อดีต กสม. ชี้ รัฐใช้การเมืองแก้ปัญหาบางกลอย มาถูกทาง

จับตา “พีมูฟ” หารือระดับนโยบาย บ่ายนี้(9 มี.ค.) หาคนกลางยุติดำเนินคดี กางหลักฐานพิสูจน์ วิถีชาวกะเหรี่ยง

หลังชาวกระเหรี่ยงบางกลอย 22 คน ถูกเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน นำตัวลงจากป่าบางกลอยบน เพื่อดำเนินคดีข้อหาบุกรุกป่า และฝากขังภายเรือนจำกลาง จ.เพชรบุรี ตั้งแต่ค่ำวันที่ 5 มี.ค. ก่อนถูกปล่อยตัวตัวชั่วคราว วันที่ 7 มี.ค. รวม 2 วัน โดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่มีเงื่อนไข คือ ต้องไม่ขึ้นไปที่ป่าบางกลอยบนอีก

สิ่งนี้นำมาสู่การเคลื่อนไหวของ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือ พีมูฟ และ ภาคี #SAVEบางกลอย ที่ปักหลักชุมนุมที่ข้างทำเนียบรัฐบาล ตั้งแต่วันที่ 7 มี.ค. ที่ผ่านมา เรียกร้องให้ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะ ประธานการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ หรือ กบร. เร่งแก้ปัญหาของกะเหรี่ยงบางกลอย จนนำมาสู่การตั้งวงเจรจาระหว่าง ผู้บริหารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยตัวแทนชาวกะเหรี่ยงบางกลอย​ ที่จะมีขึ้นในเวลา 15.00 น. วันนี้

The Active พูดคุยกับ เตือนใจ ดีเทศน์ และ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ 2 อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในรายการ ActiveTalk “ยุทธการการเมือง… แก้ปมบางกลอย” (8 มี.ค.) ที่ชาวบ้านแก่งกระจาน ได้มาร้องกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ตั้งแต่ปี 2554 ที่เจ้าหน้าที่อุทยานฯ สนธิกำลังกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ดำเนินการอพยพชาวกะเหรี่ยงและเผาทำลายที่พักอาศัยของชาวบ้าน

นพ.นิรันดร์ กล่าวถึง กรณีการดำเนินคดีกับชาวกระเหรี่ยงบางกลอย ว่า เป็นปฏิบัติการที่ใช้อำนาจทางกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม เนื่องจากทางอุทยานฯ ได้ปฏิบัติการ โดยอ้าง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ มาตรา 22 แต่ไม่ได้ดำเนินตามมติของ ครม. เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2541 เรื่องการแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่ป่าไม้

พร้อมสะท้อนว่าเป็นปัญหาที่ยืดเยื้อมาเป็นเวลากว่า 10 ปี ทั้งที่ชาวบ้านยืนยันว่าอาศัยอยู่มาก่อนประกาศเป็นเขตอุทยานฯ โดย กสม. และภาคส่วนราชการ ได้ร่วมเข้าไปพัฒนา สงเคราะห์ชาวเขาที่อยู่ในจังหวัดกาญจนบุรี ก็มีข้อมูลชัดเจนอยู่ในทะเบียนของชาวเขาว่า ชาวกะเหรี่ยงอยู่ในพื้นที่ป่า หรือที่ใจแผ่นดิน มาก่อนปี 2525 แต่หน่วยงานของรัฐไม่ได้เข้าไปพิสูจน์ตรงนี้ เมื่อไม่ได้พิสูจน์จึงเหมารวมว่าเป็นผู้ที่บุกรุก และตั้งข้อหาเรื่องความมั่นคง เช่น ระบุว่าเป็นบุคคลไร้สัญชาติที่ลักลอบเข้ามาตัดไม้ทำลายป่า

“ประเด็นเหล่านี้เราเคยตรวจสอบแล้ว ซึ่งเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ให้ข้อมูลไม่ตรงกับฝ่ายปกครอง และตำรวจ ฝ่ายอุทยานฯ มักกล่าวหาด้วยเรื่องความมั่นคง สร้างความชอบธรรมที่จะไปเผา ทำลาย จับชาวบ้านลงมาดำเนินคดี แต่ฝ่ายปกครอง ไม่เคยมีคดีที่ชาวบ้านปลูกกัญชา หรือหลบหนีเข้าเมือง ทั้งหมดที่เกิดขึ้นล้วนเป็นอคติที่เจ้าหน้าที่รัฐมีต่อชาวกะเหรี่ยง”

