ทวง ‘สวัสดิการ’ เกิดยันแก่ ชี้ใช้งบฯ น้อยกว่า ‘เงินหมื่นดิจิทัล’ 8 เท่า

ภาคประชาชน บุก พม. จี้ยกระดับสวัสดิการถ้วนหน้า อุ้มกลุ่มเปราะบาง จับตา พม. จ่อเสนอเข้า ครม. มิถุนายนนี้

วันนี้ (15 พ.ค. 67) เครือข่ายภาคประชาชน ประกอบด้วย ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move), เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (We Fair), เครือข่ายสลัม 4 ภาค, เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ และอีกหลายภาคส่วน ร่วมติดตามความคืบหน้าการยกระดับสวัสดิการ 5 มาตรการ ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยหวังพัฒนาคุณภาพชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

May be an image of 4 people, crowd and text
ภาพจาก : We Fair

สำหรับการยกระดับสวัสดิการ 5 มาตรการ เน้นครอบคลุมทุกช่วงวัยตั้งแต่เกิดยันแก่ โดยข้อเสนอนี้มีผลสืบเนื่องจากมติของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move) เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2567 โดยมี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน แทนรองนายกรัฐมนตรี ภูมิธรรม เวชยชัย ซึ่งการประชุมในวันนั้นได้มีมติเห็นชอบการขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการโดยรัฐ ด้านสวัสดิการกลุ่มเปราะบาง โดยสรุปมาตรการทั้ง 5 ข้อ ดังนี้

  1. เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ : จาก 600-1,000 บาท เป็นเดือนละ 1,000 บาท

  2. เบี้ยความพิการ : จาก 800 บาท เป็นเดือนละ 1,000 บาท

  3. เงินอุดหนุนเด็ก : เปลี่ยนเป็นระบบถ้วนหน้า 600 บาท

  4. งินอุดหนุนสตรีมีครรภ์ (เดือนที่ 5-9) : เดือนละ 3,000 บาท

  5. เงินอุดหนุนสวัสดิการประจำเดือนสตรี (ผ้าอนามัย) 
ภาพจาก : We Fair

นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (We Fair) บอกว่า การผลักดันเรื่องสวัสดิการในวันนี้ จะเป็นก้าวสำคัญของระบบสวัสดิการไทย เพราะช่วยโอบอุ้มกลุ่มเปราะบางตั้งแต่เกิดจนแก่ โดยเฉพาะเด็กกว่า 4.3 ล้านคน จะได้รับเงินอุดหนุนถ้วนหน้า ไม่ต้องรอการสงเคราะห์ ขณะที่ผู้พิการกว่า 2 ล้านคน สตรีมีครรภ์กว่า 5 แสนคน และผู้สูงอายุอีกกว่า 11 ล้านคน ที่ล้วนเป็นกลุ่มเปราะบางในสังคมไทย จะได้รับประโยชน์จากสวัสดิการนี้พร้อมหน้ากัน

“งบฯ เดิมรัฐบาลได้จัดสรรเรื่องนี้อยู่แล้วประมาณ 130,000 ล้านบาท หากว่าทั้ง 4 เรื่องนี้เข้า ครม. งบฯ จะเพิ่มขึ้นประมาณ 60,000 ล้าน ซึ่งใช้งบฯ น้อยกว่าดิจิทัลวอลเล็ตที่ใช้งบประมาณ 560,000 ล้าน หรืองบ 1 ใน 8 ของดิจิตอลวอลเล็ต”

นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์

ขณะที่ อนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ชี้แจงว่า กระทรวง พม. จะทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอเรื่องเข้า ครม. ภายในเดือนมิถุนายนนี้ ช่วงสัปดาห์ที่ 2-3 และจะมีการทำงานร่วมกับเครือข่ายประภาคประชาชนด้วย อย่างไรก็ตามประชาชนยังต้องติดตามความคืบหน้าต่อไปว่า ครม. จะเห็นชอบกับมาตรการเหล่านี้หรือไม่

ย้อนงบฯ ด้านสวัสดิการปี 2567 : ช่วงวัยไหนได้เท่าไรบ้าง ?

