ต้นแบบของการร่วมสร้างนโยบายที่ดีที่สุด
ปฎิบัติการ 48 ชั่วโมง พลิกโฉมประเทศไทยสู่อนาคตหลังการเลือกตั้ง Hack Thailand 2575 ที่ระดมไอเดียร่วมกันระหว่างพรรคการเมืองและตัวแทนภาคประชาชนจากหลากหลายกลุ่ม จนได้ 12 นโยบายแก้ปัญหาโจทย์ใหญ่ของประเทศ
ตัวแทนจากผู้เข้าร่วม Hackathon คณะผู้จัดงาน ผู้ทรงคุณวุฒิ ฝากถึงผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงร่วมพิจารณาโดยอิงกับ 12 นโยบายภาคประชาชนถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่ฝั่งรากลึกของประเทศ พร้อมสร้างระบบติดตาม 12 นโยบาย ซึ่งครอบคลุมผลประโยชน์ที่ยึดโยงประชาชน หวังให้เกิดการต่อยอดขับเคลื่อนต่อในรัฐสภา
ที่สำคัญปรากฏการณ์ Hack Thailand 2575 นี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าภาคประชาชนและภาคการเมืองสามารถร่วมกันออกแบบนโยบายของประเทศที่สะท้อนความต้องการที่แท้จริงของทุกฝ่าย เพียงแค่มีพื้นที่และการฟังเสียงที่ประชาชนต้องการจริง ๆ
ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ นายกสมาคมThai StartUp เล่าถึงความรู้สึกว่าผมใช้คำว่าเกินความคาดหวังไว้ไปมากๆเหนื่อยแต่ว่าคนที่อยู่เบื้องหลังเหนื่อยกว่ามาก ๆ ชื่นชมทุกคนที่ทำให้เกิดขึ้นได้ ผมเรียกว่านี่คือครั้งแรกของประเทศไทย ที่ทุกคนสามารถสร้างนโยบายที่มาจาก bottom up นโยบายมาจากประชาชนไม่ใชพรรคการเมืองส่งเสียงฝ่ายเดียว
ผมถือว่ามันเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก และมันจะมีครั้งต่อ ๆ ไปแน่นอน ด้านผลลัพธ์นโยบายจากประชาชนผมก็รู้สึกว้าว! มาก มันเห็นภาพ ถ้าให้ประชาชนทำนโยบายเองเราก็ทำได้ นี่แค่มี 48 ชั่วโมง ถ้ามีมากกว่านี้มีคนหลายภาคส่วนกว่านี้ผลลัพธ์มันจะขนาดไหน ภาคการเมืองก็เซอร์ไพร์ส ตอนแรกคิดว่าเขาจะแค่มาขายของเขา แต่กลายเป็นว่าเขาถูกใจซื้อนโยบายจะเอาไปใช้ ทุกพรรคสนใจจะรับเข้าไปปฎิบัติทำต่อเป็นจุดที่น่าสนใจ ตอนนี้นโยบายถูกซื้อไปแล้ว ต่อจากนี้เราต้องมีกระบวนการติดตามต่อว่าเขาเอาไปใช้อย่างไร
วิสุทธิ์ ตันตินันท์ Partnership Advisor โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ให้สัมภาษณ์ว่า เวลาที่เราพูดถึงนโยบายอนาคตมันมีสองเรื่อง เรื่องแรก คือการมีส่วนร่วม ไม่ใช่แค่วันเลือกตั้ง หย่อนบัตรจบ แต่มันคือกระบวนการของการริเริ่มตั้งแต่ทำนโยบายซึ่งมาจากทุกภาคส่วนไม่ใช่พรรคการเมือง แต่ว่ามันคือการทำงานร่วมกันระหว่างประชาชนกับพรรคการเมืองเพื่อนำไปสู่นโยบาย เรื่องที่สองคือคือการนับรวมทุกคนเอาไว้ด้วยกัน ให้แน่ชัดว่านโยบายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นครอบคลุมความหลากหลายทุกคนได้ประโยชน์
ทั้งสองหลักการรวมเข้าด้วยกันเกิดการพัฒนายั่งยืน Hackathon ที่เกิดขึ้น ประกอบทั้งสองส่วนคือตัวแทนพรรคการเมืองส่งคนเข้ามาพิจารณากระบวนการทำงานมีการรวมกลุ่มคนที่หลากหลาย ความครอบคลุม ที่ทำให้ความคิดที่เกิดขึ้นนโยบายที่เกิดขึ้นมาเป็นสิ่งใหม่ ที่ครอบคลุมทุกคนได้
นี่คือส่วนที่ดีที่ได้จากการ hack คือ การมีส่วนร่วม และ inclusion จะกลายเป็นต้นแบบของการคิดนโยบาย ที่ไม่ใช่แค่พรรคการเมืองมาเสนอ แต่ประชาชนมาร่วมสร้างนโยบายร่วมกันเป็นทางเลือก เพื่อให้ประชาชนได้เลือกในสิ่งที่ดีที่สุดร่วมกัน
กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า รู้สึกประเทศไทยมีความหวังมากขึ้น ตอนแรกที่เริ่มยังไม่เห็นภาพเลยว่าต้องทำอะไรบ้าง จะเอา foresight(การมองการณ์ไกล) Hackathon มาใช้ จากจุดเริ่มต้นที่เริ่มจากการพูดคุยวงเล็ก ๆ ขยายผลเป็นวงกว้างเหมือนหินที่หย่อนลงไปในน้ำ ผลสุดท้ายมันได้กระพือกว้างมากขึ้น
