หยุดโควิด-19 กรุงเทพฯ : ขาดตรงไหน ใครต้องช่วย ?

สถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สะท้อนให้เห็นแล้วว่า ลำพังหน่วยงานภาครัฐ ทั้งราชการและท้องถิ่น ไม่สามารถรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ทั้งหมด จำเป็นต้องอาศัยพลังของอาสาสมัคร และหน่วยงานจากต่างจังหวัด เข้ามาช่วยเหลือในสิ่งที่ตนสามารถทำได้ เพื่อไม่ให้สถานการณ์บานปลาย ส่งต่อความเสียหายไปยังจังหวัดอื่น ๆ

The Active กางขั้นตอนการจัดการในกรุงเทพมหานคร เพื่อ ชี้ให้เห็นบทบาทการทำงานของแต่ละฝ่าย และปักหมุดจุดเสี่ยง ที่ต้องมีการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน เพื่อให้ทั้งระบบสามารถดำเนินการได้อย่างราบรื่น และเกิดปัญหาน้อยที่สุด โดยจะเริ่มตั้งแต่การตรวจคัดกรอง การประเมินอาการ และการจัดหาเตียง

ตรวจเชื้อเชิงรุก

นอกจากการตรวจเชิงรุกของสำนักอนามัย กทม. และสำนักงานป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) ของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แล้ว

ในสถานการณ์ที่เร่งด่วน ก็ได้รับการช่วยเหลือจากทีม แพทย์ชนบท ที่ยกพลเข้ามาตรวจเชิงรุกแล้ว 2 ครั้ง ตรวจไปแล้วประมาณ 50,000 คน พบผู้ติดเชื้ออยู่ที่ร้อยละ 16 และมีแผนจะเข้ามาตรวจเชื้อในกรุงเทพมหานครแน่นอน โดยสิ่งที่หน่วยงานที่ต้องเตรียมความพร้อมช่วยเหลือ ได้แก่ กทม. และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. รวมถึงอาสาสมัครในจำนวนที่เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้เป้าหมายการตรวจเชิงรุกครั้งนี้ ทำได้มากที่สุด

โดย กทม. ทำหน้าที่ประสานชุมชนต่าง ๆ ในเขตพื้นที่ของศูนย์บริการสาธารณสุขแต่ละศูนย์ เพื่อวางแผนกำหนดกลุ่มเสี่ยงเข้ามารับการตรวจ ตลอดจนการเตรียมความพร้อมด้านสถานที่ เต็นท์พักคอย และอุปกรณ์อำนวยความสะดวกที่จำเป็นไว้ ในฐานะพื้นที่รับผิดชอบของตนเอง

ส่วนของ สปสช. หรือ กระทรวงสาธารณสุขนั้น ต้องสนับสนุนชุดตรวจแบบ Antigen Test Kit รวมถึงการรับช่วงต่อเพื่อนำสู่การตรวจแบบ RT-PCR สำหรับผู้ที่เริ่มมีอาการรุนแรง จำเป็นต้องส่งตัวเข้ารักษา จึงจะทำให้การตรวจครั้งนั้นคุ้มค่ามากที่สุด

รู้ผลตรวจแล้วอย่างไรต่อ?

หากยึดตามแนวทางข้อสั่งการของกระทรวงสาธารณสุข ที่ สธ 0211.021/ ว่าด้วยการปรับให้ใช้ Antigen Test Kit (ATK) ซึ่งหากผลเป็นบวก ให้รายงานเป็น probable case ตามระบบการรายงานที่กำหนด และหาก case ดังกล่าวได้รับการตรวจยืนยันด้วย RT-PCR ให้รายงานเป็นผู้ป่วยยืนยัน confirm case ต่อไป กระทรวงสาธารณสุข จึงจำเป็นต้องลงพื้นที่ร่วมด้วย เพื่อให้การรายงานข้อมูลถูกต้อง และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

นอกจากนั้น มีการพูดคุยถึงการทำทุกอย่างให้ครบในจุดตรวจภายในครั้งเดียว ทั้งการจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ และการฉีดวัคซีน โดยผู้ป่วยที่ผลตรวจออกมาเป็นบวก ต้องได้รับยาทันที แม้จะไม่มีอาการ และสำหรับผู้ที่ผลตรวจออกมาเป็นลบ ถ้ายังไม่ได้รับวัคซีน ก็สามารถฉีดวัคซีนได้ทันทีเช่นกัน โดยกระบวนการนี้ล้วนต้องได้รับการสนับสนุนยาฟาวิพิราเวียร์ และวัคซีน จาก กระทรวงสาธารณสุข

หลังจากนั้นเมื่อทราบผลการตรวจแล้ว กลุ่มอาสา เส้นด้าย-Zendai ยังพร้อมนำรถเอกซเรย์แบบเคลื่อนที่เข้าช่วยเหลือ เพื่อให้ทราบผลภาวะปอกอักเสบของผู้ป่วยได้ทันที เพื่อประเมินระดับอาการเบื้องตน นำสู่การจัดหาเตียงรักษาต่อไป และถึงแม้ว่ากลุ่มเส้นด้าย จะมีทรัพยากรด้านนี้พร้อมช่วยเหลือ แต่ยังมีความจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนเพิ่มจากกระทรวงสาธารณสุขด้วยเช่นกัน

