อ่างลุ่มน้ำโจนฯ เปื้อนโลหะหนัก อาจมีต้นตอจากชั้นใต้ดิน

นักวิชาการ ระบุ การไหลของน้ำและสีผิดธรรมชาติ คาด ลักลอบปล่อยน้ำต่อเนื่องใต้ผิวดิน เร่งหาต้นตอ ใช้การสแกนไฟฟ้า แต่ยังขาดงบประมาณ

วันนี้ (16 พ.ย. 2563) ผศ.ธนพล เพ็ญรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ลงพื้นที่พร้อมชาวบ้าน ตรวจสอบกรณีพบน้ำสีเขียวผุดจากดินบริเวณที่เคยมีการลักลอบทิ้งน้ำเสียจากกระบวนการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม ที่อยู่ติดอ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำโจนแห่งที่ 16 ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา จนทำให้อ่างเก็บน้ำปนเปื้อนโลหะหนักหลายตัว และค่าความเป็นกรดสูงเมื่อต้นปีที่แล้ว

จากการตรวจสอบด้วยวิธีการสังเกต ผศ.ธนพล พบว่า สีของน้ำที่ผุดจากดินเป็นสีผิดธรรมชาติ น้ำสีเขียวที่มีค่าความเป็นกรดสูง คาดเกิดจากโรงงานที่มีกระบวนการหลอมหรือชุบโลหะ ประเภททองแดงและแมงกานีส นอกจากนี้ยังพบว่าการไหลของน้ำ ผิดธรรมชาติ

“น้ำจะไหลบ่าจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ เกิดขึ้นทันทีที่มีฝนตกต่อเนื่อง หากน้ำที่อยู่ด้านบนยังถูกเติม แต่ชาวบ้านบอกฝนหยุดเป็นเดือนแล้ว แต่ลงพื้นที่วันนี้ยังคงมีน้ำไหลต่อเนื่อง
น้ำสีเขียวที่ยังไหลอยู่ คาดว่าต้องมีแหล่งน้ำที่อยู่เหนือจุดนี้ และน่าจะเกิดขึ้นใต้ผิวดิน เราจึงมองไม่เห็น”

ผศ.ธนพล ระบุเพิ่มเติมว่า การหาต้นตอของน้ำเสียเหล่านี้สามารถทำได้โดยใช้วิธีทางธรณีฟิสิกส์ ใช้ไฟฟ้าสแกนหาร่องรอยของการไหลของน้ำ ซึ่งคาดว่าจะเจอได้ไม่ยาก เพราะบริเวณนี้มีค่าความเหนี่ยวนำไฟฟ้าสูง และน้ำที่มีค่าความเป็นกรดจะเกิดกระบวนการกัดกร่อนและทิ้งเกลือไว้เป็นร่องรอยให้ตรวจเจอได้ แม้ว่าจะลักลอบทิ้งมานานแล้วก็ตาม และในกรณีนี้คาดว่าต้องมีการปล่อยอยู่ต่อเนื่อง จึงมั่นใจว่าวิธีนี้จะได้ผล 100%

“วิธีนี้ใช้กันทั่วโลก ในไทยใช้มาแล้วกว่า 10 พื้นที่ ได้ผลมาแล้ว อยากให้โรงงานที่เข้าข่ายให้ความร่วมมือเพื่อพิสูจน์ในความบริสุทธิ์ และเราต้องพิสูจน์ให้ได้ก่อนว่าใครทำ”

สำหรับการสแกนไฟฟ้า คาดใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 2 แสนบาท ขณะที่ยังไม่รู้ว่าหน่วยงานไหนควรเป็นหน่วยงานที่ออกมารับผิดชอบการหาต้นตอของการปล่อยของเสียครั้งนี้

อ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำโจนแห่งที่ 16 เป็นโครงการต่อเนื่องในโครงการพระราชดำริ
อยู่ในความดูแลของโครงการชลประทานฉะเชิงเทรา ตั้งแต่พบว่าน้ำในอ่างปนเปื้อนโลหะหนักเมื่อปีที่แล้ว มีการแจ้งความไว้ที่สถานีตำรวจภูธรพนมสารคาม ขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้า ขณะที่อุตสาหกรรมจังหวัดและรองผู้ว่าราชการจังหวัดเคยลงพื้นที่และนำของเสียบางส่วนไปกำจัด และการตรวจหาสารโลหะหนักจากโรงงานที่อยู่บริเวณนี้ ไม่พบความผิดปกติ และระบุว่าการพิสูจน์ว่าของเสียดังกล่าวเกิดจากโรงงานไหนเป็นเรื่องยาก เนื่องจากมีโรงงานหลอมและชุบโลหะในพื้นที่หลายแห่ง

ดูเพิ่ม

อ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำโจนที่ 16 พบน้ำเป็นกรดสูง

Author

Alternative Text
AUTHOR

อรวรรณ สุขโข

นักข่าวที่ราบสูง ชอบเดินทางภายใน ตั้งคำถามกับทุกเรื่อง เชื่อในศักยภาพมนุษย์ ขอเพียงมีโอกาส