เครือข่ายชาติพันธุ์ชี้ สูญเสีย’กิ๊ป’สะท้อนนโยบายจัดการคนกับป่าล้มเหลว

เครือข่ายชาติพันธุ์ตั้งคำถาม กรณีสูญเสีย’กิ๊ป ต้นน้ำเพชร’นักต่อสู้เรียกร้องสิทธิชุมชนบ้านบางกลอย สะท้อนอคติ และนโยบายจัดการคนกับป่าล้มเหลว อพยพคนออก แต่มาตรการเยียวยา-พัฒนาคุณภาพชีวิต ไม่ดีพอ

วันที่ 28 พ.ค.2566 จากกรณีการเสียชีวิตของ กิ๊ป ต้นน้ำเพชร ตัวแทนชาวบ้านและนักต่อสู้เรียกร้องสิทธิชุมชนแห่งบ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี จากโรคไข้เลือดออก เมื่อวันที่ 24 พ.ค.2566 ที่ผ่านมา และล่าสุดเมื่อวานนี้ (27 พ.ค.2566) ภาคีเซฟบางกลอย ได้ออกแถลงการณ์ เรื่อง “ เราสูญเสียนักต่อสู้ เพียงเพราะโรคความป่วยไข้ทางสังคม “ 

โดยเนื้อหาในแถลงการณ์ ระบุว่า วันที่ 24 พค.ที่ผ่านมา เราต้องสูญเสีย กิ๊ป ต้นน้ำเพชร นักต่อสู้เรียกร้องสิทธิชุมชน แห่งบ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เนื่องจากโรคไข้เลือดออกที่แพร่ระบาดภายในชุมชนการสูญเสีย อาจมองเป็นเรื่องปกติธรรมดาของมนุษย์ ที่ย่อมต้องมีการ เกิด แก่ เจ็บ ตาย กัน แต่สำหรับกรณีที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เรื่องปกติธรรมสำหรับพี่น้องบางกลอย ที่ต้องดิ้นรนใช้ชีวิต และต่อสู้เพื่อให้ได้กลับไปยังบ้านเกิดบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน สำหรับการสูญเสียกิ๊ปในครั้งนี้ เกิดจากโรคความป่วยไข้ทางสังคม ที่ดำเนินมานับสิบๆปี สาเหตุการสูญเสียด้วยโรคความป่วยไข้ทางสังคม เนื่องจาก

1. อคติชาติพันธุ์ โรงพยาบาลแก่งกระจาน เป็นโรงพยาบาลประจำท้องที่ มีหน้าที่รับผิดชอบ ดูแลผู้ป่วยในพื้นที่ โดยไม่มีการเลือกปฎิบัติ มีหน้าที่ในการรักษาผู้ป่วยทุกคนอย่างเท่าเทียม ไม่แบ่งแยกศาสนา เพศ และเชื้อชาติ แต่ข้อเท็จจริงจากปากคำของพี่น้องบางกลอย พบว่า ทุกครั้งที่มีการเข้ารักษาที่โรงพยาบาล พวกเขาถูกเลือกปฎิบัติ ไม่ว่าจะเป็นทั้งทางคำพูดวาจา สีหน้า ท่าทาง และความไม่เร่งรีบรักษาผู้ป่วยในกรณีฉุกเฉิน เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ ทำให้โรงพยาบาล กลับกลายเป็นตัวเลือกสุดท้ายที่พี่น้องบางกลอยจะนึกถึง

2. สภาวะการขาดสารอาหาร ตั้งแต่การถูกบังคับอพยพลงมา เจ้าหน้าที่รัฐที่เคยกล่าวอ้างว่า จะจัดสรรที่ดินทำกินให้พี่น้อง จนถึงปัจจุบันเกือบ 30 ปี ก็ไม่มีการจัดสรร หรือจัดสรรเพียงบางส่วน ซึ่งเป็นที่ดินที่ไม่สามารถทำกินได้ ไม่สามารถดำรงวิถีวัฒนธรรมแบบดั้งเดิมได้ ทำให้พี่น้องประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ ส่งผลทำให้เกิดการขาดสารอาหาร ร่างกายอ่อนแอ เมื่อโรคตามฤดูกาลเข้ามา ก็ยิ่งซ้ำเติม ทำให้อาการหนักกว่าปกติ จนนำมาสู่การสูญเสีย

ทางภาคีเซฟบางกลอย ขอไว้อาลัยแก่การจากไปของ กิ๊ป และยืนยันในการต่อสู้เคียงข้างชาวบางกลอย และพี่น้องชาติพันธุ์ทุกคน เพื่อทำลายอคติทางชาติพันธุ์ เพื่อทวงคืนสิทธิชุมชน และวิถีวัฒนธรรม เรามาร่วมมือกันรักษาโรคของความป่วยไข้ทางสังคม ให้หายจากสังคมไทย

