บทเรียน น้ำล้นเขื่อน

หลังอ่างเก็บน้ำหินตะโง่ นครราชสีมา ชำรุด น้ำกัดเซาะพังเสียหาย นักวิชาการ ระบุ ท้องถิ่นยังมีข้อจำกัดดูแลเขื่อน แนะตรวจความปลอดภัย

สภาพอ่างเก็บน้ำหินตะโง่ ที่ถูกน้ำซัดถล่มจนฝายแตก เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2563 ในตำบลลำนางแก้ว อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ช่วงฝนตกหนักที่ผ่านมา ทำให้ระดับน้ำเกินความจุของฝายที่กักเก็บไว้มากถึง 1 ล้าน 2 แสนลูกบาศก์เมตร จึงทำให้มวลน้ำไหลทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนในหลายพื้นที่ของอำเภอปักธงชัย ทำให้เจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัยทุกหน่วยในพื้นที่ จังหวัดนครราชสีมา ได้เร่งอพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่น้ำท่วมเร่งด่วน โดยเฉพาะบ้านดอนใหญ่ ตำบลปลาทอง มีระดับน้ำสูงกว่า 50 เซนติเมตร เจ้าหน้าที่หนวยกู้ภัยฮุก 31 ต้องเร่งนำเรือท้องแบนไปช่วยเหลือชาวบ้านที่ติดอยู่ภายในหมู่บ้านตลอดทั้งวัน

ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ชี้แจงกรณีที่เกิดขึ้นว่า อ่างเก็บน้ำหินตะโง่ เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ก่อสร้างโดยโครงการชลประทานจังหวัดนครราชสีมา แล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2530 จากนั้นได้ทำการถ่ายโอนภารกิจให้กับเทศบาลตำบลลำนางแก้ว เมื่อปี 2546 ต่อมากรมทรัพยากรน้ำ ได้ทำการขุดลอกเพิ่มความจุเป็น 559,840 ลูกบาศก์เมตร และในปี 2548 อปท. ได้ทำการปรับปรุงทางระบายน้ำล้นให้สูงขึ้น 3 เมตร พร้อมกับเสริมความสูงทำนบดิน เพื่อเพิ่มความจุอ่างฯ เป็น 1ล้าน 2 แสนลูกบาศก์เมตร

ทั้งนี้ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำพระเพลิง ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าทำการตรวจสอบความเสียหาย และพบว่าอ่างเก็บน้ำได้รับความเสียหายบริเวณทำนบดินฝั่งขวาและทางระบายน้ำล้นของอ่างฯ ทำให้มีปริมาณน้ำจำนวนหนึ่งไหลออกจากอ่างฯ เข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่บ้านลำประโคน บ้านโนนสำโรง ในเขตเทศบาลตำบลลำนางแก้ว ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าไปตรวจสอบความเสียหายและหาแนวทางในการซ่อมแซมอ่างฯ ต่อไปแล้ว

ขณะที่ รศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยเขื่อน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่า ประเทศไทยมีเขื่อนมากกว่า 5,000 แห่ง ที่อยู่ในการดูแลของกรมชลประทานเพียง 1,379แห่ง และเขื่อนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย 10 แห่ง ขณะที่เขื่อนขนาดเล็กยังมีข้อจำกัดเรื่องบุคลากร และงบประมาณในการดูแลจัดการเรื่องความแข็งเรงเขื่อน แตกต่างจากเขื่อนใหญ่ที่มีหน่วยงานของตนเอง ดูแลความแข็งแรงแต่ก็ไม่เพียงพอ เพราะผู้ตรวจสอบเป็นคนในหน่วยงานนั้น ๆ ที่ตรวจสอบกันเอง แต่เพื่อให้เกิดความปลอดภัยที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล ก็มีข้อเสนอให้มีหน่วยงานกลางจากหลากหลายหน่วยงานตรวจสอบความปลอดภัยภัยเขื่อนทุกขนาดให้มีความปลอดภัยเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

Author

Alternative Text
AUTHOR

นิตยา กีรติเสริมสิน

สนใจวงการบันเทิงตั้งแต่เด็ก รักการพูด แต่ชีวิตพลิกผันก้าวสู่นักสื่อสารมวลชน รักงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดิน น้ำ และความเป็นไปของโลก คิดบวก มองทางเลือกใหม่ ๆ อย่างสร้างสรรค์