จับตาเจรจาแก้ปัญหาบางกลอย นักวิชาการติง “เจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลเกินจริง” ชาวบ้านขอพื้นที่ 5,400 ไร่

นักวิชาการหวั่นซ้ำเติมอคติ เพิ่มความไม่เข้าใจวิถีไร่หมุนเวียนกลุ่มชาติพันธุ์ แนะมีคนกลางร่วมสังเกตการณ์การเจรจา

วันนี้ (24 ก.พ.2564) อภินันท์ ธรรมเสนา หัวหน้ากลุ่มงานสื่อสารความรู้และเครือข่ายสัมพันธ์ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) หนึ่งในคณะทำงานสำรวจข้อเท็จจริง ที่คณะทำงานแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย จ.เพชรบุรีตั้งขึ้น  ซึ่งได้ลงพื้นที่รับฟังและสำรวจรวบรวมข้อมูลปัญหาชาวบ้านบางกลอย ระหว่างวันที่ 19 ถึงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา  เห็นว่า แม้อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ได้ยุติหรือสิ้นสุดปฏิบัติการยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชรแล้ว เพราะชาวบ้านที่อพยพขึ้นไปบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน  จะส่งตัวแทนลงมาเจรจากับเจ้าหน้าที่ในวันพรุ่งนี้ ซึ่งดูเหมือนสถานการณ์จะคลี่คลายลง 

แต่ต้องไม่ลืมว่าความขัดแย้งเรื่องนี้สะสมยาวนานถึง 25 ปี และล่าสุดกับการนำกำลังเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่จำนวนมาก  และสื่อสารนำเสนอภาพเชิงลบที่สร้างความเข้าใจผิดต่อชาวบ้าน ทั้งการบอกว่าชาวบ้านแพ้วถางป่า แต่ไม่มีการอธิบายให้สังคมเข้าใจ ว่าพื้นที่นั้นเป็นพื้นที่ที่เขาเคยทำกินมาก่อนการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติมาครอบทับพื้นที่ชุมชนดั้งเดิม  หรือทำกินอยู่มาก่อนที่จะมีการอพยพพวกเขาลงมา ซึ่งตอนนั้นเหตุผลของการอพยพ ก็เป็นการอ้างเรื่องความมั่นคง  ไม่ได้บอกว่าพวกเขาเป็นผู้ทำลายป่า แต่ตอนนี้เมื่อพวกเขาอยู่ไม่ได้ เพราะขาดที่ดินทำกิน ไม่เป็นไปตามที่รัฐรับปากไว้  และตัดสินใจอพยพกลับไปยังพื้นที่เดิม ที่ทำกินมาตั้งแต่บรรพบุรุษตามวิถีก่อนการประกาศเขตอนุรักษ์กลับบอกว่าพวกเขาทำลายป่า  และร้องขอพื้นที่ทำกินมากไป 

อภินันท์ ยังตั้งข้อสังเกตว่า หากดูจากคลิปที่เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ขึ้นไปเจรจากับชาวบ้านบางกลอย จะเห็นชัดถึงความไม่เข้าใจของเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปเจรจา จนเป็นกระแสข่าวออกมาว่าชาวบ้านจะขอที่ทำกิน 5,400 ไร่ เพราะเจ้าหน้าที่เป็นฝ่ายถามความต้องการชาวบ้านว่าต้องการอะไร ชาวบ้านได้บอกว่าอยากทำไร่ตามวิถีดั้งเดิม และเจ้าหน้าที่ได้ถามย้ำว่าใช้ที่เท่าไหร่ ชาวบ้านได้ชี้ไปยังพื้นที่ ก่อนที่เจ้าหน้าจะประเมินว่า 15 ไร่ หมุนเวียน 10 ปี 150 ไร่ 36 ครอบครัว รวมเป็น 5,400 ไร่ แต่หากเราเข้าใจระบบการทำไร่หมุนเวียน ไม่ได้หมายความว่าจะมีการทำไร่พร้อมกันทั้ง 5,400 ไร่ แต่เป็นการสรุปของเจ้าหน้าที่ที่ขึ้นไปเจรจาเอง และออกมาให้ข่าวที่อาจสร้างความเข้าใจผิดว่าชาวบ้านเสนอขอที่อุทยานฯ 5,400 ไร่ 

“  เรื่องนี้เป็นตัวอย่างของความไม่เข้าใจ และนำมาสื่อสารสร้างอคติให้กับกลุ่มชาติพันธุ์ เพราะหากเข้าใจระบบไร่หมุนเวียน ที่มีการหมุนเวียนพักฟื้นพื้นที่ เป็นหลักการฟื้นคืนธรรมชาติ  ที่พอทำปีแรก 15 ไร่เสร็จ  ,   ปีที่2 ก็หมุนเวียนไปทำจุดที่ 2 ในพื้นที่ใหม่  โดยส่วนของปีแรกที่ทำไปแล้วจะทิ้งพักพื้นไว้ให้กลายเป็นป่ายาวไปอีก 10 ปี   ถึงจะวนมาทำใหม่  แต่สิ่งนี้ไม่ได้ถูกอธิบายสร้างความเข้าใจ ทั้งที่มีงานวิจัยรองรับจำนวนมากว่าวิถีทำกิน ทำการเกษตรแบบนี้คือการใช้ประโยชน์ควบคู่การอนุรักษ์ ที่ช่วยรักษาป่าเอาไว้ ซึ่งเรื่องนี้ผมเห็นว่าเป็นการสื่อสารที่ทั้งผิดข้อเท็จจริงเพราะชาวบ้านไม่ได้ขอที่ดิน 5,400 ไร่  และเป็นการสื่อสารที่สร้างอคติ ที่จะนำไปสู่ความไม่เข้าใจของสังคม และสร้างภาพลบให้กับกลุ่มชาติพันธุ์ ”

