ป่วยโควิด-19 อยู่บ้านอุ่นใจ ไม่ต้องไปโรงพยาบาล รักษาแบบ “Home Isolation”

ติดเชื้อโควิด-19 แต่โรงพยาบาลเตียงเต็ม ทำอย่างไรดี?

ผู้ป่วยสามารถเปลี่ยนมารักษาด้วยแนวทางการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่บ้าน หรือ Home Isolation โดยกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. ที่แม้จะอยู่บ้านแต่ผู้ป่วยก็ได้รับการดูแลจากทีมแพทย์ ผ่านโรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชน ศูนย์บริการสาธารณสุข และคลินิกชุมชนอบอุ่นช่วยดูแล

แต่จะเข้าสู่กระบวนการนี้ได้อย่างไร? ตอบทุกคำถาม เกี่ยวกับ Home Isolation โดย สถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ (ThaiHealth Acadamy)

Q: ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาแบบ Home Isolation คือผู้ป่วยกลุ่มใด และต้องเตรียมตัวอย่างไร?

A: ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว อาการเล็กน้อย ถึงไม่มีอาการ มีสุขภาพโดยรวมแข็งแรง ไม่มีภาวะอ้วน ผู้ป่วยและคนใกล้ชิดไม่มีโรคป่วยเรื้อรัง เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคเบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ เป็นต้น และที่บ้านมีพื้นที่เหมาะสม เช่น ห้องนอน ห้องน้ำส่วนตัว แยกของใช้ส่วนตัว สามารถเว้นระยะห่างกับผู้อื่น ไม่เกิดการสัมผัส หรืออยู่ใกล้กัน

Q: วิธีการเข้าสู่ Home Isolation ทำอย่างไร?

A: เมื่อทราบว่าติดเชื้อโควิด-19 สามารถโทรเข้ามาที่ สายด่วน สปสช. 1330 ต่อ 14 จากนั้นเจ้าหน้าที่จะประสานไปยังหน่วยบริการ ที่เข้าร่วม Home Isolation ซึ่งภายใน 48 ชม. หน่วยบริการในพื้นที่จะติดต่อกลับไปยังผู้ป่วย ประสานงานส่งเครื่องวัดไข้ เครื่องวัดระดับออกซิเจนในเลือด รวมถึงยาฟ้าทะลายโจรไปให้ที่บ้าน

Q : ระหว่างผู้ป่วยรอการ Home Isolation ต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ?

A : ผู้ป่วยต้องดูว่าบ้านพร้อมกับการทำ Home Isolation หรือไม่ ต้องเตรียมพร้อมห้องต่าง ๆ ทั้งห้องนอน ห้องน้ำ น้ำยาต่าง ๆ ที่ต้องใช้ อุปกรณ์แยกที่ต้องแยกจากคนในบ้าน โดยต้องเตรียมตัวเองให้พร้อมผู้ป่วยที่จะทำ Home Isolation ต้องมั่นใจว่าบ้านมีเพียงผู้ป่วยคนเดียว หรือ ผู้ป่วยสามารถแยกห้องนอน ห้องน้ำ และพื้นที่จากคนในบ้านได้จริง เป็นการล็อกตัวเองทั้ง 14 วันเพื่อไม่ให้เจอกับคนอื่น ๆ ถ้าไม่สามารถทำได้ก็ต้องส่งไป Community Isolation หรือเข้าระบบโรงพยาบาล

Q : ระบบการดูแลผู้ป่วยแบบ Community Isolation เป็นอย่างไร ?

A : สำหรับการดูแลของเครือข่ายสลัม 4 ภาค คือ คนในชุมชนจะช่วยกันดูแล มีครัวกลางในการปรุงอาหารให้ผู้ป่วย ถ้าในกรณีหอพักเราจะมีมูลนิธิที่เป็นเครือข่ายมาช่วยดูแล เช่น มูลนิธิฟ้าสีรุ้ง มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (SWING) ทำหน้าที่เป็นคนชุมชนทาง Virtual ที่ให้การสนับสนุนแบบเดียวกับคนที่ทำ Home Isolation

Q: ทีมแพทย์ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 อย่างไร ตลอด 14 วัน ของการกักตัว?

