นักเรียนน่าน อาบน้ำสีโคลน หลังแล้งหนักปี 63

นักเรียนกว่า 300 คน ใน อ.เฉลิมพระเกียรติ ประสบภัยแล้งซ้ำซาก ฤดูฝนยังขาดน้ำสะอาดใช้ กรมชลฯ เร่งศึกษา อ่างเก็บน้ำน้ำรี แก้ปัญหา

วันนี้ (9 ก.ย. 2563) มีรายงานว่า ครูและนักเรียนโรงเรียนมัธยมพระราชทานเฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน กว่า 300 คน รวมทั้งชาวอำเภอเฉลิมพระเกียรติส่วนใหญ่ ต้องใช้น้ำดิบเพื่ออุปโภค บริโภค เพราะไม่มีน้ำประปา ทุกครั้งที่ฝนตก น้ำที่ใช้อาบในโรงเรียนจะกลายเป็นสีโคลน เพราะระบบกรองไม่สามารถกรองน้ำป่าที่หลากจากเขาให้ใสสะอาดได้ ทำให้ทั้งครูและนักเรียนต้องใช้น้ำในสภาพนี้มีนานกว่า 10 ปี ขณะที่ในฤดูแล้ง จะขาดแคลนน้ำมาก ไม่มีน้ำใช้ จนครูต้องพานักเรียนเดินไปอาบน้ำและซักผ้าที่แม่น้ำที่ไกลกว่า 6 กิโลเมตร

จิราภัทร มหาวงค์ ผู้อำนวยการโรงเรียนฯ บอกว่า ที่โรงเรียนฯ มีนักเรียนทั้งหมด 320 คน บางส่วนอยู่พื้นที่ห่างไกล เช่น จ.ลำปาง, พะเยา และแพร่ จึงต้องพักนอนอยู่ที่โรงเรียน 220 คน ทำให้มีการใช้น้ำเป็นจำนวนมาก ขณะที่แหล่งกักเก็บน้ำก็ไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนจะมีปัญหาเรื่องน้ำปนเปื้อนดินโคลน เพราะโรงเรียนขาดแคลนระบบคัดกรองน้ำ ส่งผลต่อสุขภาพทั้งบุคลากรและนักเรียน ขณะที่ฤดูแล้งทุกปี ต้องมีการประสานไปยังกรมชลประทาน จึงได้รับความอนุเคราะห์เป็นถังเก็บน้ำจำนวน 2,000 ลิตร ซึ่งเฉลี่ยแล้วใช้ได้ประมาณ 1 เดือน จีงเห็นว่าถ้ามีการสร้างอ่างเก็บน้ำได้สำเร็จจริง จะส่งผลให้ชาวอำเภอเฉลิมพระเกียรติมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

จิดาภา ดีวรรณา นักเรียนชั้น ม.5 บอกว่าโรงเรียนต้องใช้น้ำดิบจากธรรมชาติ มาใช้อุปโภคบริโภคถ้าฝนตกน้ำจะมีโคลนเหมือนน้ำโอวัลติน แต่บางครั้งในช่วงแล้งน้ำจะใสแต่บางครั้งจะมีกลิ่นเหม็นและครูจะพานักเรียนเดินไปซักผ้าที่แม่น้ำซึ่งต้องเดินไกลถึง 6 กิโลเมตร นักเรียนบางคนแพ้น้ำเป็นผื่นต้องไปโรงพยาบาล ทุกฤดูแล้ง อบต.จะต้องขนน้ำมาให้ และนักเรียนทุกคนจะต้องขนน้ำมาที่หอวันละหลายรอบเพื่อมาใช้อาบ และต้องใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อมีน้ำใช้ในวันถัดไป

จิดาภาบอกอีกว่า หากมีการเตรียมสร้างอ่างเก็บน้ำ เมื่อพวกเธอเรียนจบไปรุ่นน้องก็จะมีโอกาสใช้มีน้ำใช้ ไม่ต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบากอย่างที่พวกเธอพบ

