โจทย์ใหญ่ล็อกดาวน์กรุงเทพฯ เปิดข้อมูลเตียงวิกฤต เตียงเพิ่มได้ แต่เพิ่มบุคลากรไม่ได้

จ่อ Home isolation “กักตัวที่บ้าน” หาก กรุงเทพฯ มีผู้ติดเชื้อใหม่วันละ 4,000 คน แพทย์ ยัน ล็อกดาวน์คือการควบคุมโรคที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในขณะนี้ 

จํานวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ครองเตียงเพิ่มขึ้นถึง 6,000 เตียง ภายใน 1 เดือน เมื่อเปรียบเทียบระหว่างวันที่ 23 พ.ค. 2564 มีจำนวนครองเตียง 18,669 เตียง​ ขณะที่วันที่ 22 มิ.ย. 2564 เพิ่มขึ้นเป็น 24,139 เตียง แต่ยังใช้บุคลากรทางการแพทย์เท่าเดิม

สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุด คือ เตียงระดับ 3 หรือสำหรับผู้ป่วยสีแดง ที่มีอาการหนักต้องเข้าห้องไอซียู จากเดือนเมษายนมีเพียง 211 เตียง ปัจจุบัน เพิ่มขึ้น 437 เตียง

ข้อมูลการบริหารจัดการเตียงเพื่อรองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เริ่มตึงตัวและมีแนวโน้มไม่เพียงพอ หากจำนวนผู้ติดเชื้อเฉพาะในกรุงเทพมหานครยังอยู่ที่ 1,000 คนต่อวัน คือ สิ่งที่ “นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์” อธิบดีกรมการแพทย์ นำเสนอต่อผู้กำหนดนโยบาย พร้อมระบุว่ามาตรการที่ผ่อนคลายมาเรื่อย ๆ ก็คาดเดาได้ว่าผู้ติดเชื้อน่าจะไม่ลดลง ทั้งยังมีปัญหาแรงงานข้ามชาติลักลอบหลบหนีเข้าเมืองอยู่เนือง ๆ หากมาตรการยังไม่เข้มข้น ก็ยังไม่สามารถควบคุมโรคได้

ขณะที่วัคซีนยังฉีดได้ไม่มากถึง 70% เพื่อจะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ หรือถึงแม้จะฉีดวัคซีนไปแล้วแต่ก็เห็นบทเรียนจากประเทศอิสราเอลที่ถอดหน้ากากอนามัยทำให้ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น สะท้อนให้เห็นว่ามาตรการทางสังคมยังต้องทำอย่างต่อเนื่องและจริงจัง

ตัวเลขผู้ติดเชื้อรอบ 7 วัน บ่งชี้ว่าเข้าสู่การระบาดระลอก 4

การระบาดระลอก 2 ระลอก 3 และนับได้ว่าปัจจุบัน คือการระบาดระลอก 4 นั้น แทบแยกกันไม่ออก โดยระลอก 3 เริ่มต้นที่สถานบันเทิงย่านทองหล่อ “นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล” นายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ระบุว่าขณะนี้อาจจะเรียกได้ว่าเป็นการระบาดระลอก 4 ก็ได้ เพราะการเพิ่มจำนวนของผู้ติดเชื้ออย่างรวดเร็ว และไม่ลดลง ทั้งยังมีสายพันธุ์อื่นที่ที่เริ่มควบคุมไม่ได้ ในรอบ 7-10 วันที่ผ่านมา เป็นลักษณะการระบาดที่ต่างไปจากระลอกที่ 3

“ทุกวันนี้คนไข้โควิด-19 มีจำนวน 5% ขณะที่อีก 95% ที่ไม่ใช่คนไข้โควิด-19 ถูกเบียดบังจากการเลื่อนตรวจต่าง ๆ ที่เราไม่เคยพูดถึง เราจะยอมทนรับมือโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ ขณะที่เราใช้บุคลากรทางการแพทย์แผนกอื่น ผันตัวมาช่วย 10-15% รับมือกับผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีเพียง 5% เราอยู่กับปลายเหตุ จึงอยากชวนกลับมามองว่า ต้นตอของปัญหาคืออะไร แล้วจะยอมเบ่งเตียง เพิ่มภาระแก่บุคลากรทางการแพทย์ที่มีเท่าเดิม เพื่อแบกรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 อย่างไม่มีที่สิ้นสุด หรือจะต้องกลับมาทบทวน แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ” 

