พร้อมมั้ย? ถ้าต้องทำ Home isolation สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 “สีเขียว”

ตัวเลข “เตียงว่าง” โดยเฉพาะเตียงสำหรับผู้ป่วยหนัก หรือเตียงเพื่อรองรับผู้ป่วยเคส “สีแดง” ที่กำลังวิกฤต ด้วยตัวเลขที่เหลือเพียงหลักสิบเท่านั้น นำมาสู่ความวิตกกังวลของหน่วยงานด้านสาธารณสุข ที่มาของข้อเสนอ “ล็อกดาวน์” กรุงเทพฯ และปริมณฑล

แม้เนื้อความในราชกิจจานุเบกษา ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (ฉบับที่ 25) ที่เผยแพร่เมื่อกลางดึกของวันที่ 26 มิ.ย. 2564 จะระบุว่า “รัฐบาลโดยข้อเสนอแนะของฝ่ายสาธารณสุข ประกอบกับความเห็นของคณะที่ปรึกษาด้านการสาธารณสุขใน ศบค. จึงจำเป็นต้องกำหนดพื้นที่เป้าหมายเฉพาะและบังคับใช้มาตรการควบคุมที่จำเป็น เพื่อมุ่งชะลอและสกัดกั้นการระบาดของเชื้อโรคอย่างเร่งด่วน และหยุดยั้งอัตราการเร่งของจำนวนผู้ป่วย” เช่น มาตรการเร่งด่วนเพื่อสกัดกั้นการระบาดในพื้นที่เป้าหมายเฉพาะ คือ กรุงเทพฯ และปริมณฑล และพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้น พร้อมคำยืนยันจากผู้แทนรัฐบาลที่หลายคนว่า “นี่ไม่ใช่การล็อกดาวน์” แต่อาจสวนทางกับความรู้สึกของสังคมในเวลานี้

ข้อมูล ณ วันที่ 22 มิ.ย. 2564 ที่เปิดเผยโดย กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข คือ เตียงสำหรับผู้ป่วยสีแดงจากจำนวนทั้งหมด 437 เตียง เหลือเพียง 28 เตียงเท่านั้น ส่วนผู้ป่วยสีเหลือง จาก 5,075 เตียง เหลือ 1,185 เตียง และเตียงสำหรับผู้ป่วยสีเขียว หรือไม่แสดงอาการทั้งหมด 5,896 เตียง เหลือเกือบ 1,500 เตียง

นี่คือข้อมูลการบริหารจัดการเตียงเพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่เริ่มตึงตัว และมีแนวโน้มไม่เพียงพอ หากจำนวนผู้ติดเชื้อเฉพาะในกรุงเทพฯ ยังอยู่ที่หลัก 1,000 คนต่อวัน

โจทย์สำคัญถัดมา ตามที่ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ระบุ คือแม้จะมีแผนเพิ่มเตียงรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ระดับ 3 หรือเตียงสำหรับผู้ป่วยเคสสีแดง (ไอซียู) ด้วยการอาศัยทรัพยากรสุดท้าย คือ โรงเรียนแพทย์ 3 แห่ง ได้แก่ รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ, รพ.รามาธิบดี และ รพ.วชิรพยาบาล ที่มีศักยภาพพร้อมเป็นห้องไอซียู ถึง 50 เตียง ภายใน 1-2 วัน แต่ก็ยังไม่มีบุคลากร ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะนำบุคลากรที่เป็นแพทย์ประจำบ้าน ใช้ทุนในต่างจังหวัด ให้มาช่วยสถานการณ์โควิด-19 ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลก่อน และระดมพยาบาลจากต่างจังหวัด เข้ามาช่วยห้องไอซียู

ขณะที่เตียงสีเหลือง ใช้วิธีให้ กทม. เปลี่ยนเตียงสีเขียวที่มีศักยภาพมาเป็นเตียงสีเหลือง และใช้ Hospitel สำหรับผู้ป่วยสีเขียวให้มากขึ้น