A: เจ้าหน้าที่ทีมแพทย์จากหน่วยบริการ จะติดต่อผู้ป่วยเพื่อติดตามประเมินอาการทุกวัน เพื่อถามค่าออกซิเจน อุณหภูมิร่างกาย และความแข็งแรงของปอด ผ่านแชทไลน์ วิดีโอคอล โทรศัพท์ วันละ 1-2 ครั้ง เพื่อให้คำแนะนำในการดูแลตัวเอง พร้อมจัดส่งอาหาร วันละ 3 มื้อ จัดส่งถุงยังชีพให้ผู้ป่วยกักตัวอยู่ที่บ้านได้อย่างเต็มที่ ไม่เสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อ และอุ่นใจได้เพราะมีทีมแพทย์ พยาบาลคอบติดตามอาการตลอด 14 วัน

Q: กรณีผู้ป่วย Home Isolation มีอาการรุนแรงมากขึ้นจะทำอย่างไร?

A: หากมีภาวะปอดอักเสบทีมแพทย์จะจัดส่งยาฟาวิพิราเวียร์ให้ผู้ป่วย หากอาการยกระดับจากกลุ่มสีเขียวเป็นกลุ่มสีเหลืองจะมีการติดตามอาการอย่างใกล้ชิดมากขึ้น และหากเปลี่ยนเป็นกลุ่มสีแดงจะส่งตัวเข้าโรงพยาบาล โดยสายด่วน 1330 ยังทำหน้าที่จัดหาเตียงให้ผู้ป่วยเช่นเดิม ยกเว้นแต่ผู้ป่วยอยู่ในความดูแลของโรงพยาบาลอยู่ก่อนแล้วก็อาจได้รับการเคลียร์เตียงให้เข้ารักษาในโรงพยาบาลนั้น ๆ โดยจะไม่ทิ้งให้คนไข้อยู่ในภาวะวิกฤตเพียงลำพัง 

โดยที่ผ่านมาพบว่ามีผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว ยกระดับเป็นกลุ่มสีเหลืองและกลุ่มสีแดง ประมาน 10-15% ทีมแพทย์เองก็พยายามที่จะดูแลให้ผู้ป่วยหายเองที่บ้านได้ เพื่อให้ยังมีเตียงในโรงพยาบาลหมุนเวียนใช้เพียงพอต่อความต้องการ

Q : เมื่อมีความเสี่ยงสูงต่อการติดโควิด-19 ต้องทำอย่างไร ?

A : ในระหว่างการรอยืนยันผลโควิด-19 ต้องระมัดระวังเสมือนว่าเราติดเชื้อโควิด-19 คือ ต้องแยกกับคนอื่น ๆ ในบ้าน ต้องสวมใส่แมสก์ตลอดเวลาและแยกของใช้ส่วนตัว แยกขยะ แยกการใช้ห้องน้ำ ล้างมือด้วยสบู่และน้ำ หรือถูมือด้วยเจลแอลกอฮอล์เป็นประจำ ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่สุก สะอาด ฯลฯ ซึ่งยังคงเป็นคำแนะนำเดิม และทางทีมแพทย์ก็จะซักประวัติเพิ่มเติมเรื่องการได้รับวัคซีนโควิด หรือการไปสัมผัสผู้ติดเชื้อ และรับการ Swab เพื่อตรวจหาเชื้อโควิด-19

Q : ถ้าชุมชนอยากทำให้เกิดระบบ Home Isolation หรือ Community Isolation ควรเริ่มอย่างไร ประสานการสร้างระบบกับใคร ?

