“เครือข่ายชาวเล” ห่วง โควิด-19 รุกชุมชนราไวย์ ภูเก็ตยังวิกฤต ตัวเลขติดเชื้อสะสมรวมกว่า 240 คน

วิกฤตซ้ำ ชาวบ้านถูกปิดทางเข้า-ออกชุมชน ขาดรายได้ บางส่วนถูกตัดน้ำ-ไฟแล้ว เรียกร้องเปิดพื้นที่ ให้ภาคประชนภายนอกสนับสนุน สร้างส่วนร่วมในการคุมระบาด

วันนี้ (25 ก.ย. 2564) นิรันดร์ หยังปาน กรรมการชุมชนชาวเลราไวย์ จ.ภูเก็ต เปิดเผยกับ The Active ถึงสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่หมู่ 2 ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลมอแกนมากถึง ​ 1,540​ คน โดยหลังตรวจพบผู้ติดเชื้อเมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ขณะนี้ พบผู้ติดเชื้อสะสมแล้ว 246 คน 

เขาบอกว่า ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลราไวย์ ได้ลงพื้นที่ตรวจคัดกรองหาเชื้อต่อเนื่อง  แต่เนื่องจากกำลังเจ้าหน้าที่มีจำกัดและต้องติดตามควบคุม เฝ้าระวังในหลายชุมชน ทำให้การติดตามอาการกลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูงที่กักตัวที่บ้าน ต้องให้ทางหัวหน้าคุ้ม หรือ อสม. เฝ้าติดตามเป็นหลัก ตนจึงมองว่าการทำงานเชิงรุกเพื่อคุมระบาดยังทำได้ไม่เต็มที่ และจากข้อจำกัดของชุมชนที่เป็นชุมชนแออัดหนึ่งครอบครัวอยู่กันราว ๆ 8-10 คน ทำให้การแยกกักตัวของครอบครัวผู้สัมผัสเสี่ยงสูงทำได้ยาก จึงยังเป็นอุปสรรคของการคุมระบาดในพื้นที่

ด้านเทศบาลตำบลราไวย์ ได้ให้ความช่วยเหลือในการนำถุงยังชีพ ข้าวสารอาหารแห้งมามอบให้ แต่ก็ยังไม่เพียงพอ เพราะยังมีสิ่งจำเป็นอื่น ๆ ที่ขาด เช่น นมผงเด็ก และที่ขาดแคลนมากในตอนนี้ คือน้ำดื่ม ขณะที่ชาวเลบางส่วน ได้พยายามช่วยเหลือตัวเอง ในการออกเรือจับปลาเพื่อหารายได้ แต่ก็ได้มาเป็นแค่กับข้าว ไม่สามารถขายได้ เพราะไม่มีคนรับซื้อ ทำให้ขาดรายได้ 

“หลังตัวเลขการระบาดเพิ่มขึ้น ก็มีการนำสังกะสีมาปิดทางเข้าออกชุมชน เมื่อวันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมา ตรงนี้ยิ่งทำให้ถูกมองว่าเป็นพื้นที่วิกฤต และยิ่งตอกย้ำทำให้คนภายนอกกลัวเรา  เมื่อหาปลามาขายไม่ได้  ทำมาหากินไม่ได้ ก็ขาดรายได้  แม้จะบอกว่า ปิดแค่ระยะเวลาควบคุม 14 วัน และจะเปิดพื้นที่ 28 กันยายนนี้ แต่รายได้ที่หายไป กับค่าใช้จ่ายที่จะตามมาทั้งค่าน้ำค่าไฟ ตรงนี้ลำบากกันทั้งหมด”

นิรันดร์ เห็นว่า หากไม่มีการช่วยเหลือหาทางออกเรื่องนี้ จะมีอีกหลายครอบครัวที่ไฟฟ้าดับ น้ำไม่มีใช้ ซึ่งตอนนี้ก็ประสบปัญหาแล้วราว 10 ครัวเรือน เป็นปัญหาซ้อน ซ้ำเติมประชาชนที่เผชิญกับวิกฤตโรคระบาด จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแนวทางรองรับช่วยเหลือตรงนี้  ที่สำคัญคือการเปิดพื้นที่ให้เครือข่ายภาคประชาชนจากภายนอก ได้เข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนช่วยเหลือด้านต่าง ๆ รวมถึงการคุมระบาด