จากข้อมูลพบว่า 3% ของผู้ติดเชื้อรายใหม่จะเป็นผู้ป่วยหนัก ขณะที่ผู้ติดเชื้อรายใหม่ในกรุงเทพฯ มี 1,000 คนต่อวัน นั่นหมายความว่าจะมีผู้ป่วยหนัก 30 คน ที่ต้องใช้เตียงไอซียู ซึ่งถือว่าใกล้เต็มศักยภาพ 400 เตียงที่มีอยู่

และแผนสุดท้าย คือ ให้รักษาตัวที่บ้าน หรือ Home isolation

กลางเดือนเมษายน 2564 ที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อระลอก 3 พุ่งสูง ข้อเสนอเพื่อ “รักษาตัวที่บ้าน” หรือ Home isolation ถูกเสนอสู่สาธารณะ แต่หลายฝ่ายประเมินว่า “เป็นไปได้ยาก”

ผ่านมาสามเดือน สถานการณ์ไม่ดีขึ้น ซ้ำยังหนักหน่วง แม้แนวทางนี้ยังไม่ถูกประกาศให้เป็นทางเลือกอย่างเป็นทางการ แต่สถานการณ์กลับทำให้ผู้ป่วยหลายราย จำนนต่อการต้องรออยู่ที่บ้าน หรือเลือกเดินทางไปรักษาตัวยังต่างจังหวัด เพราะสถานการณ์เตียงในกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่อยู่ในขั้นวิกฤต

หากจำเป็นต้องรักษาและกักตัวเองอยู่ที่บ้าน จะทำได้จริงหรือไม่ แล้วอะไรคือแนวทางหรือมาตรการที่นำมาประกอบเพื่อให้การ Home isolation เป็นทางช่วยประคับประคองระบบสาธารณสุข “ก่อนล่มสลาย”

แนวทางการพิจารณาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เหมาะสมสำหรับการแยกตัวที่บ้าน (ฉบับวันที่ 15 พ.ค. 2564) ผู้ที่ตรวจพบเชื้อควรได้รับการจัดแยกเพื่อการดูแลรักษา โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการควรได้รับการดูแลรักษาในโรงพยาบาล หรือ โรงพยาบาลสนาม หรือ หอผู้ป่วยเฉพาะกิจ (Hospitel) ตามความเหมาะสม เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 14 วัน ผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการควรแยกตัวจากผู้อื่นไม่น้อยกว่า 14 วันเช่นเดียวกัน

โรงพยาบาลอาจพิจารณาให้ผู้ติดเชื้อใช้ที่พักอาศัยเป็นสถานที่แยกตัว เช่น บ้านเดี่ยว หอพัก หรือคอนโดมิเนียม โดยได้รับความยินยอมจากเจ้าของสถานที่ การจัดเตรียมสถานที่เพื่อการแยกตัวอย่างเหมาะสมให้เป็นไปตาม คำแนะนำการปฏิบัติการแยกตัวที่บ้าน (Home isolation) สำหรับผู้ป่วยที่ไม่ได้เข้ารักษาตัวแบบผู้ป่วยในของโรงพยาบาล

เกณฑ์การพิจารณาผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพื่อการแยกตัว

  1. เป็นผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ (asymptomatic cases)
  2. มีอายุไม่เกิน 40 ปี
  3. มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง
  4. มีผู้อยู่ร่วมที่พักไม่เกิน 1 คน
  5. ไม่มีภาวะอ้วน (ภาวะอ้วน หมายถึง น้ำหนักตัว มากกว่า 90 กก.)
  6. ไม่มีโรคร่วม ดังต่อไปนี้ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD), โรคไตเรื้อรัง (CKD), โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคหลอดเลือดสมอง, เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ และโรคอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์
  7. ยินยอมแยกตัวในที่พักของตนเอง

