ยุติละเมิดสิทธิชุมชนชาติพันธุ์ กะเหรี่ยง “ใจแผ่นดิน”

ภาคประชาสังคม เห็นพ้อง “กะเหรี่ยงบางกลอย” มีสิทธิกลับขึ้นไปอยู่ป่าลึกใจแผ่นดิน ยืนยัน สิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม เรียกร้องรัฐ เร่งแก้ความเดือดร้อนชาวบ้าน แก้ความผิดพลาดในอดีต

เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2564 ในงานเสวนาออนไลน์ หัวข้อ (ละเมิด) สิทธิชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงใจแผ่นดิน จัดโดย คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เริ่มต้นด้วยการกล่าวปาฐกถา โดย ชยันต์ วรรธนะภูติ หัวหน้าศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หัวข้อ การทบทวนสิทธิชุมชน สิทธิชาติพันธุ์ ว่า ความคิดเรื่องคนอยู่กับป่าไม่ได้รับการยอมรับ ในระยะแรกความคิดของฝ่ายที่มองเห็นทรัพยากรเป็นเรื่องความมั่นคงทางการเมือง ยังไม่มีการพูดถึงเรื่องความมั่นคงทางอาหาร แต่มองเห็นว่าพื้นที่ ที่อยู่บนพื้นที่สูง มีป่าไม้เป็นพื้นที่ที่ต้องมีวิธีการในการจัดการ หลังจากที่รัฐให้สัมปทานไปเป็นระยะเวลาหลายทศวรรษ ช่วงก่อนปี 2500 ได้เปิดให้มีการสัมปทานป่าไม้แก่บริษัทเอกชน ต่างชาติ ต่อมาก็มีการสัมปทานโดยบริษัทเอกชนในประเทศ แนวคิดตอนนั้น มองว่าป่าไม้เป็นทรัพยากรที่จะทำประโยชน์ทางด้านรายได้ ไม่ได้คิดว่าเป็นทุนทางธรรมชาติที่ควรอนุรักษ์ไว้เพื่อทำให้เกิดความสมดุลในการพัฒนา

ภาพ: ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา ม.เชียงใหม่

ความพยายามในการหาวิธีการที่จะให้มีการยอมรับสิทธิให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากร บนฐานวัฒนธรรม เริ่มชัดขึ้นในปี 2553 มีการเสนอต่อ ครม. เป็นมติ ครม. 3 ส.ค. 2553 แนวนโยบายว่าด้วยการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ด้วยพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษ ซึ่งมติ ครม. นี้ ไม่ได้เขียนว่ายอมรับสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรอย่างตรงไปตรงมา แต่ระบุเรื่องชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม มีสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองในการจัดการทรัพยากรด้วยฐานวัฒนธรรมของตนเอง มติ ครม. ตัวนี้ จึงมีพื้นฐานความคิดเรื่องสิทธิชุมชน มีการประกาศพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษ 4 พื้นที่ มี 2 พื้นที่อยู่ภาคตะวันตก แต่ที่ผ่านมาแล้ว 10 ปี รัฐก็ไม่ได้ยอมรับหรือประกาศพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษเพิ่มเติม ยกเว้นบางพื้นที่ที่องค์กรพัฒนาเอกชนประกาศขึ้นมาเอง

“การประกาศพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษ ถึงจะมีนัยของการยอมรับสิทธิชุมชน แต่ก็ไม่ได้มีการอธิบายให้ชัดเจนว่าประชาชนจะมีสิทธิอย่างไรในการออกกฎระเบียบที่เป็นที่ยอมรับของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บางทีกลายเป็นว่าผู้ที่เกี่ยวข้องก็พยายามหาลักษณะพิเศษด้านวัฒนธรรม เช่น การแสดงออก การร้องเพลง เต้นรำ กลายเป็นถูกตีความว่าเป็นการมองหาจุดเด่นทางวัฒนธรรมเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่อนุรักษ์และดูแลไม่ให้สูญหาย”

ชยันต์ กล่าวต่อในกรณีนี้ว่า ต้องอธิบายให้ชัดเจนเรื่องพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษ ว่าเราจะมองหาสิ่งใดที่มีความพิเศษ อาจไม่ใช่ทางด้านวัฒนธรรม แต่เป็นการตระหนักถึงลักษณะที่เป็นเงื่อนไขที่จะนำไปสู่การนำเอาวัฒนธรรมมาใช้เป็นกลไกในการอนุรักษ์ทรัพยากร หรือทำให้เห็นความสำคัญว่าวิถีปฏิบัติของพี่น้องชาติพันธุ์เหล่านี้ มีวิธีปฏิบัติเฉพาะที่นำไปสู่การอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างเป็นมิตร และนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