A : ประสานสร้างระบบกับโรงพยาบาลในพื้นที่ หรือชุมชนในพื้นที่ เพื่อประคับประคองความเป็นอยู่ และจิตใจคนไข้ตลอดกระบวนการรักษา ในส่วนงบประมาณ สปสช. จะมีงบประมาณรักษาพยาบาลของ Home Isolation และ Community Isolation ตั้งแต่การคัดกรอง โดยสามารถประสานหน่วยบริการให้ลงพื้นที่ตรวจเชิงรุกได้ ถ้าผู้ป่วยมีผล Positive จากการตรวจ Rapid Test ก็สามารถเข้า Home Isolation และ Community Isolationได้เลย แล้วจึงตรวจ RT PCR ต่อ เพราะผู้ป่วยอาจจะเป็นกลุ่มสีเหลือง หรือแดง

นอกจากนี้ยังมีงบประมาณของกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับพื้นที่ (กองทุนตำบล) ซึ่งท้องถิ่นขอรับสนับสนุนในการทำ Community Isolation ระดับพื้นที่ได้

Q: จำเป็นต้องเตรียม Home Oxygen ไว้ที่บ้านสำหรับ Home isolation หรือไม่ ?

A: การเตรียม Home Oxygen ไว้ที่บ้านเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็น เพราะอาจเกิดอันตรายหากไม่ทราบวิธีใช้ เมื่อผู้ป่วยเริ่มมีอาการเป็นกลุ่มสีเหลืองเข้มหรือแดง ทางทีมแพทย์ก็จะต้องเตรียมเตียงไว้ เพื่อเข้าสู่การรักษา แต่หากพื้นที่ในกรุงเทพฯ ที่ไม่มีเตียงแล้วจะมีทีมที่นำส่งออกซิเจน พร้อมทั้งสอนวิธีใช้ให้ทุกวันทีมแพทย์จะให้วัดออกซิเจน 2 ค่า คือ ค่าขณะพักที่เราอยู่เฉย ๆ กับค่าออกซิเจนขณะที่เรากำลังเหนื่อยจากการใช้แรง เพื่อเปรียบเทียบค่าและดูการทำงานของปอด ถ้าออกซิเจนตกลงก็แสดงว่าปอดอาจจะเริ่มอักเสบ หรือทำงานไม่ค่อยดี ถ้าเจอแบบนี้ ขั้นถัดไปควรเข้าถึงยามากกว่าเข้าถึงออกซิเจน และถ้าไม่ดีขึ้นก็จะเข้าสู่ระบบโรงพยาบาล

Q: ข้อแนะนำสำหรับผู้ป่วยที่มีความวิตก เครียดจากการรักษาอยู่ที่บ้าน?

A: ความเครียด วิตกกังวล อาจบั่นทอนร่ายกายและจิตใจของตัวผู้ป่วยให้แย่ลงกว่าเดิม สิ่งที่ควรทำคือดูแลตัวเองให้ดี กินอาหารเป็นเวลา นอนให้เพียงพอ ออกกำลังกายบ้างตามสมควร และศึกษาข้อมูลที่เป็นความจริง ไม่ให้หมกหมุ่นอยู่กับการคิดมากไปเอง เพราะสุขภาพกายจะดีได้ก็ต้องเริ่มจากสุขภาพใจ

Q: ปัจจุบัน มีหน่วยบริการที่เข้าร่วมแนวทางรักษาแบบ Home Isolation กี่แห่ง?

A: Home Isolation เป็นระบบของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในการวางระบบใหม่ดูแลคนไข้ที่บ้าน (Home Isolation) หรือ ชุมชน (Community Isolation) สปสช. วางระบบเพื่อจัดสรรงบประมาณให้หน่วยบริการในการเข้ารับการรักษาที่บ้านหรือที่ชุมชน ภายใต้การดูแลของหน่วยบริการต่าง ๆ กรุงเทพฯ มีทั้งหมด 147 แห่ง คือ โรงพยาบาลรัฐ 8 แห่ง โรงพยาบาลเอกชน 4 แห่ง ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. 69 แห่ง คลินิกชุมชนอบอุ่น 66 แห่ง และยังมีหน่วยบริการอีกหลายแห่งทั่วประเทศที่เริ่มใช้แนวทางการดูแลลักษณะนี้


อ้างอิง

“เก็บกระเป๋าเตรียมเข้า Home Isolation กันยังไง?” โดย ThaiHealth Academy

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์