การดำเนินการของโรงพยาบาล

  1. ประเมินความเหมาะสมสำหรับผู้ติดเชื้อแยกตัวในสถานที่พักของตนเอง
  2. ลงทะเบียนผู้ติดเชื้อที่เข้าเกณฑ์การแยกตัวที่บ้าน (Home isolation) ในระบบของโรงพยาบาล
  3. ควรถ่ายภาพรังสีทรวงอก (chest X-ray) หากพบความผิดปกติ แนะนำให้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล
  4. แนะนำการปฏิบัติตัว และจัดเตรียมปรอทวัดไข้ และเครื่องวัดความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือด (pulse oximeter) ให้กับผู้ป่วยติดเชื้อ
  5. ติดตาม ประเมินอาการผู้ติดเชื้อระหว่างการแยกตัวที่บ้าน ผ่านระบบสื่อสารต่างๆ อาทิ โทรศัพท์ติดตามอาการ สอบถามอาการไข้ ค่า oxygen saturation วันละ 2 ครั้ง (เช้า-เย็น) เป็นระยะเวลา 14 วัน
  6. จัดช่องทางติดต่อในกรณีผู้ติดเชื้อมีอาการเพิ่มขึ้น หรือภาวะฉุกเฉิน อาทิ มีไข้ลอย หอบเหนื่อย หายใจลำบาก
  7. จัดระบบรับ – ส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลในกรณีผู้ติดเชื้อจำเป็นต้องย้ายเข้ารับการรักษาต่อในโรงพยาบาล
  8. ให้ความมั่นใจในมาตรฐานการดูแลรักษาของทีมแพทย์และพยาบาลสำหรับผู้ติดเชื้อ

บทส่งท้าย

หากถามว่า “พร้อมมั้ย?” สำหรับประชาชน สิ่งหนึ่งที่พอตอบได้ในเวลานี้ คือ หากประชาชน (จำต้อง) พร้อม เพราะข้อจำกัดเรื่องศักยภาพของระบบสาธารณสุข คำถามที่ตามมาก็คือ หากพวกเขาเข้าเกณฑ์การพิจารณาแยกตัวรักษาที่บ้าน ระบบการดูแลของรัฐ “พร้อมหรือไม่?” เช่นกัน

เช่น การพิจารณาความพร้อมเรื่องสถานที่ ความเป็นอยู่อาศัยในการแยกตัวของผู้ป่วย ว่ามีความพร้อมหรือไม่ เช่น ผู้จัดหาอาหารและของใช้จำเป็น, มีห้องส่วนตัว (รวมถึงห้องน้ำส่วนตัว), ผู้อาศัยร่วม สามารถปฏิบัติตามคำแนะนำเรื่องสุขอนามัยได้, สามารถติดต่อกับโรงพยาบาลและเดินทางมาโรงพยาบาลได้สะดวก

เพราะหากเป็นระบบสาธารณสุขชุมชนในต่างจังหวัด กลไกสำคัญอย่าง อสม. (อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) อาจพอเป็นตัวช่วยในการดูแลผู้ป่วยที่ต้องถูกกักและรักษาตัวที่บ้าน แต่สำหรับกรุงเทพฯ แล้ว กลไกแบบ อสส. (อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร) นั้น เพียงพอสำหรับดูแลหรือไม่ นั่นเพราะรูปแบบของชุมชน ไม่ว่าจะเป็น ครอบครัวเดี่ยว ไม่มีความสัมพันธ์แบบชุมชน หรือ ครอบครัวใหญ่ ที่อยู่กันอย่างแออัดในชุมชนเมือง ซึ่งหมายถึงข้อจำกัดของ “บ้าน” ในเชิงกายภาพที่ไม่พร้อม

ทั้งหมดนี้ จึงเป็นอีกความท้าทายว่า แผนรองรับสำหรับ Home isolation ของรัฐนั้น พร้อมมั้ย?


อ้างอิง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์