“เรารู้ว่าเขาเคยอยู่บางกลอย ที่เป็นป่าอุดมสมบูรณ์ ไม่ใช่วิถีที่ทำลายล้าง อยู่ด้วยความเคารพและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ โดยไม่ใช่การเบียดเบียน เขามีข้าวเพียงพอ ในขณะเดียวกัน ก็สามารถปลูกพืชเศรษฐกิจที่หมุนเวียนได้ ซึ่งเขาควรได้รับการยอมรับและให้ความคุ้มครอง ถือว่าเป็นรูปแบบของวิถีชีวิตที่ไม่ควรถูกเบียดขับหรือปิดกั้น สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ชาวบ้านถูกอพยพจากบางกลอยบนมาอยู่ที่บางกลอยล่าง พื้นที่นั้นเขาไม่สามารถปรับตัวใช้ชีวิตได้ ก็เกิดเป็นโศกนาฏกรรมที่เราเสียใจเป็นอย่างยิ่ง เราน่าจะเอาข้อมูลมาคุยกัน เพื่อแก้ปัญหา โดยเฉพาะปัญหาในเชิงความคิดของผู้ที่ถือกฎหมายในการจัดการทรัพยากรที่ขัดแย้งกับชาวบ้าน”

ภาพ: ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา ม.เชียงใหม่

ด้าน นิรันดร์ พงษ์เทพ ผู้ใหญ่บ้านบางกลอย(ล่าง) อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เปิดเผยถึงสถานการณ์ล่าสุด ต่อกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นกับชาวกะเหรี่ยงบางกลอย ที่ถูกอพยพลงมาจากบางกลอย(บน) และใจแผ่นดิน ตั้งแต่ปี 2539 มีบางส่วนที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ทำกิน ชาวบ้านจึงกลับขึ้นไปที่พื้นที่ดั้งเดิมที่บางกลอยบน โดยปัญหาสำคัญ คือ เพราะไม่มีที่ดินทำกิน ตอนนี้เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานก็ขึ้นไป และขอความร่วมมือให้ญาติของชาวบ้านที่ตัดสินใจกลับขึ้นไปข้างบนไปเกลี้ยกล่อม หรือตามชาวบ้านกลับลงมา เพื่อพูดคุยเรื่องการแก้ปัญหา

“แต่เรื่องจัดสรรที่ดินเพิ่ม เจ้าหน้าที่ยังไม่ได้รับปากว่าจะให้ แต่ให้มาคุยกันก่อน ส่วนชาวบ้านที่อยู่ข้างล่างก็เจรจากับเจ้าหน้าที่ ว่าต้องการความชัดเจน ให้มีคณะกรรมการเข้าไปร่วมแก้ไขปัญหา ทั้งเอกชนและภาครัฐ ไปดูว่าพื้นที่ชาวบ้านเขาทำกินได้หรือไม่ได้ ถ้าได้จริง ๆ ค่อยให้ชาวบ้านข้างบนลงมา ซึ่งวันนี้ก็มีเจ้าหน้าที่ขึ้นไปบางกลอยบน เกลี้ยกล่อมให้ชาวบ้านลงมา มีทั้งเจ้าหน้าที่ที่เป็นไทยและพี่น้องกะเหรี่ยงในพื้นที่ด้วย ผมถามเจ้าหน้าที่ ไม่ว่าจะหัวหน้าอุทยานฯ หรือรองอธิบดี เขาก็บอกว่าจะไม่ยอมไปพูดคุยโดยเด็ดขาด แต่จะให้ลงมาพูดคุยที่บางกลอยล่าง ผมก็เป็นห่วงว่าถ้าชาวบ้านไม่ลงมา จะเกิดความรุนแรงอะไรหรือเปล่า โดยเฉพาะใช้คำว่าจะดำเนินการตามกฎหมาย”

