3 ทางออก หลังร่าง พ.ร.บ.บำนาญฯ ฉบับประชาชนถูกปัดตก

ภาคประชาชน ชี้ รัฐไม่ควรปิดช่องนำเสนอกฎหมายโดยประชาชน พร้อมแนะ 3 ทางออก หลังร่าง พ.ร.บ.บำนาญฯ ฉบับประชาชน ถูกปัดตก

หลังผู้นำไทย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปัดตกร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ ที่มีภาคประชาชนสนับสนุนกว่า 1.4 หมื่นรายชื่อ ด้วยเหตุผลด้านงบประมาณ และความซ้ำซ้อนของกฎหมาย คำถามใหญ่ คือ ไทยมีทางออกอื่นหรือไม่

The Active สอบถามเรื่องนี้ไปที่ นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม หรือ We Fair ระบุ 3 ทางออก

  • เครือข่าย We Fair ได้เข้าร่วมพิจารณากฎหมาย กับ คณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม และตั้งอนุกรรมการศึกษาแนวทางบำนาญของประชาชน โดยมีร่างพระราชบัญญัติออกมาร่วมกัน ซึ่งใช้หลักการคล้ายกับ ข้อเสนอบำนาญของภาคประชาชน โดยร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้เสร็จแล้ว และผ่านการเห็นชอบจากกรรมาธิการสวัสดิการสังคม ขั้นตอนต่อไป คือ การนำไปเป็นกฎหมายเพื่อเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ
  • เครือข่าย We Fair ร่วมกับ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือ พีมูฟ  ประชุมและเจรจากับรัฐบาล โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน เสนอทางเลือกอื่นนอกจากการปรับก้าวกระโดนเป็น 3,000 บาทต่อคน เช่น การปรับเบี้ยผู้สูงอายุเป็น 1,000 ต่อคน แบบถ้วนหน้าทั้งหมดก่อน และยกเลิกการจ่ายแบบขั้นบันได
  • อีกทางเลือก คือ อยู่ระหว่างการเจรจากับพรรคการเมืองอื่น นอกจากรัฐบาล อาทิ พรรคก้าวไกล พรรคประชาชาติ พรรคเสรีรวมไทย และพรรคไทยรักธรรม ซึ่งเป็นพรรคเล็กที่อยู่ในพรรคร่วมรัฐบาล ตอนนี้มี ร่างกฎหมายภาคการเมืองอีก 4 ฉบับ ที่ใช้หลักการคล้ายกับร่างกฎหมายของภาคประชาชนเช่นกัน ตอนนี้กำลังจะผ่านสภาฯ และไปสู่นายกรัฐมนตรี
นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม

แม้จะมีทางเลือกอยู่ แต่ความกังวลใหญ่ของภาคประชาชน และนักเคลื่อนไหว คือ หากกรอบแนวคิดของรัฐบาลไม่เปลี่ยนจากการมองสวัสดิเป็นแบบสงเคราะห์ ก็มีโอกาสที่จะปัดตกร่างกฎหมายฉบับอื่น ที่หลายภาคส่วนพยายามร่วมกันสร้างขึ้น

เครือข่าย NGOs ประเมินทิศทางว่า ความหวังที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุด คือ แนวทางแรกที่ใช้การปรับแก้ไข พ.ร.บ.ผู้สูงอายุฯ เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน และการปรับเบี้ยเป็น 1,000 บาทในเบื้องต้นก่อน เพราะถือว่าเป็นหนึ่งในแนวทางที่พรรคพลังประชารัฐและพรรคประชาธิปัตย์ เคยหาเสียงเอาไว้ก่อนนี้เช่นกัน

ย้อนกลับไปปี 2544 นี่เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนสำหรับสวัสดิการเพื่อประชาชน ในรูปแบบของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จากนั้นเริ่มเห็นพัฒนาการที่ให้สวัสดิการกับประชาชนมากขึ้น ในช่วง รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ให้เบี้ยผู้สูงอายุถ้วนหน้า 600 บาท เป็นครั้งแรกในประเทศไทย จนถึงสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ให้แบบขั้นบันได 600 – 700 – 800 บาท จนถึงปัจจุบัน

กระทั่งรัฐบาลปัจจุบันที่ให้เหตุผลการปัดตกด้วยเหตุผลการบริหารงบประมาณ รวมถึงการพิจารณาของกฤษฎีกาที่มองว่า ข้อเสนอภาคประชาชนมีความซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่น ดังนั้นเหตุผลหลักที่ภาคประชาชน นักเคลื่อนไหว รวมตัวกันที่ด้านหน้าทำเนียบรัฐบาลวันที่ 8 ก.พ. ก็เพื่อส่งสัญญานให้ภาครัฐตระหนักว่า สวัสดิการประชาชนเป็นสิทธิ์ และการปัดตกร่างกฎหมายประชาชน เปรียบเหมืนการปิดช่องทางนำเสนอกฎหมายของภาคประชาชน โดยที่ผ่านมากลุ่มเปราะบาง ทั้งผู้สูงอายุ เด็กเล็ก และคนพิการ ก็ยังไม่ได้รับความชัดเจนในเรื่องสวัสดิการถ้วนหน้า ซึ่งเป็นร่างกฎหมายที่เสนอโดยภาคประชาชนทั้งสิ้น

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน