมชนเราอยู่ได้ เราอยู่แบบมีขอบเขต มีกฎระเบียบ เรามีกรรมการหมู่บ้าน เราดูแลกันได้” 

“ กมธ. ชาติพันธุ์ฯรับเรื่อง ที่ปรึกษา กมธ.ย้ำเดินหน้าจัดทำรายงานเสนอผลกระทบกรณีดังกล่าวแล้ว ”

ณัฐพล สืบศักดิ์วงศ์ ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการฯ และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล สัดส่วนชาติพันธุ์  เห็นว่ากฎหมายจะกระทบต่อวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ และได้เริ่มดำเนินการจัดทำรายงานผลกระทบจากการประกาศใช้กฎหมาย 3 ฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 จึงได้เตรียมขับเคลื่อนให้เกิดการแก้ไขปัญหา

“ปัญหาการประกาศกฎหมาย 3 ฉบับของกรมป่าไม้และกรมอุทยาน สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เมื่อปี 2562 จะกระทบต่อวิถีชีวิตและการใช้ชีวิตอันเป็นปกติวิสัยของพี่น้อง โดยเฉพาะกับพี่น้องปกาเกอะญอที่อยู่ในป่าเป็นส่วนใหญ่ เราได้จัดทำรายงานเรียบร้อยแล้ว รายงานผลกระทบจากการประกาศใช้ พ.ร.บ. 3 ฉบับนี้กับนโยบายทวงคืนผืนป่า ตอนนี้รายงานเสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ในกรรมาธิการฯ จะขับเคลื่อนสะท้อนให้เห็นภาพชัดว่ามันจะกระทบต่อสิทธิความเป็นพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์อย่างไร รวมถึงกฎหมายลูกที่กำลังเตรียมประกาศออกมาในอนาคต ”

ทั้งนี้ จะทำรายงานเสนอภาพสะท้อนให้กรรมาธิการฯ ได้พิจารณารับรองความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนมากกว่านี้ และแก้ปัญหาให้พี่น้องชาติพันธุ์ทุกกลุ่ม

“ นักวิชาการชี้  อีก 20 ปีอาจไม่มีชุมชนในป่า ”

ก่อนหน้านี้ กฤษฎา บุญชัย นักวิชาการจากสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา กล่าวในเวทีเสวนาออนไลน์“กฎหมายลำดับรองออกตาม พ.ร.บ.อุทยานฯ และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า กับวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์” เมื่อวันที่ 22 ก.ย.ที่ผ่านมา ชี้ถึงข้อห่วงกังวลที่จะเกิดขึ้นหากกฎหมายลำดับรองดังกล่าวมีผลบังคับใช้ ชาวบ้านไม่ได้มีกระบวนการในการให้ความเห็น ร่วมคิด ร่วมออกแบบ ว่าจะใช้ประโยชน์จากที่ดินและทรัพยากรอย่างไรและชาวบ้านจะต่อรองได้ตามเงื่อนไขของกรมอุทยานฯ ที่ไม่เหมาะกับวิถีชีวิตเท่านั้น เช่น กรณีอนุญาตให้ทำกินในพื้นที่ป่าอนุรักษ์คราวละ 20 ปี ซึ่งอาจหมายถึงการล่มสลายของชุมชนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์

“นี่คือโครงการที่จะลดและสลายชุมชนให้หายไปภายใน 20 ปี คนรุ่นปัจจุบันอาจไม่รู้สึกอะไร เพราะเพิ่งเริ่มต้น แต่เมื่อเริ่มไปมากขึ้นและมีระยะเวลา 20 ปี ถ้าเราไม่สามารถสร้างคนรุ่นใหม่แล้วปักหลักในพื้นที่ จะมีลูกหลานของเราจำนวนไม่น้อยขอสละสิทธิในการที่จะอยู่อย่างยากลำบากในชุมชนเหล่านี้ นั่นหมายความว่าชุมชนเหล่านี้ก็จะถูกลบออกจากแผนที่ไป” 