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ยืนยันว่าชาวกะเหรี่ยงบางกลอย มีสิทธิในการใช้ประโยชน์และบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ซึ่ง ตนได้ไปดูแลเรื่องชาวกะเหรี่ยงและชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในเรื่องการจัดการที่ดิน เนื่องจากชุมชนมีเรื่องที่ร้องมาในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน เยอะมาก คำว่าชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม เป็นเรื่องที่ทำให้เห็นมิติเรื่องวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ของชุมชนท้องถิ่น ปัญหาที่สังคมไทยและรัฐยังไม่เข้าใจและยอมรับเรื่องชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม เพราะสังคมยังยังไม่รับแนวคิดหลายเชื้อชาติ ก็จะมีอคติที่ไปเชื่อมเรื่องปัญหาความมั่นคง พร้อมระบุด้วยว่า รัฐมองกฎหมายในเชิงอำนาจ ไม่ได้มองเรื่องความเป็นธรรมหรือความถูกต้อง ไม่ใช้หลักนิติรัฐ ในรัฐธรรมนูญ 2540 ต้องการให้เกิดนิติธรรม แต่ที่ผ่านมามันเป็นนิติอธรรมมากกว่า ที่เป็นการบังคับใช้กฎหมายโดยไม่เป็นธรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ใช้มิติการมองคนที่อยู่กับป่าว่าเป็นคนที่ตัดไม้ทำลายป่า

“ยืนยันใน พ.ร.บ.ป่าไม้ และ พ.ร.บ.อุทยานฯ การประกาศเป็นเขตป่าอุทยานที่บริเวณใจแผ่นดินเพิ่งประกาศเมื่อปี 2524 แต่ชาวบ้านกะเหรี่ยงที่ใจแผ่นดินอยู่ในพื้นที่มาร่วม 100 ปี หลักฐานคือปู่คออี้ที่เสียชีวิตไป เกิดปี 2454 หมายความมติ ครม. 3 ส.ค. 2553 และมติ ครม. 30 มิ.ย. 2541 ก็ยอมรับว่าการอยู่ก่อนประกาศเขตป่าต้องมีสิทธิในการทำกิน รัฐก็มีนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิต ถ้าเรายอมรับในความเป็นอัตลักษณ์หรือชาติพันธุ์ที่มีความหลากหลายแล้ว รัฐต้องไปเพิกถอนป่า ต้องยุติการจับกุม และตั้งกรรมการกำหนดพื้นที่ต่าง ๆ แต่ปรากฏว่าหน่วยงานไม่ได้ถือเป็นแนวปฏิบัติ กลับไปยึดถือ พ.ร.บ.ป่าไม้ และ พ.ร.บ.อุทยานฯ ที่มาทีหลังชาวบ้าน การที่หน่วยงานของรัฐพยายามผลักดันชาวบ้านที่บางกลอยบนและใจแผ่นดินลงมาอยู่ที่บางกลอยล่าง การผลักดัน ขับไล่ ทำลายทรัพย์สินเป็นการละเมิดสิทธิชุมชน ละเมิดสิทธิในการใช้ประโยชน์และทำมาหากิน ผิดกฎหมายนะครับ ตามรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายแม่บท”

ภาพ: ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา ม.เชียงใหม่

นพ.นิรันดร์ กล่าวต่อว่า ในปี 2554 และปี 2557 ตนได้ส่งคณะทำงานลงไปหาข้อมูลละเอียดในพื้นที่ พบว่าบริเวณที่ถูกโยกย้ายจากใจแผ่นดินลงมา จริงอยู่ที่มีโครงการพระราชดำริ มีการอุดหนุนเรื่องการเกษตร แต่ต้องยอมรับว่ามันไม่เพียงพอที่จะทำให้เขาอยู่ได้ เพราะพื้นที่ที่บางกลอยล่างมันทับซ้อนเรื่องพื้นที่ทำกิน ดินไม่เหมาะกับการเกษตร จึงมีชาวกะเหรี่ยงส่วนหนึ่งที่ต้องไปทำมาหากินขายแรงงาน แต่พอเกิดโควิด ลองคิดดูว่าแรงงานที่ตกงานมันมีเป็นล้าน คนที่นั่นก็ต้องตกงาน