กรณีดังกล่าว The Active ได้พูดคุยกับประยงค์ ดอกลำใย ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ( ขปส.) หรือพีมูฟ ซึ่งติดตามแก้ไขกรณีปัญหาข้อพิพาทชาวบ้านบางกลอยและอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานมาอย่างต่อเนื่อง และได้ไปร่วมงานศพกิ๊ป พูดคุยกับชาวบ้านบางกลอย กล่าวว่า การสูญเสีย กิ๊ป ต้นน้ำเพชร ที่เกิดคำถามมากมาย ทั้งจากชาวบ้านบางกลอย เครือข่ายชาติพันธุ์ และกลุ่มภาคีเซฟบางกลอย เนื่องจากกิ๊ปไม่ใช่แค่นักต่อสู้ แต่ยังเป็นส่วนหนึ่งของชาวบ้านบางกลอย ที่ได้รับผลกระทบ ถูกอพยพมาจากใจแผ่นดิน แล้วมาอยู่ในบางกลอยล่าง เขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน  และกรณีนี้ก็สะท้อนความล้มเหลวในการอพยพคนลงมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจัดสรรที่ดินทำกิน ก็ไม่เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรม การสนับสนุนการอยู่อาศัย ระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ทำให้คนกลุ่มนี้ประมาณกว่า 200 ครอบครัว กว่า 500 ชีวิต ขาดรายได้ ขาดอาชีพ ขาดอาหาร เพราะไม่มีพื้นที่ทำไร่ 

ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของชาวบ้านย่ำแย่ โดยเฉพาะเรื่องของสุขภาพ ซึ่งถ้าสำรวจโดยส่วนใหญ่ ประชากรของบางกลอย จะมีปัญหาเรื่องสุขภาพอนามัยอยู่แล้ว เพราะขาดอาหาร ไม่ได้รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ และบางมื้ออาจจะไม่ได้กิน การทำงานก็หายากลำบาก ไม่มีพื้นที่การเพาะปลูก รวมทั้งไม่สามารถเข้าไปเก็บหาขอป่าได้เพราะบริเวณรอบๆนั้น เป็นพื้นที่อุทยานทั้งหมด สิ่งเหล่านี้กระทบต่อสุขภาวะโดยรวมของคนที่นั่น และทำให้ กิ๊ปซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการต่อสู้ ที่หวังจะกลับไปบนใจแผ่นดิน มีปัญหาด้านสุขภาพเป็นพื้นฐาน 

“ คือทุกคนมีความอ่อนแออยู่แล้ว โดยเฉพาะเด็ก ขาดอาหาร คือขาดภูมิคุ้มกันด้วย หลายคนมีภาวะโลหิตจาง  กิ๊ปเป็นโรคขาดฟอสฟอรัสในเลือด ฟอสฟอรัสต่ำอยู่แล้ว พอมาเป็นไข้เลือดออกเกิดขึ้น ก็ทำให้ร่างกาย ไม่มีภูมิคุ้มกันเพียงพอที่จะต่อสู้กับโรคร้ายนี้ได้ “ 

ภาพ กิ๊ป ต้นน้ำเพชร ช่วงที่ออกมาชุมชนต่อสู้เรียกร้องสิทธิชุมชนบ้านบางกลอย
จาก Facebook : Prayong Doklamyai


อีกประการสำคัญ คือความห่างไกลของชุมชน คือการเดินทางของชาวบางกลอย ลงมาที่โรงพยาบาลในตัวอำเภอแก่งกระจาน ระยะทางประมาณ 30 กิโลเมตร แต่ต้องใช้เวลาเดินทางนาน 3 ชั่วโมง  เมื่อลงมาถึงแล้วไม่ได้รับการดูแลที่ทันท่วงที เพราะว่าลงมาถึงก็เลยระยะเวลาการให้บริการของโรงพยาบาล คือ 17.00 น. ก็ต้องรอจนกระทั่งถึงเช้าอีกวันหนึ่ง จึงได้รับการตรวจรักษา เมื่อช่วงสายวันรุ่งขึ้น ซึ่งก็ต้องใช้เวลาอีกครึ่งวัน และกว่าจะรู้ผลก็เกือบเที่ยงอีกวัน ทำให้อาการป่วยของกิ๊ปมีความรุนแรง จนกระทั่งโรงพยาบาลแก่งกระจานต้องส่งตัวไปที่โรงพยาบาลศูนย์ที่ตัวจังหวัดเพชรบุรี  จึงทำให้กิ๊ปเสียชีวิตในที่สุด เนื่องจากไม่ได้รับการดูแลรักษาตั้งแต่ต้น และไม่ทันต่อเหตุการณ์ 