อภินันท์ กล่าวต่อว่า เรื่องนี้จึงปฏิเสธไม่ได้ว่ากลายเป็นเงื่อนไขของความขัดแย้งครั้งใหม่  ประกอบกับข้อมูลจากการสำรวจปัญหาที่ทำกินและคุณภาพชีวิตชาวบางกลอย พบว่าชาวบ้านไม่ได้รับการจัดสรรที่ทำกินทั้งหมด ส่วนคนที่ได้รับการจัดสรรก็ไม่สามารถทำกินได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะสภาพดินที่ไม่เหมาะสม และขาดแคลนแหล่งน้ำ มีต้นทุนสูง ขายผลผลิตได้น้อย ที่สำคัญคือพบว่าชาวบ้านล้วนมีหนี้สินที่ติดค้างกับร้านค้า และเป็นหนี้สินมาจากค่าข้าวสาร และอาหาร ซึ่งชี้ชัดว่าชาวบ้านเดือดร้อน และสะท้อนว่าโครงการที่รัฐจัดสรรไปช่วยแก้ปัญหากว่า 120 โครงการ ตลอด 25 ปีไม่ตอบโจทย์ และเป็นเหตุผลที่การแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ จะต้องยกระดับเป็นการแก้ปัญหาเชิงนโยบาย ไม่ใช่แค่การแก้ปัญหาในระดับพื้นที่อีกแล้ว

ทั้งนี้อยากให้สังคมจับตาการเจรจาของทั้งสองฝ่ายในวันพรุ่งนี้(25 ก.พ.2564) ซึ่งตนเห็นว่าควรต้องมีตัวกลางที่ไม่ใช่คู่ตรงข้ามทั้งสองฝ่ายเข้าเจรจาและสังเกตุการณ์ร่วมด้วย 

“ สถานการณ์ตอนนี้ มันมาถึงจุดที่ว่า การแก้ไขปัญหาระดับพื้นที่คงจะยาก เพราะความไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างรัฐกับชาวบ้าน มันไม่ได้เกิดขึ้น เพราะเห็นว่าแม้ชาวบ้านจะได้เจรจา เราไม่มั่นใจว่าสิ่งที่เจรจา จะเป็นผลตามที่เจรจาหรือไม่เพราะฉะนั้นผมคิดว่าควรให้กลไกคณะทำงานที่กระทรวงทรัพย์ฯตั้งขึ้น หรือมีตัวกลางที่เข้าใจหลักการทุกมิติเข้ามาร่วมสังเกตการณ์หรือเป็นตัวกลางร่วมเจรจาด้วย “ 

ทั้งนี้เห็นว่าระดับนโยบายต้องรับฟังแนวทางการแก้ไขปัญหาในมิติอื่นๆ เช่นมิติความรู้วัฒนธรรมของชุมชน ไม่ใช่แค่รับฟังเสียงข้าราชการผู้ปฏิบัติงานที่ยึดถือการแก้ไขปัญหาในมุมมองการอนุรักษ์ด้านเดียวเท่านั้น

ประยงค์  ดอกลำไย หนึ่งในคณะทำงานแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย  ก็ขอให้สังคมร่วมกันจับตาการเจรจาครั้งนี้ เพราะที่ผ่านมาชาวบ้านไม่เคยได้รับความจริงใจในการแก้ไขปัญหาจากภาครัฐ ทั้งนี้แนวทางแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินที่ชาวบ้านจะเสนอ  ตนเห็นว่าอุทยานฯ คงไม่ตอบรับ  เพราะแม้จะมีช่องทางกฎหมายรองรับ เช่น กฎหมายอุทยานแห่งชาติ ปี 2562 ในมาตรา 7 ที่อุทยานฯ สามารถพิสูจน์ได้ ว่าหากเป็นพื้นที่ทำกินก่อนการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ ก็สามารถออกพระราชกฤษฎีกา กันพื้นที่ให้ชาวบ้าน  และมติ ครม. 3 สิงหาคม 2553 ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พิสูจน์ที่ดินทำกินเพิ่มเติม และจัดสรรที่ดินให้กับชาวบ้านบนหลักสิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม แต่ที่ผ่านมาก็ชัดแล้วกระทรวงทรัพย์ฯ ไม่ได้ดำเนินการตามกฎหมายและมติ ครม.ดังกล่าวเลย ซึ่งเชื่อว่าการเจรจาจะไม่จบลงง่ายๆ และการแก้ไขปัญหาอาจไม่สามารถแก้ไขได้ในระดับพื้นที่ 

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ

Alternative Text
AUTHOR

พงศ์เมธ ล่องเซ่ง

นักข่าวไม่จำกัดสาย จัดให้ได้ทุกประเด็น