“เหตุผลที่พวกเขายืนยัน ว่าทำไมต้องไปบางกลอยบน ปู่คออี้บอกว่าก็เพราะพวกเขามีข้าวกิน ปลูกพริกขายบ้าง ถึงจะน้อยแต่อยู่ได้ อยู่ข้างล่างมีเงินจริงแต่มันไม่พอใช้ ท่านลองคิดว่าสถานการณ์โควิดมันทำให้เกิดปัญหาที่กระทบต่อคนด้อยโอกาสและเปราะบาง คนที่นั่นลำบากกว่าหลายร้อยหลายพันเท่า เป็นเหตุผลง่าย ๆ เลยครับที่เขาต้องกลับไปเพื่อความมั่นใจ”

ผศ.มาลี สิทธิเกรียงไกร ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า เรื่องกะเหรี่ยงใจแผ่นดินเป็นเรื่องที่ยืดยาวมาตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปีนี้ปี 2564 ก็ 10 ปีแล้ว เข้าใจว่าช่วงปี 2554 ที่ถูกเผา ไล่รื้อลงมา เราที่อยู่ภาคเหนือก็ตกใจกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะภาพที่ปรากฏออกมาเป็นภาพการเผาบ้านชาวบ้านที่อยู่ที่บริเวณใจแผ่นดิน เราก็มีความรู้สึกไม่เข้าใจว่ายุค พ.ศ. ที่ประเทศไทยก็ก้าวหน้ามาเยอะแล้ว เราเรียกร้องประชาธิปไตยมาจนถึงปี 2554 เราก็เรียกร้องการยุติความรุนแรงทุกรูปแบบ แต่ในปี พ.ศ. 2554 มีประชาชนชาวไทยกลุ่มหนึ่งที่อยู่ในป่าลึกเข้าไป ที่ถูกเรียกว่าเป็นคนกะหร่าง ประชาชนก็ตกใจ ไม่รู้ว่าเขาคือใคร จนตอนหลังเราก็ได้รู้ว่าคำเรียกที่ปกาเกอะญอทางผืนป่าเพชรบุรีถูกคนข้างนอกเรียก

ผศ.มาลี อธิบายว่า เพราะกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่ยอมรับ คำว่า “ป่าอนุรักษ์” หรือ “ป่าอุทยาน” เป็นที่ราชการเรียกขึ้นมา ซึ่งมาพร้อมกับกฎหมายฉบับต่าง ๆ และมาพร้อมกันกับอำนาจชุดหนึ่งที่เข้ามาควบคุมพื้นที่ ทำให้พื้นที่นั้นต้องมีความบริสุทธิ์ โดยยกตัวอย่างการอพยพชาวบ้านผาช่อ มาอยู่ที่จังหวัดลำปาง ตนเคยไปเยี่ยมหมู่บ้านนี้ครั้งหนึ่ง แม้จะถูกอพยพมาอยู่ใกล้ถนนหนทาง มีแท็งก์น้ำสูง ก็คิดว่ามีระบบน้ำอย่างดี แต่ปรากฏไม่มีน้ำ ก็เหมือนกันกับบ้านโป่งลึกบางกลอยที่ถูกอพยพลงมา แต่ที่ผาช่อ ผู้หญิงส่วนหนึ่งต้องไปมีอาชีพพิเศษ คนแก่ฆ่าตัวตาย เกิดขึ้นในปี 2537 เป็นการพยายามต่อสู้ ยืนยันสิทธิของคนที่อยู่กับป่า

“คนที่ใช้ทรัพยากรนั้น กับที่คนมีอำนาจ มีการทำงานกันเป็นเครือข่าย มันเป็นเครือข่ายที่ผนึกกำลังกันอย่างดี ถ้าพวกเราไม่วิเคราะห์สถานการณ์นี้อย่างดี เครือข่ายอำนาจนี้จะดีใจมาก และทำให้เราสูญเสียสิทธิในการดูแลทรัพยากรของเรา ทางเลือกที่พอจะมีตอนนี้คือมติ ครม. 3 ส.ค. 2553 หรือถ้าอยากจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมา อะไรก็ได้ที่เร็วที่สุดและสามารถแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน”

สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เห็นว่า รัฐต้องให้ชาวบ้านกลับขึ้นไป และสร้างบ้านกลับคืนให้กับชาวบ้าน โดยอ้างถึงคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุด ตัดสินแล้วว่า เจ้าหน้าที่ทำผิดกฎหมาย ที่ผ่านมาน่าเป็นห่วง นอกจากจะไม่เยียวยาชาวบ้านแล้ว ยังนั่งเฮลิคอปเตอร์เข้าไป ไปให้ข่าวว่าชาวบ้านทำผิดกฎหมาย ฉะนั้น กรมอุทยานฯ ต้องรีบดำเนินการตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ยุติการจับกุมดำเนินคดี ไม่ต้องเข้าพื้นที่ ไปบินคุกคามชาวบ้านแล้ว และคืนสิทธิให้ชาวบ้าน ตอนนี้มีชาวบ้านกว่า 400 คนที่ต้องการกลับไป ตอนนี้ยังไปไม่ถึงร้อย ต้องพาเขาไปให้หมด และสร้างบ้านคืนให้เข้า ปล่อยให้ชาวบ้านไปอยู่ที่เดิม ทำไร่หมุนเวียนเหมือนเดิม ครอบครัวหนึ่งเขาใช้ไม่เกิน 2-3 ไร่

“ที่ผ่านมาเขาพิสูจน์ชัดเจนแล้หลายร้อยปี ว่าชาวบ้านรักษาป่า อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเป็นอุทยานที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ จะประกาศเป็นมรดก ก็เพราะมีป่าที่ชาวบ้านเขารักษาไว้ ชาวบ้านเขารู้ว่าตรงไหนถิ่นเสือ ถิ่นช้าง เขาไม่ไปยุ่ง ชาวบ้านอยู่กับจระเข้น้ำจืดมาเป็นร้อย ๆ ปี เขาก็อยู่อย่างสงบ การที่อุทยานให้ข่าวว่าเจอช้าง จระเข้ บอกว่าอย่าไปรบกวน แต่พอเจอคน กลับจะไม่ให้เขาอยู่ คนเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากกว่านั้น เรามีจิตวิญญาณ เรามีความเชื่อ และที่สำคัญคือเราเป็นคนไทยเหมือนกัน รัฐต้องเข้ามาดูแลจัดการตามกฎหมาย ที่ผ่านมาการไปเผาบ้าน ไล่รื้อเขา ผิดกฎหมายทั้งนั้น”

ผศ.นัทมน คงเจริญ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยืนยันว่า การเป็นมรดกโลกไม่จำเป็นเลยที่จะต้องเอาคนออกจากป่า การเป็นมรดกโลกต้องเป็นการบริหารจัดการที่ดี ฉะนั้นการที่ไทยพยายามเสนอพื้นที่นี้เป็นมรดกโลก แต่ไปไล่เผาบ้าน จะทำให้รัฐไทยไม่สามารถเสนอพื้นที่นี้ให้เป็นมรดกโลกได้ ถ้าอยากเป็นมรดกโลกจริง ๆ รัฐต้องบริหารจัดการพื้นที่อย่างมีธรรมาภิบาล

“ข้อที่ควรระวังคือ ต้องไม่ใช่การเอาพื้นที่นี้ไปให้คนนอก และแปลงเป็นของนายทุน ต้องเป็นของชาวบ้านใจแผ่นดิน สองคือ ความเป็นอยู่ อัตลักษณ์ การอยู่อย่างสอดคล้องกับธรรมชาติ หลักการอีกข้อที่สำคัญคือ สิทธิในที่ดิน”

ด้าน สุมิตรชัย หัตถสาร ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น กล่าวว่า จุดเริ่มต้นปัญหาทั้งหมด เริ่มเมื่อปี 2539 มีการพูดในสื่อหลายสื่อ โครงการอพยพคนที่นั่นมาตั้งแต่ปี 2539 มีสื่อลงเรื่องนี้นิดหนึ่ง มีการอ้างถึงโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ไม่ใช่โครงการของพระองค์โดยตรง ฉะนั้น เวลาอ้างก็มีนัยยะที่คนเข้าใจไปต่าง ๆ นา ๆ จึงเป็นจุดตั้งต้น หัวหน้าอุทยานฯ คนล่าสุด ก็อ้างเรื่องนี้ว่าการอพยพมา มันเป็นโครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ ประวัติศาสตร์เริ่มต้นเมื่อปี 2518 เป็นแผนการจัดตั้งหมู่บ้านป่าไม้ โยงกับขบวนการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เรื่องความมั่นคง ยุคนั้นมันอยู่ในยุคสงครามเย็น เป็นแนวคิดที่จะเอาพี่น้องออกมาอยู่ในจุดที่ปลอดภัย ก็เกิดแนวคิดการก่อตั้งหมู่บ้า