ขณะที่ สำราญ อินทานะ ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยโก๋น อ.เฉลิมพระเกียรติ บอกว่า ชาวบ้านต้องประสบปัญหาน้ำใช้ที่ไม่พอเพียงและไม่สะอาด จนต้องซื้อน้ำใช้ ทุกฤดูแล้ง อบต. จะต้องใช้รถน้ำที่มีอยู่คันเดียวขนน้ำไปช่วยทุกหมู่บ้าน สถานที่ราชการ โรงเรียน และโรงพยาบาล ทุกวัน วันละกว่า 20 เที่ยว จนกว่าฝนจะตกลงมาอีกครั้งในฤดูฝน โดยแหล่งน้ำเดียวที่จะเหลืออยู่ ก็คือ ทำนบดินหนองซ้อ แต่แล้งปีนี้อาจจะต้องประสบปัญหาหนักมาก เพราะเกิดอุบัติเหตุรถน้ำมันพลิกคว่ำเข้าไปในพื้นที่ทำนบดินหนองซ้อ ส่งผลให้น้ำมันรั่วไหลลงปนเปื้อนแหล่งน้ำ แม้จะพยายามเก็บคราบน้ำมันไปแล้ว แต่ก็ยังไม่หมดไป และทำให้น้ำส่งกลิ่นเหม็นน้ำมันมากมาจนถึงตอนนี้

ขณะที่ทุกปี อบต.ห้วยโก๋น ต้องนำน้ำจากที่นี่ไปใช้ในฤดูแล้ง แต่ยังไม่ทราบว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร เพราะแหล่งน้ำนี้เป็นแหล่งเดียวที่จะขนน้ำไปช่วยทั้งชาวบ้าน สถานที่ราชการ โรงเรียน และโรงพยาบาล ให้รอดพ้นฤดูแล้งไปได้ เขาจึงหวังให้มีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำน้ำรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริโดยเร็ว เพราะจะช่วยแก้ปัญหาน้ำให้กับชาวอำเภอเฉลิมพระเกียรติทั้งหมดได้

ขณะที่ เฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวระหว่างการลงพื้นที่สำรวจโครงการศึกษาความเหมาะสมและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการอ่างเก็บน้ำน้ำรีฯ เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมในฤดูฝน ว่า โครงการนี้เกิดจากแนวคิดพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่พระราชทานพระดำริ เมื่อที่ 8 มี.ค. 2560 โดยให้กรมชลประทานและสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) ร่วมกันดำเนินการพิจารณาจัดหาน้ำให้แก่โรงเรียนมัธยมพระราชทานเฉลิมพระเกียรติ และโรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติ อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน เพื่อให้มีน้ำสำหรับใช้ในกิจกรรมของโรงเรียนและโรงพยาบาลให้เพียงพอตลอดปี รวมถึงประชาชนในพื้นที่

สำหรับโครงการดังกล่าว มีลักษณะเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง เก็บกักน้ำได้ประมาณ 46.09 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยมีพื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 22,100 ไร่ ใน 3 พื้นที่ประกอบไป ด้วย อ.เฉลิมพระเกียรติ อ.ทุ่งช้าง และ อ.เชียงกลาง จ.น่าน ขณะเดียวกันจากผลการศึกษาในส่วนพื้นที่ทับซ้อนนั้น จะมีผู้ได้รับผลกระทบประมาณ 66 ราย มีการประเมินมูลค่าการเยียวยา 150 ล้านบาท ขณะที่งบประมาณค่าก่อสร้างอ่างเก็บน้ำอยู่ที่ 2,400 ล้านบาท

ทั้งนี้ รองอธิบดีกรมชลประทาน คาดว่าหากการยื่นขออนุญาตเสร็จสิ้น ปี 2564 จะเริ่มมีการออกแบบโครงสร้าง สำหรับการใช้พื้นที่ป่าไม้ทางกรมชลประทานจะดำเนินการปลูกต้นไม้เพิ่มเติม 3 เท่าเพื่อฟื้นฟูทดแทน และในอนาคตอาจส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว และสนับสนุนการเพาะพันธุ์ปลาจากความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศด้วยความร่วมมือจากกรมประมง

Author

Alternative Text
AUTHOR

นิตยา กีรติเสริมสิน

สนใจวงการบันเทิงตั้งแต่เด็ก รักการพูด แต่ชีวิตพลิกผันก้าวสู่นักสื่อสารมวลชน รักงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดิน น้ำ และความเป็นไปของโลก คิดบวก มองทางเลือกใหม่ ๆ อย่างสร้างสรรค์