นี่จึงเป็นที่มาของการเสนอให้ล็อกดาวน์กรุงเทพฯ อย่างจริงจัง ถ้าจะให้ได้ผลจริง ๆ ต้องใช้เวลา 14-28 วัน และระงับทำให้เกิดการเคลื่อนไหวให้น้อยที่สุด ในทางวิชาการยอมรับว่าการล็อกดาวน์ได้ผล เห็นได้จากการควบคุมการระบาดระลอกแรก แต่ครั้งนี้น่าจะมีความยากมากกว่า เพราะฐานการระบาดใหญ่กว่า เฉพาะกรุงเทพฯ มีผู้ติดเชื้อ 1,000 คนต่อวัน และยังตรวจไปไม่ครบ ที่เห็นอยู่อาจเป็นเพียงภูเขาน้ำแข็ง ซึ่งก็ยอมรับว่า ไม่มีวิธีอื่นในตอนนี้ที่จะควบคุมโรคได้มีประสิทธิภาพเท่ากับการล็อกดาวน์

ดึงแพทย์ประจำบ้านช่วยงานโควิด-19 เตรียมระดมพยาบาลต่างจังหวัด

อย่างไรก็ตาม “อธิบดีกรมการแพทย์” ยังคงระบุถึงแผนในการเพิ่มเตียงรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ระดับ 3 คือ ไอซียูโดยจะอาศัยทรัพยากรสุดท้ายก็คือโรงเรียนแพทย์ 3 แห่ง ได้แก่รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ, รพ.รามาธิบดี และ รพ.วชิรพยาบาล ที่มีศักยภาพพร้อมเป็นห้องไอซียูถึง 50 เตียง ภายใน 1-2 วัน แต่ยังไม่มีบุคลากร โดยอาจนำบุคลากรที่เป็นแพทย์ประจำบ้าน ที่ต้องส่งไปใช้ทุนในต่างจังหวัดให้มาทำงานช่วยสถานการณ์โควิด-19 ในกรุงเทพฯ ก่อน และระดมพยาบาลจากต่างจังหวัดเข้ามาช่วยห้องไอซียู 

ส่วนเตียงสีเหลือง อธิบดีกรมการแพทย์ ขอให้ กทม. เปลี่ยนเตียงสีเขียวจากโรงพยาบาลราชพิพัฒน์บางขุนเทียน เป็นเตียงสีเหลือง และใช้ Hospitel สำหรับผู้ป่วยสีเขียวให้มากขึ้น และแผนสุดท้าย คือ ให้รักษาตัวที่บ้านหรือ Home isolation เบื้องต้นผู้ป่วยสีเขียวรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเพียง 10 วัน แล้วกลับไปรักษาตัวที่บ้านอีก 4 วัน จะช่วยลดวันอยู่ในโรงพยาบาลได้ แต่ก็ต้องดูความพร้อมรายบุคคลว่าจะสามารถอยู่คนเดียวได้หรือไม่ โดยไม่ออกไปข้างนอก หากเป็นกลุ่มแรงงานหรือโรงงานก็ใช้แผน bubble and seal เปิดโรงพยาบาลสนามในพื้นที่อย่างที่ทำไปแล้วในหลายคลัสเตอร์

หากมีผู้ป่วย 4,000 ต่อวันเตรียมใช้ Home isolation

“นพ.สมศักดิ์” ระบุว่าหากไม่สามารถควบคุมสถานการณ์การระบาดได้ มีผู้ติดเชื้อ 10,000 คนต่อวัน และกรุงเทพมหานครมีผู้ติดเชื้อถึง 4,000 คน จำเป็นต้องทำ Home isolation โดยจากข้อมูลพบว่า 3% ของผู้ติดเชื้อรายใหม่จะเป็นผู้ป่วยหนัก ทุกวันนี้ผู้ติดเชื้อรายใหม่ในกรุงเทพมหานครมีจำนวน 1,000 คนต่อวัน ก็หมายความว่าจะมีผู้ป่วยหนักอยู่จำนวน 30 คนที่ต้องใช้เตียง ไอซียู ซึ่งขณะนี้ถือว่าไกล้เต็มศักยภาพ 400 เตียงที่มีอยู่ และผู้ป่วยหนักจะต้องใช้เวลาอยู่ในห้องไอซียูยาวถึง 2 สัปดาห์ 

