ร่วมลงนาม MOU แก้ไขปัญหากลุ่มชาติพันธุ์

รมว.ทส. ย้ำ การอนุรักษ์ฯ ต้องคู่การดูแลวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เขตวัฒนธรรมพิเศษนำร่อง พิสูจน์ชัด ชุมชนอยู่คู่การจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมได้

วันนี้ (28 พ.ย. 2563) ภาคีเครือข่ายภาครัฐ ภาคประชาสังคม และชาวเล ร่วมจัดกิจกรรมรวมญาติชาติพันธุ์ชาวเล ครั้งที่ 11 “ส่งเสริมวิถีชีวิต สู่การผลักดันกฎหมายและเขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล” จัดขึ้นที่ชุมชนชาวเลบนเกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล ภายใต้การขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหากลุ่มชาติพันธุ์ในระดับนโยบาย เตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์

นายวราวุธ  ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ปัญหาเกาะหลีเป๊ะนั้นเป็นปัญหาครอบคลุมหลายหน่วยงาน หลายกรม หลายกระทรวง ดังนั้น การแก้ไขปัญหาจึงค่อนข้างมีความซับซ้อน สั่งสมมายาวนาน จะแก้ปัญหาโดยหน่วยงานเดียวไม่ได้ ดังนั้น บันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือ (MOU) นี้ จะเป็นการบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วน โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะเป็น 1 ในกลไกสำคัญ ที่จะช่วยผลักดันการแก้ปัญหาไม่ว่าจะเรื่องที่ดินทำกินจะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้แก้ปัญหาพี่น้องชาวเล และชาติพันธุ์ต่าง ๆ ให้สามารถพักพิงอาศัยในถิ่นเกิด

“วันนี้เราไม่ใช่ตะบี้ตะบันอนุรักษ์อย่างเดียว ไม่ใช่เจอใครในพื้นที่อนุรักษ์แล้วต้องไล่ออกให้หมด สิ่งสำคัญคือ การดูแลทรัพยากร ควบคู่ไปกับการดูแลวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ เพราะการอนุรักษ์ที่ดี คงไม่มีใครที่จะหวงแหนทรัพยากร ไปมากกว่ากลุ่มชาติพันธุ์ที่เขาอยู่มากันเป็นร้อย ๆ ปี จึงขอเป็นกำลังใจให้พี่น้องชาติพันธุ์ทุกกลุ่ม” นายวราวุธ กล่าว

ด้านนายแพทย์โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) กล่าวว่า การลงนามในบันทึกความร่วมมือครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญอีกขั้นหนึ่ง หลังจากมีมติคณะรัฐมนตรี 2 มิถุนายน 2553 แนวนโยบายฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล และ 3 สิงหาคม 2553 แนวนโยบายฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง เพื่อให้เกิดรูปธรรมที่ชัดเจนที่สุดในการเคลื่อนไปข้างหน้า นั่นคือ การประกาศเขตวัฒนธรรมพิเศษ ซึ่งการลงนามในบันทึกความร่วมมือนั้น มีหลักสำคัญ คือ การสถาปนาพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษ ให้ชุมชนนำประเด็นปัญหามาหาทางออกร่วมกัน เพื่อทำให้การอนุรักษ์ และการมีชีวิตตามวิถีของกลุ่มชาติพันธุ์ เดินหน้าสอดคล้องควบคู่กันได้

นายแพทย์โกมาตร ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันที่มีการกำหนดเขตวัฒนธรรมพิเศษนำร่อง ที่ชาวบ้านสามารถดำรงวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ได้ โดยไม่ขัดต่อกฏหมาย จึงคาดว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะประกาศใช้ได้ภายในปี 2565

“เพราะต้องยอมรับว่ามติ ครม. ในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล-กะเหรี่ยง 10 ปีที่ผ่านมา ไม่เป็นที่น่าพอใจนัก มีอุปสรรค แต่การยกระดับมีพระราชบัญญัติ ที่จะเป็นกรอบสำคัญ เพราะราชบัญญัติอนุรักษ์และคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ที่บัญญัติไว้ หลัก ๆ คือ 1. การแสดงเจตจำนงชัดเจนของภาครัฐว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาทางนโยบาย  2. สถาปนากลไกต่าง ๆ ในการทำงานเรื่องนี้เฉพาะ อย่างสมัชชาชาติพันธุ์เพื่อกำหนดนโยบายสาธารณะ เข้าสมัชชาและคณะรัฐมนตรีพิจารณา และ 3.การออกกฎหมายมารองรับเขตวัฒนธรรมพิเศษ  ซึ่งเป็นที่ชัดเจนว่าการประกาศใน 12 พื้นที่ในภาคเหนือ ชุมชนสามารถอยู่ควบคู่ไปกับจัดการทรัพยากรสิ่งแวดล้อมที่ดีได้”



