วิกฤตซ้อน “11 ชุมชนชาวเล” เดือดร้อนหนักจากโควิด-19 ขาดอาหาร ขาดรายได้ ขาดการมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหา

เครือข่ายภาคประชาชน หนุนเสริมศักยภาพพึ่งพาตัวเอง ดึงภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเสริมองค์ความรู้ ด้วยพืชอาหาร พืชสมุนไพร พร้อมขยายพื้นที่เพาะปลูก และวางแผนรับมือแบบมีส่วนร่วม

ในเวทีออนไลน์ “เสียงจากชาวเลอันดามัน” ที่จัดขึ้นโดยเครือข่ายชาวเลอันดามัน มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติและภาคีเครือข่าย เริ่มต้นด้วยการนำเสนอภาพรวมปัญหาที่กระทบต่อชาวเล 5 จังหวัดอันดามัน  ซึ่งประกอบด้วย ระนอง พังงา กระบี่ ภูเก็ต และสตูล  

ไมตรี จงไกรจักร์ มูลนิธิชุมชนไท กล่าวว่า ชาวเลทั้ง 5 จังหวัด ซึ่งมี 3 กลุ่ม คือ อูรักลาโว้ย มอแกลน มอแกน ทั้งหมด 46 ชุมชน  ประชากรรวมประมาณ 14,300 คน  เป็นกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองดั้งเดิมที่มีปัญหากดทับหลายด้าน ทั้งปัญหาที่ถูกจำกัดด้วยกฎหมาย นโยบายรัฐ ประกาศเขตอนุรักษ์ทับที่ทำกินทางทะเล ต้องออกไปทำประมงไกลขึ้น หรือหากจับสัตว์ทะเลใกล้บ้าน ก็หากินได้แต่ห้ามขาย ทำให้ชาวเลยากจน ขณะที่หลายคนถูกดำเนินคดี ความยากลำบากในการประกอบอาชีพ หาเลี้ยงครอบครัวไม่ได้ หลายคนเปลี่ยนอาชีพรับจ้างในธุรกิจท่องเที่ยว แต่พอโควิดมาทุกอย่างจบ  พอมีการจ่ายเงินเยียวยา แต่กลุ่มนี้ก็เข้าไม่ถึงเพราะไม่มีบัตรประชาชน ไม่มีโทรศัพท์ ไม่มีสมุดบัญชี 

“ วิกฤตโควิดที่ซ้อนทับเข้ามา ยังทำให้เห็นการบริหารจัดการของรัฐที่มองแบบอคติต่อชุมชนชาวเล  หาว่าเป็นชุมชนจัดการยาก ต้องมีมาตรการต่างจากคนทั่วไป ถูกปิดพื้นที่ ขาดรายได้ ต้องเอาข้าวสารอาหารแห้งมาให้ เป็นการลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์  ”

และที่กระทบมาก เช่น ชุมชนชาวเลราไวย์ภูเก็ต ในช่วงวิกฤตแบบนี้ ยังเจอคดี มีตำรวจเข้ามาจับตัวแกนนำเดินหน้าที่ฟ้องร้องคดีข้อพิพาทที่ดิน ส่วนเกาะจำ จ.กระบี่ ก็ลำบาก รัฐไม่ให้ทำกิน ถูกอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะพีพี ไล่รื้อ “บาฆั๊ด” พื้นที่พักพิงหากินหมุนเวียนในทะเลชั่วคราว  และยังมีอีกหลายพื้นที่ ที่ประสบปัญหากดทับทางนโยบาย ขณะที่การดูแลบริหารจัดการในสถานการณ์โควิด ก็ใช้ ศบค.กรรมการโรคติดต่อจังหวัด ซึ่งขาดการมีส่วนร่วมของชุมชน

“ วิกฤตโควิดระบาด กระทบหนัก 11 ชุมชนชาวเล ”

ตัวแทน ชาวเลแหลมตุ๊กแก จ.ภูเก็ต สะท้อนว่า หลังพบผู้ติดเชื้อในชุมชนเมื่อต้นเดือนกันยายน ต้องกักตัว หลายคนไม่ได้ทำงาน ขาดรายได้ สัตว์ทะเลที่พอหาได้ ก็ขายไม่ได้ เนื่องจากมีคนกลัวว่าจะนำเชื้อโควิคไปแพร่  ขณะที่เทศบาลในพื้นที่นำข้าวสารมามอบให้แค่ 10 กิโลกรัม นับตั้งแต่ติดเชื้อ 