“ถ้ากรุงเทพฯ ติดเชื้อ 2,000 คน นั่นหมายความว่าต้องใช้เตียงไอซียู 60 เตียงต่อวัน 14 คูณ 60 เท่ากับ 800 เตียงที่ต้องมี หากถึงจุด อาจต้องเอาคนไข้กระจายไปอยู่ในต่างจังหวัด แม้จะมีแผนจัดการได้ แต่สิ่งที่จัดการไม่ได้คือบุคลากรจะหมดแรง” 

ที่น่ากังวลมากที่สุดในตอนนี้ คือ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วจังหวัดที่พบผู้ป่วยรายใหม่เป็น 0 ยังมีมากกว่า 20 จังหวัด แต่ปัจจุบันจังหวัดที่ไม่พบผู้ป่วยรายใหม่มีไม่ถึง10 จังหวัดแล้ว นั่นหมายความว่าเชื้อกระจายไปเกือบทั่วประเทศ

หนุนฉีดวัคซีนลดผู้ป่วยหนัก พยุงระบบสาธารณสุข 

การประคับประคองระบบสาธารณสุข และสร้างสมดุลต่อการดูแลผู้ป่วยที่ไม่ใช่โควิด-19 ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน “นพ.นิธิพัฒน์” กล่าวว่าคิดเอาว่าถ้าพี่น้องของเราป่วยด้วยโรคอื่นที่ไม่ใช่โควิด-19 แต่ไม่สามารถที่จะใช้ห้องไอซียูได้เพราะต้องใช้ไปกับผู้ป่วยโควิด-19 จะรู้สึกอย่างไร 

หากไม่ล็อกดาวน์ จะมีเครื่องมือใดบ้างที่จะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น วัคซีนที่ดูเหมือนเคยเป็นความหวัง แต่ยังฉีดได้น้อยอยู่ ก็ยังไม่ทันกับการระบาดใน 1 เดือนหลังจากนี้ แต่ข้อดีของการฉีดวัคซีน แม้เป็นวัคซีนซิโนแวคที่กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ อย่างน้อยก็ทำให้ผู้ป่วยหนักลดลง 

ส่วนกรณีการระบาดในโรงพยาบาลเชียงราย ที่มีบุคลากรทางการแพทย์ ติดเชื้อ4 1 คน 75% ไม่มีอาการ 25% มีอาการเป็นไข้ ครั่นเนื้อครั่นตัว ก็ยังถือว่าอยู่ในกลุ่มผู้ป่วยสีเขียว และมีเพียง 1 รายที่มีฝ้าในปอด แต่ไม่พบปอดอักเสบ ก็ยังถือว่าอยู่กลุ่มเขียวเข้ม แต่ถึงแม้จะฉีดวัคซีนแล้ว ก็ห้ามการ์ดตก คนให้ความหวังกับวัคซีนมากเกินไป ต้องทำความเข้าใจว่าวัคซีนไม่ใช่เครื่องมือเดียวที่จะยุติโควิด-19

“ที่เสนอล็อกดาวน์ เพราะเป็นสิ่งที่แพทย์ต้องพูด พูดตามหลักวิชาการ แม้จะมีคนบอกว่าหมอบอกให้ล็อกดาวน์ก็หาทางเยียวยาด้วย ถ้าพูดแบบปัดสวะ ก็คือไม่ใช่หน้าที่หมอ แต่ความเป็นจริงแล้วในสังคมอารยะ ทุกคนควรจะพูดในสิ่งที่ตนคาดหวัง เพื่อให้เกิดข้อถกเถียง นำข้อมูลข้อเท็จจริงมาพูดคุยกัน นำไปสู่การหาทางออกที่ดีที่สุด” 

ด้าน “นพ.สมศักดิ์” กล่าวว่าผู้กำหนดนโยบายคงต้องคำนึงถึงผลกระทบทุกด้านต้องคิดถึงผู้ป่วยหนักโรคอื่น ๆ เสียโอกาสกับการทุ่มกำลังให้กับโรคโควิด-19 กันไปมากน้อยแค่ไหน ต้องคิดว่าเราจะเจ็บหนักทีเดียวจบหรือไม่ หรือปล่อยไว้ให้เสียหายหนักกว่าเดิม รอบแรกเราสำเร็จได้เพราะทุกคนเห็นร่วมกัน

“Health is Great wealth แต่ถ้าทุกคนบอกว่า wealth is wealth ไม่ใช่ Health ก็คงต้องเลือก แต่ผมคิดว่าถ้ามี Health ยังหา wealth ได้ แต่ถ้ามีแต่ wealth  ไปได้จริงหรือเปล่าถ้าไม่มี Health อันนี้ก็คงต้องฝากให้คิด” 

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS