ร้องรัฐหยุดยุทธการต้นน้ำเพชร ซ้ำรอย “ยุทธการตะนาวศรี” เพิ่มไฟความขัดแย้ง

นักวิชาการ เรียกร้องรัฐยุติการสร้างอคติความเข้าใจคลาดเคลื่อน ต่อ “ไร่หมุนเวียน” ชี้ งานวิจัยรองรับเป็นเกษตรรูปแบบหนึ่งควบคู่การอนุรักษ์ที่ยั่งยืน แนะ ใช้นโยบายคุ้มครองวิถีชีวิตชาติพันธุ์ คืนสิทธิทำกินกะเหรี่ยงบางกลอย

จากกรณีการนำเสนอภาพของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ใช้เฮลิคอปเตอร์บินตรวจสอบการบุกรุกพื้นที่ป่าบางกลอยบนตาม “ยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร” และรายงานข้อมูลพบว่า ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยที่อพยพกลับขึ้นไป ถางป่าและเผาป่าไม่น้อยกว่า 120 ไร่ เพิ่มจากเดิมที่เคยสำรวจไว้เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2564 ซึ่งมีอยู่เพียง 34 ไร่

ภาพ: thecitizen.plus

 

เรื่องนี้ จตุพร เทียรมา อาจารย์สาขาวิชาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ตั้งคำถามว่า การนำเสนอภาพพื้นที่แผ้วถางป่าแก่งกระจานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นความพยายามที่จะย้ำภาพในเชิงอคติ ให้สังคมเกิดความเข้าใจผิดและมีอคติต่อการทำไร่หมุนเวียนของกลุ่มชาติพันธุ์  ที่ไม่ใช่เฉพาะชาวกะเหรี่ยงบางกลอย ว่าเป็นผู้ทำลายป่า ทำไร่เลื่อนลอยหรือไม่ 

เพราะไม่ได้อธิบายว่านั่นเป็นส่วนหนึ่งของขั้นตอนและกระบวนการของการทำไร่หมุนเวียน ที่มีงานวิจัยศึกษารองรับจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคืองานศึกษาระบบการเกษตรแบบไร่หมุนเวียน ที่เป็นความร่วมมือของทุกภาคส่วนทั้งกรมป่าไม้ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ , คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ,มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ และเครือข่ายเกษตรกรภาคเหนือว่า ระบบไร่หมุนเวียนเป็นระบบการทำเกษตรที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพ และเคารพธรรมชาติอย่างมากวิธีหนึ่ง หรือการใช้ประโยชน์ควบคู่กับการอนุรักษ์ได้อย่างยั่งยืน ที่ตามขั้นตอนแม้จะมีการแพ้วถาง เผา ซึ่งนั่นพิสูจน์ว่าจะได้แร่ธาตุจากกิ่ง ก้าน ใบไม้แห้งอย่างสมบูรณ์ ซึ่งไม่ต้องใช้สารเคมีแล้ว การทำไร่หมุนเวียนจะไม่ทำซ้ำพื้นที่เดิม เพื่อพักฟื้นพื้นที่เอาไว้ ให้ดินกลับมาอุดมและคืนให้พื้นที่ทำกินนั้นกลายสภาพกลับมาเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์แล้วจึงหมุนเวียนมาใช้ประโยชน์ใหม่ 

“ ภาพที่เจ้าหน้าที่บินสำรวจ เห็นชัดว่าบริเวณนั้นเป็นป่าไผ่ นี่สะท้อนภูมิปัญญาและความเข้าใจในธรรมชาติของชาวกะเหรี่ยงที่มีมาแต่บรรพบุรุษ  เพราะป่าไผ่เต็มไปด้วยดินขุยไผ่ ที่นอกจากจะได้แร่ธาตุที่ดีแล้ว การพักฟื้นของต้นไฝ่กลับคืนสภาพยังง่ายและรวดเร็ว  เพราะเมื่อชาวบ้านหยอดเมล็ดพันธุ์ต่างๆ ลงในดิน และฝนตกลงมา หน่อไผ่ใหม่ก็จะงอกขึ้นมาพร้อมกับเมล็ดพันธุ์  ซึ่งไผ่ไม่ได้ตายไป และการทำไร่หมุนเวียนไม่ได้ทำให้ไผ่ หรือต้นไม้ตายไปอย่างถาวร เหมือนเกษตรในพื้นที่ราบที่ทำในพื้นที่เดิมซ้ำๆทุกปี และแตกต่างกับคำว่าไร่เลื่อนลอยที่รัฐพยายามสื่อสาร ”

ด้าน สุมิตรชัย หัตถสาร ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์ และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น เห็นว่า การใช้ยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร ด้วยการนำกำลังเจ้าหน้าที่ไปกดดันให้ชาวบางกลอยที่อพยพขึ้นไปลงมา นอกจากเป็นการดำเนินการที่สวนทางกับข้อตกลงที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและตัวแทนภาครัฐ ร่วมลงนามกับตัวแทนชาวบ้านที่ให้ ถอนกำลังเจ้าหน้าที่ออกจากชุมชนบางกลอยทั้งหมดยังเป็นการดำเนินการที่ซ้ำรอยเดิมกับยุทธการตะนาวศรี ซึ่งไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ และยังสร้างความขัดแย้งบานปลายมากขึ้น

“ มันเป็นเรื่องตลก และสมควรแล้วหรือไม่ ที่ใช้งบประมาณจากภาษีประชาชน เพื่อระดมกำลังเจ้าหน้าที่จำนวนมากใช้เฮลิคอปเตอร์เข้าไปในพื้นที่  เพื่อไปจัดการกับประชาชนที่กลับไปอาศัยทำกินตามวิถีภูมิปัญญาในพื้นที่ดั้งเดิมของเขา กว่า 25 ปีที่เจ้าหน้าที่นำชาวบ้านลงมา และกว่า 10 ปี ที่ดำเนินยุทธการตะนาวศรี เผาไล่ชาวบ้านลงมา ซึ่งศาลปกครองตัดสินแล้วว่าเจ้าหน้าที่กระทำผิด ยังจะเดินตามแนวทางเดิมที่เห็นแล้วว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ”

นอกจากนี้ยังเห็นว่า จะยึดถือการปฎิบัติตามกฎหมายอุทยานแห่งชาติ นำกองกำลังขึ้นไปดำเนินการกับชาวบ้านบางกลอยเช่นยุทธการตะนาวศรีเมื่อกว่า10 ปีก่อนไม่ได้ เพราะตอนนี้มีทั้งรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา70  ที่เขียนไว้อย่างชัดเจนว่า รัฐพึงส่งเสริมและให้การคุ้มครอง ชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ให้มีสิทธิดำรงชีวิตในสังคมตามวัฒนธรรมประเพณี และวิถีชีวิตดั้งเดิม ตามความสมัครใจได้อย่างสงบสุข , มติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553 เรื่องแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง และการแถลงนโยบายต่อรัฐสภารวมถึงยุทธศาสตร์ชาติที่ระบุว่า วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ต้องได้รับการคุ้มครอง ตลอดจนการประชุมอุทยานโลก โดยองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ หรือไอยูซีเอ็น มีแนวทางการจัดการป่า ที่วางอยู่บนกระบวนทัศน์ใหม่ของป่าอนุรักษ์ที่ต้องคำนึงถึงสิทธิของผู้คนเป็นสำคัญ

ขณะที่สถานการณ์ล่าสุดในพื้นที่วันนี้ (23 ก.พ.) หลังจาก เนตรนภา งามเนตร ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน พร้อมด้วย นิรันดร์ พงษ์เทพ ผู้ใหญ่บ้านบางกลอย ได้ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ตั้งแต่ช่วงสายที่ผ่านมา เพื่อเจรจากับ หน่อแอะ มีมิ ผู้นำจิตวิญญาณกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย-ใจแผ่นดิน ให้กลับลงมายังบ้านบางกลอยล่าง โดยมีการนำสื่อมวลชนอย่างน้อย 4 สำนักขึ้นไปด้วย

กระทั่งเวลาประมาณ 13.50 จึงได้กลับลงมาโดย หน่อแอะ ไม่ได้เดินทางลงมาด้วย โดยผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานฯ ระบุว่า หน่อแอะ ยืนยันจะไม่กลับลงมา จึงให้เฮลิคอปเตอร์ลำเลียงเจ้าหน้าที่ลงมาทั้งหมดก่อน เพื่อกลับไปหารือร่วมกันที่หน่วยงานอีกครั้ง

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