ตัวแทนชุมชน ชาวเลหาดราไวย์ จ.ภูเก็ต ตอนนี้ระบาดหนัก ในช่วงกักตัว 14 วัน ถูกปิดพื้นที่ต้องอยู่ในรั้วสังกะสี  แม้วันนี้จะรื้อสังกะสีออกแล้ว แต่เกือบทุกครัวเรือนยังลำบาก  สัตว์ทะเลที่หามาได้ ไม่สามารถนำไปเดินขายได้  ขายในตลาดก็ไม่มีใครมาซื้อ  เวลาไปนั่งขายในตลาดก็ถูกไล่  กลัวจะเอาเชื้อไปแพร่  ทำให้ขาดรายได้ ไม่มีเงินจ่ายค่าน้ำค่าไฟ หลายครอบครัวต้องอยู่กับความมืด ออกมาปูเสื่อนอนนอกบ้าน หรือร้านค้าที่พอมีไฟส่องสว่าง

“ นี่คือสภาพล่าสุดที่ชาวบ้าน 10 หลังคาเรือนถูกตัดไฟต้องมานอนนอกบ้าน สถานการณ์หลังวันที่ 28 กันยายนน่าจะเพิ่มเป็น 30 หลังคาเรือน  ที่นี่ค่าไฟสูงมาก เพราะชุมชนมีปัญหาข้อพิพาทที่ดิน การใช้ไฟต้องขอต่อพ่วง พอพ่วงมาค่าไฟก็แพง ชาวเลต้องรับภาระเดือนละ 2,500-3,000  เมื่อไม่มีรายได้ จึงลำบากกันมากตอนนี้”

นิรันดร์ หยังปาน / ตัวแทนชุมชนชาวเลราไวย์ จ.ภูเก็ต

ด้านชุมชน ชาวเลหินลูกเดียว  จ.ภูเก็ต ตัวแทนชาวเลในพื้นที่สะท้อนว่า ตอนนี้มีการนำเอาคนนอกมากักตัวบริเวณรอบนอกชุมชน ทำให้คนในชุมชนถูกมองในเชิงอคติและหวาดระแวง เนื่องจากเข้าใจว่าคนในชุมชนเป็นผู้ติดเชื้อเช่นกัน ส่งผลให้ทำมาหากินไม่ได้ ขาดรายได้ จึงมีความลำบากเรื่องขาดแคลนอาหารอย่างมาก

ตัวแทน ชาวเลเกาะเหลา จ.ระนอง บอกว่า ตอนนี้ชาวเลมอแกน 7 คนติดเชื้อหายแล้ว แต่ต้องกลับมากักตัวที่บ้าน แต่ชาวเลเกาะเหลาทั้งหมดถูกมองอย่างอคติ ว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงแพร่ระบาด กุ้งหอยปูปลาขายไม่ได้  ขาดรายได้ยากจนต่อเนื่องมาตั้งแต่ก่อนโควิด  ขาดแคลนอาหารจำพวกข้าวสารอาหารแห้งเป็นอย่างมาก  ขณะที่เด็กๆเรียนออนไลน์ไม่ได้ เพราะบางคนไม่มีโทรศัพท์  และไม่ค่อยมีสัญญาณ

เช่นเดียวกับพื้นที่เกาะจำ จ.กระบี่ ตัวแทน ชาวเลเกาะจำ สะท้อนว่า เด็กๆมีปัญหาการเรียนออนไลน์เรียนไม่รู้เรื่อง  พ่อแม่ที่ไม่มีความรู้  ขณะที่สถานการณ์เรื่อง”บาฆั๊ด” หรือพื้นที่พักพิงหากินหมุนเวียนในทะเลชั่วคราว ที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะพีพีให้รื้อถอนนั้น เลขาหัวหน้าอุทยานฯให้ทางแกนนำ ไปหารือ  ล่าสุดทางวัฒนธรรมจังหวัดแจ้งผ่านผู้ใหญ่บ้าน ว่าจะยกเลิกการรื้อถอนแล้วแต่เนื่องจากไม่มีหนังสือคำสั่งชัดเจน สร้างความทุกข์ใจและกังวลใจต่อชาวเลในพื้นที่อย่างมาก 