วันนี้ถือเป็นวันสำเร็จวันหนึ่งที่ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมสำคัญทำ 12 นโยบาย ประชาชนมีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น การเมืองรับฟัง รับปากว่าจะทำให้เกิดประโยชน์อันนี้สำคัญที่สุด หลังการเลือกตั้งสิ่งที่ ประชาชนคาดหวังว่าสิ่งที่เรา Hack มา 48 ชั่วโมง ทั้งหมด 12 นโยบาย คือสิ่งที่มีประโยชน์ พรรคการเมืองรับปากแล้วว่าจะทำ นั้นคือสิ่งที่ภาคประชาชนรอฟังอยู่
ทุกคนล้วนแล้วแต่มีควมหวังว่าประเทศจะดีขึ้น ท้ายที่สุดอยากบอกว่าขออย่าให้มีคอร์รัปชันทำเพื่อประโยชน์ประชาชน ลดความต้องการที่เป็นของตัวเอง นวัตกรรมอาจช่วยได้ แต่จะเกิดขึ้นจริง อยู่ที่พวกท่านที่ชนะการเลือกตั้ง ฝากความหวังฝากความตั้งใจไว้ว่าสิ่งที่ให้สัญญาไว้ขอให้ทำให้จริง
ภัณณิน สุมนะเศรษฐกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านการคาดการณ์อนาคต สถาบันอนาคตไทยศึกษา กล่าวว่า ด้วยระยะเวลาที่สั้นเป็นโจทย์ที่ยาก จึงเริ่มต้นจากงานวิจัย ต่อยอดลงพื้นที่ กลับมาตกผลึกโจทย์รวบรวมคน 100 ชีวิต ทำ Hackathon ต้องบอกว่าเกินความคาดหวังมาก ถึงแม้ว่าเนื้อหางานทั้งหมด ต้องมีการต่อยอดในรายละเอียดอีกหลังการเลือกตั้ง แต่ว่ามันสร้างแรงบันดาลใจให้คนที่ทำงานด้านนี้ ขับเคลื่อนประเทศไปต่อด้วยกันได้
จากเป้าหมาย 2575 อนาคตที่พึงปราถนา มันกำลังสะท้อนว่า จากเมื่อก่อนที่เราเคยมองว่าภาคประชาชนเป็นส่วนหนึ่ง ภาคการเมืองเป็นส่วนหนึ่ง แต่ตอนนี้มันเชื่อมโยงกันได้ ขอให้มีพื้นที่ มีช่องทาง มันเป็นเรื่องของกระบวนการ ซึ่งสิ่งเหล่านี้พอมันมาเจอกัน มันเกิดขึ้นได้เอง ซึ่งตอนแรกเรากังวลว่า 48 ชั่วโมง ท้าทายมากกับการคิดอะไรใหม่ ๆ การตอบโจทย์ปัญหาของประเทศที่ค้างคาลงรากลึกแต่ว่าพอเราเชื่อในกระบวนการ เชื่อในคนที่เรามี การต่อยอดเรื่องนี้มันมีความเป็นไปได้
วรชาติ เฉิดชมจันทร์ คณบดีคณะกายภาพบำบัดและเวชศาสตร์การกีฬา ม.รังสิต กล่าวถึงความรู้สึกที่ได้ร่วมงานครั้งนี้ว่ามันเป็นกิจกรรมทำให้เราอยู่กับกระบวนการ 48 ชั่วโมง ที่รู้สึกว่ามันเร็วมาก ๆ สนุก ถกเถียงกันบนความสร้างสรรค์ ผลลัพธ์ที่ดีมันเกินที่เราคาดหวัง จากที่เรากังวลว่าเราจะทำได้ไหม เราจะอยู่ได้นานถึง 48 ชั่วโมงไหม แต่พอเห็นกระบวนการ การออกแบบมันค่อย ๆ พาเราไป จากเริ่มต้นด้วยความกลัวค่อย ๆ ผุดเป็นรูปธรรมที่เป็นนโยบายกลายเป็นความสนุกตื่นเต้นประทับใจ
ชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม พูดถึงความรู้สึกหลังจากเห็นกระบวนการในงาน Hackathon ว่าประทับใจกับกิจกรรมในวันนี้ทั้ง 12 ประเด็นเป็นปัญหาของประเทศนี้จริง ๆ จากประสบการณ์ของผมที่ทำงานอยู่ ทีมแฮกเกอร์ทั้งหมดเรียกได้ว่าทำอยู่บนพยานหลักฐานที่เป็นข้อเท็จจริงและเกิดจากประสบการณ์จริงของตัวเอง
พรรคการเมืองที่มาก็จะได้เห็นปัญหาเนื้อหาชัดเจนกลับไป อย่างน้อยที่สุดที่ทุกคนจะได้ คือ เนื้อหาสาระของคำว่านโยบาย เราอยากให้การเลือกตั้งครั้งนี้พลิกฟื้นความรู้สึกของผู้ลงคะแนน ขอให้พิจารณานโยบาย 12 เรื่องนี้ ที่ผู้ลงคะแนนควรใส่ใจ และมีโอกาสคิดก่อนไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งกัน
หลายเรื่องกระจายอยู่ในพรรคการเมืองอยู่แล้ว แต่นโยบายอาจเกิดขึ้นจากวิธีคิดของพรรคการเมืองเหล่านั้นฝ่ายเดียว แต่ hacker กลุ่มนี้แม้ว่าพรรคจะมีอยู่แล้ว ก็ควรรับฟัง และนำไปใช้จริง ได้ทั้งหมด เพียงแต่ว่าอยู่ในรูปแบบต่าง ๆ กัน แต่ทั้งหมด 12 ประเด็นนี้พรรคการเมืองเอาไปใช้เถอะครับและพื้นที่ครั้งนี้ทำให้พรรคการเมืองเห็นข้อมูลรายละเอียดชัดเจนขึ้น