ด้าน เตือนใจ ดีเทศน์ ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ กล่าวว่า บ้านบางกลอยถูกทำให้สังคมตั้งข้อสงสัย ทั้งประเด็นการเป็นผู้อพยพ อยู่มาหลังประกาศเขตอุทยานฯ เป็นปัญหาต่อความมั่นคง ในฐานะกรรมการสมานฉันท์ เห็นว่า จะต้องทำให้ความจริงกระจ่างจากผู้ที่รู้จริง และทำให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยในการทำให้สิทธิชาวกะเหรี่ยง และชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมได้รับการคุ้มครอง ซึ่งปฏิบัติการอพยพชาวกะเหรี่ยงบางกลอยกลับลงมา 85 คน โดยเฉพาะ หน่อแอะ มีมิ ซึ่งเป็นลูกของปู่คออี้ (โคอิ มีมิ) ที่พิการเดินไม่ได้มากว่า 10 ปี แต่ถูกตั้งข้อหาบุกรุกป่า ซึ่งมีคำถามว่าคนเดินไม่ได้จะบุกรุกแผ้วถางป่าได้อย่างไร

“เรื่องของการให้หยุดดำเนินคดีเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะชาวบ้านถูกกดดัน ถูกกระทำมานานกว่า 25 ปีแล้ว เรื่องนี้ต้องแก้ด้วยมติ ครม. 3 ส.ค. 2553 ที่เสนอโดยกระทรวงวัฒนธรรม ที่เคารพสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ ถ้าทุกกระทรวงเข้ามาร่วมกัน ตั้งแต่การพิสูจน์การมีอยู่ ข้อถกเถียงเรื่องไร่หมุนเวียน”

ขณะที่การจับตาบรรยากาศการหารือร่วมในวันนี้ (9 มี.ค.) นพ.นิรันดร์ มองว่า เป็นภารกิจที่ พล.อ. ประวิตร เป็นประธาน กบร. ซึ่งเป็นมติ ครม. 3 ส.ค. 2553 กำหนดแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง โดยวางแนวทางไว้แล้วว่า เรื่องนี้จะจัดการโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งเวดล้อม เพียงหน่วยเดียวไม่ได้

เรื่องใหญ่สำคัญ คือ การจัดการทรัพยากร ต้องมีคณะกรรมการในการพิสูจน์สิทธิในที่ดิน ให้ชาวบ้านสามารถทำมาหากินได้ ดูและส่งเสริมเรื่องวัฒนธรรม วิถีชีวิต เช่น ไร่หมุนเวียน ที่งานวิจัยระบุว่า ไม่ใช่การตัดไม้ทำลายป่า ครม. ขณะนั้นจึงเห็นว่าเป็นงานที่ต้องอาศัยทีมสหวิชาชีพเข้ามาทำงาน จึงเป็นเรื่องเหมาะสมแล้วที่ ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า ได้ยกหูถึง พล.อ. ประวิตร เป็นการดำเนินการโดยใช้แนวทางทางการเมือง เพราะเป็นปัญหาระดับชาติที่ไม่ได้มีแค่กะเหรี่ยงบางกลอย

“จริง ๆ พล.อ. ประวิตร ได้เข้าไปแก้ปัญหาที่จะนะ จ.สงขลา โดยขอให้ชะลอโครงการออกไป  นี่คือการที่เอาการเมืองฝ่ายบริหารเข้ามาแก้ปัญหา ในกรณีนี้เราก็ต้องเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ ว่า ให้ปฎิบัติตามมติ ครม. พิสูจน์ให้ชัดเจนว่าข้อมูลที่กรมอุทยานฯ และที่ชาวบ้าน มหาดไทย ตรงไหนที่เป็นข้อเท็จจริง ถ้าพิสูจน์ว่าชาวบ้านอยู่มาก่อนจริง ก็ต้องมาพูดถึงเรื่องการฟื้นฟูมอบหมายในที่ประชุมว่า ใครจะมีหน้าที่รับผิดชอบบ้าง ทั้งเรื่องฟื้นฟูวิถีชีวิต หรือเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ ที่ต้องไม่เข้าไปข่มขู่ จับกุมชาวบ้านอีก”

วงเจรจาระหว่างผู้บริหารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับ ตัวแทน ของกลุ่มพีมูฟ และตัวแทนชาวกะเหรี่ยง จัดขึ้นที่ห้องประชุมภายในอาคาร ศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์​ทำเนียบรัฐบาล​ ในเวลา 15.00 น. โดยบรรยากาศเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา พล.อ. ประวิตร ได้มอบหมายให้ ประสาน หวังรัตนปราณี ผู้ช่วยรัฐมนตรี​ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี​ ออกมารับหนังสือแทน​ พร้อมรับปากว่า ความชัดเจนหลังวงเจรจาในวันนี้จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน โดยคณะทำงานของ พล.อ. ประวิตร เตรียมลงพื้นที่ อ.แก่งกระจาน​ จ.เพชรบุรี เพื่อตรวจสอบหาข้อเท็จจริงไปพร้อมกัน


Author

Alternative Text
AUTHOR

รุ่งโรจน์ สมบุญเก่า

หนุ่มหน้ามนต์คนบางเลน สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ชื่นชอบอนิเมะ ทั้งสัตว์บกสัตว์ทะเลล้วนเป็นเพื่อน