งบประมาณรายจ่ายปี 2567 มีวงเงินสูงถึง 3.48 ล้านล้านบาท โดยมีงบประมาณที่ลงทุนกับสวัสดิการของคนในแต่ละช่วงวัยอยู่ราว 3.87 แสนล้านบาท หรือ คิดเป็นร้อยละ 11 ของงบประมาณทั้งหมด เงินจำนวนนี้จะสะท้อนให้เห็นภาพรวมของสภาพสังคมไทยในปัจจุบันและอนาคต ผ่านมุมมองของการจัดสรรงบประมาณสวัสดิการสำหรับแต่ละช่วงวัย

ข้อมูลรายจ่ายเพื่อสวัสดิการของแต่ละช่วงวัยในงบฯ ปี 2567 พบว่า มีการใช้จ่ายเพื่อคนช่วงวัยเรียนมากที่สุด 141,922.23 ล้านบาท (36.59%) รองลงมาคือ ช่วงวัยแรงงาน 135,084.2 ล้านบาท (34.83%) อันดับ 3 คือ ช่วงวัยสูงอายุ 94,095.47 ล้านบาท (24.26%) และน้อยที่สุดคือ ช่วงวัยเด็ก 16,774.82 ล้านบาท (4.32%)

หากเทียบกับจำนวนประชากรในแต่ละช่วงวัยโดยข้อมูลจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เมื่อปี 2565 พบว่ามีประชากรในวัยทำงานมีจำนวนมากที่สุดราว 36 ล้านคน รองลงมาคือวัยเรียน 13 ล้านคน วัยสูงอายุ 11 ล้านคน และน้อยที่สุดคือวัยเด็ก 4 ล้านคน

วัยเด็ก : งบประมาณสวัสดิการสำหรับเด็กมีสัดส่วนน้อยที่สุด แม้จะเป็นช่วงวัยที่มีจำนวนประชากรน้อยที่สุด สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาเด็กเกิดน้อยลง โดยโครงการ “เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด” เป็นโครงการที่ใช้งบประมาณมากที่สุด แต่ยังมีจำนวนเงินเพียง 600 บาทต่อเดือนต่อเด็ก ซึ่งอาจไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูเด็ก และมีข้อเรียกร้องของภาคประชาชน ที่ต้องการยกระดับจากเงินสงเคราะห์รายหัวให้เป็นสวัสดิการถ้วนหน้า

วัยเรียน : งบประมาณสวัสดิการสำหรับวัยเรียนมีจำนวนมากที่สุด สะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญของการศึกษาที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ ว่ารัฐต้องจัดการศึกษาให้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย โดยมีโครงการ “เรียนฟรี 15 ปี” เป็นโครงการที่ใช้งบประมาณมากที่สุด รองลงมาคืองบประมาณอาหารกลางวันและนมโรงเรียน

วัยทำงาน : งบประมาณสวัสดิการสำหรับวัยทำงานมีจำนวนรองลงมาจากวัยเรียน โดยกองทุนบำเหน็จข้าราชการได้รับการจัดสรรงบประมาณสูงสุด ขณะที่กองทุนประกันสังคมมีเงินงบประมาณเพียง 1 ใน 3 ของกองทุนบำเหน็จข้าราชการ สะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำด้านสวัสดิการระหว่างข้าราชการและพนักงานเอกชน

ผู้สูงอายุ : งบประมาณสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุมีจำนวนรองลงมาจากวัยทำงาน โครงการเบี้ยผู้สูงอายุเป็นโครงการที่ใช้งบประมาณมากที่สุด แต่เบี้ยยังชีพที่ได้รับยังมีจำนวนน้อยเกินไป สอดคล้องกับข้อเรียกร้องของภาคประชาชน ในอนาคตประเทศไทยจะเผชิญกับความท้าทายอีกมาก เช่น ปัญหาเด็กเกิดน้อย และสังคมผู้สูงอายุ ฯลฯ จึงเป็นโจทย์ท้าทายรัฐบาลที่ต้องสร้างนโยบายและมาตรการที่ชัดเจน เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ และสร้างอนาคตที่ดีให้กับประชาชนทุกช่วงวัย

The Active ชวนอ่านเพิ่มเติม : ส่องงบฯ 2567 ตั้งแต่เกิดจนตาย ประชาชนได้สวัสดิการใดบ้าง ?

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active