ด้านตัวแทน ชาวเลพื้นที่เกาะลันตา จ.กระบี่ กล่าวว่า สถานการณ์ด้านนอกช่วงท่าเรือหัวหิน เริ่มมีการติดเชื้อ ชาวบ้านที่ลันตามีความกังวลนโยบายกระบี่แซนด์บ๊อก เนื่องจากคลัสเตอร์เกิดขึ้นที่เกาะกลางอยู่ไม่ไกล สังคมชาวเลที่เกาะลันตาเป็นสังคมเครือญาติ  และตอนนี้มีปัญหาเรื่องการนำผู้ติดเชื้อมากักตัวที่โรงแรมในเกาะลันตาโรงแรมและเจ้าของโรงแรมไม่สามารถที่จะกำหนดให้ผู้กักตัวอยู่แต่ในบริเวณได้  ต้องมีการเตรียมตัว ต้องการอุปกรณ์ป้องกัน  คัดกรอง สมุนไพรและยาเสริมภูมิคุ้มกัน หากมีการแพร่ระบาดกลัวว่าจะไม่ทัน

ตัวแทนชุมชน ชาวเลเกาะพีพี ตอนนี้พบผู้ติดเชื้อที่เป็นชาวเลแล้ว 1 คน   ได้เตรียมพร้อมรับมือ โดยได้รับการสนับสนุนจากเครือข่าย ทั้งเครื่องมือป้องกันคัดกรอง  สำหรับผู้ที่ติดเชื้อโควิดและผู้เสี่ยงสูงได้รับน้ำไบโอเนียร์โฮมีโอพาธีย์เสริมภูมิแล้ว   แต่ที่กังวลคือ หากพบผู้ติดเชื้อเพิ่ม  ต้องกักตัวนาน จะไม่มีรายได้  และมีปัญหาเรื่องความขาดแคลนอย่างแน่นอน

ชุมชนทุ่งหว้า จ.พังงา ในตำบลคึกคักมีการระบาด ติดเชื้อต่อเนื่อง  ชาวบ้านไม่มีรายได้ขาดแคลนอาหาร  หากินไม่ค่อยได้  ล่าสุดชุมชนยังประสบปัญหาภัยพิบัติจากมรสุมพัดหลังคาพังซ้ำเติมอีก

ชุมชนทับตะวัน จ.พังงา มีการเสี่ยงติดเชื้อในพื้นที่จากการเดินทางไปมาหาสู่ของผู้ติดเชื้อที่มาเยี่ยมญาติ แต่ตอนนี้สถานการณ์แพร่ระบาดหยุดลงแล้ว แต่การขาดแคลนรายได้ ยังเป็นปัญหาหนักต่อเนื่องเหมือนชุมชนอื่นๆ

ชุมชนบ้านน้ำเค็ม จ.พังงา มีการแพร่ระบาดของเชื้อเป็นอย่างมาก  เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา มีการนำชาวเลไปกักตัวที่โรงแรมและที่ศูนย์พักคอย  และส่วนที่เหลือก็กักตัวอยู่ที่บ้าน  ทั้งชุมชนประสบปัญหาไม่มีรายได้มากว่า 10 วัน ทำไห้ไม่มีเงินไปซื้ออาหารหรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ ขาดหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ และข้าวสาร

ตัวแทนชุมชน ชาวเลมอแกนเกาะสุรินทร์ จ.พังงาบอกว่า ตอนนี้ประสบปัญหายากจนต่อเนื่อง ขาดแคลนอาหาร ยิ่งในสถานการณ์โควิดไม่สามารถจับปลาไปแลกข้าวสารอาหารแห้งได้ จึงต้องการข้าวสารอาหารแห้งเพื่อไปดำรงชีวิตในช่วง covid-19 และในช่วงมรสุม 

ขณะที่ชุมชน ชาวเลเกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล ที่เผชิญการระบาดหนักในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ตอนนี้สถานการณ์คลี่คลาย แม้จะยังพบผู้ติดเชื้อที่เป็นพนักงานรีสอร์ท  แต่กลุ่มอาสาชาวเลหลีเป๊ะ ได้ไปให้ความรู้และให้ความช่วยเหลือ เพื่อหยุดการแพร่ระบาด ทั้งในเกาะหลีเป๊ะ และขยายการช่วยเหลือไปยังชุมชนเกาะบุโหลนด้วย

“ เตรียมขยายผลความสำเร็จจัดการตนเองชุมชนชาวเลเกาะหลีเป๊ะ สู่ความเข้มแข็งชาวเลพื้นที่ต่างๆ ปลดล๊อคอุปสรรคคุมระบาด สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนชาวเล ”

แสงโสม หาญทะเล ตัวแทนชาวเลเกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล บอกว่า ตอนเกิดการระบาดใหม่ๆในพื้นที่ ชาวเลเกาะหลีเป๊ะไม่มีประสบการณ์ ตอนแรกยอมรับว่า เราเองก็รอความช่วยเหลือจากเครือข่ายพี่เลี้ยง แต่กลัวไม่ทันสถานการณ์จึงลุกขึ้นมาประสานงานภาคส่วนต่างๆ ทั้งในและนอกพื้นที่ และได้รับการสนับสนุน ทั้งอุปกรณ์ป้องกันโรค เช่นชุด PPE หน้ากากอนามัย เจลล้างมือต่างๆ อาหาร รวมไปถึงสมุนไพรและยาเสริมภูมิคุ้มกัน  จากนั้นก็ตั้งกลุ่มจิตอาสาชาวเล  ลงพื้นที่ให้การช่วยเหลือนำส่งของต่างๆจากภาคีเครือข่ายที่ส่งเข้ามาสนับสนุนไปมอบให้ชาวบ้านที่ประสบปัญหา ที่สำคัญคือยาสมุนไพร ทั้งตำรับ 7 นางฟ้า ฟ้าทลายโจร สารสกัดกระชาย และโฮมีโอพาธีย์ ให้ชาวเลกินเสริมภูมิคุ้มกัน ทำให้สถานการณ์คลี่คลายและผ่านพ้นมาได้ 

บทเรียนและความสำเร็จนี้ จึงได้หารือกับชาวเลพื้นที่ต่างๆ  จัดตั้งศูนย์ชาวเลสู้ภัยโควิด19  ศูนย์ต้านโควิดด้วยสมุนไพรขึ้น โดยมีการระดมทุนรวบรวมสิ่งของจำเป็นในการป้องกันโรค และที่สำคัญคือสร้างองค์ความรู้ด้านสมุนไพร และยาน้ำโฮมีโอพาธีย์ ส่งต่อช่วยเหลือชาวเลที่เดือดร้อนในพื้นที่ต่างๆ 

“ เราจะสู้อย่างไรภายใต้สถานการณ์โรคระบาด หากเรารับมือไม่ได้ก็จะไม่รอดทุกทาง แต่เราเชื่อว่าเรามีศักยภาพ  การที่เราตั้งศูนย์นี้ขึ้นมา  อาจจะเริ่มจากศูนย์ แต่เราจะดีขึ้นไปเรื่อยๆจนถึงสิบ ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้  ขอบคุณทุกเครือข่ายที่สนับสนุนช่วยเหลือชาวเล ”

วิทวัส เทพสง ผู้ประสานงานเครือข่ายชาวเลอันดามัน กล่าวถึงการวางแผนพึ่งพาตนเองของชาวเล ว่า ที่ผ่านมาชาวเลยังไม่มีชุมชนไหนที่มีแผนเผชิญเหตุ แต่เมื่อเกิดขึ้นที่เกาะหลีเป๊ะ ก็ทำให้เห็นรูปธรรมของการเผชิญเหตุในสถานการณ์โควิด-19 เกิดแผนชัดเจน 4 ด้าน คือภูมิคุ้มกันด้านความรู้ เร่งให้ความรู้รับมือ ป้องกันอย่างเข้าใจซึ่งต้องมีการขยายการรับมือไปชุมชนต่างๆ  ซึ่งเมื่อก่อนแผนรับมือวางไว้เป็นการเตรียมเช็คจำนวนคนพื้นที่  หากมีการระบาดขีดวง กักตัว แต่ตอนนี้มีความรู้ความเข้าใจ เรื่องโฮมีโอพาธีย์ เรื่องยาสมุนไพร  ซึ่งเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมที่เรามีอยู่ ที่สามารถนำมาใช้และขยายศักยภาพไปในพื้นที่ใกล้เคียงได้ด้วย   นั่นก็คือการใช้ส่วนที่ 2 คือ แผนภูมิคุ้มกันในร่างกาย ในการเสริมภูมิคุ้มกันด้วยสารสกัดสมุนไพร อาหาร ซึ่งจะเป็นสิ่งหนึ่งที่เราไม่ต้องเฝ้าคอยรอยาของรัฐ ซึ่งโอกาสของชาวเลเข้าถึงยาก นี่จึงเป็นสิ่งที่เราจะอยู่รอด รวมไปถึงเรื่องอาหารที่มีประโยชน์ตามภูมิปัญญาชาวเลด้วย 