“ มันสะท้อนให้เห็นความล้มเหลวในเรื่องการอพยพคน  ซึ่งอพยพคนจากอุทยาน มาอยู่ในอุทยานไม่มีการดูแลเยียวยาที่ดีพอ จึงก่อให้เกิดปัญหา ผลกระทบนี้ก็เกิดกับทุกคนที่มีชีวิตอยู่ในชุมชนนั้น  อย่างถ้ามีชีวิตรอด ก็ต้องหนีออกมารับจ้างข้างนอก ไม่สามารถดำรงชีวิตได้ในพื้นที่รองรับอพยพที่บางกลอย  “

ภาพจาก Facebook : Pornoana Kuaychareon / Prayong Doklamyai

ประยงค์ ยังตั้งคำถาม และมองปัญหาเรื่องนี้ เป็นผลมาจากอคติต่อกลุ่มชาติพันธุ์ คือ ถ้าพูดถึงระบบสาธารณสุขเข้าใจว่าคนไข้เยอะ การให้บริการอาจไม่ทั่วถึง แต่ด้วยอคติของความที่คนเหล่านี้เป็นคนชาติพันธุ์ด้วยหรือไม่ต้องตั้งคำถามว่า จึงไม่ได้รับการดูแลปฏิบัติเท่าที่ควร เพราะถ้ากิ๊ป ไปถึง 5 โมงเย็นอาการหนักแล้ว ควรที่จะรับไว้เป็นผู้ป่วยใน หรือ แอดมิท ดูแลให้การช่วยเหลือ แต่นี่ต้องกลับไปนอนนอกโรงพยาบาลและกลับมาอีกรอบนึง อันนี้ผมคิดว่า ระบบสาธารณสุข บวกกับทัศนคติที่ดีต่อกลุ่มชาติพันธุ์ ในการมาใช้บริการ อาจต้องมีการปรับปรุง รวมทั้งเรื่องการสื่อสารด้วย อาจมีปัญหาการสื่อสารระหว่างกันและกัน ทำให้กระบวนการให้บริการสาธารณสุขกับกลุ่มชาติพันธุ์มีปัญหา  

ประยงค์กล่าวถึงข้อเสนอสำคัญต่อกรณีบางกลอย สิ่งที่รัฐบาลจะต้องทำ คือเร่งพิจารณาแนวทาง ที่จะทำให้กลุ่มคนที่ต้องการจะอพยพกลับไปที่เดิม ซึ่งต้องได้รับการดูแล หรือตัดสินใจจากรัฐบาลในทันที  2.การแก้ไขปัญหาพัฒนาคุณภาพชีวิต ไม่ว่าจะเป็นระบบสาธารณูปโภค น้ำ หรือระบบสาธารณสุข ชาวบ้านที่ไม่ประสงค์จะกลับขึ้นไป การอยู่บางกลอยล่างในพื้นที่อพยพ ก็ต้องได้รับการแก้ไขดูแลเยียวยา เร่งด่วน เพราะปัญหานี้ยืดเยื้อมา 20 ปีหลังอพยพมาแต่กลับไม่มีอะไรดีขึ้น ต้องยกระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิต 

The Active ตรวจสอบข้อมูลพบว่า ฟอสฟอรัสในเลือดต่ำ (Hypophosphatemia)คือภาวะที่ตรวจพบมีปริมาณฟอสฟอรัสในเลือดต่ำกว่าค่าปกติ ซึ่งทั่วไปมักมีสาเหตุได้หลากหลาย เช่น ภาวะขาดอาหาร/ทุพโภชนาการ(เช่น จากโรคระบบทางเดินอาหารที่มีผลให้การดูดซึมอาหารผิดปกติ) โรคพิษสุราเรื้อรัง โรคเนื้องอกของต่อมพาราไทรอยด์

ก่อนหน้านี้ ช่วงเดือนกรกฎาคม 2564 ภาคี #SAVEบางกลอย ได้เปิดเผยข้อมูลพบชาวบ้านบางกลอย 13 คน มีอาการป่วยโดยไม่ทราบสาเหตุ เช่น ไมเกรน ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย มีลมในปอดมาก โดยคาดว่า อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับสภาวะขาดแคลนอาหาร อันเนื่องมาจากการไร้ที่ดินทำกิน และขาดรายได้ และไม่สามารถเข้าไปหาของป่ามาประทังชีวิตได้ เพราะกังวลว่า จะถูกดำเนินคดี โดยเรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุขจัดทีมแพทย์อาสาเข้าไปประเมินอาการและรักษาเบื้องต้น ให้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ช่วยเหลือด้านอาหารเร่งด่วน และให้อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานมีช่องทางให้ชาวบ้านสามารถเข้าถึงแหล่งอาหารจากทรัพยากรธรรมชาติได้

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active