ใครบ้างที่จะมีสิทธิในที่ดินเหล่านี้ 1.คือ ต้องเป็นคนที่มีที่ดินทำกินในอุทยานฯ ภายใต้กรอบระยะเวลาตามมติคณะรัฐมนตรี 30 มิถุนายน 2541 ใครที่ตกสำรวจไปจะมีปัญหา 2.ต้องมีสัญชาติไทยหรืออยู่ระหว่างการยื่นขอสัญชาติไทย แน่นอนต้องมีชนเผ่าบางคนที่ไม่เคยยื่นขอสัญชาติ ก็จะถูกตัดสิทธิไป และ 3. ต้องมีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่โครงการฯ ดังกล่าวเท่านั้น ต้องครอบครองและใช้ประโยชน์ต่อเนื่อง และไม่มีที่ทำกินอื่น ซึ่งในข้อเท็จจริงบางส่วนประกาศพื้นที่ป่าอนุรักษ์แบบคาบลูกคาบดอก เช่น บางส่วนอยู่ในป่าอนุรักษ์ บางส่วนอยู่นอกป่าอนุรักษ์ ซึ่งจะเป็นปัญหา จะกลายเป็นคนมีที่ดินสองที่ ทำให้หมดสิทธิในการมีที่ดินในป่าอนุรักษ์ไปด้วย รวมถึงต้องไม่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ออกจากพื้นที่เหล่านั้นมาก่อน นี่คือวิธีการแบ่งแยก ปกครอง และลิดรอนสิทธิของประชาชน

กฤษฎา ยังวิเคราะห์ว่า เจ้าหน้าที่มีอำนาจในการกำกับดูแลให้ชาวบ้านทำกินในกรอบการอนุรักษ์ จะปลูกป่าฟื้นฟูระบบนิเวศ สร้างความหลากหลายทางชีวภาพ ให้ครอบครอง ทำกิน ใช้ประโยชน์ตามที่กำหนดอย่างเคร่งครัด เจ้าหน้าที่อุทยานฯ จะรายงานถึงอธิบดี ถ้าใครผิดก็จะให้อธิบดีเพิกถอนสิทธิไป ระงับการใช้ทรัพยากร หมายความว่า  เจ้าหน้าที่เห็น หัวหน้าอุทยานฯเห็น หรือตีความเอาเอง เขาก็รายงานไปที่อธิบดี เมื่อเป็นเช่นนี้หมายความว่าความสัมพันธ์ของหัวหน้าอุทยานฯ กับชาวบ้านต้องดีมาก เพราะถ้าไม่ดีเมื่อไหร่ เกิดปัญหาแน่นอนชาวบ้านจะถูกรายงานไปอย่างไรก็ได้ ซึ่งนี่ไม่ใช่สิทธิชุมชน แต่เหมือนเป็นคุก

“มันเป็นคุกชนิดหนึ่งที่ไม่มีลูกกรง แต่เพราะไม่มีลูกกรง เราก็เลยไม่คิดว่าถูกควบคุม แต่เราจะถูกตรวจสอบ เราจะถูกสอดส่องว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่อุทยานฯ อนุญาตหรือไม่ แต่มันเป็นคุกในบ้านเราไง คุกเน้นเรื่องการขังในคุก แต่เมื่อคุณทำผิดเมื่อไหร่คุณถูกเด้งออกไปข้างนอก เราอยากจะเรียกสิทธิภายใต้กฎหมายแบบนี้ว่าสิทธิชุมชนได้จริงๆหรือ”

สำหรับความคืบหน้าร่างกฎหมายลำดับรองประกอบพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2564 ได้มีการประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2564 โดยมีมติเห็นชอบร่างกฎหมายลำดับรองประกอบพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 จำนวนทั้งสิ้น 12 ฉบับ เตรียมประกาศใช้ 8 ฉบับ อีก 4 ฉบับเตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