ส่วนที่ 3 ภูมิคุ้มกันด้านรายได้ เสริมภูมิปัญญา องค์ความรู้สู่การตลาด ไม่ใช่การทำเป็นอย่างเดียว ต้องขายเป็น เชื่อมโยงการตลาดได้ด้วย ไม่ใช่แค่เรื่องประมง แต่คือเรื่องอื่นๆด้วย เช่นจักสาน ที่ชาวเลเรามีศักยภาพอยู่แล้ว 

“ ที่สำคัญคือ ส่วนที่ 4  ภูมิคุ้มกันจากนโยบายรัฐ มีส่วนร่วมกำหนด ทำแผน ปฏิบัติตามบริบทและศักยภาพของชุมชนพื้นที่  นั่นคือการมีส่วนร่วมกำหนดแผนปฏิบัติการในชุมชนของเราในเวลาเกิดสถานการณ์โควิด ที่นอกเหนือจากการปรับโครงสร้างคณะกรรมการแก้ปัญหาระดับจังหวัด ที่ต้องให้ตัวแทนชุมชนเข้าไปมีส่วนร่วม รวมถึงคณะกรรมการในแต่ละตำบลทุกตำบลด้วย ก็ต้องมีตัวแทนชาวเลเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย ที่จะไม่เป็นผลกระทบมาทับซ้อนชาวเล ”

“ มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติและภาคีเครือข่ายหนุนเสริมความเข้มแข็งชาวเลพึ่งพาตนเอง ด้วยสมุนไพร ประสานหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเสริมความรู้ ขยายพื้นที่เพาะปลูก ”

วิวัฒน์ ศัลยกำธร  ผู้ก่อตั้งมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และนายกสมาคมดินโลก กล่าวว่าตอนนี้ได้เปิดยุทธศาสตร์เพื่อต่อสู้กับโควิด- 19 เครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ ได้ขยายเครือข่ายต่อเนื่อง 40 กว่าชุมชน เพื่อให้เกิดการช่วยเหลือกัน ล่าสุดตอนนี้ที่มีความชัดเจนคือพื้นที่ อ.จะนะ จ.สงขลา ที่นี่มีความเข้มแข็ง รวมตัวกันจัดตั้งศูนย์ต่อสู้โควิด ลุกขึ้นมาต้มยาสมุนไพร ออกกำลังกาย ตากแดด ปลูกพืชอาหาร พืชสมุนไพร ไปช่วยเหลือผู้ที่กักตัว  ซึ่งเป็นโมเดลตัวอย่างที่จะต้องถอดบทเรียนและขยายลงไปยังพื้นที่อื่นๆรวมถึงชุมชนชาวเล 

“ ขอส่งกำลังใจให้พี่น้องชาวเล ตอนนี้ทางสมาคมดินโลก ประสานงานทุกฝ่าย เช่นกรมพัฒนาที่ดิน ที่มีการระดมเงินช่วยเหลืออุปกรณ์จำเป็นการป้องกันโรคต่างๆต่อเนื่อง รวมถึงการสนับสนุนพันธุ์ไม้ ทั้งพืชสมุนไพรและพืชอาหารให้กับชาวเลพื้นที่ต่างๆ ซึ่งจะเป็นทั้งการช่วยเหลือเฉพาะหน้าในวิกฤตโควิด  ไปถึงการรับมือกับสถานการณ์ต่างๆในอนาคต” 

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