เข้าสู่ระบบการรักษาให้เร็ว

การรักษาตัวที่บ้าน หรือ Home Isolation นั้น ต้องมีหน่วยงานรับข้อมูล ณ จุดฉีดด้วย ทั้งคลินิกครอบครัวอบอุ่น และศูนย์สาธารณสุข กทม. เพื่อไม่ให้ข้อมูลผู้ป่วยตกหล่น รวมถึงระบบการแจ้งข้อมูลผ่าน สายด่วน 1330 กด 14 ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพ ที่ควรได้รับการแก้ไข ให้รองรับการใช้บริการของประชาชนได้มากขึ้น โดย ณ ปัจจุบัน มีเครือข่ายภาคประชาชนเข้ามาช่วยเหลือเพิ่มมากขึ้น ให้สามารถขึ้นทะเบียน Home Isolation ได้อย่างรวดเร็ว

และที่สำคัญ ในกระบวนการดังกล่าวยังมีช่องว่าง คือ การส่งอาหารและยา ให้กับผู้ป่วยถึงบ้าน ที่ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากภาระของโรงพยาบาลที่ขึ้นทะเบียนไว้ล้นมือ แม้ กทม. จะขอความร่วมมือตำรวจนครบาลให้ช่วยจัดส่งยาในบางพื้นที่แล้ว แต่ยังไม่เพียงพอ จึงได้มีการประชุมปรึกษาหารือร่วมกันระหว่างแพทยสภา สภากาชาดไทย และกลุ่มอาสาสมัครต่าง ๆ และได้ข้อสรุปให้สภากาชาดไทย เป็นหน่วยงานกลางเพื่อประสานอาสาสมัคร ทำหน้าที่ส่งอาหารและยารักษาที่จำเป็นให้กับผู้ป่วย

แม้จะมีการผ่อนคลายหลักเกณฑ์ให้ผู้ป่วยสามารถเข้ารับการรักษาแบบ Home Isolation โดยใช้ผลตรวจแบบ ATK แล้วก็ตาม แต่ ผลตรวจแบบ RT-PCR สำคัญอย่างมากต่อการรักษาตัวในโรงพยาบาล แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือมีโรงพยาบาลบางแห่งไม่รับตรวจ แม้จะมีผลตรวจแบบ ATK เป็นบวกก็ตาม เรื่องนี้ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และกรมการแพทย์ จึงต้องเน้นย้ำแนวทางให้เกิดความชัดเจนมากกว่านี้ และไม่ให้ผลตรวจ RT-PCR เป็นอุปสรรคในการรักษา ผู้ป่วยระดับสีแดง

สุดท้ายคือ ระบบการจัดหาเตียง ซึ่งจำนวนเตียงที่มี สวนทางกับจำนวนผู้ป่วยอาการหนักที่มีเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้กลายเป็นปัญหา “คอขวด” รอการระบายผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง และสีแดง แม้จะได้ระบบการจัดการข้อมูล Wisible จากกลุ่มอาสาอย่าง เป็ดไทยสู้ภัย ทำให้ข้อมูลนั้นเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลาก็ตาม แต่เมื่อไม่มีเตียงว่าง ผู้ป่วยก็ยังคงรอเตียงอยู่ต่อไป

หนทางสุดท้ายย่อมเป็นหน้าที่ ของ กทม. ในการสร้างศูนย์พักคอย และเจ้าภาพอย่างกระทรวงสาธารณสุข เพื่อสร้างโรงพยาบาลสนามเพื่อรองรับผู้ป่วยอย่างเร็วที่สุด ส่วนปัญหาที่ตามมาอย่างการขาดแคลนบุคลากรนั้น กระทรวงสาธารณสุขได้วางแผนใช้โมเดลเดียวกับ “โรงพยาบาลสนามบุษราคัม” นำบุคลากรทางการแพทย์จากต่างจังหวัดเข้ามาปฏิบัติหน้าที่เพิ่มเติม

กระบวนการทำงานที่เกิดขึ้น หากมีการแบ่งหน้าที่รับผิดชอบ ปฏิบัติงานในส่วนของตนเอง และสอดประสานช่วยเหลือกันนั้น ระบบสามารถเคลื่อนไปได้อย่างไม่ติดขัด แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ คือ ขาดการเชื่อมประสาน ต่างคนต่างทำ จึงทำให้การทำงานไม่ประสบผลสำเร็จ

เมื่อเห็นเช่นนี้แล้ว ทุกหน่วยงานควรตระหนักในบทบาทของตนเอง และร่วมมือกันหยุดวิกฤตโควิด-19 ในกรุงเทพมหานคร ให้ได้


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์