กดดันรัฐบาล แก้ 3 เรื่องเร่งด่วน “ถอนกำลัง จนท. หยุดสกัดเส้นทางเสบียง และยุติดำเนินคดีทันที” หากไม่เป็นไปตามข้อเรียกร้อง เตรียมยกระดับชุมนุมใน 1 ชั่วโมง
วันนี้ (16 ก.พ. 2564 ) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่สะพานชมัยมรุเชฐ ทำเนียบรัฐบาล กลุ่มประชาชนผู้รักความเป็นธรรมและภาคี #SAVEบางกลอย ร่วมกันอ่านแถลงการณ์ สาระสำคัญระบุว่า จากกรณีกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี 36 ครอบครัว ประมาณ 70 คน เดินเท้ากลับใจแผ่นดิน ตั้งแต่วันที่ 9 ม.ค. 2564 และมีภาพของการข่มขู่คุกคามประชาชนในพื้นที่ เช่น การสนธิกำลังระหว่างเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและทหารทัพพระยาเสือ การพยายามข่มขู่ว่าจะดำเนินการตามกฎหมายกับชาวบ้าน และสถานการณ์ล่าสุดเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ปรากฏภาพการสนธิกำลังกันของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ส่วนยุทธการด้านป้องกันและปราบปราม หน่วยเฉพาะกิจพญาเสือ และทหารรบพิเศษที่ 1 แก่งกระจาน
- อ่านเพิ่ม อช.แก่งกระจาน ปฏิเสธข่าว “ทัพพระยาเสือ”
เนื้อหาแถลงการณ์ ยังระบุอีกว่า ชาวบ้านในพื้นที่ระบุว่าเมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 12 กุมภาพันธ์ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานได้ตั้งจุดตรวจค้นก่อนเข้าเขตหมู่บ้านบางกลอย โดยไม่มีการแจ้งให้ผู้นำชุมชนและชาวบ้านทราบถึงเหตุผล หลังจากนั้นไม่นาน ชาวบ้านพบว่ามีเจ้าหน้าที่สนธิกำลังกันเข้าไปในหมู่บ้าน กระจายกำลังกันดักซุ่มตามเส้นทางที่ชาวบ้านใช้เดินขึ้นและลงจากบ้านบางกลอยล่าง ไปยังบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน ต่อมาประมาณ 18.30 น. ได้รับรายงานว่ามีกำลังเจ้าหน้าที่ประมาณ 10 นาย เดินเท้าผ่านหมู่บ้านไปยังบริเวณห้วยโป่งลึก หลังจากนั้นไม่นานชาวบ้านได้ยินเสียงปืนประมาณ 3-4 นัด จากทิศทางที่เจ้าหน้าที่เดินเข้าไป
แถลงการณ์ดังกล่าว ระบุอีกว่า การดำเนินการของเจ้าหน้าที่รัฐคือการข่มขู่ คุกคาม และละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ที่อาจนำไปสู่การกระทำอันรุนแรง ทั้งโดยการบังคับใช้มาตรการทางกฎหมายที่เข้มข้น และการสนธิกองกำลังเจ้าหน้าที่เข้าไปใช้ความรุนแรงกับชาวกะเหรี่ยงบางกลอย-ใจแผ่นดิน ดังที่เคยเกิดขึ้นแล้วในเหตุการณ์ยุทธการตะนาวศรี เมื่อปี 2553-2554
อีกทั้งการแถลงข่าวของ วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2564 ยังแสดงให้เห็นว่า ทส. รับฟังข้อมูลจากฝ่ายรัฐเพียงฝ่ายเดียว โดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับข้อมูลและเสียงเรียกร้องจากชาวบ้านบางกลอยและภาคประชาชน แม้ที่ผ่านมาจะมีการใช้กลไกระดับกระทรวงฯ ร่วมกับภาคประชาชน ลงพื้นที่แสวงหาข้อเท็จจริง และรายงานให้กระทรวงฯ ทราบอย่างต่อเนื่องแล้วก็ตาม
นอกจากนี้ ยังระบุถึงกรณีที่ ผู้แทนชาวบ้านบางกลอย และ ภาคี #SAVEบางกลอย รวมตัวหน้ากระทรวง ทส. เมื่อวันที่ 5 ก.พ. ที่ผ่านมา แต่กลับได้รับหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาว่าร่วมกันจัดการชุมนุมในที่สาธารณะโดยผิดกฎหมาย
- อ่านเพิ่ม กลุ่ม #saveบางกลอย ถูกหมายเรียก คดี “ชุมนุมในที่สาธารณะ” หน้า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ
- อ่านเพิ่ม ‘ธรรมนัส’ ต่อสายตรง ‘วราวุธ’ ถอนกำลังออกจากใจแผ่นดิน วันนี้ (15 ก.พ.)
พวกเขายังระบุอีกว่า แม้เมื่อวานนี้ (15 ก.พ.) ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รองประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือ พีมูฟ ได้มารับหนังสือของกลุ่มผู้ชุมนุม โดยรับปากจะดำเนินการตามข้อเรียกร้องเร่งด่วน 3 เรื่อง แต่ยังไม่วางใจว่ารัฐบาลมีความจริงใจในการแก้ไขปัญหา จึงจัดทำบันทึกข้อตกลงเพื่อให้รัฐบาลร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่ และภาคี #SAVEบางกลอย ลงนาม คือ ร้อยเอก ธรรมนัส, วราวุธ ศิลปอาชา, จตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัด ทส., ผู้แทนพีมูฟ, ผู้แทน ภาคี #SAVEบางกลอย, ผู้แทนชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย
โดยขอให้ลงนามทั้งหมดภายใน 1 ชั่วโมง ไม่เช่นนั้นจะยกระดับการเคลื่อนไหว
ด้าน พงษ์ศักดิ์ ต้นน้ำเพชร ผู้แทนชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย กล่าวว่า ยังกังวลเพราะรู้สึกว่ายังไม่มีท่าทีที่ชัดเจนจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรฯ ที่เป็นคนที่ดูแลเรื่องนี้โดยตรง อย่างเรื่องการลำเลียงเสบียง ก็ให้ไปส่งถึงแค่ด่านแม่มะเร็ว แล้วให้เจ้าหน้าที่ลำเลียงต่อไปให้ชาวบ้าน ทำให้ไม่มั่นใจว่าของจะไปถึงชาวบ้านหรือเปล่า
“ได้ยินมาว่ามีการถอนกำลังเจ้าหน้าที่จากพื้นที่แล้ว เราก็ไม่แน่ใจว่าหมดหรือยัง เมื่อวานคุยกับชาวบ้านเขาก็บอกว่ายังไม่หมด แต่เริ่มมีการถอนกำลังจริง ส่วนจุดที่ลำเลียงเสบียงเราไม่มั่นใจเลย ว่าเขาถอนกำลังไปหรือยัง แล้วเราก็ยังกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของพี่น้องที่อยู่ที่นี่ ที่ทำเนียบรัฐบาล เพราะเราก็ไม่รู้ว่ากลับไปจะเจออะไรบ้าง ตอนมาเราก็ถูกสกัดทุกทาง ไปติดต่อรถตู้ พอบอกว่ามาจากบางกลอย ไม่มีใครกล้ามาส่งเลย เราก็เป็นห่วงความปลอดภัยของพวกเรา และห่วงความปลอดภัยของคนที่อยู่ข้างบนด้วย ว่าเป็นยังไงกันบ้าง”