ตั้งศูนย์ชาวเลสู้โควิด-19 ระดมอุปกรณ์ป้องกันโรค สิ่งของจำเป็น องค์ความรู้สมุนไพรเสริมภูมิคุ้มกัน เสริมพลังคุมระบาด 

แสงโสม หาญทะเล ตัวแทนชาวเลอูรักลาโวย เกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล ในฐานะผู้ประสานงานศูนย์ชาวเลสู้ภัยโควิด-19 เปิดเผยว่า หลังเครือข่ายชาวเลมีมติให้ตั้งศูนย์ชาวเลสู้ภัยโควิด-19  ได้มีการระดมการสนับสนุนความช่วยเหลือต่าง ๆ ทั้งอุปกรณ์การป้องกันโรค อาหาร ของใช้จำเป็นต่าง ๆ ที่ยังขาด เช่น นมผงเด็ก รวมถึงยาสมุนไพรในการเสริมภูมิคุ้มกันร่างกาย และได้มีการจัดส่งสมุนไพร เช่น สมุนไพร 7 นางฟ้า ยาน้ำโฮมีโอพาธีย์และฟ้าทะลายโจร จากมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ  เพื่อเสริมภูมิคุ้มกันให้ชุมชนชาวเลราไวย์แล้ว

แต่ตนเห็นว่ายังมีข้อจำกัดสำคัญ เพราะแกนนำชาวเลบางส่วนติดเชื้อโควิด-19 ไม่ได้อยู่ในพื้นที่  ขณะที่เครือข่ายภาคประชาสังคมที่ทำงานกับชาวเลในพื้นที่นี้ ก็ไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่ได้ เพราะมีการปิดชุมชน ปิดทางเข้าออก จึงทำได้แค่การแนะนำตัวแทนชาวบ้านผ่านทางไลน์  ซึ่งทำให้การทำความเข้าใจ แนะนำถ่ายทอดองค์ความรู้เหล่านี้ทำได้ไม่เต็มที่ 

หากมีการเปิดพื้นที่ ให้เครือข่ายชาวเล องค์กรเอกชนภายนอกที่มีประสบการณ์ในการช่วยเหลือชุมชนพื้นที่ระบาด เข้าไปมีส่วนร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ก็จะทำให้ชุมชนมีองค์ความรู้ ความเข้าใจ รับมือเพื่อลดผลกระทบ และปิดการระบาดได้

“การระบาดในพื้นที่ชุมชนชาติพันธุ์ บางครั้งเรามักจะได้ยินเสียงสะท้อนจากหน่วยงานว่า เขาไม่ยอมให้ความร่วมมือ ไม่ยอมเข้าตรวจ ไม่ยอมกักตัวบ้าง ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่ใช่เขาไม่ยอม แต่เพราะการระบาดนี้เป็นเรื่องใหม่ ที่ต้องใช้กระบวนการสร้างความเข้าใจ ซึ่งคนที่จะสื่อสาร ทำความเข้าใจได้ดีคือคนที่เขาเชื่อใจ ไว้ใจ หรือคุ้นเคยดังนั้นการเปิดให้เครือข่ายต่าง ๆ ที่ทำงานกับพวกเขาอยู่แล้ว ได้เข้าไปช่วยสนับสนุน สร้างเครือข่ายอาสาซึ่งเป็นลูกหลาน หรือคนในชุมชนของเขาเอง คอยสื่อสาร ติดตามแนะนำ สร้างความเข้าใจต่อเนื่อง จะทำให้ช่วยหนุนเสริมการทำงานของภาครัฐได้มากขึ้น”

อุไร สมัครการ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลราไวย์ (รพ.สต. ราไวย์) กล่าวว่า ยินดีหากมีองค์กรภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามาร่วมหนุนเสริมการทำงานของหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อให้ชาวบ้านมีความเข้มแข็งสามารถรับมือและผ่านวิกฤตครั้งนี้

พร้อมยืนยัน ว่าการดำเนินการของ รพ.สต. ราไวย์ ได้ตรวจหาเชื้อเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง และดำเนินการไปแล้วกว่าร้อยละ 90  ยังเหลือที่ไม่ได้ตรวจคัดกรองอีกประมาณ 40-50 คน เพราะรอบที่แล้วมีอุปสรรคฝนตก ซึ่งจะดำเนินการตรวจให้ครบทั้งหมดในรอบถัดไป ทั้งนี้ประเมินว่า การระบาดที่เกิดขึ้นยังถือว่ารับมือได้ ยังไม่วิกฤต ที่สำคัญคือได้มีการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ด้วยการฉีดวัคซีนชาวเลราไวย์ไปแล้วกว่าร้อยละ 90 

เครือข่ายชาวเล เตรียมยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนชาวเลทั้ง 3 ชุมชน

วิทวัส เทพสง ผู้ประสานงานเครือข่ายชาวเลอันดามัน บอกว่า นอกจากชุมชนราไวย์ที่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มต่อเนื่องแล้ว ยังมีชุมชนชาวเลอีก 2 แห่งที่ประสบปัญหาไม่ต่างกัน คือชาวเลแหลมตุ๊กแก ที่มีประชากร​ 344 ครัวเรือน​ 1,710 คน​ ติดเชื้อสะสม​ 15​ คน​ เป็นกลุ่มเสี่ยงสูงกักตัว​ที่บ้าน 258​ คน​  

และอีกชุมชนคือ ชุมชนชาวเลสะปำ​ มีประชากร 60 ครัวเรือน  ​237 คน​ ​ จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมตอนนี้​ 11 คน​ กลุ่มเสี่ยงสูงกักตัว​ที่บ้านเกือบทั้งหมดประมาณ 226​ คน​ ตอนนี้ต่างได้รับผลกระทบหนัก

“ตอนนี้พวกเขาโดนกักตัว  ขาดรายได้​  ขาดแคลนอาหาร​  น้ำดื่ม​ นมผงเด็ก  และส่วนใหญ่มีหนี้สิน​ รวมทั้งค่าน้ำ​ ค่าไฟ​ ที่ยังไม่รู้จะหาที่ไหนจ่าย  จึงต้องมีการช่วยเหลือตามมาตรการเยียวยาผู้ขาดรายได้มีผลกระทบโควิด-19 จากภาครัฐ รวมทั้งช่องทางอื่น ๆ โดยเร่งด่วน ”

ผู้ประสานงานเครือข่ายชาวเลอันดามัน เปิดเผยว่า เตรียมยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ให้ดูแลชาวเล ทั้ง 3 ชุมชน ให้มีอาหาร​ไม่ขาดแคลน และได้รับการเยียวยาด้านรายได้​อาชีพ​ คุณภาพชีวิตจาก​กระทรวงพัฒนา​สังคม​และ​ความมั่นคง​ของ​มนุษย์และกระทรวงที่เกี่ยวข้องให้กลับมาเข้มแข็ง​ ในฐานะกลุ่มเปราะบางที่มีสภาวะวิกฤตซ้ำซ้อนจากนโยบายพัฒนาประเทศมายาวนาน 

รวมทั้งเปิดพื้นที่ นำสังกะสีที่ปิดล้อมชุมชนชาวเลราไวย์ออก และให้มีนโยบายจังหวัดเรื่องความร่วมมือ​ในการจัดทำแผนแก้วิกฤตและฟื้นฟูผลกระทบการระบาด​โควิด-19 โดยร่วมกันระหว่าง​ชาวเลราไวย์​ รัฐ​ ภาคีองค์กร​ เครือข่าย​ นักวิชาการและภาคประชาสังคม

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