โดยโครงการนี้เผยแพร่ในเว็บไซต์ โครงการนี้เกี่ยวข้องกับพี่น้องบางกลอย อ้างพระราชดำรัสเกี่ยวกับต้นน้ำเพชร มาจัดทำเป็นโครงการโดยกองอุทยานฯ ก็มีโครงการนี้ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาเรื่องการบุกรุกทำลายป่า หน่วยงานรับผิดชอบ คือ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสภาความมั่นคง ซึ่งมีประเด็นเรื่องความมั่นคงเข้ามาเกี่ยวตรงนั้นด้วย เพราะมันติดชายแดน

“เราเห็นแต่ยุทธการตะนาวศรีที่มาจากไหนไม่รู้ เขาตั้งต้นด้วยโครงการนี้ ไม่รู้ว่าเรื่องเดียวกันหรือเปล่า แต่ยุทธการตะนาวศรีมันพูดถึงการผลักดัน อพยพ จับกุม เขียนในโครงการชัดเจน มีความย้อนแย้งพอสมควรว่าตกลงแล้วโครงการที่เขาจะทำต่อ กระบวนการที่จะพัฒนาพี่น้องบางกลอยที่ลงมาข้างล่างแล้ว การแก้ไขปัญหาของเขากลับกลายเป็นยุทธการตัวนี้ คำถาม คือ ถ้าเราไม่ย้อนไปมองอดีตว่ามีกระบวนการอะไรที่รัฐทำ ไม่ทำ หรือไม่มีประสิทธิภาพมากพอ จนทำให้ชาวบ้านไม่สามารถอยู่ได้ด้วยคุณภาพชีวิตที่ดี ต้องกลับไปมองหาสิ่งเหล่านี้ด้วย”

ภาพ: ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา ม.เชียงใหม่

สุมิตรชัย ยังมองว่าเรื่องนี้เชื่อมโยงกับสิทธิชุมชน เพราะเรื่องการจัดการพื้นที่อย่างสมดุลและยั่งยืน มีเรื่องความสอดคล้องกับสนธิสัญญาระหว่างประเทศด้วย ไม่ใช่แค่กฎหมายล้วน ๆ ซึ่งมีความเป็นพหุนิยมทางกฎหมายมากขึ้น หลักการเหล่านั้นที่เกี่ยวข้องก็พูดถึง UNESCO และ IUCN ที่ยอมรับเรื่องชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ซึ่งเป็นหลักการสากล

“ผมอยากให้เห็นมาตราหนึ่งของกฎหมายรัฐธรรมนูญ อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ประเทศไทยก็เป็นภาคี ไปรับปากเขาหลายเรื่องในเวที เรื่องความหลากหลายทางชีวภาพเป็นเรื่องสำคัญมากในการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ยอมรับเรื่องชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมด้วย เขียนไว้ในอนุสัญญาชัดเจน แต่ที่อุทยานแก่งกระจานเสนอ คือ เขาเสนอว่ามันปลอดคน คณะกรรมการของ UNESCO จึงถามกลับมาหลายครั้งมากว่าสรุปยังไง รัฐต้องมีนโยบายเรื่องนี้ อยู่ในหมวดนโยบายพื้นฐานของรัฐ ใช้คำว่า “รัฐพึง” แต่มันมีนโยบายตั้งแต่ปี 2553 ก็คือมติ ครม. 3 สิงหาคม 2553 สวมกับมาตรา 70 นี้พอดี”

สุมิตรชัย ยังระบุอีกว่า ขณะนี้มีกระบวนการที่จะยกระดับมติ ครม. ให้มีระดับทางกฎหมายให้สูงขึ้น อยู่ระหว่างการดำเนินการ พร้อมเสนอว่า กรมอุทยานฯ อย่าใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างเดียว เพราะขัดมติ ครม. 3 ส.ค. 2553 แน่นอน การคุ้มครองพี่น้องข้างบนเป็นหน้าที่ ส่วนกระบวนการแก้ไขปัญหาก็มาหาทางออกร่วมกัน อย่าใช้มาตรการทางกฎหมายแบบเดิม ด้วยเงื่อนไขปัญหาที่เกิดขึ้นที่ผ่านมา ไม่มีประสิทธิภาพ ขาดการมีส่วนร่วม ทำให้เกิดการถูกละเมิด รัฐต้องยอมรับตรงนี้ จึงเสนอให้ใช้มาตรการทางนโยบาย

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