ข้อตกลงในการประสานความร่วมมือกัน คือ

1. สนับสนุนและผลักดันให้มีกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรม อัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ สนับสนุนการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน เครือข่าย พัฒนาศักยภาพผู้นำ การเข้าถึงการพัฒนาที่อยู่อาศัย เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ โดยให้ควบคู่กับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เกิดความยั่งยืน

2. ส่งเสริมสิทธิการมีส่วนร่วมของกลุ่มชาติพันธุ์ในการจัดการ บำรุงรักษา อนุรักษ์ และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน บนฐานภูมิปัญญาวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ โดยมีการจัดทำแผนแม่บทบริหารจัดการพื้นที่และการจัดทำกติกาชุมชน เพื่อประกาศเป็น “พื้นที่ส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์”

3. ส่งเสริมกลุ่มชาติพันธุ์ให้เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน เร่งรัดการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมให้กลุ่มชาติพันธุ์ใช้ต้นทุนทางวัฒนธรรมในการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยรักษาสมดุลระหว่างการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและการสืบทอดวิถีภูมิปัญญาวัฒนธรรม

ทั้งนี้เครือข่ายชาวเล มีมติร่วมกัน เตรียมนำร่องประกาศเขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล ซึ่งถือเป็นครั้งแรก รวม 14  พื้นที่  ประกอบด้วย

1) พื้นที่ชุมชนมอแกนหมู่กาะสุรินทร์ และสุสานมอแกน ต.เกาะพระทอง อ.คุระบุรี จ.พังงา

2) พื้นที่ชุมชนมอแกลนเกาะพระทอง-เกาะระ  ต.เกาะพระทอง อ.คุระบุรี จ.พังงา

3) พื้นที่ชุมชนมอแกลนบ้านบางสัก (บ้านทับตะวัน) ศาลพ่อตาสามพัน สุสานมอแกลนคลองหัก และชายหาด/ที่จอดเรือขุมเขียว หมู่ 7 ตบางม่วง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา

4) พื้นที่ชุมชนมอแกลนบ้านหินลาด หมู่ 6 ต.ท้ายเหมือง อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา

5) พื้นที่ชุมชนมอแกลนบ้านหินลูกเดียว พื้นที่ประเพณีนอนหาดรวมญาติชนเผ่ามอแกลน ศาลโต๊ะหินลูกเดียวหาดทรายแก้ว และสุสานมอแกลนท่าฉัตรไชย หมู่ 5 ตไม้ขาว อ.ถลาง จ.ภูเก็ต

6) พื้นที่ชุมชนอูรักลาโวยบ้านสะบำ และหลาโต๊ะ หมู่ 3 ต.เกาะแก้ว อ.เมือง จ.ภูเก็ต

7) พื้นที่ชุมชนอูรักลโว้ยหาดราไวย์ และบาไล หมู่ 2 ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต

8) พื้นที่ชุมชนอูรักลาโวยบ้านแหลตง เกาะพีพี และสุสานชาวเล หมู่ 7 ต.อ่าวนาง อ.เมือง จ.กระบี่

9) พื้นที่ชุมชนอูรักลาโวยบ้านโต๊ะบาหลิว หลาโต๊ะบาหลิว และสุสานบ่อแหน หมู่ 1 ต.ศาลาด่าน อ.เกาะลันตา

10) พื้นที่ชุมชนอุรักลาโว้ยสังกาอู้ ม.7 ต.เกาะลันตาใหญ่ อ.เกาะลันตา

11) พื้นที่ชุมชนอุรักลาโว้ยเกาะจำ ต.ศรีบ่อยา อ.เหนือคลอง จ.กระบี่

12) พื้นที่ชุมชนอุรักลาโว้ยเกาะอาดัง สุสาน แหล่งหากินดั้งเดิม สวนดั้งเดิมต.เกาะสาหร่าย อ.เมือง

13) พื้นที่ชุมชนมอแกนเกาะเหลา ม.6 ต.ปากน้ำ อ.เมือง จ.ระนอง

และ 14) พื้นที่ชุมชนอูรักลาโว้ยเกาะหลีเป๊ะ บาลาย บ่อหิน สำนักสงฆ์ดั้งเดิม ชายหาดสาธารณะ ร่องน้ำสาธารณะ สุสานชาวเล หมู่ 7 ต.เกาะสาหร่าย อ.เมือง จ.สตูล

สำหรับภาคีที่ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือ “ส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตวัฒนธรรม กลุ่มชาติพันธุ์” ประกอบด้วย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิชุมชนไท มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ เครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์ชาวกะเหรี่ยง และเครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